เรื่อง : อดิราห์ มามะ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง และกิติมาภรณ์ จิตราทร

ไฟล์พิเศษวันวิเศษ กับธีรภาพ โลหิตกุล

“เราไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อสร้างสันติภาพ แค่อยากเขียนให้คนเข้าใจกัน”

ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ปี ๒๕๕๘ อธิบายหน้าที่ตนประสาคนสารคดีที่รับใช้สังคมอ่าน-เขียนมาเกือบ ๔ ทศวรรษ ยาวนานพอกับนิตยสาร สารคดี ซึ่งครบรอบปีที่ ๔๐ ในปี ๒๕๖๗ จึงจัดพิมพ์ฉบับว่าด้วยธีม “40 Years of Storytelling” และเชิญผู้เล่าเรื่องในแขนงต่างๆ ร่วมปันประสบการณ์ ธีรภาพตอบรับในฐานะนักเล่าผ่านการเขียน

ช่วงเวลาของการนัดหมายสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล มีโอกาสติดตามการทำงานภาคสนามกับกองบรรณาธิการในฐานะนักศึกษาฝึกงานตำแหน่งนักเขียน รู้เห็นบทสัมภาษณ์น่าสนใจอีกหลายประเด็นที่หน้ากระดาษ สารคดี ไม่เพียงพอต่อการเผยแพร่ในบทความ “ทีละภาพ ธีรภาพ” (สุชาดา ลิมป์, มีนาคม ๒๕๖๗) เป็นที่มาของการเก็บตกไฟล์บันทึกเสียงออกมาเป็นเรื่องนี้ และเนื่องจากประทับใจในบรรยากาศ บางประโยคจึงขอบันทึก “ภาษาพูด” ไว้ให้ผู้อ่านได้อรรถรสเสมือนเราทุกคนร่วมวงสนทนานี้ด้วยกัน

00:00:01 Media Player กำลังเริ่มทำงานแล้ว…

teeraparb05225

คุณใช้ชีวิตอยู่กับการเขียนสารคดีนานแค่ไหนแล้ว

“เป็นอาชีพประมาณอายุ ๒๗-๒๘ ปี แต่จริงๆ ผมเขียนตั้งแต่เป็นนักเรียนอยู่เทพศิรินทร์ ทำหนังสือภายในโรงเรียนชื่อ ‘เทพสนุก’ เน้นเรื่องศาสนา ต่อมาเป็นสารนียกรก็คือบรรณาธิการ ตอน ม.ศ. ๕ ในชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือ ชื่อ ‘อนุรักษ์’ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พอมหาลัยก็ทำหนังสือพิมพ์ขององค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อ ‘วารสารร่มนนทรี’ เป็นวารสารข่าวและคอลัมน์ ผมเขียนคอลัมน์วิจารณ์บันเทิง แนะนำเทป เพลง ใช้นามปากกาว่า ‘นายบุญเพลง’

“จุดที่ทำให้เข้าใกล้สารคดีมากขึ้นน่าจะมาจากการส่งภาพประกวด เป็นภาพเรือประมงพื้นบ้านที่จังหวัดระยอง เราไปเที่ยวเอง สมัยนั้นยังเป็นฟิล์มสีอยู่ ได้ชนะที่ ๑ รางวัลคือตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-พิษณุโลก ๑ ที่นั่ง คิดว่ากรรมการอาจมองว่ามุมมองภาพดี องค์ประกอบดี  มีเรื่องราวดีเลยได้รางวัลมา

“แล้วตอนขากลับทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าจะมีงานปีใหม่ม้งที่ภูหินร่องกล้า เลยตัดสินใจไปเลื่อนตั๋วเครื่องบินแล้วกลับไปที่ภูหินร่องกล้า ไปแบบไม่รู้จักใคร คิดแค่ไปโบกรถเอาข้างหน้า ไปคนเดียวมันก็คล่องตัวหน่อย ติดรถนักท่องเที่ยวที่เขามากลุ่มใหญ่แล้วเช่ารถ เราก็โบกเรียก ผูกมิตรกับเขาแล้วก็ไป ตรงจุดสุดท้ายก่อนถึงหมู่บ้านม้งก็โบกรถอีกต่อ ได้รถขนข้าวของชาวบ้านที่เขากำลังกลับเข้าหมู่บ้านพอดีแล้วยังได้เจอเพื่อนร่วมทางเป็นกองร้อยทหารที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านเลยขอเขาไปนอนด้วย นอนที่ตรงไหนรู้ไหม นอนตรงเบาะที่เขาเรียกว่า ‘เบิม’ มันคือที่นอนที่มีกำบัง กันกระสุนได้ด้วย” 

ทำไมเขาถึงไว้ใจให้คนนอกเข้าไปนอนด้วยง่ายขนาดนั้น

“สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนั้นเงียบสงบแล้วและเรามาคนเดียว เขาเห็นว่าเรามาดีจึงไว้ใจ แนะนำให้รู้จักกับผู้นำชุมชนด้วย เขาจะบอกกันทั้งหมู่บ้านว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามานะ นอกจากนั้นวิธีการที่เราเข้าไปพูดคุยซักถามแบบอ่อนน้อมถ่อมตนก็ช่วยทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่แปลกแยก สงสัยอะไรก็ถาม ความอยากรู้อยากเห็นจะทำให้เราได้รับสิ่งที่เรียกว่าความเมตตาและน้ำใจเพราะเขาจะรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับงานเขา ผู้ใหญ่บ้านพูดไทยได้ก็เล่าให้ฟังว่าจะมีกิจกรรมอะไรตอนไหนกี่โมง อย่างวันนี้สักทุ่มนึงชาวบ้านผู้ชายจะต้องอาบน้ำกัน พอเที่ยงคืนจะมีจุดพลุโห่ร้องฉลองการขึ้นปีใหม่

“ตลอดสองวันก็ฝังตัวอยู่ที่นั่นแหละ กินกับชาวบ้าน นอนกับทหาร ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับชาวบ้าน ซึ่งกิจกรรมแรกสุดของงานปีใหม่ม้งเลยก็คือการที่แม่บ้านกับเด็กๆ มาตักน้ำใหม่ในแหล่งน้ำ การตักน้ำใหม่ในวันปีใหม่ถือว่าเป็นมงคล นอกจากว่ามันจะเป็นภารกิจสำคัญแล้ว ยังได้ภาพที่งดงามด้วย คือเขาจะมาเป็นกลุ่มๆ เป็นส่วนของแม่บ้านกับลูกๆ ไปตักตอนเช้าที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เห็นทะเลหมอกลอย มันโรแมนติกมาก แม้กระทั่งเสียงของการตักน้ำเหมือนกับมันทำให้เราอิน ได้อารมณ์ความรู้สึกมาบรรยาย”

การซักถามแบบไหนที่พอดีกับคนแปลกหน้า มีอะไรที่ต้องคำนึง

“วัยนั้นเป็นวัยฉกรรจ์ของเรา เป็นวัยที่ไม่กลัวอะไร บวกกับสถานการณ์ในพื้นที่ซึ่งเคยมีการรบอย่างหนัก แม้เงียบสงบแล้วก็ต้องระมัดระวังการวางตัวเองให้เหมาะ ซึ่งผมสนใจทางวัฒนธรรมมากกว่าอยู่แล้วก็จะซักถามแค่ในเชิงชาติพันธุ์ อย่างม้งมีกี่กลุ่ม เขาเป็นม้งลาย ม้งดำ หรือม้งไหน แล้วผมคิดว่าบางครั้งการที่ไม่ได้เตรียมตัวไปก่อนก็ดีอย่างคือเห็นอะไรก็สงสัย มีเรื่องให้ชวนคุยซักถาม ชาวบ้านก็ภูมิใจที่จะให้คำตอบ ถ้าเรารู้ไปก่อนแล้วอาจมองข้ามประเด็นเหล่านี้ก็ได้”

ใช้วิธีใดเก็บข้อมูลภาคสนามสมัยที่ยังไม่มีเทปอัด

“จดบวกจำ จดในพื้นที่เสร็จพอกลับบ้านมีเวลาว่างก็นั่งจดจากความจำ จดความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ บรรยากาศ ความรู้สึกตัวเราตอนนั้น การสื่อความหมายทางวัฒนธรรมว่าการทำแต่ละสิ่งนั้นหมายถึงอะไรบ้าง แล้วนำข้อมูลมาเรียบเรียงเขียนส่งนิตยสาร สกุลไทย เป็นบทความชิ้นแรกที่ได้ลงกับ สกุลไทย

teeraparb01981

กระแสของผู้อ่านในยุคนั้นเรื่องเล่าแบบไหนที่ได้รับความสนใจ

“เรื่องวัฒนธรรมประเพณีแปลกๆ เรื่องชาติพันธุ์ต่างๆ เรื่องไหนที่ได้เดินทางด้วยวิธีแปลกๆ ก็จะหยิบยกมาเล่าด้วยให้ผู้อ่านสนุกสนานตื่นเต้นไปกับการเดินทาง ลุ้นว่าจะเจออะไร

“มีอีกเรื่องหนึ่งที่ลงใน สกุลไทย แล้วผู้คนสนใจคือผมเล่าเรื่องชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน แล้วใช้ตัวละครที่มีชีวิตจริง เน้นสัมภาษณ์ คุยกับ ‘พอวา’ แล้วเอาชีวิตเขามาร้อยเรียงเขียนแบบรื่องสั้น จำได้ว่าเล่าเรื่องวัฒนธรรมการทำอาหาร การเย็บปักถักร้อย ซึ่งมีเอกลักษณ์ลวดลายไม่เหมือนใครนั้นสื่อความหมายอะไร หมู่บ้านแถวนั้นคือดอยแม่เหาะ ซึ่งเป็นแหล่งทุ่งดอกบัวตอง ผมเล่าชีวิตของสาวพอวากับความเป็นมาของดอกบัวตอง เกิดจากการที่มีมิชชันนารีเอาเมล็ดพันธุ์ใส่กระเป๋าเดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในแม่ฮ่องสอนแล้วหว่านโปรยไปโดยไม่รู้ว่าจะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ ในมุมมองของชาวบ้าน บางส่วนก็มองมันเป็นวัชพืชจึงโค่นทิ้งไปเพื่อจะใช้พื้นที่นั้นปลูกพืชผล แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่าควรปล่อยไว้เพราะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามา ชุมชนจึงสร้างข้อตกลงกันว่าจะตัดฟันทิ้งแค่ไหน ให้เหลือไว้แค่ไหน

“เราคิดว่าวัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ วัดวาอาราม หรือแหล่งท่องเที่ยวจะมีสีสันต้องมีชีวิตชีวา มีคน จึงเป็นเป้าหมายมานานแล้วว่าถ้าจะนำเสนอเรื่องอะไรก็จะนำเสนอผ่านตัวละครที่เป็นคนจริง ไม่ใช่ตัวละครที่ปั้นขึ้น เช่น ตอนที่ได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับโขง ชี มูน แม่น้ำโขงสายเดียวก็แย่แล้ว ยาวมากแล้ว ยังมีชีด้วย มูนด้วย โอย…หินมากเลยนะที่จะเขียนให้ครอบคลุมทั้งหมด เลยตั้งเป้าจะหาคนที่เคยเดินทางผ่านแม่น้ำทั้งสามสายนี้ในตัวคนเดียว จากชีออกมูนออกโขง ทั้งที่ก็รู้ว่ามันยาก”

แล้วทำไมต้องเป็นนักเดินทาง 

“เพราะมันมีสีสันชีวิตของผู้คน และควรเป็นประสบการณ์จากคนในพื้นที่ เป็นชาวบ้าน จึงตัดสินใจไปตามความฝันที่อำเภอโขงเจียม เพราะเป็นที่ที่มีคำว่าโขง มันเหมือนกับที่นั่นเป็นเมืองหลวงของแม่น้ำโขง ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทย ตอนนั้นเริ่มจากไปขอพบนายอำเภอ ถามเขาว่ามีใครที่เราพอจะหาข้อมูลได้บ้าง ตอนนั้นโชคดีหน่อยที่เรามีสถานะของ อสท. เขาจึงแนะนำให้ลองไปถามคนคนหนึ่ง ทีนี้ก็ต่ออีกหลายทอดเลย แล้วก็ได้คนสุดท้ายคือ ‘พ่อเฒ่าดิษฐ์’ ดิษฐ์ หญ้าพรหม เป็นอดีตนายฮ้อย เป็นคนไทยอยู่ในอำเภอโขงเจียมนั่นแหละ เคยคุมเสบียงสินค้าคือเกลือที่ได้จากลุ่มแม่น้ำชีแล้วเอาใส่เรือล่องจากแม่น้ำชีเข้าแม่น้ำมูน จากแม่น้ำมูนออกแม่น้ำโขงตรงแม่น้ำสามสี ไปขายที่ปากเซ ประเทศลาว โอ้โห…โป๊ะเชะเลย!”

ได้ข้อมูลอะไรน่าสนใจบ้างจากการค้นพบเพชรเม็ดนี้

“พอพบเขาเราก็เริ่มวางแผนว่าจะเสนอเรื่องราวของแม่น้ำผ่านสายตานายฮ้อย เริ่มจากไปเอาเกลือที่แม่น้ำชี แล้วล่องเรือผ่านแม่น้ำมูน ผ่านแก่งสะพือที่อันตราย ตอนนั้นพ่อเฒ่าทำอะไรบ้างล่ะ เขาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำด้วยการจุดบุหรี่ทิ้งในแม่น้ำแล้วเทเหล้าตาม ภาษาวิชาการเรียกว่าบัตรพลีบูชา ภาษาชาวบ้านเรียกไหว้ผี สุดท้ายไปจบที่แม่น้ำโขง ปลายทางคือตลาดที่จะขายเกลือในปากเซ

“ตอนกลับมาเขียนก็ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนวนิยาย มีสำนวนอีสานแทรกเข้าไปด้วยอย่าง สายหมอกยามเช้า อีนางหล่าตื่นขึ้นมาทำครัว ในขณะที่พ่อเฒ่าตื่นนานแล้ว เตรียมตัวที่จะไปคุมเกลือ เป็นนายฮ้อย แล้วเราอยากให้งานเขียนมีบทสนทนาที่เป็นภาษาอีสานด้วย วิธีตรวจเช็คข้อมูลให้ถูกต้องจึงไปกินส้มตำที่ร้านส้มตำใต้ตึก อสท. แล้วถามคนขายซึ่งเป็นชาวอีสาน ปลานี้เรียกว่าอะไร ภาษากลางเรียกว่าอะไร คนอีสานพูดว่าไง งานเขียนจะได้มีอรรถรสมีสีสันมากขึ้น แล้วยังช่วยให้คนอ่านรู้สึกว่าสมจริงสมจัง ซึ่งเราจะมีวิธีการอธิบายไว้ในเรื่องด้วยว่าภาษากลางคือคำว่าอะไร อาจเป็นการใช้วงเล็บ”

อะไรคือบันดาลใจของการเขียนสารคดีรูปแบบนี้

“คุณวาสนา กุลประสูตร นักเขียนอสท. รุ่นพี่คือแบบอย่าง เขาสอนวิธีนำเสนอเรื่องให้มีอารมณ์ความรู้สึกใส่เข้าไปแล้วเขียนสารคดีโดยมีตัวละคร ซึ่งมันก็เป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่าเอง”

teeraparb02178

เวลาลงพื้นที่คุณถ่ายภาพเองด้วย ภาพถ่ายเชิงสารคดีน่าสนใจตรงไหน

“สำหรับเราคือเบื้องหลังการได้ภาพนั้นมา อย่างตอนไปหามุมถ่ายยอดเขาหนึ่งของหิมาลัยชื่อ ‘ยอดเขามัจฉาปูชเร’ ในภาษาเนปาลแปลว่าหางปลา เราอยากหาคอมโพซิชันที่ไม่ซ้ำกับมุมมหาชนจึงลองไปหามุมที่ยากลำบากขึ้น เดินไปหลังบ้านชาวบ้าน ขณะที่เราถ่ายอยู่หันไปอีกทีมีควายตัวเบ้อเริ่มพร้อมที่จะชาร์จเรา โอ้โห! ตอนนั้นใจหายวาบ แต่หนีก็ไม่พ้นอยู่แล้วเพราะมันเป็นเนินเขาที่ลาดเอียง ถ้าวิ่งออกไป ๑๐-๒๐ เมตรตกเขาแน่ ทำใจนิ่งแล้วก็ตัดสินใจยกกล้องขึ้นถ่าย ตอนนั้นคิดว่าให้มันเห็นว่าเราไม่ได้สนใจมัน พอถ่ายเสร็จก็ไม่หันไปมองอีกเลย แต่ตาเรายังแอบเหล่อยู่แล้วค่อยๆ เดินช้าๆ ออกไป เพราะมันก็ไม่ได้อยากเผชิญหน้ากับเราหรอก ภาพที่เราได้ภาพนั้นจึงมีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ”

เวลาถ่ายภาพกับเวลาเขียนงาน ใช้เทคนิคการทำงานเดียวกันไหม

“จะว่าเป็นเทคนิคเดียวกันก็ได้ เพราะการใช้โจทย์ของงานมาเล่าเรื่องเป็นกึ่งเรื่องสั้นกึ่งวรรณกรรม มันยากที่จะซ้ำ และถ้าเกิดว่าเคยมีคนเอามาเขียนแล้วเราก็เลี่ยงไปเท่านั้นเอง แต่โลกนี้มีตัวละครมากมายเหมือนก้อนกรวดบนพื้นพิภพ ย่อมมีเรื่องให้เล่าได้มากมาย

“การเขียนต้องมีประเด็น การถ่ายรูปก็เหมือนกัน อย่างถ่ายภาพยอดเขาปลาตอนที่ดวงอาทิตย์ขึ้นใหม่ๆ แสงแรกเป็นแสงสีทอง แต่ถ้าเราเปิดกล้องให้กว้างขึ้นเป็น wide ก็จะได้เห็นธงมนตราที่ชาวบ้านเอามาแขวนไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นธงของชาวพุทธนิกายวัชรยาน แค่เราเปิดมุมกล้องให้กว้างขึ้นเราก็ได้เรื่องราวมาเขียนแล้ว ว่าธงมนตราคืออะไร มีสีอะไรบ้าง บันทึกคำอะไรไว้ในนั้น มีความหมายว่าอะไร เป็นการเปิดองค์ความรู้ให้กว้างขึ้น หรือถ้าซูมกล้องให้แคบลงเพื่อโฟกัสที่จุดใดจุดหนึ่ง แทนที่จะต้องเล่าทุกสิ่งอย่าง การหยิบสิ่งเล็กๆ สิ่งหนึ่งมาให้ความสำคัญมันอาจจะดีกว่า”

teeraparb02029

อะไรคือสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากถนนสารคดี

“ทัศนคติใหม่ๆ หลายครั้งที่เราพบว่าความงาม ความสวย ความอร่อย ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว ไม่มีอะไรสวยที่สุดหรือสวยกว่าอะไร มีแต่สวยในแบบของเขา หรืออย่างเรื่องสงครามและสันติภาพทุกอย่างมันมีความเป็นมา เราคงไม่มีทางเข้าใจว่าทำไมเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาจึงทอดไข่เจียวน้ำมันเยิ้ม เพราะผู้คนเคยผ่านสงคราม คนที่มีน้ำมันปรุงอาหารต้องเป็นคนที่ร่ำรวย ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งพอเราได้รู้ก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องถ่ายทอดออกไปเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้ผู้อ่าน”

ในวัยที่โตขึ้น การเล่าเรื่องเปลี่ยนไปบ้างไหม

“วิธีการยังเหมือนเดิม แต่จะเล่าแบบเข้มข้นขึ้นในเรื่องของการใช้ตัวละคร ให้ความสำคัญกับตัวละครมากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องทัศนะ ความคิดเห็นบางอย่าง บางเรื่องมีความคิดเห็นส่วนตัวมากเกินไป หรือว่าไบแอส-อคติเกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นเสียเลย บางเรื่องที่เราคิดว่ามีเหตุผลเราก็แสดง จะตัดการแสดงความคิดเห็นที่ใช้อารมณ์แบบไม่มีน้ำหนักออก”

พอใจหรือยังกับชีวิตการทำงานตลอดระยะ ๔๐ ปีบนเส้นทางที่ผ่านมา

“ต้องใช้คำว่า ‘ต้องพอใจ’ เพราะสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้เราไปต่อได้แล้ว หลังจากป่วยด้วยอาการพาร์กินสันทำให้ร่างกายทรุดหนัก จากเคยได้เดินทางทำสารคดีแบบลุยๆ ก็ต้องหันไปสนใจสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม การสื่อความหมายทางโบราณคดี ว่าวัฒนธรรมแบบนี้มีที่มาที่ไปยังไง แต่ก็ยังชอบเขียนถึงเรื่องคนอยู่ อย่างจะเขียนถึงเก้าอี้ที่ชาวจังหวัดน่านทำจากไม้ถวายในหลวง แล้วมีนายอำเภอคนหนึ่งยกออกไปจากศาลาว่าการอำเภอเก่า ชาวบ้านเขาจึงไปตามคืนมา เราก็จะเล่าผ่านปากของชาวบ้าน”

พาร์กินสันเป็นสารคดีเรื่องที่อยากเขียนไหม

“กำลังเขียนอยู่ เพื่อเผยแพร่แก่คนที่เป็นพาร์กินสันได้เรียนรู้การเตรียมตัวหรือว่าเตรียมใจ เพราะยังไม่เคยมีใครเขียนประสบการณ์การเป็นพาร์กินสันอย่างละเอียด”

teeraparb02

เกือบสองชั่วโมงเครื่องบันทึกเสียงจึงได้ยุติบทบาท

ฉากชีวิตบนเส้นทางสารคดีของธีรภาพ โลหิตกุล ไม่เพียงเป็นแนวทางแก่คนรุ่นหลัง กระตุ้นความฝันให้ที่ผู้สนใจเป็นนักเล่าเรื่องผ่านการเขียนรู้สึกอยากก้าวเท้าออกไปสัมผัสโลกกว้างกว่าที่เคย

ยังเป็นวัน-เวลาที่นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งได้อิ่มเอมกับวิธีทำงานของคนในอาชีพ

เรียนรู้สิ่งสำคัญหนึ่ง…การเขียนสารคดีอาจไม่ยากเกิน ถ้าเราชัดเจนกับโจทย์งานแต่แรก คัดสรรแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ และรู้วิธีตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีกลับมา

teeraparb03 4