เรื่องและภาพ : สุภัชญา เตชะชูเชิด

รับมือโลกร้อนปี 2024 กับบทสรุปจากการประชุม COP28 ที่ไม่มีข้อสรุป

110,000 คน คือตัวเลขของผู้เข้าร่วมงานประชุม COP28 ที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลกเมื่อเดือนธันวาคม ปลายปีก่อน เพื่อมาช่วยกันแก้ไขปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change

งานนี้จัดขึ้น ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เมืองที่สร้างขึ้นมาจากความมั่งคั่งทางน้ำมันและมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวสุดหรู

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายองค์กรเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมใน COP28 กลับสูงกว่าปีก่อนถึง 3 เท่า

ถือเป็นการประชุมที่มีประเด็นถกเถียงมากที่สุดครั้งหนึ่ง

ข้อเพ่งเล็งมีตั้งแต่การแต่งตั้งสุลตาล อัล จาเบอร์ (Sultan Al Jaber) เป็นประธานในที่ประชุม (COP president) เพราะนอกจากเขาจะเป็นนักการเมืองแล้ว ยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ชื่อว่า ADNOC (Abu Dhabi National Oil Company) อีกด้วย

อัล กอร์ นักขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศและอดีตผู้ลงสมัครนายกรัฐมนตรีของสหรัฐวิจารณ์ถึงการดำรงตำแหน่งนี้ว่า

“นี่เป็นการประชุมเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่หน้าด้านและมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากที่สุด”

ทางด้านดูไบเองก็ให้เหตุผลว่าอัล จาเบอร์ ทำงานด้านพลังงานทางเลือกด้วย และเป็นคนที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานมานาน ซึ่งภาคพลังงานเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ภาวะโลกร้อน จึงควรให้คนในธุรกิจนี้เข้ามามีบทบาท

2024 cop283312
2024 cop283313

หยุดโลกร้อนเกิน 1.5 องศาไม่ได้แล้ว ความหวังที่ไกลเกินเอื้อม?

ธีมหลักของการประชุมในปีนี้คือ Global Stocktake (GST) หรือการติดตามความก้าวหน้าของการลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากปี 2023 จัดเป็นครึ่งทางของข้อตกลงปารีสในปี 2015 กับเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 คล้ายกับเป็นการตรวจการบ้านระหว่างทางว่าคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้มีผลลัพธ์ของการดำเนินการอย่างไรบ้าง

แต่จากงานวิจัยบอกว่าเรามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับปีก่อนและสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เสียอีก เรียกได้ว่าเป็น New High อีกครั้ง โดยกลุ่มประเทศ G20 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 76 ของโลก และแน่นอนว่าภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือภาคพลังงาน คิดเป็นร้อยละ 86

นักวิทยาศาสตร์ยังทำนายอีกว่าความพยายามในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาอาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

ต่อให้เราปิดอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมันทั้งหมดในตอนนี้ อุณหภูมิโลกก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.6-1.8 องศาเซลเซียส และถ้าเราทำได้ดีพออีกทศวรรษเราจะสามารถกลับมาอยู่ที่ 1.5 องศาได้อีกครั้ง

แต่ไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์ระหว่างทศวรรษนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง

ยุติหรือลดเชื้อเพลิงฟอสซิล เกมยื้อเวลาของผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ?

แม้ผู้นำนานาประเทศต่างแสดงวิสัยทัศน์และเป้าหมายการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และทุกคนเห็นพ้องต้องกันด้วยว่าเราต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างเร่งด่วนที่สุด แต่ระหว่างการเจรจากลับเต็มไปด้วยข้อถกเถียงที่ยืดเยื้อกว่าที่ควรจะเป็น

กว่าจะร่างนโยบายทุกคำ ทุกประโยค ทุกบรรทัด ต้องผ่านการตรวจสอบ แสดงความเห็น และหารือกันอย่างหนักก่อนจะออกมาเป็นข้อตกลงอย่างเป็นทางการ

โดยเฉพาะคำว่า “Phase Out” (ยุติ) และ “Phase down” (ลด) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

แน่นอนว่าประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันเองก็ไม่อยากให้มีการยุติการใช้น้ำมัน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็ให้ความเห็นว่าประเทศของเขาเองก็พึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างมาก หากยุติการใช้จะทำให้เกิดความยากจนทางพลังงานและส่งผลกระทบต่อผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ กลุ่ม OPEC ยังทำจดหมายมาถึงงานประชุม COP ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการยื่นจดหมายในลักษณะนี้ เพื่อให้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล พวกเขาให้ความเห็นว่าปัญหาโลกร้อนอาจไม่ได้อยู่ที่แหล่งพลังงาน แต่อยู่ที่ก๊าซเรือนกระจกมากกว่า จึงอยากให้เน้นที่การลดก๊าซเรือนกระจกหรือใช้เทคโนโลยีดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (CCS) ที่ปากปล่องโรงงานและการใช้พลังงานทางเลือกแทนเฉกเช่นเดียวกับวาทกรรม “Gun doesn’t kill people, people kill people.” การผลักภาระความรับผิดชอบให้ผู้คนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แทนที่จะแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่าการรักษาอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศา จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน จึงยังคงปรากฏคำว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในข้อสรุปการประชุม

2024 cop283319

เราไม่ได้ต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เราต้องการพลังงาน

ขณะที่การประชุมข้างในดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด ข้างนอกก็มีเสียงดังมาเป็นระยะ

“Power to the people. The people got the power.

Tell me can you feel it? Getting stronger by the hour.”

กลุ่มเยาวชน NGOs และนักขับเคลื่อนรวมกันเดินขบวนประท้วงภายนอกอาคาร ในช่วงบ่ายแก่ๆ ที่แสงแดดของประเทศกลางทะเลทรายค่อยๆ อ่อนกำลังลง

ขบวนพาเหรดเต็มไปด้วยสีสันและป้ายข้อความต่างๆ กลุ่มชาติพันธุ์แต่งชุดพื้นเมืองที่ประดับประดาด้วยขนนกและเสียงจากเมล็ดพืชที่กระทบกันเข้าจังหวะ พวกเขาเรียกร้องเรื่องการเคารพวิถีของชนเผ่าและการปกป้องผืนป่า เยาวชนจำนวนมากมาพร้อมป้ายข้อความเรียกร้องให้หยุดยิงในกาซ่า พร้อมชื่อผู้ตายที่ถูกเขียนอยู่เต็มผืนผ้าใบ บางกลุ่มร้องขอความช่วยเหลือความสูญเสียและความเสียหาย การหยุดใช้สารพิษในอาหาร และยังมีผู้พิการเข้าร่วมขบวนเพื่อส่งเสียงให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานและการแก้ไขสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเท่าเทียมและคำนึงถึงพวกเขาด้วย

ฉันเดินเข้าไปคุยกับเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่มาจากบราซิล พวกเขาสวมชุดขาวที่เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำมัน นอนแกล้งตายอยู่บนพื้นพร้อมกับลูกโลกฟีบแบนบนกระทะใบใหญ่ พร้อมป้ายที่เขียนว่า

“ปีนี้ยังคงเป็นปีที่ร้อนที่สุด และถ้าเราไม่ลงมือทำอะไรเลย เราก็จะยังคงทุบสถิติใหม่ต่อไป”

โฮเซ มาเตอุส (Jose Mateus) เด็กหนุ่มวัย 20 จากประเทศบราซิล แม้เขาจะพูดอังกฤษไม่เก่งนักแต่ก็พยายามอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่อยู่ในใจให้ฉันฟัง

“คุณรู้ไหม? ในวันที่เริ่มประชุม COP ประเทศของเราได้ลงนามเข้าร่วมกับกลุ่ม OPEC plus และในขณะที่ตัวแทนประเทศของเราประชุมอยู่นี้ อีกไม่กี่วันบราซิลก็จะมีการประมูลแปลงน้ำมัน (oil block) อีก 602 แปลงทั่วประเทศ”

ฉันถึงกับอึ้งเพราะบราซิลนอกจากจะตั้งเป้าเรื่องลดการตัดไม้ทำลายป่าแล้วยังเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการประชุม COP ในอีก 2 ปีถัดไปด้วย

“สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากแปลงน้ำมัน 602 แปลงนี้ถ้ามีการขุดจะมีมากกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้จากการที่เราปกป้องป่าเสียอีก มันน่าขันมากว่าในขณะที่เราพยายามหยุดตัดไม้ทำลายป่า แต่อีกมุมหนึ่งเรากำลังขุดน้ำมันขึ้นมาใช้จำนวนมาก” เขาตอบ

ในส่วนองค์กรด้านการเงินเองก็มีบทสนทนาคล้ายกัน

“เราทำงานเพื่อเรียกร้องให้ธนาคารระหว่างประเทศยุติการให้เงินในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซ พวกธนาคารที่บอกว่าจะพัฒนาอย่างยั่งยืนแต่ยังคงลงทุนในถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซอยู่เลย และการลงทุนพวกนี้มันส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและผืนดิน แต่พวกเขามักมีข้อโต้แย้งว่าทำไปเพื่อการพัฒนา และฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมาก” เอลิซัน โด้ก (Alison Doig) ที่ปรึกษาด้านการเงินอาวุโสขององค์กร Recourse เล่าถึงการทำงานขององค์กรในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านกลไกทางการเงิน

เมื่อฉันถามถึงดีลลับเกี่ยวกับน้ำมันในการประชุมครั้งนี้ เธอเล่าให้ฟังว่า

“ฉันไม่รู้หรอกว่ามีดีลลับไหม แต่ฉันมาประชุม COP ประมาณ 15 ครั้งแล้ว ฉันจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนที่โปแลนด์ฉันโมโหมาก เพราะมีบริษัทถ่านหินเข้ามาร่วมประชุมพร่ำบ่นไร้สาระ แต่ปีนี้ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ถูกเชิญเข้ามาอยู่ในที่ประชุมเลย พวกเขาได้พูดคุยกับตัวแทนของแต่ละประเทศและได้อยู่ในห้องที่มีการตัดสินใจเกิดขึ้น เหมือนกับเรากำลังเอามะเร็งเข้ามาเอง”

เอลิซันยังบอกอีกว่าการชุมนุมในดูไบเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องมาประท้วงกันภายในพื้นที่จัดการประชุม ถ้าไม่อย่างนั้นพวกเขาก็ไม่มีพื้นที่อิสระเพื่อให้ส่งเสียงและเรียกร้อง

ฉันก็ได้แต่หวังว่าเสียงของพวกเขาจะดังไปถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจภายในห้องประชุม

2024 cop2833114

บทสรุปที่ไม่มีข้อสรุป
และ 2024 อาจเป็นอีกปีที่ไร้ความคืบหน้ากับการปกป้องโลก

การเจรจายืดเยื้อกว่ากำหนดการเดิมอีก 1 วัน เนื่องจากไม่อาจมีข้อตกลงกันได้ในหลายประเด็น อย่างหัวข้อเรื่องคำนิยามของ Climate Finance ว่าจะครอบคลุมในเรื่องใดบ้าง หรือกลไกการร่วมมือระหว่างภาคีจะเป็นอย่างไร ก็เป็นประเด็นที่แขวนไว้เพื่อพิจารณาต่อในการประชุมปีหน้า

ข้อถกเถียงที่ว่าเราจะ Phase out หรือ Phase down เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงออกมาเป็นเพียง

“Transitioning away from fossil fuels in energy systems”

หรือเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้เรารักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศา

ด้านเงินลงทุนแม้จะยังมีคำว่า “Phasing out” – “Phasing out inefficient fossil fuel subsidies that do not address energy poverty or just transitions, as soon as possible”

ก็ยังมีคำว่า inefficient หรือที่ไม่มีประสิทธิภาพเพิ่มมาด้วย พร้อมกับคำว่า “As soon as possible” (โดยเร็วที่สุด) ซึ่งเหลือช่องว่างให้ตีความว่าแบบไหนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และโดยเร็วที่สุดของแต่ละคนคือเมื่อไหร่

อีกหลายข้อตกลงที่เป็นเพียงคำกล่าวลอยๆ เช่น

เร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ หรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านความสูญเสียและความเสียหาย

แต่ยังไม่ตัวเลขที่ชัดเจน!

ตัวแทนผู้นำจากแคเมอรูนบอกกับฉันในช่วงท้ายของการประชุมว่า

“ผมคิดว่าเรากำลังวนอยู่ที่เดิมตั้งแต่การประชุมที่โคเปนเฮเกน เราไม่มีความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย และเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เส้นตายในปี 2030 ประเทศแคมารูนได้รับผลกระทบมาก ตอนนี้ผู้คนไม่รู้อีกแล้วว่าฤดูกาลจะเป็นยังไง เหมาะแก่การปลูกพืชอะไรบ้าง เราเดาไม่ได้เลย การปลูกพืชซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป แต่พวกเขาไม่มีทางออกเลย เราต้องช่วยตัวเองมาตลอด แต่ละการประชุมมีแต่ข้อถกเถียง แต่ผมยังไม่เห็นอะไรที่เกิดขึ้นเพื่อประชาชนจริงๆ”

บทสรุปของ COP ในความคิดของฉัน คงไม่ต่างจากความเห็นของเอ็นจีโอสาวอีกคน

“COP ก็เป็นแบบนี้แหละ มันยังคงเหมือนเดิม พวกเขาให้สัญญาไว้มากมาย แต่ทำจริงๆ แค่นิดเดียว!

“เรามาเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ในปีนี้ฉันว่ามีการเปลี่ยนแปลงบ้างนิดหน่อย คือมีเงินลงมาสำหรับเรื่องความสูญเสียและความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่มีเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ดี COP ใช้เงินมากมายในการประชุม ผู้คนมากมายมาจากทั่วโลก แล้วเขาก็กลับไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง

“แต่ฉันอยากจะบอกว่าอย่ายอมแพ้ เพราะการต่อสู้คือการต่อสู้เพื่ออนาคต ต่อสู้เพื่อเยาวชนและคนรุ่นหลังของเรา”