ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
หนังสือ ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก : ภาพ
คำว่า SLAPP ยังไม่เป็นที่รู้จักนักในสังคมไทย แต่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีผู้เรียกร้องสิทธิทางด้านต่างๆ ไม่ว่าสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประชาธิปไตย ฯลฯ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
สะแลปป์ หรือ สแลปป์ (อ่านว่า สะ-แลบ) S-L-A-P-P ย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation หมายถึง การดำเนินคดีเชิงยุุทธศาสตร์เพื่่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจในหลายประเทศ
เอกสารประกอบการรณรงค์ การดำเนินคดีเชิงยุุทธศาสตร์เพื่่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในประเทศไทย (SLAPP) จัดทำโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ระบุว่า SLAPP เป็นคดีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อระงับหรือขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสาธารณะ หรือเพื่อขัดขวางกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ฟ้องคดี มักก่อให้เกิด “ภาวะชะงักงัน” ต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ
การฟ้องคดี SLAPP นอกจากจะสร้างสภาวะกดดันทั้งต่อตัวผู้ถูกฟ้องยังส่งผลต่อคนรอบข้างรวมถึงคนในครอบครัว
ปัจจุบันการฟ้อง SLAPP เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค รายงานเรื่อง SLAPPed but not silenced : Defending Human Rights in the fact of legal risks ของ Business and Human Rights Resource Center เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ระบุว่าประเทศแถบลาตินอเมริกามีอัตราส่วนการเกิด SLAPP มากที่สุด 39% ตามมาด้วยแถบเอเชียและแปซิฟิก 25% ยุโรปและเอเชียกลาง 18% อเมริกาเหนือ 9% และแอฟริกา 8.5%
อ้างอิงข้อมูลเรื่อง Strategic Lawsuits Against Public Participation : Southest Asia cases & recommendations for governments, business & civil society ของ Business & Human Rights Resource Center เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ระหว่างปี พ.ศ.2560-2562 ทางศูนย์ได้บันทึกข้อมูล 2,155 คดี ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกถูกโจมตีโดยภาคธุรกิจด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ลักพาตัว รวมถึงฟ้องร้องดำเนินคดี เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 284 กรณี ที่เข้าข่าย SLAPP มี 131 กรณี
ทุกวันนี้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนกำลังเผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกัน แม้บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครอง SLAPP แต่ก็ไม่ได้การันตีว่ากฎหมายจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงไปตรงมา
โดยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สมาชิกสหภาพแรงงาน กลุ่มชาวบ้าน แรงงาน ฯลฯ รวมถึงสื่อมวลชนหรือผูู้สื่อข่าวมักตกเป็นเป้าของคดี SLAPP
ขอขอบคุณ หนังสือ ‘หนึ่่งความฝัน’ กับการถููกฟ้องปิดปาก จัดทำโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิศููนย์ข้อมูลชุมชน, สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส และเอกสารประกอบการรณรงค์ การดำเนินคดีเชิงยุุทธศาสตร์เพื่่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในประเทศไทย (SLAPP) จัดทำโดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล และเครือข่าย
ดาวน์โหลดหนังสือ ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP) ไม่ว่าจะเป็นสื่ออิสระ สื่อพลเมือง สื่อมวลชนทั้งมีและไม่มีสังกัด เราต่างมีความฝันเดียวกัน
“คดีฟ้องปิดปากแสดงให้เห็นอำนาจที่ไม่สมดุลกัน”
โพชอย พี. ลาบ็อก
ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (Business and Human Right Resource Center)
คดีฟ้องปิดปากแสดงให้เห็นอำนาจที่ไม่สมดุลกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคธุรกิจซึ่งมีอำนาจมากกว่า โดยกระบวนการทางยุติธรรมถูกยืมมือมาสร้างความเสียหายต่อคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ส่วนมากเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
การฟ้องกลั่นแกล้งทางอาญามีลักษณะ “ฟ้องหลายคดีพร้อมกัน” หรือฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาล อาจมีการใช้กฎหมายด้านความมั่นคงต่างๆ เพื่อโจมตี ทั้งนี้บุคคลที่ฟ้อง SLAPP มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บุคคลที่ตกเป็นเป้าการถูกฟ้องคดีได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ ตลอดจนกลุ่มนักพัฒนาเอกชน
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายคุ้มครอง เยียวยาในเรื่อง SLAPP นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถอ้างการคุ้มครองการฟ้องคดี SLAPP ที่เป็นการกดดันหรือเป็นการคุกคามได้ในกรณีที่นักสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ของตนเอง อย่างไรก็ตาม เรามักจะเจอปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ หลายประการในทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองเฉพาะนักปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งก็คือการฟ้องคดีมักจะเป็นการฟ้องคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง 63 จาก 90 กว่าคดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการฟ้องคดีต่อผู้หญิง
ทำไมจึงมีการฟ้องคดีปิดปากกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะการฟ้องคดีปิดปากเหล่านี้ไม่มีกรอบกฎหมายใดใดที่ห้ามไม่ให้มีการฟ้องคดีปิดปาก หรือป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องคดี SLAPP
“ต้องทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีการฟ้องปิดปาก”
เดียนานตา ปุตรา สุเมดี้
Aji Balikpapun Biro Banjarmasin
อินโดนีเซีย
ผมถูกตัดสินให้จำคุก 3 เดือน 12 วัน เนื่องจากนำเสนอความขัดแย้งเรื่องที่ดินในเมืองโกตาบูและกูตามายา ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลกระทบ เขาจะเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเผ่าดายัก คดีนี้มีการตกลงกันในคณะกรรมการสื่อมวลชน แต่ตำรวจในท้องถิ่นกาลิมันตันใต้ก็ยังดำเนินการฟ้องคดีต่อ เพราะเขาไม่รับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการวิชาชีพ
ผมคิดว่าการคุกคามสื่อมวลชนที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ เราจำเป็นต้องดำเนินงานในพื้นที่ซึ่งประชาชนพยายามแย่งยึดที่ดินกลุ่มชนพื้นเมือง ผมได้รับผลกระทบหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องจ่ายค่าทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการถูกฟ้องคดี การฟ้องคดีทำให้เกิดความหวาดกลัวในการเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นการใช้อำนาจครอบงำทางสังคม และทำให้นักข่าวหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน
ข้อเสนอประการหนึ่งคือต้องทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีการฟ้องปิดปากด้วย
“รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือนักข่าวที่ถูกคุกคาม ทั้งด้านกฎหมายและและด้านการเงิน”
เอ็ดวิน ไอโย
สำนักข่าว Gold Star Daily
ฟิลิปปินส์
สื่อมวลชนจะทำหน้าที่สนับสนุนบทบาทของชุมชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพื่อปกป้องและแก้ไขสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งในเมืองปาราตุกันและเมืองมินดาเนา
กฎหมายฟิลิปปินส์ไม่ได้คุ้มครองการฟ้องกลั่นแกล้งเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น แต่กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของพลเมืองยังคุ้มครองสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นการคุ้มครองโดยทั่วไป นักข่าวที่รายงานประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมย่อมได้รับการคุ้มครอง
ทนายความควรให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับนักสื่อสารมวลชน รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือนักข่าวที่ถูกคุกคาม ทั้งด้านกฎหมายและและด้านการเงิน
“ภาพฝันที่อยากเห็นคือการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในระดับภูมิภาค”
อเลฆันโดร กอนซาเลซ เดวิดสัน
Mother Nature Cambodia
ประเทศกัมพูชา
กัมพูชาต้องเผชิญสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความพยายามทำลายประชาธิปไตย และการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง Mother Nature Cambodia ถูกทางการกัมพูชาตราหน้าว่าเป็นกลุ่มกบฏก่อการร้าย
เจ้าหน้าที่ของ Mother Nature Cambodia ต้องทำงานถึง 3 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเป็นนักข่าว
นักกิจกรรมของ Mother Nature Cambodia ติดคุกไปแล้วถึง 3 คน โดย 2 คนแรกเป็นผู้หญิง ต้องติดคุกเพราะกำลังจะถ่ายทอดสดการเดินเท้า 2 กิโลเมตรเพื่อไปพบฮุนเซนผ่านเฟซบุ๊ค คนหนึ่งเป็นผู้เดิน อีกคนเป็นผู้ถ่ายทอดสด การถ่ายทอดยังไม่ทันได้เริ่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าจับกุมและยึดสิ่งของต่างๆ ไป นักกิจกรรมอีกคนเป็นผู้ชาย ถูกจับกุมเนื่องจากถ่ายรูปการลักลอบทิ้งน้ำเสียลงในแม่น้ำโขง
นักกิจกรรมทั้ง 3 คนบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราจะไม่ปรักปรำใคร เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่อาชญากรรม
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักกิจกรรมหนุ่มสาวชาวกัมพูชาที่พยามเรียกร้องประชาธิปไตยและปกป้องสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลฮุนเซนต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกฟ้องคดีและจะถูกจำคุก
สถานการณ์ที่นักกิจกรรม ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนกัมพูชาเผชิญมีความแตกต่างตรงที่ไม่ได้ถูกฟ้องกลั่นแกล้งโดยบริษัทเอกชน แต่เป็นการฟ้องและคุกคามโดยตรงจากรัฐบาลผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจและการใช้กฎหมายโดยไม่ชอบ
อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมในกัมพูชาเกิดขึ้นได้จากความยินยอมพร้อมใจ เมินเฉย และเงียบงันในหมู่ประเทศอาเซียน ยกตัวอย่างการลักลอบส่งออกไม้พยุงจากกัมพูชาเข้าสู่เวียดนาม การลักลอบขายทรายให้แก่สิงคโปร์
แม้จะมีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการจับกุมคุมขังที่แอมเนสตี้ รัฐบาลออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศต่างๆ พยายามเรียกร้อง แต่ประเทศในประชาคมอาเซียน ไม่มีประเทศใดเลย ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนเลย ที่จะพูดถึงนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในกัมพูชา การถูกจับกุมคุมขังในลักษณะเดียวกันเมื่อนักปกป้องสิ่งแวดล้อมในไทยหรืออินโดนีเซียถูกจับกุมคุมขัง รัฐบาลกัมพูชาก็เงียบเสียงเช่นเดียวกัน
ผมคิดว่าถ้าเกิดเราร่วมมือกัน เราจะสามารถเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน มีการประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม และรวมตัวกันส่งเสียง ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นความฝันอันสวยงามที่พวกเราในภูมิภาคควรฝันร่วมกัน
ในอนาคตอันสั้นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจะถูกจับกุมคุมขังมากขึ้น ส่วนในระยะยาว เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นถ้ากัมพูชาสามารถมีประชาธิปไตยที่แท้จริง และสามารถร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรม
ภาพฝันที่อยากเห็นคือการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในระดับภูมิภาค
“เราถูกกล่าวหาว่าปั้นน้ำเป็นตัว ปั่นข้อมูลและรายงานข่าวเท็จ”
วายุ ธยัตมิกา
Tempo Magazine
อินโดนีเซีย
นักสื่อสารมวลชนในเกาะกาลิมันตันต้องติดคุกกว่า 3 เดือนจากการนำเสนอข่าวการทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าสภาสื่อสารมวลชนในประเทศอินโดนีเซียพยายามจัดการปัญหา และบอกว่าคดีนี้เป็นการทำงานตามปกติของนักสื่อสารมวลชนในพื้นที่ เพื่อคุ้มครองประชาชนในพื้นที่ และโดยทฤษฎีแล้วเขาไม่ควรต้องโดนดำเนินคดีจากการนำเสนอข่าว ถึงแม้สมาคมวิชาชีพและทนายความพยายามปกป้องสิทธิของนักข่าวในการนำเสนอข้อมูล แต่ตำรวจและศาลก็ยังยืนยันที่จะฟ้องคดีและลงโทษด้วยการจำคุก
การฟ้องกลั่นแกล้งหลายกรณีที่เกิดหลังปี ค.ศ.2009 ที่สำนักข่าวในอินโดนีเซียสร้างช่องทางให้แก่นักข่าวหรือประชาชนทั่วไปสามารถส่งคลิป ข้อมูล หรือว่าเอกสารที่หลุดรั่วผ่านเว็บไซต์ เช่นกรณีเปิดโปงบริษัทปาล์มน้ำมันบนเกาะสุมาตราที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแย่งยึดที่ดินจากประชาชน เป็นเหตุให้บริษัทฟ้องแหล่งข่าวผู้ให้ข้อมูลจนถูกศาลพิพากษาจำคุกถึง 11 ปี ส่วนนักข่าวถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งศาลแขวงพิพากษาให้บริษัทชนะคดีเมื่อปี ค.ศ.2018 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับในปี ค.ศ.2019
เราแย้งว่าการฟ้องคดีนักข่าวจะต้องนำไปให้สภาวิชาชีพพิจารณาก่อนจะมีการฟ้องคดีอาญาและให้มีการฟ้องคดีแพ่งก่อน ควรใช้เวทีสภาวิชาชีพเป็นเวทีในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อขัดแย้งข้อเสียหายทางแพ่งก่อนตามกฎหมายว่าด้วยสื่อมวลชนในอินโดนีเซีย ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงกลับคำพิพากษาของศาลแขวงชั้นต้น คำพิพากษานี้ได้นำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนในอินโดนีเซีย
หรือการนำเสนอข่าวเหมืองถ่านหินในสุมาตราเมื่อปี ค.ศ.2019 รัฐบาลอนุญาตให้บริษัททำเหมืองหลายแห่งเข้ามาตัดถนนผ่านพื้นที่ป่าสงวนสำหรับขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปยังประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่และเกิดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ยังพบด้วยว่าโครงการนี้รัฐบาลให้การสนับสนุนเพราะต้องการเปิดให้สัมปทานป่าไม้ เราได้เปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทในอินโดนีเซียและบริษัทในมาเลเซียที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลและการใช้อำนาจอิทธิพลออกใบอนุญาตสัมปทาน
กรณีตัวอย่างสุดท้ายเป็นกรณีที่รัฐบาลฉวยโอกาสให้สัมปทานบริษัทปาล์มน้ำมันปลูกปาล์มในพื้นที่หลังเกิดไฟป่า ทำให้เกิดการทำลายป่าเพิ่มเติมและชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทางบริษัทพยายามไม่ให้สำนักข่าวนำเสนอผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ข้อมูลและไม่ยืนยันข้อค้นพบจากการนำเสนอข่าว ซึ่งภายหลังการเสนอข่าว หน่วยราชการและบริษัทก็ออกมากล่าวว่าตนไม่ได้รับการติดต่อจากสำนักข่าวเพื่อชี้แจง
เราถูกกล่าวหาว่าปั้นน้ำเป็นตัว ปั่นข้อมูล และรายงานข่าวเท็จ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสชี้แจง เราเป็นสื่อที่มีอคติ มีการโจมตีการใช้ account อวตารต่างๆ เข้ามาโจมตีในเพจของพวกเราหรือมาประจานว่านักข่าวที่รายงานเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน เบอร์โทรอะไร นี่ไม่ใช่รูปแบบเดียวในการคุกคามนักข่าว ยังมีวิธีการอีกหลายรูปแบบผ่านการใช้โซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต