เรื่อง : ธันยชนก อินทะรังษี
ภาพ : ณิชกมล สุขเจริญโชค

flowerbuddha01
พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ :องค์พระพุทธรูปเกสรดอกไม้สร้างขึ้นโดยการหล่อขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ซิลิโคน ในรูปจะเป็นแม่พิมพ์ที่ใช้หล่อองค์พระ

กลิ่นบุหงาลอยฟุ้งทั่วพื้นที่ แว่วเสียงบทสวดจับใจความมิได้ ผู้คนหลากหลายมาเยือนและจากไป ทิ้งความทุกข์ตรมไว้ที่นี่ หลักธรรมคำสอนของศาสดายึดเหนี่ยวดวงใจ สองมือประคองดอกไม้ธูปเทียน ชุดน้อยชุดใหญ่

“อันนี้ดอกบัวชุดใหญ่ลูก ใช้ขอพรเสริมดวง เน้นการเงิน การงาน ความรัก” หญิงวัยกลางคนร่างท้วมกล่าวเชิญชวน

บรรยากาศตรงหน้าเนืองแน่นด้วยพุทธศาสนิกชนที่พร้อมใจมาสักการบูชา “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ผู้คนต่างซื้อดอกไม้ธูปเทียนนำมาไหว้ขอพร จวบจนอานิสงส์ผลบุญสูงล้นพานทอง จึงมีเด็กวัดนำดอกไม้ดังกล่าวเก็บใส่ลงตะกร้าสานใบใหญ่

ดอกไม้เป็นสื่อกลางความศรัทธา เราพิถีพิถันเลือกดอกที่งดงามเป็นพิเศษ สด ใหม่ และกลิ่นหอม เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตราบรื่น สวยงามดั่งดอกไม้ หากเลือกดอกไม้เหี่ยวเฉา ชีวิตก็จะโรยราตามดอกไม้ด้วยเช่นกัน

“ดอกไม้เติบโตมาเพื่อร่วงโรย” อาจคือสัจธรรม แต่สัจธรรมอีกด้านที่เราไม่ค่อยนึกถึง คือการปล่อยบุปผาร่วงโรยเป็นปฏิกูล ก็กำลังสร้างความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

หรือเราจะไม่เด็ดดอกไม้มาบูชากันอีก

“ดอกไม้ที่เราบูชานำไปสร้างพระพุทธรูปจากเกสรดอกไม้ได้นะ” สตรีนิรนามเอ่ยประโยคชวนสงสัย

ไม่นาน ฤดูการผลิดอกมาเยือน วัฏจักรการชุบชีวิตดอกไม้จากความศรัทธาจึงเริ่มขึ้น

flowerbuddha02
การไหว้บูชาพระด้วยดอกไม้ มาจากข้อมูลในพระไตรปิฎกที่ว่า ดอกไม้ถือเป็นหนึ่งในวัตถุทาน ที่ควรค่าแก่การนำมาบูชาพระรัตนตรัย
flowerbuddha03
ส่วนมากพุทธศาสนิกชนจะบูชาพระด้วยดอกบัวและดอกดาวเรือง
flowerbuddha04
ขยะดอกไม้ที่เกิดจากการบูชานั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน มีทั้งที่ได้รับการจัดการและยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกต้อง

ชุบชีวิตบุษบา ศรัทธาที่ไม่รกโลก

“คนทั่วไปไม่รู้เรื่องการสร้างพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ ถ้าบูชาพระเสร็จก็ทิ้งแน่นอน”

รองศาสตราจารย์ทิพวรรณ ทั่งมั่งมี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัยเรื่องการสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ร่วมสมัย เอ่ยถึงความคิดของคนส่วนใหญ่ ด้วยความชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ชอบวาดรูปดอกไม้ ซึ่งตอนเด็กๆ เธอไม่เคยสงสัยเลยว่าดอกไม้เหล่านั้น เมื่อบูชาแล้วจะไปที่ไหนต่อ เพียงแต่ยายชอบพาเธอไปวัด ทำให้เธอสนใจศิลปะและพระพุทธศาสนาอย่างไม่รู้ตัว

ชาวบ้านล้านนาในอดีตประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกผัก ทำนา ทำไร่ การปลูกดอกไม้ก็เพื่อนำมาประกอบงานบุญที่วัด อย่างในละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง นางเอกเป็นสาวล้านนา เธอมักเก็บดอกกาสะลองสีขาว ใช้ทัดมวยผมตอนไปวัด เสมือนเป็นการบูชาดอกไม้

“ดอกไม้ผูกพันกับชาวพุทธมาอย่างยาวนาน”

แต่วันนี้โลกพัฒนาก้าวกระโดด มนุษย์ใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ การปลูกดอกไม้อาจไม่ใช่สิ่งที่สะดวกสบายต่อผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา สภาวะเศรษฐกิจยังทำให้ผู้คนเครียดจากการใช้ชีวิต การขอพร บนบานศาลกล่าว จึงสร้างความหวังยึดเหนี่ยวจิตใจได้ดีเสมอ การซื้อดอกไม้บูชาเพิ่มมากขึ้น ตลาดหรือร้านดอกไม้จึงเติบโตสูง

“อาจารย์คิดว่าในหนึ่งวัน แต่ละวัดในประเทศไทยมีดอกไม้บูชาจำนวนเท่าไหร่” ข้าพเจ้าถาม

“น่าจะมหาศาลเลย”

ในมุมมองของเธอ การใช้ดอกไม้บูชาพระไม่ได้เกิดจากใครต้องการทำลายสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ไม่เคยสงสัย หรือไม่ทราบว่ากระบวนการจัดการดอกไม้ ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน หรือปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างไร

เวบไซต์ Sustainable Development Goals : SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลกันของมิติด้านความยั่งยืนทั้งสามด้านคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ บอกว่า อุตสาหกรรมจัดดอกไม้ขาย (floristry) เป็นหนึ่งวงการที่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมาก ตั้งแต่การปลูกในปริมาณมากเพื่อรองรับความต้องการในโอกาสวันสำคัญ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

บุหงางดงามเพียงช่อเดียว หากนำมารวมกัน จะกลายเป็นกองขยะดอกไม้สดมหึมา หากทับถมกันจำนวนมาก จะเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน สร้างก๊าซเรือนกระจก จนเกิดภาวะโลกร้อนโดยที่มนุษย์ไม่คาดคิดมาก่อน

flowerbuddha05
อาจารย์ทิพวรรณ ทั่งมั่งมี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มงานวิจัย “ภูมิปัญญาการสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ล้านนาเพื่อการสร้างสรรค์พุทธปฏิมาร่วมสมัย”
flowerbuddha06
ส่วนผสมที่ใช้สร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ ได้แก่ ผงดอกไม้ น้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ กาวผง ดอกไม้แห้ง เกสรดอกไม้ และเกือบ ๘๐% เป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ
flowerbuddha07
ดอกไม้แห้งที่นำมาใช้หล่อองค์พระมีทั้งจากการที่อาจารย์ทิพวรรณเก็บมาจากวัดที่เชียงใหม่ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาส่งมาเพื่อร่วมสร้างองค์พระพุทธรูปเกสรดอกไม้

บุปผาจากพื้นดินสู่เบื้องบน

อาจารย์ทิพวรรณจัดวางพระพุทธรูปจากเกสรดอกไม้หลายขนาดไว้ตรงหน้าเราราวกับนิทรรศการขนาดย่อม

บางองค์คงความดั้งเดิมของกระบวนการสร้างจากสีเกสรดอกไม้ โดยมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายไม้ บางองค์ปิดทอง ทาสีดำบ้าง อุปกรณ์วางเรียงอย่างมีระเบียบ

งานวิจัยชุบชีวิตมวลผกาของความศรัทธาสู่การสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ร่วมสมัย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ในวารสารวิจิตรศิลป์ เขียนโดย รองศาสตราจารย์ทิพวรรณ ทั่งมั่งมี ให้ข้อมูลว่า การสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ศิลปะล้านนา ใช้ดอกไม้ที่พุทธศาสนิกชนตั้งใจนำมาสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือถวายพระสงฆ์ที่วัด ดอกไม้มีหลากหลาย ที่พบมากสุด ได้แก่ ดอกบัว และดอกมะลิ

ข้อกำจัดของการสร้างพระพุทธรูปคือเวลา เพราะต้องใช้ดอกไม้แห้งจำนวนมาก นำไปบดให้ละเอียด หล่อลงแม่พิมพ์ให้แห้ง และใช้ความชำนาญตกแต่งในส่วนที่มีรายละเอียดมาก

ขั้นตอนแรก ต้องร่างพระพุทธปฏิมาคร่าวๆ ด้วยดินสอบนกระดาษ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการถ่ายทอดจินตภาพให้เป็นรูปธรรม จากนั้นตัดโฟมให้มีขนาดใกล้เคียงต้นแบบนำดินน้ำมันมาปั้นทับลงบนแบบหุ่นโฟม ให้มีรูปทรงตามแบบร่าง และปรับแต่งผิวให้เรียบเนียน รวมทั้งเก็บรายละเอียดให้สมบูรณ์

ขั้นตอนต่อไป คือสร้างแม่พิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์ ด้วยการใช้ปูนปลาสเตอร์ครอบผิวพระพุทธรูปต้นแบบ เพื่อหล่อเป็นพระพุทธรูปขี้ผึ้งแทน การทุบแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ออกต้องทำอย่างระมัดระวัง พร้อมซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายระหว่างทุบแม่พิมพ์

ขั้นตอนต่อไป คือการปั้นพระพุทธรูปขี้ผึ้งต้นแบบ จะใช้เวลานานกว่าขั้นตอนอื่น ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านประติมากรรม ช่วยให้คำแนะนำ ซึ่งในงานวิจัยนี้มีอาจารย์ปฐม พัวพันธ์สกุล ให้คำปรึกษาในการสร้างพระพุทธรูปมาโดยตลอด

สำหรับการสร้างแม่พิมพ์พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ในการวิจัยครั้งนี้ได้เลือกเทคนิคการสร้างแม่พิมพ์ยางซิลิโคนแบบสองซีก และใช้ดอกไม้ตากแห้งที่รวบรวมมาไปบดละเอียดด้วยเครื่องบดยาสมุนไพร จากดอกไม้แห้ง ๕ ลิตร เมื่อบดแล้วจะเหลือเพียง ๑ ลิตรเท่านั้น แต่จะได้ผงดอกไม้ที่มีความละเอียดเหมาะสำหรับหล่อพระพุทธรูป

ขั้นตอนสุดท้าย คือตกแต่งด้วยการปิดทอง หรือประดับกระจกสีพระพุทธรูปทรงเครื่องตามความชอบและความเห็นของวัด

“จากดอกไม้ที่เราบูชาพระ นำมารวบรวม ตากแห้ง และสร้างพระพุทธรูปตามขั้นตอนจนสำเร็จ มันเหมือนครบวงจรในการบูชา สุดท้ายทุกสิ่งล้วนมาจากความศรัทธาของเรา”

flowerbuddha08
ภาพพื้นผิวสัมผัสภายในองค์พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ที่หล่อสำเร็จแล้ว
flowerbuddha09
องค์พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ที่หล่อและถอดแม่พิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีเนื้อสัมผัสคล้ายผิวไม้
flowerbuddha10
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางได้ประสานงานกับอาจารย์ทิพวรรณ โดยอาจารย์ได้นำความรู้ในการสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ไปเผยแผ่และอนุญาตให้ทางวัดต่างๆ ในจังหวัดลำปางที่ต้องการสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้นำไปสร้างได้เลย ดังในรูปที่ทางวัดหลวงนางอยกับอาจารย์ทิพวรรณร่วมกันสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ “พระเจ้าเกสรดอกไม้พันดวง” โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างด้วย

เรียงร้อยเป็นดอกไม้ปันโดง

อาจารย์ทิพวรรณเล่าว่า เธอเป็นคนพิษณุโลก เมื่อรู้ข่าวว่าจะมีงานสมโภชพระพุทธชินราชครบรอบ ๖๖๖ ปี มีการใช้ดอกบัวเป็นหมื่นๆ ดอก จึงรีบติดต่อสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอนำมาสร้างพระจากดอกไม้ แม้จะไม่ทัน เพราะวันต่อมาดอกไม้ถูกนำไปกำจัดทิ้ง แต่ก็เริ่มมีคนเห็นความตั้งใจของเธอ จนนำมาสู่การสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ที่วัดหลวงนางอย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง หนึ่งในวัดที่รองศาสตราจารย์ทิพวรรณ ทั่งมั่งมี ภูมิใจมากที่สุด

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นราวปี 2200 อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง แต่ภาพตรงหน้าคุ้มค่ากับการเดินทาง

ผืนนาเขียวขจีด้วยต้นข้าวในฤดูฝน ทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงามยิ่ง เสียงเดินบนสะพานไม้ไผ่

“ตามศาสนาเฮา ธรรมะก็ต้องอยู่คู่กับธรรมชาติอยู่แล้ว จะไปทำลายบ่ได้”

ประโยคเอ่ยจากพระเนมิราช ธมฺมโฆสโก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตุ๊บิณฑ์”

ตุ๊ในภาษาเหนือ หมายถึงพระภิกษุ ส่วนบิณฑ์ คือชื่อเล่นของท่าน ตุ๊บิณฑ์เติบโตที่บ้านนางอยมาตั้งแต่เกิด จนถึงคราวบวชเรียนที่วัดหลวงนางอย จนปัจจุบันได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสของวัด

พระเนมิราชให้ความเห็นว่าตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะ ก็หมายถึงธรรมชาติ ชีวิตมนุษย์ต้องเป็นไปตามสัจธรรม ทุกอย่างเชื่อมโยงมาตั้งแต่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไม้ พระภิกษุสมัยก่อนใช้ฝ้ายทอผ้าเป็นจีวร นำเปลือกไม้มาย้อมสี ใบลานที่คนล้านนานำมาจดบันทึกอักษร บทสวด ตำราเรียน หรือกระทั่งยาสมุนไพร มนุษย์ล้วนพึ่งพาธรรมชาติมาแต่อดีต

“การสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ของวัดหลวงนางอย เราตกลงกับชาวบ้านว่าจะช่วยกันตาก เตรียมมวลสาร ชาวบ้านก็เต็มใจมีส่วนรวม แม้ตอนแรกจะไม่เข้าใจกระบวนการทำว่าดอกไม้ที่พวกเขานำมาถวายพระ จะกลายเป็นพระพุทธรูปได้จริงหรือ จึงมีการประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้านเป็นประจำ ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็มีจำนวนดอกไม้เพียงพอต่อการสร้างพระพุทธรูป”

“ดอกไม้ปันโดง” หากออกเสียงตามสำเนียงไทลื้อ จะหมายถึง ดอกไม้พันดวง เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านจะนำดอกไม้หลากชนิดตามจิตศรัทธามาเรียงราย แล้วใช้ไม้ไผ่สานประกบทั้งสองด้านเป็นแตะดอกไม้ ซึ่งจัดทำช่วงเทศกาลยี่เป็ง ที่พบเห็นได้ยากแล้ว

ถึงตอนนี้ คำว่าดอกไม้พันดวง ถูกนำมาใช้กับการสร้างพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ร่วมสมัย เสมือนการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่เข้มแข็ง

ส่วนมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมลำปางเล็งเห็นถึงประโยชน์และความน่าสนใจ จึงนำต้นแบบพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ร่วมสมัยไปต่อยอดเป็นโครงการพระเจ้าเกสรดอกไม้พันดวง ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน เพื่ออนุรักษ์และรักษาการสร้างพุทธศิลป์ที่มีคุณค่าและมีความเป็นมายาวนาน โดยอาจารย์ทิพวรรณผู้คิดค้นวิจัยนี้บอกว่า “ศาสนาไม่มีลิขสิทธิ์” ยินดีให้นำไปทำต่อได้

เธอมองความสำเร็จครั้งนี้ว่า

“การสร้างพระพุทธรูปแบบมีส่วนร่วม สำเร็จที่วัดหลวงนางอย เพราะได้รับความร่วมมือจากพระสงฆ์ ชาวบ้าน และชุมชน ความสวยงามเรียบง่ายของพระพุทธรูปนี้มาจากธรรมชาติ ซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้ เพราะดอกไม้ที่นำมาใช้คือคุณค่าทางความศรัทธา อีกทั้งเรายังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย”

ปัญหาขยะและมลพิษไม่ว่าจะเกิดโดยธรรมชาติ หรือจากการกระทำของมนุษย์ หากขาดกระบวนการบริหารจัดการที่ดี ถูกละเลย ก็สามารถขยายกลายเป็นปัญหาระดับโลก เช่นเดียวกับดอกไม้ที่สวยงาม ก็อาจจะไม่กลายสภาพเป็นภูเขาขยะ หากได้รับความใส่ใจจากทุกคน รู้จักสร้างสรรค์แปรรูป เพิ่มมูลค่า ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างยั่งยืน

“หลักสำคัญที่แท้จริง คือวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ไม่ได้เน้นมูลค่าทางวัตถุ แต่เน้นคุณค่าทางจิตใจ”