๏ เวฏฐทีปกะโพ้น      พงศ์กษัตริย์
ออกผนวชพนัศลัด      หลีกเร้น
กรทอดระทวยดัด      องค์อ่อน งามเอย
แก้ทั่วสารพางค์เส้น      รงับได้โดยเพียรฯ

นายปรีดาราช

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๖๙) เวฏฐทีปกะ

(ถอดความ) ฤๅษีเวฏฐทีปกะผู้เป็นเผ่าพงศ์กษัตริย์ ออกบวชแล้วไปอยู่ป่าเพียงลำพัง ท่านดัดแขนและร่างกายจนอ่อน เพื่อรักษาเส้นทั่วทั้งร่างกายด้วยความเพียร

ใน “พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑” (ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) ในส่วนของอัปปมาทวรรค มีเรื่องของพระนางสามาวดี ตอนต้นเรื่องกล่าวเท้าความถึงพระเจ้าอัลลกัปปะกับพระเจ้าเวฏฐทีปกะ เป็นสหายกันมาแต่ยังเยาว์ ต่อมาทั้งสองพระองค์เกิดเบื่อหน่ายในราชสมบัติจึงแยกย้ายกันไปออกบวชเป็นฤๅษี โดยต่างคนต่างแยกย้ายกันไปอยู่ที่ภูเขาคนละลูกเพื่อแสวงสันโดษ พร้อมกับนัดหมายไว้ว่าจะมาพบกันเดือนละครั้ง

“ดังนี้แล้ว ทรงมอบรัชสมบัติให้แก่พระโอรสและพระมเหสี ออกผนวชเป็นพระฤษี อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้ทรงปรึกษากันว่า “พวกเราไม่อาจเพื่อเป็นอยู่ จึงละราชสมบัติออกบวชก็หาไม่, เราเหล่านั้น เมื่ออยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็จักเหมือนกับผู้ไม่บวชนั้นเอง, เพราะฉะนั้น เราจักแยกกันอยู่: ท่านจงอยู่ที่ภูเขาลูกนั้น, เราจักอยู่ที่ภูเขาลูกนี้; แต่จักรวมกัน ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน.”

“ครั้งนั้น พระดาบสทั้งสองนั้นเกิดมีความดำริขึ้นอย่างนี้ว่า ‘แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคลุกคลีด้วยคณะเทียว จักมีแก่เราทั้งหลาย, ท่านพึงจุดไฟให้โพลงขึ้นที่ภูเขาของท่าน, เราก็จักจุดไฟให้โพลงขึ้นที่ภูเขาของเรา; ด้วยเครื่องสัญญานั้น เราทั้งหลายก็จักรู้ความที่เรายังมีชีวิตอยู่.’ พระดาบสทั้งสองนั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว.”

ครั้นวันหนึ่ง เมื่อถึงกำหนดตามที่เคยนัดหมายกันมา ฤๅษีอัลลกัปปะไม่เห็นไฟจากภูเขาอีกลูกหนึ่ง จึงรู้ว่าบัดนี้อีกฝ่ายหนึ่งได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว ส่วนฤๅษีเวฏฐทีปกะผู้วายชนม์ได้ไปบังเกิดเป็นเทวดา แล้วกลับลงมาเยี่ยมเยียนฤๅษีอัลลกัปปะ เมื่อทราบว่าสหายสนิทได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้างที่มารบกวน จึงมอบพิณพร้อมกับมนต์ที่ใช้บังคับช้างให้

ทั้งฤๅษีเวฏฐทีปกะและอัลกัปปะจากคาถาธรรมบทนี้ ล้วนมาปรากฏตัวอยู่ใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ด้วยกันทั้งคู่


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ