ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

น้ำท่วมอุบลฯ แม่น้ำ (มูล) ผู้คน เขื่อน
แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่สุดท้ายปลายทางก่อนมวลน้ำจากสถานที่ต่างๆ จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงออกจากประเทศไทย

“เด็กๆ ต้องนั่งเรือออกไปโรงเรียน พวกวัว ควาย สัตว์เลี้ยงชาวบ้านต้องหาอาหารให้ ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องต้องระวังเป็นพิเศษ พอน้ำเริ่มมาต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงออกไปก่อน”

รุ่งทิวา วอทอง นักกิจกรรมหญิงชาวอีสาน เล่าถึงสถานการณ์ที่บ้านหนองยาง ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ที่คล้ายคลึงกับอีกหลายพื้นที่ทางอีสานตอนใต้

หลายปีที่ผ่านมา เมื่อหน้าน้ำหลากมาเยือน สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีจะเป็นข่าวใหญ่ มีผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจนต้องอพยพชั่วคราวมากมาย

รายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย หัวข้อ “การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย” ระบุว่าเด็กๆ ที่อาศัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีษะเกษ นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ทั้งจากสาเหตุน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน เป็นต้น

อะไรทำให้จังหวัดใหญ่ชายแดนอีสานตอนล่างที่มีแม่น้ำมูลไหลผ่านอย่างอุบลราชธานี พื้นที่สุดท้ายก่อนมวลน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงออกนอกประเทศไทย ต้องพบกับสถานการณ์น้ำท่วมขังเรื้อรังที่มีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นในอนาคต

หน่วยงานทั้งส่วนจังหวัดและท้องถิ่นมีแผนการรับมือสถานการณ์อย่างไร

ความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชุมชนจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้มากแค่ไหน

ก่อนที่ปัญหาจะกลายเป็นความชาชิน สารคดีลงพื้นที่เพื่อตามหาคำตอบ

ubonflood02
น้ำท่วมสถานศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบทั้งสภาพร่างกายและจิตใจต่อครูและนักเรียน บ่อยครั้งที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน

1

“เราเป็นชุมชนที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ปีไหนท่วมมากไม่ต่ำกว่า 5-6 เมตร บ้านชั้นเดียวท่วมมิดหลังคา มองเห็นสายไฟลอยอยู่เหนือน้ำ ชาวบ้านต้องอพยพขึ้นมาบนพื้นที่สูง ถ้าน้ำขึ้นไม่หยุด ก็ต้องอพยพย้ายหนีอีก”

บุญทัน เพ็งธรรม ประธานเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก จังหวัดอุบลราชธานี บอกเล่าเรื่องราวที่ชาวชุมชนหาดสวนสุข 1 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ต้องเผชิญติดต่อกันมาหลายปี พร้อมกับชี้ไปที่เสาไฟฟ้า คราบน้ำท่วมสีน้ำตาลยังติดอยู่หน้าโรงพยาบาลหมอน้อย

“ทุกครั้งที่น้ำท่วมก็จะมีปัญหา ไม่ว่าด้านที่อยู่อาศัย ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านบางหลังถูกโจรงัดแงะในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เฝ้าบ้าน คนสูงอายุก็มีปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ จะเข้าห้องน้ำ จะกินนอนไม่ง่าย เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนติดต่อกันหลายวัน”

แม้ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำแทบทุกปี หน่วยงานทั้งส่วนจังหวัดและท้องถิ่นมีแผนการรับมือสถานการณ์ชัดเจน แต่ความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชุมชนก็ยังมีความจำเป็นเพื่ออุดช่องว่าง

“เราเจอน้ำท่วมมานาน ถึงจะปรับตัวระหว่างเกิดภัยพิบัติได้บ้าง แต่การหยิบยื่นความช่วยเหลือกันยังสำคัญ ทุกวันนี้ชาวบ้านยังต้องดิ้นรนช่วยเหลือกันเอง ทั้งช่วยกันสร้างที่พักชั่วคราว ขนย้ายข้าวของ ช่วยกันสอดส่องบ้านที่ไม่มีคนอยู่อาศัย”

ไม่ใช่แค่ชุมชนหาดสวนสุข 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลที่ประสบปัญหา ห่างออกไปตามถนนสายชนบทที่ทอดผ่านบ้านหนองยาง ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี รุ่งทิวา วอทอง นักกิจกรรมหญิงที่ผ่านการทำงานกับเด็กและเยาวชนกลุ่มคนไร้บ้านเล่าถึงที่มาของศาลาหลังใหญ่ที่เกิดจากการดิ้นรนเอาชีวิตรอด

“ศาลาหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านมั่นคง เครือข่ายบ้านไร้เสียง เราช่วยกันเขียนขอทุนและได้งบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมาสองแสนบาท เฉพาะค่าวัสดุก่อสร้าง ในส่วนของค่าแรงไม่มี ชาวบ้านช่วยกันลงแขก ช่วยกันทำจนเสร็จ”

จำรัส สายตรง คนออกแบบศาลาและเป็นกำลังหลักในการก่อสร้างอุ้มหลานชายไว้แนบอก ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าใช้เวลาก่อสร้างศาลาร่วมสองเดือนด้วยน้ำพักน้ำแรงคนในชุมชน

“พวกเราตกลงกันว่าศาลาหลังนี้จะต้องใช้หนีน้ำท่วมได้ และอยากใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้ ใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็กๆ ข้างบนมีสองห้องนอน และมีห้องน้ำ อาสาสมัครหรือนักศึกษาก็สามารถเข้ามาพักได้”

ดอนมดแดงเป็นอำเภอเล็กๆ ห่างจากอำเภอเมืองอุบลราชธานีและวารินชำราบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร ทั่วทั้งอำเภอเป็นเขตเกษตรกรรม มีลำน้ำโอบล้อมทุกทิศทาง ได้แก่ แม่น้ำมูลทางทิศใต้ ลำเซบกทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ ลำห้วยนาคำทิศตะวันตก

ยามน้ำหลาก ดอนมดแดงเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ เป็นวิถีปกติที่มวลน้ำจากทั่วทุกสารทิศจะไหลผ่าน แต่ระยะหลังมานี้ ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมของน้ำเปลี่ยนไป

ubonflood03
ทุกครั้งที่เกิดอุทกภัยในเขตเทศบาลเจ้าหน้าที่จะเร่งระบายน้ำผ่านพนังกั้นน้ำลงสู่แม่น้ำมูล

2

“ห่างจากตรงนี้ไปประมาณ 15 กิโลเมตรมีเขื่อนที่เราเรียกว่าฝาย” รุ่งทิวาอธิบาย

“ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าฝายลำเซบกอาจมีส่วนทำให้น้ำท่วมนานขึ้น” ข้อสงสัยของเธอเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหนองยางหลายคนคับข้องใจ

ฝายลำเซบกสร้างกั้นลำเซบกที่บ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง เป็นส่วนประกอบหนึ่งของแผนบูรณาการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง และถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล
เขื่อนเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่าฝาย ติดตั้งประตูระบายน้ำ 3 บาน ประเมินว่าการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บและปล่อยน้ำจะช่วยบรรเทาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 1,250 ไร่

“ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมา” นักกิจกรรมหญิงชาวอีสานเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ช่วงที่มีข่าวชดเชยค่าเสียที่ดินจากริมเซ “จริงๆ มีชาวบ้านไม่กี่คนเท่านั้นที่ยินยอมให้สร้าง แต่ก็ไม่มีใครออกมาคัดค้าน อย่างที่บอกว่าตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรแน่ชัด”

ฤดูน้ำหลากปี 2565 และ 2566 มาถึง น้ำในลำเซบกเอ่อล้นตลิ่ง ไหลท่วมที่นากว่าหนึ่งพันไร่ ยาวนานไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์

รุ่งทิวาเล่าว่าถึงเวลาน้ำท่วมพื้นที่แถบนี้จะกลายเป็นเกาะ ต้องพายเรือไปออกถนนใหญ่

“เด็กๆ ต้องนั่งเรือออกไปโรงเรียน พวกวัว ควาย สัตว์เลี้ยงชาวบ้านต้องหาอาหารให้ ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องต้องระวังเป็นพิเศษ พอน้ำเริ่มมาต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงออกไปก่อน บางคนไม่ได้อพยพออกไปไหน ทาง อสม. ก็จะเอายามาให้ เขามีข้อมูลว่าคนป่วยหรือคนชราอยู่บ้านไหน ถ้าทำได้ก็จะหาทางเคลื่อนย้ายออกไปนอกพื้นที่”

ความกังวลใจของชาวบ้านหนองยางยังไม่หยุดแค่นี้

“เห็นว่าเขายังมีโครงการขุดแม่น้ำ ผันน้ำจากแม่น้ำชีไปลงแก่งตะนะที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำมูล เป็นโครงการขุดแม่น้ำสายที่สองขนานกับลำเซบก นอกจากฝายลำเซบก เขื่อนปากมูล เขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำมูลแล้วยังจะมีโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอยบนแม่น้ำโขงถูกดันขึ้นมา พวกเรากังวลว่าต่อไปจะต้องอยู่กับน้ำนานยิ่งขึ้น”

ศูนย์พักพิงชั่วคราวหลักเขตเทศบาลวารินชำราบมีทั้งตั้งอยู่บริเวณลานใต้สะพานเสรีประชาธิปไตย ภายในวัด และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งเลือกตั้งที่พักชั่วคราวริมถนน โดยทั่วไปผู้ประสบภัยมักอยากอยู่ใกล้บ้านเพื่อแวะกลับไปดูแลบ้านช่วงน้ำท่วม

3

จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีลำน้ำน้อยใหญ่ไม่น้อยกว่า 9 สายไหลผ่าน มวลน้ำจะเดินทางผ่านลำน้ำต่างๆ จากจังหวัดต่างๆ มาลงสู่แม่น้ำมูล แล้วไหลไปลงแม่น้ำโขงออกสู่ทะเล

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานที่เป็นที่ราบสูงแบบแอ่งกระทะ มีแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี โดยแม่น้ำชีจะไหลมารวมกับแม่น้ำมูลก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ระหว่างทางมีลำน้ำอื่นๆ ไหลมาสมทบอีกหลายสาย ทำให้อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ และอำเภอต่างๆ ที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ กลายเป็นพื้นที่รับน้ำ ก่อนที่มวลน้ำหลากจะไหลไปลงแม่น้ำโขง

นอกเหนือจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชียังมีการสร้างเขื่อนและฝายกักเก็บน้ำจำนวนมาก ทั้งเพื่อประโยชน์ด้านชลประทานและการผลิตไฟฟ้า การระบายน้ำออกจากเขื่อนต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำทั้งสองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม หากปีใดปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีมากก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี ทั้งพื้นที่ธุรกิจ ส่วนราชการ และที่อยู่อาศัย

งานวิจัยหัวข้อ ชุมชนกับการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจังหวัดอุบลราชธานี ของ กาญจนา ทองทั่ว และคณะ เมื่อปี 2556 อธิบายสาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีว่ามีทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและเกิดจากการกระทำของมนุษย์ คือการพัฒนาเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องผังเมือง ทำให้การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง

น้ำท่วมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ขึ้นอยู่กับการเกิดของพายุฝนในแต่ละปี จากคำบอกเล่าของคนรุ่นอายุไม่เกิน 100 ปี เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักมีอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่ ปี 2481, 2521, 2545, 2562 และ 2565 ปีอื่นๆ ไม่ถึงขั้นเรียกว่า “น้ำท่วมใหญ่” แต่ก็มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีหรือปีเว้นปี

ปี 2566 ไม่มีน้ำท่วมใหญ่ ถึงต้นเดือนตุลาคม 2566 ระดับน้ำในหลายพื้นที่ของอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานีลดระดับลง แต่บางจุดยังคงมีท่วมขัง ร่องรอยน้ำท่วมปรากฏชัดผ่านแนวกระสอบทราย และยังมีคนอาศัยอยู่ในเต็นท์ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย รวมทั้งเต็นท์ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน ผู้ประสบภัยคนหนึ่งให้เหตุผลของการตั้งที่พักชั่วคราวริมถนนทั้งๆ ที่เสี่ยงอันตรายจากรถยนตร์ว่าเพราะเป็นห่วงบ้าน

“อยากอยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะได้แวะกลับไปดูแลบ้านในช่วงน้ำท่วม ไม่อยากขนของไปไกลเพราะต้องเสียค่าขนย้ายทรัพย์สินด้วย อยู่ที่นี่น้ำลดจะกลับบ้านได้สะดวก ดีกว่าออกไปอยู่ศูนย์พักพิงที่อยู่ไกล”

ubonflood05
แผ่นไม้ถูกนำมารองพื้นเพื่อกันความชื้นและสัตว์ร้าย ข้าวของเครื่องใช้ขนมาเท่าที่จำเป็นพอประทังชีวิต ผู้อพยพมักไม่อยากขนย้ายข้าวของไปไกลๆ เพราะยากลำบาก เสียค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงสถานที่พักพิงมีข้อจํากัดในเรื่องพื้นที่และความแข็งแรง

4

สุอำพร อุตรา ผู้นำชุมชนหาดสวนสุข 1 และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่าชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลโดยเฉพาะบริเวณใกล้เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตยและสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ แม้จะสร้างเขื่อนหรือกำแพงกั้นน้ำ แต่ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมได้

เธออธิบายว่าสาเหตุที่น้ำท่วมขังเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำตามธรรมชาติ เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในลักษณะป่าบุ่งป่าทามของลุ่มแม่น้ำมูล แต่ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างมากมายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านขายวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนการก่อตั้งชุมชน ฯลฯ

ชุมชนหาดสวนสุข 1 ที่เธออาศัยอยู่ก็เช่นกัน ตัวชุมชนตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานรัตนโกสินทร์ซึ่งเชื่อมระหว่างตัวเมืองอุบลราชธานีกับเมืองวารินชำราบ ชาวบ้านต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำเกือบทุกปี

“หลังจากชุมชนหาดสวนสุขมีประชากรเพิ่มขึ้น เราก็แยกตัวออกมา แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังอยากเป็นคนชุมชนหาดสวนสุข ปี 2547 ทางเทศบาลเมืองวารินชำราบจึงเสนอให้เรียกว่าชุมชนหาดสวนสุข 1”

สุอำพรเล่าว่าเดิมทีพื้นที่แห่งนี้เมื่อมีน้ำท่วมขังก็มักจะลดระดับลงได้อย่างรวดเร็ว ผิดแผกจากทุกวันนี้ที่น้ำท่วมแล้วลดลงช้า

“ทุกวันนี้มีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังสร้างความเดือดร้อน พวกเราอยู่ที่นี่กันมานานกว่า 30 ปี จะให้ไปย้ายไปที่อื่นก็ไม่ได้เพราะปักหลักชีวิตกันที่นี่แล้ว” เธอกล่าว

ทุกครั้งที่มวลน้ำใกล้เข้ามา ประชาชนจำนวนมากจะเตรียมอพยพจากบ้านไปอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว มีทั้งที่ตั้งอยู่เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ภายในวัด รวมทั้งส่วนที่ตั้งอยู่ริมถนน โดยมีภาคส่วนต่างๆ คอยเข้ามาช่วยเหลือ

ชาวบ้านหลายชุมชนยังรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือกันเองพร้อมติดตามเฝ้าระวังภัย

“ปีนี้น้ำท่วมหลายสัปดาห์ หลายครอบครัวต้องอพยพมาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้วทำครัวช่วยเหลือกันเอง มีบางคนเป็นห่วงบ้าน ไม่ยอมหนี เราก็ฝากฝังให้เขาช่วยดูแลบ้าน เวลามีของบริจาคถ้าเขาออกมาไม่ทัน เราก็จะช่วยกันรับแทน” แม่บ้านคนหนึ่งเล่าหน้าเต็นท์ที่แยกห้องด้วยผ้าใบสีฟ้า เสื่อน้ำมันและลังกระดาษถูกนำมาปูพื้น

โดยทั่วไปแล้วหลังเกิดน้ำท่วมทางจังหวัดจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการแก้ปัญหา โดยให้หน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก ซึ่ง อปท. แต่ละพื้นที่จะตั้งเต็นท์อำนวยการเพื่อคอยดูแลรับผิดชอบเรื่องการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการรับบริจาคสิ่งของต่างๆ

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็มีปัญหา โดยเฉพาะในกรณีที่ทางจังหวัดยังไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย ซึ่งทำให้ทาง อปท. ไม่สามารถแจกจ่ายถุงยังชีพหรือให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ubonflood06
เขื่อนหัวนาสร้างกั้นแม่น้ำมูลที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้จุดบรรจบของแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี เขื่อนหรือฝายที่สร้างกั้นลำน้ำต่างๆ ไม่ว่าเพื่อการเกษตรหรือผลิตไฟฟ้า สันเขื่อนจะติดตั้งบานประตูเพื่อควบคุมการไหลของน้ำ

5

หลายชุมชนในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี ประสบปัญหาน้ำท่วมเรื้อรัง ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อดูแลกันและกัน อาทิ เครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบกมีการเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อรับมือภัยพิบัติเช่น ช่วยกันสร้างที่พักชั่วคราว สร้างโรงครัว รับฝากสิ่งของ จัดอบรมอาสาสมัครช่วยภัยน้ำท่วมรวมทั้งต่อเรือเพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินทาง แสดงถึงการใช้ทุนทางสังคมในการจัดการปัญหาในภาวะวิกฤติ

ธวัช มณีผ่อง อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีคนท้องถิ่น ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์น้ำมิตร สื่อกลางที่คอยนำเสนอสถานการณ์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ความเห็นว่า เรื่องน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง คนหรือเงินจากที่ใดที่หนึ่ง

“ที่ผ่านมา ท่าทีของหน่วยงานราชการ รวมถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ต่างคนต่างคิด ไม่ไปด้วยกัน ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายครั้งเต็มไปด้วยความล้มเหลว เมื่อภาครัฐไม่ขยับ ประชาชนก็ต้องขยับหาทางช่วยเหลือกันเอง

จากการเฝ้าสังเกตสถานการณ์น้ำท่วมตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ธวัชพบว่า หลักการสากลสำหรับการเผชิญภัยพิบัติ คือสิ่งถูกต้องควรทำ แต่กลับยังทำไม่ได้ ผู้คนที่บ้านต้องจมน้ำ ข้าวของเสียหาย ต้องอพยพมาอาศัยอยู่ริมถนน ก็ยังคงต้องใช้ชีวิตดิ้นรนเหมือนน้ำท่วมครั้งก่อนๆ

“ประโยคสะท้อนความจริงหรืออาจเรียกว่าเป็นประโยคอัปยศ ที่ผมได้ยินมาตั้งแต่ปี 2562 คือ ‘สิ่งที่อาจารย์ทำมันดีมากๆ ผมเห็นว่าอาจารย์มีใจ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกอาจารย์ไม่มีคืออำนาจ’”

กับอีกหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 อาจารย์ธวัชเล่าว่า “ตอนนั้นผมกำลังหารือเรื่องการกระจายของบริจาคกับเจ้าหน้าที่ ได้ยินเขาพูดว่า ‘คนพวกนี้ปกติก็กินอาหารไม่ครบ 3 มื้ออยู่แล้ว พอน้ำท่วมกลับจะกินให้ครบ 3 มื้อ’”

ในปีนั้นมีองค์กรพัฒนาเอกชนรวบรวมอาสาสมัครเข้ามาช่วยทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด มีทั้งประชาชนและนักศึกษา

“เราช่วยกันชาวบ้านทำความสะอาดบ้านได้มากถึง 700 ครัวเรือน จนเหลือเวลาอีก 3 วัน เขาจะเดินทางกลับ ผมถามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ เหลืออีกหลายพันครัวเรือน เรามีแผนอย่างไร”

คำตอบที่ได้ยินทำให้เขาคิดว่าหูฝาดไปคือ “บ้านผมเองก็ท่วม ยังไม่ได้ล้างเลยเหมือนกัน”

ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้อาจารย์ธวัชได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า กระบวนทัศน์เรื่องการจัดการภัยพิบัติในสังคมไทยมันอ่อนแอมากๆ

ubonflood07
ลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีทุกวันนี้เต็มไปด้วยเขื่อนและฝาย ทั้งที่สร้างกั้นแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาของแม่น้ำทั้งสองสาย แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติเป็นพรมแดนกั้นไทยกับลาวก็มีเขื่อนและโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า (ภาพ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์)

6

งานบริหารจัดการน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีโดยหน่วยงานรัฐแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ส่วนกลางและท้องถิ่น

ส่วนกลางระดับจังหวัดมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลัก ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของท้องถิ่นมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ว่าที่ ร.ต.มนต์สง่า ลีลาศสง่างาม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี อธิบายการทำงานในภาพรวมว่า อปท. ส่วนใหญ่จะมีฐานข้อมูลการเกิดภัยพิบัติข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทางหน่วยงานพยายามจัดทำฐานข้อมูลด้านน้ำท่วมให้สมบูรณ์และทันสมัย ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา มีการออกสำรวจเส้นทางน้ำ สิ่งกีดขวาง สำรวจประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซักซ้อมแผนอพยพ จัดหาเรือ ตระเตรียมความพร้อมเรื่องปรับสภาพพื้นที่สาธารณะเป็นศูนย์พักพิง ไปจนถึงส่งเสริมให้ผู้ประสบภัยมีอาชีพเสริมระหว่างน้ำท่วม

แผนรับมือน้ำท่วมเป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ มีสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน

การจัดการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ก่อนเกิดเหตุ กำหนดมาตรเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หาทางป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งอาจเกิดตามมา

2. ระหว่างเกิดเหตุ แจ้งเตือนภัยช่วยอพยพและหลบภัยอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ ดูแลผู้บาดเจ็บ ช่วยชีวิตและค้นหาผู้ที่สูญหาย อำนวยการและประสานงานเพื่อรับมือจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

3. หลังเกิดเหตุ แบ่งออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือการช่วยเหลือเบื้องต้นเช่นจัดหาปัจจัยสี่

ที่พักชั่วคราว กรณีที่บ้านพักได้รับความเสียหาย ยังไม่สามารถกลับเข้าอาศัยได้ ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญ ส่วนระยะยาวคือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับสู่สภาพดังเดิมและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การงานอาชีพ สภาพกายภาพของพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทุกชนิด

“วิธีบริหารจัดการ เรายึดแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเป็นหลัก แผนจะมีไว้ตลอด ถึงช่วงน้ำท่วมจะมีการจัดตั้งแผนเผชิญเหตุ ป้องกันและแก้ไขปัญหา มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการอุทกภัยจังหวัดประจำปีนั้นๆ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน”

ว่าที่ ร.ต.มนต์สง่า ขยายความต่อไปอีกว่า ก่อนเกิดเราต้องเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ขณะเกิดเหตุก็ช่วยเหลือกรณีที่มันป้องกันไม่ไหว ส่วนที่บรรเทาได้คือการบริการจัดการน้ำ เราต้องประสานกับทางชลประทาน เรามีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ หน่วยปฏิบัติอาจจะเป็นเขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูล ฝายต่างๆ ประเมินสถานการณ์ตามแนวทางทั้งพร่องน้ำและหน่วงน้ำ อาจต้องมีการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชน ต้องตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวดูแลด้านการดำรงชีพ ความเป็นอยู่ ความปลอดภัย หลังเกิดเหตุก็ต้องฟื้นฟูดูแล ช่วยอพยพกลับ เยียวยาเรื่องการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย การดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองอุบลฯ จะเป็นลูปแบบนี้”

ubonflood08
ubonflood09
(บน) การสร้างเขื่อน กำแพงหรือพนังกันน้ำ รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำมีส่วนทำให้ระบบนิเวศถูกทําลาย ต้นไม้และพรรณพืชต่างๆ ที่เคยยึดตลิ่งและดูดซับน้ำไว้ถูกขุดออก
(ล่าง) พนังกันน้ำหรือกำแพงทําให้แม่น้ำมีสภาพคล้ายทางด่วนพิเศษ มวลน้ำเคลื่อนตัวจากตอนบนลงไปทางตอนล่างอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำรุนแรงมากขึ้นทุกปี

7

นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการ “จัดจราจรน้ำ” ที่ถือเป็นแนวทางสำคัญของงานบริหารจัดการน้ำท่วม

“การจัดจราจรน้ำมีทั้งการพร่องน้ำ คือการระบายน้ำออกจากลำน้ำก่อนล่วงหน้า พร่องน้ำไว้หากคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเข้ามาอีกเยอะ อีกอย่างหนึ่งคือการหน่วงน้ำ เป็นการชะลอน้ำจากสถานีที่ตั้งอยู่ตอนบน สาขาย่อยต่างๆ ให้ค่อยๆ ไหลลงมา ในภาพรวมแล้วการหน่วงน้ำเป็นการลดการระบายน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ไม่ให้มารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานีเร็วเกินไป”

แม่น้ำมูลตลอดทั้งสายมีเขื่อนหลักๆ อาทิ เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล (ศรีสะเกษ) ฝายบ้านตะลุง (สุรินทร์) เขื่อนปากมูล (อุบลราชธานี) เขื่อนพิมาย (นครราชสีมา) แม่น้ำชีมีฝายวังยาง (มหาสารคาม) ฝายชนบท (ขอนแก่น) ฝายยโสธร (ยโสธร) เป็นต้น การจัดจราจรน้ำต้องทำให้สอดคล้องกัน

เศรษฐพงศ์อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปแล้ว หน่วยงานรัฐจะประเมินสถานการณ์ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อนให้สัมพันธ์กับการกักเก็บ เพื่อให้มีน้ำเหลือในเขื่อนสำหรับใช้งานปีต่อไป ถ้าปล่อยน้ำมากไป ในปีต่อไปก็เสี่ยงแล้ง กลายเป็นความขาดแคลน แต่ถ้าเก็บเอาไว้มากก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วม กรณีที่ต้องระบายน้ำออกจาเขื่อนอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการพยากรณ์อากาศ

โดยทั่วไปแล้ว การพยากรณ์อากาศมีทั้งเชิงคุณลักษณะ เช่น เมฆบางส่วน เมฆมาก เมฆเป็นส่วนมาก เชิงปริมาณ เช่น ฝนเล็กน้อย ฝนปานกลาง ฝนหนัก ความน่าจะเป็น เช่น พายุโซนร้อนจะขึ้นฝั่งวันพรุ่งนี้

ความคลาดเคลื่อนของผลการพยากรณ์อาจเกิดจากข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลที่ป้อนให้กับแบบจำลองไม่ละเอียดครบถ้วนเหมือนสภาพบรรยากาศจริง ช่วงเวลาพยากรณ์ก็มีส่วนอย่างยิ่ง ยิ่งพยากรณ์ล่วงหน้ามาก โอกาสเกิดความผิดพลาดก็ยิ่งมาก หรือมีตัวแปรอื่นๆ ที่มีผลต่อการพยากรณ์ที่ยังไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ

“เรื่องฝน ฟ้า พายุ เรายังทำได้แค่ประมาณการณ์ อาจไม่ชัดเจนเพราะยังไม่เห็นเป็นน้ำเป็นเนื้อ ฝนยังไม่ตกลงมาจริงๆ มันก็เลยเกิดปัญหา” ธรรมชาติของกระบวนการทางอุตุนิยมวิทยาละเอียดอ่อนและซับซ้อน ความคลาดเคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อยในการตรวจสภาพอากาศหรือวิเคราะห์ข้อมูล อาจทำให้ผลการพยากรณ์ผิดเพี้ยนไป

“อุบลฯ เป็นจังหวัดปลายน้ำ เป็นจุดรวมน้ำที่รับมาจากจังหวัดต่างๆ แถบอีสานตอนล่าง บริบทไม่เหมือนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย แต่ในภาพรวมแล้ว การจัดจราจรน้ำและการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ในแต่ละปี ถ้าปริมาณน้ำเยอะ จากที่จะท่วมมากก็กลายเป็นท่วมน้อย พนังกั้นแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลยังช่วยป้องกันน้ำไม่ให้น้ำท่วมเป็นวงกว้าง ในปีต่อๆ ไปคาดว่าจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ตามนโยบายให้ความสำคัญกับพื้นที่”

ubonflood
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานข่าวน้ำท่วม หลายปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาต่างๆ เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นต้นตอของน้ำท่วมอุบลฯ หรือไม่

8

หลายปีที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่างานศึกษาด้านการป้องกันน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีมักเป็นงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ และข้อเสนอแนะที่เกิดจากการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มักเป็นการปรับสภาพพื้นที่ และใช้โครงสร้างแข็ง อาทิ การสร้างเขื่อน สร้างกำแพง ขุดลอกลำน้ำ เท่าที่มีการจัดทำพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำก็เป็นเพียงส่วนน้อย

ยกตัวอย่างพื้นที่ทางตอนเหนือของเทศบาลเมืองวารินชำราบมีลักษณะเป็นแนวระบายน้ำหลาก ในแต่ละปีมักเผชิญเหตุการณ์แม่น้ำมูลล้นตลิ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เศรษฐกิจ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จึงเข้ามาศึกษาหาทางแก้ไข

ต่อมาจึงมีการจัดทำระบบคันล้อมรอบ ติดตั้งสถานีสูบน้ำ ขุดคลองผันน้ำเบี่ยงให้น้ำไหลเลี่ยงพื้นที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่กล่าวมาส่วนใหญ่จะไม่สามารถป้องกันที่รอบปีการเกิดซ้ำมากกว่า 3 ปีเนื่องจากจะส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่ต้นน้ำ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมูลค่าสูง

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำวิจัยหัวข้อ การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานีเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา การปล่อยน้ำของหน่วยงานที่กำกับดูแลเขื่อนอาจมีส่วนทำให้เกิดน้ำท่วม

“ทุกวันนี้มีเขื่อนตามลำน้ำมูลและลำน้ำชีมากมาย เขื่อนแต่ละแห่งไม่ได้บริหารจัดการโดยหน่วยงานเดียวกันทั้งหมด การกักเก็บน้ำของเขื่อนล่วงหน้าในช่วงที่คาดว่าปีต่อไปอาจจะเกิดสถานการณ์น้ำแล้ง ทำให้เมื่อน้ำฝนตกลงมามากเกินความต้องการ เขื่อนแต่ละแห่งที่เก็บน้ำไว้ส่วนหนึ่งแล้วต้องเร่งระบายน้ำออกมาพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน นอกจากนี้ยังมีประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นเขื่อนสุดท้ายก่อนแม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขง อาจไม่ได้ถูกเปิดประตูเขื่อนอย่างทันท่วงที หรือมีการเปิดปิดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่มีน้ำไหลมามาก ทำให้น้ำท่วมนานผิดปกติ”

หากประตูระบายน้ำถูกปิด สันเขื่อนหรือสันฝายก็ไม่ต่างอะไรจากกำแพงกั้นน้ำ

เขื่อนที่ถูกสร้าง ไม่ว่าจะเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือเพื่อการเกษตร ตรงสันเขื่อนจะติดตั้งประตูระบายน้ำ ยกตัวอย่างเขื่อนปากมูลมีประตูระบายน้ำจำนวน 8 บาน เขื่อนราษีไศลมี 7 บาน และฝายลำเซบกมี 3 บาน การเปิดปิดประตูเขื่อนแต่ละแห่งที่ไม่สอดรับกัน มีส่วนสำคัญทำให้น้ำท่วมหนักและยาวนานขึ้น ยกตัวอย่างกรณีเจ้าหน้าที่ปิดประตูระบายน้ำคาไว้ การเปิดประตูเขื่อนเกิดขึ้นหลังจากระดับน้ำวิกฤตแล้ว

ย้อนเวลากลับไปเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2562 หนึ่งในข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม คือขอให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูเขื่อนให้ทัน ระบายน้ำจากเขื่อนปากมูลออกไปก่อนที่น้ำจากอีสานตอนบนจะไหลลงมา

หัวหน้าโครงการวิจัยยังชี้ให้เห็นผลกระทบที่ตามมาจากการสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งที่ถือเป็นโครงสร้างแข็ง ทุกวันนี้ริมน้ำมูลในเขตเทศบาลมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูลความสูงประมาณ 9 เมตร โดยเป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง

“การเกิดขึ้นของเขื่อนกันตลิ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมสูงขึ้นหรือไม่ เขื่อนกันตลิ่งอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ชุมชนได้ แต่หากปีใดมีน้ำท่วมสูงมากกว่า 10 เมตร ด้วยช่องทางระบายน้ำที่แคบทำให้เขื่อนกันตลิ่ง กลายเป็นกำแพงกักน้ำให้ท่วมขัง มากกว่าที่จะทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้เขื่อนป้องกันตลิ่งยังไม่ได้สร้างตลอดแนวลำน้ำ การสร้างเป็นบางจุดบางแห่งอาจเป็นสาเหตุให้น้ำไหลเร็วและรุนแรงเข้าสู่ที่อยู่อาศัย” อาจารย์กนกวรรณให้รายละเอียดจากเนื้อหาที่อยู่ในงานวิจัย

ubonflood10
ubonflood11
(บน) “อาคารลอยน้ำ” หรือ “แพสู้น้ำท่วม” ที่ชุมชนหาดแสนสุข 1 (ล่าง) ศาลาอเนกประสงค์ที่อยู่สูงพ้นน้ำ ที่บ้านหนองยาง เป็นความพยายามหาทาง “สู้” และ “อยู่ร่วม” กับน้ำของชาวอุบลฯ หลังประสบปัญหาติดต่อกันมาหลายปี หลายชุมชนเริ่มมีประสบการณ์และพยายามหาศักยภาพในการดูแลตัวเอง

9

ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลเป็นสองลุ่มน้ำที่เต็มไปด้วยเขื่อนและฝาย ทั้งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี รวมถึงแม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีทุกวันนี้ต่างเต็มไปด้วยเขื่อนและฝายตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ อาทิ เขื่อนลำปาว เขื่อนพนมไพร เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนราศีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนปากมูล ฯลฯ

ก่อนสร้างเขื่อนปากมูลชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลเคยใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า อาบน้ำ บางครอบครัวนำน้ำมาดื่มกินเพราะน้ำใสสะอาด ในทางการท่องเที่ยว แม่น้ำมูลยังมีเกาะแก่งที่สวยงามไม่ว่าจะเป็นแก่งตะนะ แก่งสะพือ และแก่งตุงลุงซึ่งเป็นที่พักผ่อนของสาธารณชนทั่วไป

หลังสร้างเขื่อนปากมูลสถานภาพของแม่น้ำมูลเปลี่ยนไป ชาวบ้านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็น คาดว่าเป็นเพราะขาดการระบายน้ำ สันกำแพงและประตูเขื่อนที่กั้นขวางลำน้ำไว้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทำให้การไหลของน้ำไม่เป็นตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล

ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนเหมือนอดีต ชาวประมงที่ออกหาปลามีอาการของโรคผื่นคัน บางคนเป็นโรคตุ่มและคันตามผิวหนัง กว่าจะสามารถลงเล่นน้ำได้โดยไม่มีตุ่มและอาการคันก็ต้องรอช่วงที่มีการเปิดประตูระบายน้ำ น้ำจึงจะมีสภาพใสสะอาดไม่มีกลิ่นเหม็น

อุบลราชธานีเป็นพื้นที่รับน้ำ ตั้งอยู่ตรงส่วนสุดท้ายปลายทางของแม่น้ำมูลก่อนที่มวลน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงออกจากประเทศไทย จึงเป็นพื้นที่เปราะบางและเสี่ยงประสบอุทกภัยโดยธรรมชาติ

หลายปีที่ผ่านมา การขยายตัวของเมือง การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ การสร้างเขื่อน ทำให้ลักษณะกายภาพของพื้นที่และเส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่

น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติ แต่การบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพทำให้น้ำท่วมกลายเป็นภัยพิบัติที่ยากจะรับมือ

รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Internews’ Earth Journalism Network

ขอขอบคุณ Fabian Drahmoune, คุณกมล หอมกลิ่น, คุณณัฐพล ศิลปะชัย, คุณชัยวัฒน์ บุญชวลิต 

สถานการณ์เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย และเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขง

ช่วงปี 2550-2555 เครือข่ายประชาชนในภาคอีสาน นักวิชาการ ได้ร่วมกันคัดค้านโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ที่จะสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงมาตรวจสอบจนโครงการต้องชะลอออกไป

ล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2565 มีรายงานความคืบหน้าจากเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จังหวัดอุบลราชธานี ว่าบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดเลย ระบุว่าทางบริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding – MOU) กับรัฐบาลลาวเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานผามองและโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวัน หรือที่เครือข่ายประชาชนในอีสานรู้จักกันในชื่อโครงการ “เขื่อนปากชม” และ “เขื่อนบ้านกุ่ม” ตามลำดับ

หลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มสังเกตเห็นเรือบรรทุกคนงานและทหารลาวแล่นสำรวจริมฝั่งแม่น้ำโขงแถบอุบลราชธานี คาดว่าเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อเดินหน้าก่อสร้างเขื่อน สอดรับกับที่ทางบริษัทแจ้งว่าจะมีการสำรวจ ศึกษาผลกระทบ และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ

เขื่อนบ้านกุ่มตั้งอยู่ตรงพรมแดนไทย-ลาว บริเวณตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี คาดว่าชุมชมฝั่งไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ได้แก่ บ้านตามุย บ้านท่าล้ง บ้านคันท่าเกวียน บ้านปากลา บ้านดงนา บ้านสำโรง และบ้านสองคอน ส่วนทางฝั่งลาวคาดว่ามีประมาณ 6 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

นอกจากเขื่อนบ้านกุ่มแล้วห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงลงไปทางท้ายน้ำโขงประมาณ 50 กิโลเมตร ห่างจากเมืองปากเซ เมื่อหลวงของแขวงจำปาสัก ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโครงการเขื่อนภูงอย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทเจริญเอเนอยี่ แอนด์ วอเตอร์เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ และนำเสนอรายงานศึกษาความเป็นไปได้และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนภูงอยต่อรัฐบาลลาว ต่อมารัฐบาลลาวได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติเพื่อเตรียมจัดกระบวนการแจ้งปรึกษา หารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) มีรายงานจากสื่อหลายสำนักระบุว่าโครงการเขื่อนภูงอยจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 88 หมู่บ้านใน 7 เมืองของลาว หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบ้านขอนแก่นที่มีประชากรประมาณ 811 คน มีการเตรียมแปลงอพยพบริเวณใกล้เขื่อน

หากเขื่อนบ้านกุ่มและเขื่อนภูงอยถูกสร้างขึ้นจริง พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำมูลอันเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงจะถูก “บล็อค” ด้วยเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งช่วงเหนือน้ำและท้ายน้ำ ทั้งสองเขื่อนต่างก็ตั้งอยู่ห่างออกไปแค่ไม่กี่สิบกิโลเมตร

เฉพาะแม่น้ำโขงตอนล่างเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทย ลาว และกัมพูชา มีโครงสร้างสร้างเขื่อนรวมกันถึง 11 แห่ง หลังจากเขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่ก่อสร้างสำเร็จ ตามด้วยเขื่อนดอนสะโฮง ยังจะมีเขื่อนต่างๆ ตามมาอีกอย่างน้อย 9 แห่ง ทั้งที่เริ่มก่อสร้างแล้วและมีโครงการในอนาคต

การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงส่งผลต่อความผันผวนของน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำโขงโดยตรง

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีผลต่อน้ำท่วมอุบลราชธานี ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 กรมประชาสัมพันธ์ รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยระบุว่า ระดับน้ำบริเวณเขื่อนปากมูล สูงกว่าระดับน้ำแม่น้ำโขงเพียง 53 เซนติเมตร ทำให้อัตราการไหลของน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงค่อนข้างช้า ขณะที่ระดับน้ำของแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับตลิ่งประมาณ 2.59 เมตร

หลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณปากแม่น้ำมูล เพื่อเร่งให้น้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่น้ำโขงเร็วขึ้น

ยากที่จะคาดเดาว่าหากเขื่อนทั้งหมดสร้างเสร็จ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ระดับน้ำ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร