เรื่อง : ศิรดา พูลสุขโข นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Loss and Ruin ไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่ถูกทำลาย แต่คือผู้คน

เมื่อธรรมชาติถูกทำลาย ไม่ใช่แค่เพียงไม่มีต้นไม้ แต่คือการไม่มีที่อยู่อาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงมนุษย์ ผลจากการกระทำของตนเอง…

เมื่อวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2567 นิตยสารสารคดี ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “Eco Living ดิน ฟ้า ป่า น้ำ DOC FEST” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ นิทรรศการภาพถ่าย ฉายภาพยนตร์สารคดี ผลงานคัดสรรจากเยาวชนค่ายสารคดี 18 และนักทำสารคดีมืออาชีพ รวมถึงเสวนาหลังชมภาพยนตร์ หัวข้อ “Loss and Ruin ไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่ถูกทำลาย แต่คือผู้คน” และ “Homo Gaia” ถึงเวลา (หรือยัง) ที่มนุษย์จะคืนดีกับธรรมชาติ” เพื่อสะท้อนปัญหา ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

สุรศักดิ์ เย็นทั่ว หรือ จู ร้อยหวัน เจ้าของโฮมสเตย์บ้านต้นไม้ร้อยหวัน จังหวัดพัทลุง อดีตเลขาธิการชุมชนเทือกเขาบรรทัด คนต้นเรื่องจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “คน ป่า ต้นน้ำ จุดเริ่มต้นบ้านต้นไม้ร้อยหวัน” สะท้อนมุมมองของคนป่าต้นน้ำว่า “อยากให้คำนึงถึงว่าสายน้ำหลากใสที่มองเห็นกันอยู่นั้น กลับเต็มไปด้วยสารเคมีที่มาจากเกษตรกรรม แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งป่าไม้ ทั้งสัตว์ป่า ในฐานะคนต้นน้ำ ป่าเทือกเขาบรรทัดและสัตว์ต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ได้นั้นเป็นเพราะคนในชุมชนช่วยกันรักและรักษ์พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ พื้นที่ที่บรรพบุรุษปกปักษ์รักษาไว้ และเราต้องทำหน้าที่นั้นสืบต่อไป”

เมื่อหลายปีก่อน เขาเคยเคลื่อนไหวเรียกร้องรวมถึงเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานรัฐเพื่อรักษาป่าไม้ แต่ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร จึงหันมาจัดการเชิงพื้นที่ เกิดเป็นโฮมสเตย์บ้านต้นไม้ร้อยหวัน ผลักดันการท่องเที่ยวแบบ experience community ชุมชนการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสประสบการณ์ ไม่ใช่การท่องเที่ยวอิงกระแส

loss0638

“เราอยากให้คนที่มาพัก อยู่และเรียนรู้กับธรรมชาติ ให้สัมผัสกับชุมชน เชื้อเชิญให้ผู้คนท่องเที่ยวธรรมชาติ ชวนมองถึงแหล่งต้นน้ำ นำไปสู่การสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางป่าใหญ่” สุรศักดิ์ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากที่เคยลงพื้นที่ทำวิจัยทั้งเทือกเขาหลวงและเทือกเขาบรรทัด

“มันเป็นเรื่องตลกเศร้า ทำไมเราต้องให้เกียรติคนที่มาทำลายสิ่งแวดล้อม” เขากล่าวทิ้งท้ายให้หลายฝ่ายคิด

loss0651

จากเรื่องราวในผืนป่า อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ถ่ายทอดเรื่องราวที่กำลังเกิดกับแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านหลายประเทศ รวมถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เรื่องราวของอ้อมบุญและผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงสะท้อนผ่านแก่นหรือประเด็นหลักในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Lost in Mekong” ว่าด้วยเรื่องราวของ “ลวงมอง” พื้นที่หาปลาบนแม่น้ำโขง

“ลวงมองเป็นพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นจุดหาปลาของคนที่อิงอาศัยกับลุ่มน้ำโขง มีระเบียบ กฎกติกา และวัฒนธรรมในการจับสัตว์น้ำร่วมกัน จนกลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ทุกวันนี้ลวงมองกำลังได้รับผลกระทบ ลวงมองหลายแห่งหายไป”

อ้อมบุญอธิบายว่าวันนี้มีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขง ทำให้ระดับน้ำผันผวน ขึ้นลงไม่เป็นเวลา การปั่นกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ปลาแม่น้ำโขงจะตื่นน้ำอยู่ตลอดเวลา จนการดำรงชีวิตและพฤติกรรมเปลี่ยนไป สุดท้ายปริมาณปลาก็ลดลงจนกระทั่งหายไปจากท้องน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง

สิ่งที่อ้อมบุญและคนลุ่มน้ำโขงพยายามทำคือส่งเสียงให้ทุกคนรับรู้ว่าบนผืนน้ำมีวิถีชีวิตของคนอยู่

“บนผืนน้ำมีกรรมสิทธิ์ มีการดำรงชีวิต เราไม่ใช่เพียงทำมาหากิน แต่เราฟื้นฟูดูแล ทุกปีก่อนฤดูหาปลา พวกเราจะทำพิธีเลี้ยงขึ้นเลี้ยงลง เลี้ยงผีน้ำ เป็นการเคารพธรรมชาติ เก็บกวาดพื้นที่ใต้ท้องน้ำ ทำแบบนี้มาตลอด”

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ เป็นแหล่งโปรตีนให้กับชนทุกคนชั้นในการดำรงชีวิต เป็นพื้นที่หารายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล แต่กลับไม่มีการดูแลสายน้ำแห่งชีวิตนี้ให้ดีเท่าที่ควร

“หลังจากอำนาจทุนนิยมเข้ามา แม่น้ำโขงก็กลายเป็นสายน้ำที่ไร้ชีวิต การสู้กันของมหาอำนาจ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้กี่ร้อยครัวเรือนต้องแตกแยก ชาวบ้านไม่สามารถกลับมามีวิถีชีวิตเดิมได้ วิถีประมงสูญสลาย เพราะคนมีอำนาจมองแม่น้ำไม่เหมือนกับเรา พวกเขามองแม่น้ำเป็นเพียงเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า สัมปทานกันอย่างสำราญ ผลประโยชน์ไม่ตกมาถึงชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ในทางตรงกันข้าม ผลของการกระทำกำลังย้อนกลับมาหาเราทุกคนผ่านใบเสร็จค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ หากยังเป็นอยู่อย่างนี้อนาคตของแม่น้ำโขงคงกลายเป็นหม้อไฟแห้ง ๆ ของอาเซียน”

วันนี้แม่น้ำโขงและวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขงแทบล่มสลาย ชีวิตความเป็นอยู่ถูกบังคับให้เปลี่ยนไป แต่อ้อมบุญอยากชวนทุกคนมองเรื่องราวของแม่น้ำโขงที่ยังคงสวยงาม มีความหลากหลาย ไม่พังทลายไปเสียทั้งหมดพร้อมกับมนุษย์ที่สร้างปัญหา

“เรื่องแม่น้ำโขงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน วันนี้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไป วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยน ถ้าสายน้ำยังคงสมบูรณ์ วิถีชีวิตก็จะสมบูรณ์ตามมา” เธอกล่าวอย่างมีความหวัง

loss0667

ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ หรือ แดง ผู้ก่อตั้งกลุ่มวาฬไทย (ThaiWhales) ผู้ผลิตภาพยนตร์ The Last 14 และวาฬบอกที (Whale’s Tale) นำเสนอเรื่องราวของโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา รวมถึงการอนุรักษ์วาฬในฐานะสัตว์ทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า “จากการศึกษาและทำสารคดีเกี่ยวกับโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ทำให้รู้ว่าการเสี่ยงสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทยว่าจะสามารถดูแลรักษาพวกเขาต่อไปได้หรือไม่ ทะเลสาบสงขลาอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย ปัญหาน่าจะแก้ง่ายกว่าแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำนานาชาติ คำถามสำคัญคือเราจะทำให้สังคมไทยจะตื่นรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร”

ชาญกิจเล่าว่าหลังจากเริ่มทำองค์กร Thaiwhales การดูแลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทางทะเลก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่สำหรับโลมาอิรวดี ผู้คนกลับมองไม่เห็นความสำคัญ จนกระทั่งเหลือ 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา

ในฐานะคนทำหนัง ชาญกิจเห็นว่าการนำสื่อภาพยนตร์สารคดีมาช่วยขับเคลื่อนและสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ ช่วยส่งเสียงดัง ๆ ให้สังคมได้รับรู้

“ภาพยนตร์สารคดีน่าจะเป็นความหวังเดียวที่จะดึงความเป็นมนุษย์ของเรากลับสู่ธรรมชาติ ตอนนี้เราสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ที่เคารพธรรมชาติไป เราต้องอาศัยสื่อ บ่มเพาะให้มนุษย์กลับมาเคารพธรรมชาติดังเดิม คงจะดีหากผลักดันภาพยนตร์สารคดีเป็น soft power อย่างจริง ๆ จัง ๆ ให้เข้าถึงคน ดึงดูดคน สื่อสารให้คนเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น นำเสนอด้วยความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความอุตสาหะของคนรุ่นใหม่ ๆ”

วิทยากรอีกคนหนึ่งคือ ศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์ธรรมชาติและอดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งประเด็นเกี่ยวกับภาพรวมของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้อย่างน่าสนใจ

“ยังไงโลกมันต้องถูกทำลาย เรากำลังเดินไปในทิศทางนั้น”

เป็นความจริงที่ยากจะยอมรับว่าที่ผ่านมามนุษย์ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์อย่างมหาศาล ผลกระทบของมันกำลังย้อนกลับมาทำลายมนุษย์เอง

“ทำอย่างไรให้โลกยังอยู่ได้ ไม่สูญหายใน generation ต่อไป ความรู้เรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ต้องถูกให้ความสำคัญ โลก ต้นไม้ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ ป่า คน ต้องสมดุลกัน” เขาชี้ให้เห็นความสำคัญของการส่งต่อองค์ความรู้และความตระหนักเรื่องธรรมชาติ แต่ปัญหาคือเวลานี้คนส่วนมากไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีใครส่งเสียงออกมาดัง ๆ องค์ความรู้หรือภูมิปัญญาจจึงยังไม่ถูกเผยแพร่

“เราต้องอาศัยมนุษย์หลายรุ่นในการรักษา แรงของคนรุ่นใหม่สำคัญมาก จะทำอย่างไรให้การดูแลของประชาชนและภาครัฐส่งพลังให้มีการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยถ้าได้ลงมือทำ ถ้าเรามีองค์กรสนับสนุนอาจเกิดการส่งต่อที่สำเร็จ ตอนนี้คนตัวใหญ่เป็นคนทำลายเสียเอง คนดูแลรักษากลับเป็นคนตัวเล็ก”

“ถ้าหากคนในประเทศเลือกที่จะทำลายธรรมชาติ คำถามคือก่อนที่จะทำลายคุณรู้จักคุณค่าดีหรือยัง คุณแทบไม่รู้จักธรรมชาติเลยด้วยซ้ำ แต่คุณเลือกที่จะทำลายด้วยความหยาบคายและความไม่รู้”

มนุษย์ไม่ควรเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่อยู่รอดบนโลก…

วงเสวนาหัวข้อ “Loss and Ruin ไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่ถูกทำลาย แต่คือผู้คน” พยายามชี้ให้เห็นปัญหา ร่วมหาทางออกของปัญหาที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

จะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เหล่านี้ แม้ความหวังเพียงริบหรี่ แต่ก็ยังมีความหวัง…

#EcoLivingดินฟ้าป่าน้ำ #EcoLivingDocFest #ค่ายสารคดี #ค่ายสารคดี18

สนับสนุนโดย

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • Sarakadee Magazine