ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
จิตรทิวัส พรประเสริฐ : ภาพ
“ชายหาดที่นี่ถูกถมหินสารพัดรูปแบบ ทั้งตั้งฉากกับฝั่ง ขนานชิดฝั่ง กองหินหน้าชายหาด เขื่อนนอกชายฝั่งแบบจมน้ำ เขื่อนกั้นปากร่องน้ำคลองบางตราน้อย และคลองบางตราใหญ่ ถ้าหน่วยงานใดอยากมาศึกษาดูงานกำแพงกันคลื่น เดินทางมาที่นี่รับรองไม่ผิดหวัง คุณจะเห็นเขื่อนหรือโครงสร้างกันคลื่นเกือบทุกประเภท”
เมื่อหลายปีก่อน ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้ชี้ชวนให้ผู้เขียนมองดูโครงสร้างแข็งประเภทต่างๆ ที่เรียงรายอยู่บนชายหาดและท้องทะเลหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
หากสวรรค์ของนักสร้างกำแพงกันคลื่นมีจริง มันคงจะตั้งอยู่ที่นี่ ชายหาดระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตรของอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่มีโครงสร้างป้องกันทางวิศวกรรมชายฝั่งหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำหรือเจ๊ตตี้ (Jetty) จำนวน 2 ตัว, รอดักทรายหรือกรอย (groin) จำนวน 8 ตัว, เขื่อนหินทิ้งนอกชายฝั่งแบบจมน้ำ (submerge offshore breakwater) จำนวน 6 ตัว, กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด (sea wall), หินถมในทะเล (revetment), กองหินระเกะระกะสารพัดรูปแบบ
หลายปีที่ผ่านมา การตัดสินใจแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การใช้กำแพงหรือเขื่อนกันคลื่น โครงสร้างแข็งซึ่งมักจะก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องไปยังพื้นที่ถัดไป
ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเป็นการเปลี่ยนแปลงของชายหาดตามธรรมชาติ การหดแคบและแผ่กว้างของชายหาดเกิดขึ้นตามวงรอบฤดูกาล ถ้าไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ ชายหาดหรือหาดทรายที่หดหายไปในหน้ามรสุมจะหวนคืนกลับมายามคลื่นลมสงบ
“สาเหตุที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ส่วนที่เป็นภัยธรรมชาติมักเกิดขึ้นตามฤดูกาล การถูกกัดเซาะจนเสียสมดุลจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เราอาจเห็นการกัดเซาะชายฝั่งช่วงมรสุม แต่หลังจากพายุผ่านพ้นไป ชายฝั่งจะค่อย ๆ ปรับตัวคืนสภาพ ลักษณะเช่นนี้หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่สมดุลของธรรมชาติยังดำรงอยู่” อาจารย์ศักดิ์อนันต์อธิบาย
“ส่วนภัยคุกคามจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่ง การตัดถนนลงบนหาด จะทำให้กระบวนการทางธรรมชาติถูกแทรกแซง การปรับสมดุลของชายฝั่งผิดไปจากเดิม เราอาจเห็นการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นอย่างถาวร ไม่ฟื้นคืนสภาพเดิมแม้ผ่านพ้นช่วงมรสุมไปแล้ว”
ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เน้นสร้างเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นที่เป็นโครงสร้างแข็ง ไม่พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ อย่างรอบด้าน ทำให้ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณมหาศาล แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้สำเร็จ
ยกตัวอย่างชายหาดหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ส่วนหนึ่งของระบบกลุ่มหาดแหลมผักเบี้ย-หัวหิน (T4A) ระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอ่าวไทยตอนกลางด้านบน (T4) ชายหาดบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลงของแนวชายหาดหรือแนวสัณฐานชายฝั่งทะเลในแต่ละช่วงลมมรสุมอย่างชัดเจน โดยพบการเพ่ิมขึ้นของตะกอนชายฝ่ังในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้หน้าหาดยาวและชันขึ้น และตะกอนลดลงในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะน้ำขึ้นน้ำลงเป็นแบบน้ำผสมโดยกระแสน้ำจะไหลไปทางทิศเหนือขณะน้ำขึ้น และไหลไปทิศใต้ขณะน้ำลงเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ แนวชายฝ่ังของพระราชนิเวศน์มฤคทายจะเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุของการสะสมและกัดเซาะสลับกันในแต่ละช่วงมรสุมประจำปี
อย่างไรก็ดี หลังการพัดขึ้นฝั่งของพายุไต้ฝุ่นลินดา พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2540 มีการก่อสร้างรอดักทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมากถึง 8 ตัว รวมทั้งโครงสร้างอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกรมเจ้าท่า, อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เพื่อหาทางหยุดยั้งการกัดเซาะและพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล
หลังการเข้ามาของโครงสร้างทางวิศวกรรมชายฝั่ง สภาพชายหาดที่เคยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีหน้าหาดกว้าง ได้ถูกแทรกด้วยกองหิน กลายเป็นชายหาดที่อันตรายต่อการลงเล่นน้ำ กองก้อนหินและโครงสร้างต่าง ๆ กักกั้นการไหลของทรายและตะกอนในน้ำ จนทำให้ชายหาดที่อยู่ทางทิศเหนือถูกกัดเซาะ เพราะขาดตะกอนไปหล่อเลี้ยง
“ที่ผ่านมา เรามัวแต่ไปโทษคลื่นลม โทษโลกร้อนว่าทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ไม่โทษสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของมนุษที่รุกล้ำชายหาด ทำให้กระแสน้ำรวมทั้งคลื่นเปลี่ยนทาง สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นไม่เพียงเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ แต่กลับสร้างปัญหาทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณที่อยู่ติดกัน ลุกลามต่อเนื่อง ถ้าจะแก้ปัญหาต้องย้อนไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา” อาจารย์ศักดิ์อนันต์ที่เฝ้าติดตามปัญหาหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และพื้นที่ชายหาดต่าง ๆ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เขาตั้งข้อสังเกตและชี้ไปยังต้นตอของปัญหาว่าปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาต่อเนื่องไม่รู้จบ เพราะหน่วยงานต่าง ๆ มุ่งแต่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม แนวชายฝั่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเปลี่ยนแปลงจากการสะสมและกัดเซาะสลับกันในแต่ละช่วงมรสุม ด้วยกระแสลมและน้ำ
เมื่อตะกอนที่เคยเคลื่อนตัวตามธรรมชาติจากทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือถูกกองหินต่าง ๆ สกัดไว้จึงทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะ ที่สำคัญคือเขื่อนกันคลื่นตัวสุดท้ายทำให้กระแสน้ำเลียบฝั่งเลี้ยวเบน คลื่นเปลี่ยนทิศทางตรงจุดสุดท้ายของโครงสร้างแข็งที่เรียกว่า End effect วกไปกัดเซาะชายฝั่งที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไป ลุกลามบานปลายไปจนถึงหาดทรายหน้าโรงแรมรีเจนท์ ชะอำ จนบิ๊กแบ็คหรือกระสอบทรายขนาดใหญ่ที่วางซุกไว้ใต้ชายหาดตามโครงการเติมทรายโผล่พ้นขึ้นมาให้เห็น ชายหาดพังทลายต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
ท่ามกลางปัญหากำแพงกันคลื่นระบาดไปแทบทุกสารทิศราวกับโรคติดต่อ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ ด้วยการรื้อรอดักทรายเบื้องต้น 3 ตัว ร่วมกับมาตรการเสริมอื่นๆ ที่จำเป็น
รอดักทรายที่ประเดิมรื้อถอนเพื่อเป็นกรณีศึกษา ได้แก่ ตัวที่ 3, 4 และ 5
ย้อนเวลากลับไปในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ณ จังหวัดเพชรบุรี คณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและปัญหาน้ำเค็มเข้าพื้นที่ ให้ทีมนักวิชาการศึกษาวิจัยรูปแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและพื้นที่ข้างเคียง ต่อมาคณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบผลการศึกษาให้รื้อรอดักทรายจำนวน 3 ตัว
รอดักทรายหรือกรอย (groin, groyne) มีลักษณะคล้ายกำแพงป้องกันคลื่น แต่สร้างตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง เพื่ิอดักตะกอนทรายที่เคลื่อนที่ตามแนวขนานชายฝั่ง ให้ตกสะสมอยู่ระหว่างโครงสร้างในแต่ละแนว
เมื่อนักวิชาการซึ่งได้รับทุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำการศึกษา วิเคราะห์ และวิจัย พบว่ารอดักทรายหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันไม่ได้มีส่วนช่วยป้องกันการกัดเซาะ แต่กลับทำให้ระบบนิเวศชายหาดและสังคมพืชชายหาดบนสันดอนทรายชายฝั่งผิดไปจากแบบแผนเดิม ตามที่ควรจะเป็นตามหลักฐานภาพถ่ายและข้อมูลในอดีตที่มูลนิธิพระราชนิเวศน์ฯ สืบค้นพบ จึงมีมติให้รื้อรอดัดทรายเบื้องต้น 3 ตัวออกเพื่อเป็นกรณีศึกษา
นอกเหนือจากรอดักทรายแล้วยังมีการรื้อ “แนวหินท้ิง” ระหว่างรอดักทรายออกด้วยเพื่อทำให้ระบบนิเวศชายหาดและสังคมพืชชายหาดบนสันดอนทรายชายฝั่งกลับมา
หลังจากนั้นมีการติดตั้งรั้วดักทราย (sand fence) โดยการนำรั้วไม้มาปักลงบนหาดจุดที่น้ำทะเลขึ้นมาถึง เพื่อช่วยกักเก็บทรายที่กระแสน้ำพัดพามา รวมทั้งช่วยลดผลกระทบจากคลื่นที่ซัดขึ้นบริเวณหัวรอดักทรายที่ยังไม่ได้รื้อออก
มติรื้อรอดักทรายหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นหมุดหมายสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เป็นความหวังของการฟื้นฟูชายหาดอย่างถูกทิศถูกทาง ไม่เสียหายไปตามกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
อภิศักดิ์ ทัศนี เครือข่าย Beach For Life ที่เฝ้าติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงการกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ ให้ความเห็นว่ามติให้รื้อรอดักทรายที่บริเวณชายหาดหน้าพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นการรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่แรก ๆ ของประเทศไทย “ที่ผ่านมาทางเครือข่ายที่ติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้เรียกร้องต่อหน่วยงานให้รื้อถอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็น ไม่มีประสิทธิภาพบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น สะพานปลา รอดักทราย กำแพงกันคลื่นที่ชำรุด เพื่อคืนสมดุลชายฝั่ง แต่มาตรการการรื้อถอนโครงสร้างเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น การรื้อถอนรอดักทรายที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นกรณีแรกที่สำคัญ และน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หวังว่ากำแพงและกองหินหน้ากำแพงส่วนอื่น ๆ จะถูกรื้อถอนเป็นลำดับต่อไป”
ปัจจุบัน มีรายงานผลการศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหลายโครงการแสดงให้เห็นว่า การกัดเซาะชายฝั่งมีสาเหตุเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เอกสารผลการศึกษาต่าง ๆ ระบุตรงกันว่า กิจกรรมหรือโครงสร้างที่มนุษย์ใช้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
การรื้อถอนเขื่อนกันคลื่นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การรื้อถอนเขื่อนกันคลื่นในพื้นที่อื่น ๆ อีกมาก
นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการดูแลรักษาชายหาดอย่างถูกหลักถูกทาง
ขอขอบคุณ
- มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- เครือข่าย Beach For Life
“สมดุลระหว่างสภาพทางนิเวศ ทัศนียภาพ แนวชายฝั่ง กระบวนการชายฝั่ง และประวัติศาสตร์ อยู่ตรงไหน”
ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล
พระราชนิเวศน์มฤคทายวันมีศาลาลงสรงซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ประวัติศาสตร์บันทึกว่า บันไดของศาลาอยู่ในทะเล เมื่อน้ำลงมีสภาพชายหาดที่สวยงาม ขาวสะอาดตา ภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไปหลายปีบ่งชี้ว่าสภาพชายหาดเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาตามฤดูกาล บางฤดูหาดทรายยื่นยาว บางฤดูกลับหดหายไป ปากร่องน้ำด้านเหนือและด้านใต้ บางฤดูตื้นเขิน บางฤดูเปิดออก เป็นวัฏจักร
พระราชนิเวศน์ฯ องค์ต่างๆ สร้างอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นตะกาด สันทรายชายฝั่ง และป่าชายหาด มีพรรณไม้ป่าชายหาดหลากหลายชนิด บันทึกไว้ในพระราชหัตเลขาฯ ว่ามีเนื้อทรายเดินหากินอยู่ทั่วไปในพื้นที่ป่าชายหาด มีคลองซึ่งแต่เดิมเคยเป็นธารน้ำจืดสายสั้น ๆ แคบและตื้น แผ่ไปทั่ว พื้นที่ลุ่มริมฝั่งที่กักเก็บน้ำจืดไว้ใต้ชั้นทรายเป็นแอ่งน้ำซับใต้ดินที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง ดันน้ำทะเลบริเวณที่ลุ่มใกล้ทะเลและในชั้นใต้ดิน ขณะที่มนุษย์ก็ได้น้ำจืดไว้ใช้สอย เป็นเหตุผลสำคัญของการมาสร้างพระราชนิเวศน์ฯ ที่นี่
หลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาทำโครงการสารพัดอย่างรอบพื้นที่พระราชนิเวศน์ฯ ตั้งแต่การสร้างเขื่อนกั้นปากร่องน้ำทั้งด้านเหนือด้านใต้ เพื่อให้มีน้ำทะเลไหลเข้าไปสู่พื้นที่ป่าชายเลนที่หน่วยงานของรัฐประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า สามารถสร้างป่าชายเลนขึ้นมาใหม่ได้ในพื้นที่ที่เคยเป็นป่าชายหาด
มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน จับจองพื้นที่ปลูกพันธุ์ไม้สารพัดอย่าง ทั้งพืชพลังงาน ป่าชายเลน เริ่มมีการถางป่าชายหาดดั้งเดิมออกไป เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกไม้ใหญ่ที่ต้องการ โดยไม่สนใจพรรณไม้ป่าชายหาดที่เป็นพรรณไม้ดั้งเดิมของท้องถิ่น
สารพัดโครงสร้างหินทิ้งรูปแบบต่าง ๆ ถูกนำไปวางด้านหน้าพระราชนิเวศน์ฯ ตั้งแต่กำแพงกั้นคลื่น เขื่อนหินทิ้งชะลอคลื่นนอกชายฝั่ง และใกล้ฝั่ง รอดักทรายตั้งฉากกับชายฝั่ง สารพัดรูปแบบที่ภาครัฐประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ขณะที่ผลจากโครงสร้างหินทิ้งต่าง ๆ ที่ทิ้งไปในทะเล ได้สร้างปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ข้างเคียง และต้องนำหินไปทิ้งเพิ่มเติม ถมทราย กระสอบทรายต่อไป อย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น ไม่เคยสนใจว่าต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร ในขณะที่คำว่า โลกร้อน ก็กลายเป็นสาเหตุที่กล่าวอ้างกันเป็นหลัก
ภาพที่เห็นทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากภาพประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 6 ศาลาลงสรงกลับตั้งอยู่บนบก เพราะทรายมาทับถมพื้นที่ที่เคยเป็นทะเล มีต้นไม้ต่างถิ่นมากมายเจริญเติบโต ทั้งไมยราพยักษ์ที่มีหนามแหลมคม สนทะเลที่มาบุกรุกเมืองไทยตั้งแต่ยุคที่รถไฟใช้การเผาไหม้ไม้ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างปัญหากับพรรณไม้พื้นถิ่นที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่า กระถินเทพาที่แพร่ขยายเติบโตจนพรรณไม้ท้องถิ่นไม่สามารถเติบโตขึ้นมาได้
สภาพชายหาดที่เคยเป็นชายหาดขาวสะอาดกลายเป็นกองหินระเกะระกะ มีทรายมาทับถมมากขึ้น เศษหิน ซากเพรียงหิน เปลือกหอยนางรมที่เกาะบนก้อนหินหลุดร่วง ระเกะระกะปะปนในผืนทราย ไม่ใช่ชายหาดที่เหมาะแก่การเดินเล่นหาดทรายด้วยเท้าเปล่าอีกต่อไป
ด้านหน้ากำแพงหิน ขยะที่ถูกพัดไปมาในทะเล ถูกรอดักทรายที่ตั้งขนานชายฝั่งกักเก็บไว้ กลายเป็นภาพชายหาดที่เต็มไปด้วยขยะสารพัดรูปแบบ สภาพหาดทรายก็กลายเป็นทรายปนโคลน อานุภาคดินตะกอนสารอินทรีย์ขนาดเล็ก ที่ควรถูกคลื่นลมพัดออกไป ตกทับถมจนมีสภาพเป็นหาดทรายปนโคลน มีสิ่งมีชีวิตที่ได้รับประโยชน์จากสารอินทรีย์มาอยู่อาศัยมากขึ้น ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตมากขึ้น แต่สิ่งที่หายไป คือ คุณค่าทางทัศนียภาพ ที่เป็นชายหาดขาวสะอาด เกิดคำถามขึ้นมาว่าสมดุลระหว่าง สภาพทางนิเวศ ทัศนียภาพ แนวชายฝั่ง กระบวนการชายฝั่ง และประวัติศาสตร์ อยู่ตรงไหน