เรื่อง : กุลจิรา อนุไวยา นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Homo Gaia ถึงเวลาหรือยัง ที่มนุษย์จะกลับมาคืนดีกับธรรมชาติ…

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 นิตยสารสารคดีและภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ร่วมกันจัดงานเสวนาด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หัวข้อ “Homo Gaia ถึงเวลา (หรือยัง) ที่มนุษย์จะคืนดีกับธรรมชาติส่วนหนึ่งของกิจกรรม “Eco Living ดิน ฟ้า ป่า น้ำ DOC FEST” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกเหนือจากวงเสวนา ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ เวิร์คชอป PARK ใจ สำรวจสิ่งมีชีวิตใจกลางเมือง สำรวจแมลงในเมืองหลวง นิทรรศการภาพถ่าย ฉายภาพยนตร์สารคดีผลงานคัดสรรจากเยาวชนค่ายสารคดี 18 และนักทำสารคดีมืออาชีพ

วรพจน์ บุญความดี หรือ มะเดี่ยว เจ้าของเว็บไซต์เก็บเสียงจากธรรมชาติ “ไพรสาร” หรือ Praisan.org แหล่งข้อมูลหลักจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ยังได้ยินฉันอยู่ไหม ร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะในมุมคนทำงาน “ตามหา” และ “เก็บ” เสียง ว่าทุกวันนี้เสียงของธรรมชาติถูกมองข้าม ผู้คนไม่ค่อยได้ฟังเสียงจากธรรมชาติสักเท่าไหร่ ทั้งที่จริงแล้วเสียงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้

“ตั้งแต่โบราณ มนุษย์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้ยินเสียงจากธรรมชาติมาตลอดจนเคยชิน เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านเสียงจากธรรมชาติ เช่น ได้ยินเสียงกบร้อง เราก็จะรับรู้ทันทีว่าฝนกำลังจะตก เสียงจักจั่นทำให้รับรู้ว่าฤดูร้อนกำลังจะมาเยือน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป มีนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามา กลับทำให้เสียงของธรรมชาติเริ่มเบาลง และหายไป แต่คนก็ยังคงโหยหาธรรมชาติเพื่อกล่อมเกลาตัวเอง

“ตัวอย่างเสียงธรรมชาติในยูทิวป์มีจำนวนมาก และคนที่เข้าไปฟังก็มีไม่น้อยในแต่ละคลิป สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเราขาดและโหยหาธรรมชาติมาก โดยเฉพาะด้านการฟัง”

วรพจน์ยืนยันหนักแน่นถึงความสำคัญของการฟังและคุณค่าของเสียงจากธรรมชาติ

“การฟังเป็นผัสสะที่ใช้เยอะมากที่สุดจากผัสสะทั้ง 5 ผมพยายามบันทึกสียงจากธรรมชาติจริง ๆ กลับมาฟังเพื่อให้คนได้กลับสู่ธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น”

วลัยลักษณ์ ภูริยากร หรือ เซียง รุกขกรคนแรกของกรุงเทพเทพมหานคร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ วิทยากรอีกคนหนึ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนกับต้นไม้ รวมทั้งความสำคัญของการเก็บรักษาพื้นที่สีเขียวในเมือง

“ธรรมชาติมีความสำคัญ สิ่งแวดล้อมยังสำคัญกับเมือง สังเกตได้ง่าย ๆ คือแทบทุกที่ยังคงต้องมีต้นไม้” เธอเน้นย้ำ แล้วกล่าวต่อไปว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักวิธีดูแลต้นไม้ที่ถูกต้อง

“ต้นไม้ในเมืองกับในป่าแตกต่างกัน ต้นไม้ในป่าถึงล้มก็อาจไม่เป็นไร แต่ต้นไม้ในเมืองถ้าล้มอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้างรวมถึงชีวิตของผู้คน รุกขกรจึงสำคัญมากต่อการดูแลรักษาต้นไม้ในเมือง แม้ธรรมชาติจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้เหมือนมนุษย์ แต่ต้นไม้ในเมืองต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์ที่ถูกต้องถูกวิธี”

homogaia4713
homogaia4722

ในสถานการณ์ที่เมืองไม่สามารถกลับสู่สภาพธรรมชาติได้ง่าย ๆเธอชี้ว่าต้นไม้เป็นตัวชี้วัดของเมืองที่ยั่งยืน “ต้นไม้ไม่ได้เกิดมาตอบสนองความต้องการของคน เราต้องดูแลรักษา ต้องเข้าใจต้นไม้เหมือนกัน อย่ามัวแต่คิดว่าต้นไม้ให้อะไรกับเรา แต่เราต่างหากให้อะไรกับต้นไม้บ้าง ต้นไม้ในกรุงเทพฯ เหมือนระเบิดเวลา มีโอกาสล้มได้ตลอด เพราะการออกแบบผังเมืองหรือทางเท้าไม่ได้รองรับการปลูกต้นไม้” ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลต้นไม้ชี้ชวนให้คนตระหนัก

จรรยพร เพ็งนรพัฒน์ หรือ หมอจูน อดีตแพทย์หญิงผู้มีใจรักธรรมชาติ อาสาสมัครที่อาศรมธรรมชาติ (Gaia Ashram) ตัวละครหลักจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Permaculture : From Ego to Eco แนะนำตัวเบื้องต้นว่า เมื่อตอนเป็นหมอตนมีลักษณะการดำเนินชีวิตค่อนข้างแคบ จนไม่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ จึงพาตัวเองเข้าสู่อาศรมธรรมชาติ เลือกแนวทางการใช้ชีวิตที่จะได้อยู่อย่างธรรมชาติจริง ๆ

“เข้ามาใช้ชีวิตที่อาศรมธรรมชาติเพราะต้องการตามหาความหมายของชีวิต ที่ตลอดชีวิตการทำงานเป็นหมอไม่เคยเข้าใจ หัวใจของ Permaculture คือการใช้ชีวิตให้เป็นไปตามความเป็นไปของธรรมชาติ เริ่มต้นได้ง่าย ๆ แค่รู้ว่าตอนนี้เรากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก เมื่อได้มาใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ จึงเริ่มเชื่อว่าธรรมชาติจะช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง มองเห็นว่าเมื่อมนุษย์เกื้อกูลกัน ธรรมชาติเกื้อกูลกัน มนุษย์กับธรรมชาติก็ต้องเกื้อกูลกัน”

จรรยพรเล่าว่าการได้กลับมาอยู่กับธรรมชาติทำให้ได้กลับมาอยู่กับตัวเอง และเข้าตัวเองมากขึ้น พร้อมที่จะตามหาวิถีชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับโลกของเรา

น่าเสียดายว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้มนุษย์ตัดขาดจากธรรมชาติ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้เขียนหนังสือ Homo Gaia อดีตประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว นักสิ่งแวดล้อมและนักคอลัมนิสต์ด้านธรรมชาติ ร่วมสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการตามหาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เริ่มต้นจากอธิบายความหมายของคำว่า โฮโม กาย่า

“Homo Gaia เล่นคำมาจากคำว่า Homo sapiens ซึ่งหมายถึงสายพันธุ์มนุษย์ นิยามของ Homo Gaia หมายถึง สายพันธ์มนุษย์ที่เป็นสมาชิกร่วมชุมชนกับชีวิตอื่น ๆ บนดาวเคราะห์โลกใบนี้”

ในมุมของผู้ที่เกิดมาในรุ่นสุดท้ายที่ได้อยู่กับธรรมชาติในเมือง เธอมองเห็นธรรมชาติถูกทำลายมาตลอด จึงพยายามนำคนให้กลับมารักและเข้าใจธรรมชาติอีกครั้งเท่าที่สามารถทำได้

“เมื่อคนและธรรมชาติตัดขาดจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจที่จะอยู่ร่วมกัน หากทำให้คนกลับมาตระหนักและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คนจะกลับมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติเหมือนอย่างที่เคยเป็น”

จุดเริ่มต้นอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างการให้ความสำคัญกับต้นไม้

“ต้นไม้เป็น Icon ของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้นไม้เป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิต เป็นคู่ตรงข้ามของมนุษย์เหมือนผู้ผลิตกับผู้บริโภค ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและคอยซับผลกระทบจากการกระทำของเรา” ดร.สรณรัชฎ์ ค่อย ๆ ขมวดเรื่องราวจากวิทยากรหลักทั้งสามคนเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ “นอกจากสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวภายในเมืองที่จำเป็น ต้นไม้ริมถนนก็จำเป็นเช่นกัน ประเทศไทยต้องการรุกขกรที่มีความรู้อีกจำนวนมาก เพราะไม่ได้แปลว่าทุกคนที่ปลูกต้นไม้จะถือว่าอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจและการดูแลรักษา”

ดร.สรณรัชฎ์ ให้ความเห็นว่าการใช้ชีวิตทุกด้านให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่ยังคงเคารพความต้องการของผู้อื่นก็มีความสำคัญ

“รูปธรรมของ Permaculture อาจไม่เหมาะกับทุกคน แต่สามารถนำมาปรับใช้ในเมืองได้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เบียดเบียนชีวิตอื่นน้อยลง”

ทั้งนี้ เรื่องของธรรมชาติจะเป็นจริงได้เร็วขึ้นหากได้ไปถึงระดับนโยบายรัฐ “เสียงเล็ก ๆ อาจดังไม่พอ นโยบายถือว่าสำคัญ การกำหนดนโยบายมีผลต่อสังคม จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนในสังคมได้มาก รัฐบาลต้องช่วยสร้างด้วย ไม่ควรแบ่งแยกเรื่องการพัฒนาเมืองออกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินไปด้วยกัน ระบบเศรษฐกิจและการเมืองควรเข้ามาช่วยสนันสนุน

“การสัมผัสธรรมชาติด้วยใจที่เป็นกลาง ยกตัวอย่างการฟังทำให้เรารับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวจากทุกสารทิศ ทำให้เรานิ่งขึ้น การฟังของเราจะละเอียดขึ้นเมื่อมีสติและปรับตัวไปตามเสียงที่ได้ยินการฟังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาช่องทางที่เราจะเข้าถึงปัญญาจากธรรมชาติได้ ทั้งหมดนี้คือความหมายโดยรวมของ Homo Gaia ซึ่งสามารถขมวดให้กลายเป็นประโยคเดียวได้”

ท้ายที่สุดแล้วจะมีวิธีใดช่วยให้มนุษย์และธรรมชาติกลับมาคืนดีกันได้สำเร็จ ก่อเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

จรรยพร เพ็งนรพัฒน์ ให้ความเห็นว่าต้องเริ่มจากการสังเกต เฝ้ามอง ใช้ชีวิตให้ช้าลง อาจทำให้เห็นอะไรมากขึ้น “เมื่อตั้งใจฟังเราจะได้ยินเสียงต่างๆ ชัดขึ้น เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ไม่มีอะไรสายไปเลย ยังมีความหวังในมนุษย์ตลอด”

สอดคล้องกับ วลัยลักษณ์ ภูริยากร ที่เห็นว่ายังไม่สาย “อยากให้การดูแลต้นไม้กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่เลือกเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้อง การดูแลที่ถูกต้อง ถ้าเมืองยังพัฒนา แปลว่าไม่มีอะไรสาย ทุกอย่างกลับมาได้ ทุกอย่างเริ่มใหม่ได้ การออกแบบพื้นที่ของเมืองกับธรรมชาติ ควรจะไปด้วยกันแบบคู่ขนาน”

วรพจน์ บุญความดี เน้นย้ำเช่นกันว่าวันนี้ยังไม่สาย “ทุกครั้งที่มนุษย์ได้ยินเสียงสิ่งมีชีวิตรอบตัวจะรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ จะเกิดความตระหนักและช่วยดูแลสิ่งนั้นเอง การเชื่อมโยงกับธรรมชาติไม่มีอะไรสายไป ยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ”

ไม่สายเกินไปที่จะคืนดีกับธรรมชาติ หากเราเปิดใจ ให้โอกาส และหยุดทำลาย

ในท้ายที่สุด ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ชี้ว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าธรรมชาติ “เราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือการให้เกียรติ เคารพ และเห็นคุณค่าของธรรมชาติ ไม่สายเกินไปแน่นอน ชีวิตฟื้นคืนเร็วมากทันทีที่เราให้โอกาส และหยุดทำร้ายกัน ไม่มีใครสามารถสื่อสารไปได้ถึงคนทุกกลุ่ม จะต้องอาศัยเครือข่ายให้ทุกคนช่วยกัน สิ่งสำคัญคือพูดต่อไปเรื่อย ๆ พูดทุกวิถีทางที่จะทำได้ เพื่อให้เสียงนี้กระจายออกไปกว้างไกลกว่าเดิม”