ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
123rf : ภาพ

อ้างอิงสถิติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด ๗๒,๙๑๘ โรง แบ่งออกเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ๔,๔๖๖ โรง ที่เหลืออีก ๖๘,๔๕๒ โรง เป็นโรงงานจำพวกที่ ๑ , ๒ และ ๓ ซึ่งตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม

ตัวเลขข้างต้นมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับปริมาณ “กากอุตสาหกรรม” ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตภายในโรงงาน

ล่าสุด กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าการประกอบกิจการของโรงงานก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมากถึงราว ๓๗ ล้านตันต่อปี

ตัวเลขนี้ หากเปรียบกับรถสิบล้อที่บรรทุกของจนเต็ม จะเท่ากับรถจำนวน ๑,๔๘๐,๐๐๐ คัน (รถสิบล้อหนึ่งคันต้องบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน ๒๕ ตัน เมื่อรวมน้ำหนักตัวรถตามกฎหมาย)

แบ่งออกเป็นกากไม่อันตราย ๓๗ ล้านตัน และกากอันตราย ๓ ล้านตัน

การเดินทางของกากอุตสาหกรรม
กากอุตสาหกรรมเป็นกากของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงาน ทั้งที่อยู่ในรูปของแข็งและของเหลว แบ่งออกเป็นกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย
industrialwaste2
โดยทั่วไปแล้ว ขี้เลื่อย หรือเศษไม้ จัดอยู่ในกลุ่มกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย

กากอุตสาหกรรมคืออะไร ?

กากอุตสาหกรรม หรือ กากของเสียอุตสาหกรรม (Industrial Waste) หมายถึง กากของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในรูปของแข็งและของเหลว ครอบคลุมกากของเสียที่เกิดจาก ระบบบำบัดมลพิษ (Waste from Waste Treatment Facility) แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ กากของเสียที่ไม่เป็นอันตราย (Non – hazardous Waste) กับ กากของเสียอันตราย (Hazardous Waste)

ตัวอย่างกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย เช่น สารเคมีใช้แล้ว สีหมดอายุ กรดใช้แล้ว กรดเสื่อมสภาพ

กากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เปลือกผลไม้ กล่องกระดาษ เศษเหล็ก เศษผ้า ชานอ้อย ขี้เลื่อย

ถ้าเรานำกากของเสียที่ไม่เป็นอันตรายมารวมกับกากที่เป็นอันตราย จะกลายเป็นกากที่เป็นอันตรายทั้งหมดทันที กากของเสียบางอย่างจะระบุได้ว่าเป็นอันตรายหรือไม่เป็นอันตรายได้ก็ต่อเมื่อนำมาตรวจสอบ เช่น กากตะกอน หรือฝุ่นจากระบบบำบัด

ทั้งนี้ กากของเสียที่ไม่เป็นอันตรายจากสำนักงาน บ้านพักอาศัย โรงอาหารในบริเวณโรงงาน เช่น กระดาษเอกสาร ดินสอ ถุงกระดาษ หรือเศษอาหาร ก็นับเป็นกากอุตสาหกรรม แต่สามารถนำไปกำจัดแบบขยะมูลฝอยทั่วไปได้

industrialwaste3
ถุงมือหรือเศษผ้าเปื้อนน้ำมันเป็นกากอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกวิธี
กากอุตสาหกรรมแต่ละชนิดจะถูกกำหนดด้วยรหัส ๖ หลัก เช่น ๑๕๐๒๐๒ คือ เศษผ้าหรือชุดที่ปนเปื้อนน้ำมัน
industrialwaste4
ข่าวการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม ทั้ง ๆ ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมแต่อย่างใด กากบางอย่างจะระบุได้ว่าเป็นอันตรายหรือไม่ก็ต่อเมื่อนำมาตรวจสอบ

การจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีทำอย่างไร ?

โดยทั่วไป “การบำบัด” หรือ “การกำจัด” กากอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น ๔ วิธี ประกอบด้วย วิธีทางชีวภาพ วิธีทางเคมี วิธีทางกายภาพ และวิธีทำให้หมดไป

เส้นทางและวิธีบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมเริ่มต้นจากต้นทางของกากอุตสาหกรรม คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมขึ้นมา เราอาจเรียกสั้นๆ ว่า “WG”

WG ย่อมาจาก Waste Generator แปลตรงๆ ว่า ผู้ก่อกำเนิดของเสีย เมื่อมีกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในโรงงาน โรงงานมีหน้าที่ต้องจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องรายงานการจัดการกาก โดยขออนุญาตบำบัดหรือกำจัดกากจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

การบำบัดหรือกำจัดกาก WG จะทำเอง หรือส่งให้ผู้อื่นจัดการก็ได้ หากส่งไปให้ผู้อื่นบำบัดหรือกำจัดก็ต้องมีการขนส่ง ผู้ขนส่งกาก เราเรียกสั้นๆ ว่า “WT”

WT ย่อมาจาก Waste Transporter คือผู้ทำหน้าที่ขนส่งกากจาก WG ไปให้ผู้รับบำบัดหรือกำจัดของเสีย หรือ “WP” ย่อมาจาก Waste Processor

เส้นทางการกำจัดกากอุตสาหกรรมจึงตัวละครมี ๓ ฝ่ายหลัก ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกาก (WG) ผู้ขนส่งกาก (WT) และโรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดกาก (WP) นี่คือเส้นทางการกำจัดกากอุตสาหกรรมตามกฎหมาย

ในส่วนวิธีบำบัดหรือกำจัดมีหลายวิธี เช่น การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน ยกตัวอย่าง การนำทรายหล่อแบบไปเผาเพื่อเป็นส่วนผสมของปูนซิเมนต์ หรือสอง ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ยกตัวอย่างถุงมือหรือเศษผ้าเปื้อนน้ำมัน สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะ “นำกลับมาใช้ใหม่” กี่ครั้ง ก็จะเกิด “กากอุตสาหกรรม” ไม่มากก็น้อยอีกอยู่ดี กากตกค้างที่เกิดขึ้นนี้ ก็ต้องนำไปจัดการให้ถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดด้วยวิธีทางชีวภาพ ยกตัวอย่างพวกเศษผัก เปลือก หรือเมล็ดผลไม้ สามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรี

สอง การบำบัดด้วยวิธีทางเคมี เช่น สารเคมีที่เป็นของเสีย นำไปบำบัดด้วยเคมีอีกชนิดหนึ่ง เพื่อลดพิษภัย

สาม การบำบัดทางกายภาพ เช่น ใช้ตระแกรงกรองขนไก่หรือกากชิ้นใหญ่ หรือการทุบอาคาร เศษคอนกรีตชิ้นใหญ่ ๆ จะต้องนำไปบดย่อยให้มีขนาดเล็กลง

สำหรับการกำจัดขั้นสุดท้ายคือการทำให้หมดไป มีอยู่สองวิธี คือ การเผา และ การฝังกลบ การเผาใช้ได้กับของเสียที่สามารถเผาไหม้ได้ เช่น กระดาษ ตะกอนน้ำมัน พลาสติก แต่เมื่อเผาหมดแล้ว สิ่งที่เหลือจ่ากการเผาคือ ขี้เถ้า ก็ต้องนำไปฝังกลบต่อไป สำหรับการฝังกลบนั้นเราต้องคำนึงถึงรายละเอียด การดำเนินการ แบบแปลนหลุมฝังกลบ พร้อมระบบป้องกันซึม ระบบการตรวจสอบการป้องกันการรั่วไหล และระบบระบายก๊าซ

ทั้งนี้ มีสองสิ่งที่ฝังกลบไม่ได้อย่างเด็ดขาด คือ ของเหลว และ น้ำมัน

industrialwaste5
โปสเตอร์อธิบายความหมายและเส้นทางการกำจัดกากอุตสาหกรรม (ภาพ : กรมโรงงานอุตสาหกรรม)

กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าไม่ว่าเราจะจัดการกากแต่ละชนิดด้วยวิธีใด ควรเริ่มจากแนวคิดเรื่อง 3R คือ Reuse-ลด Reduce-ใช้ซ้ำ Recycle-รีไซเคิล ซึ่งจะไม่ใช่แค่ส่งผลดีต่อโลก แต่ยังช่วยให้ลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรให้ธุรกิจ

การกำจัดกากด้วยแนวทางต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา โรงงานก่อกำเนิดกาก (WG) สามารถทำได้เอง แต่ต้องมีกรรมวิธีที่ถูกต้อง หรือจะส่งให้โรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดกาก (WP) เป็นผู้ดำเนินการก็ได้เช่นกัน

ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นผู้กำจัดก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขออนุญาตตามลำดับขั้นให้ถูกต้อง

หลายปีที่ผ่านมา ข่าวการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก จังหวัดที่พบการลักลอบทิ้งกากของเสียมากเป็นอันดับต้นๆ คือ ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ฯลฯ

ไม่ต้องสงสัยหากภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศจะมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและขยะอันตรายมากที่สุด แต่ที่น่าแปลกใจคือหลาย ๆ พื้นที่กลายเป็นพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม ทั้ง ๆ ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่แต่อย่างใด

การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทำเป็นขบวนการโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ฉกฉวยประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลท่ามกลางระบบกำกับการขนส่งและบำบัดกากอุตสาหกรรมที่ขาดประสิทธิภาพ

หากโรงงานต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมาย มีหัวใจที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมคงไม่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างทุกวันนี้ 

อ้างอิง

จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไรให้ถูกวิธี

ระเบียบการหรือขั้นตอนกำจัดกากอุตสาหกรรมตามกฎหมาย

เมื่อมีกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น สิ่งที่โรงงานผู้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมต้องทำมี ๒ ข้อหลักๆ คือ

๑) ต้องรายงาน และ ๒) ต้องขออนุญาต

สิ่งที่ต้องทำลำดับแรก คือ ตรวจสอบว่าโรงงานมีกากอะไร และกากเหล่านั้นเป็นอันตรายหรือไม่

หลังจากนั้นจึงตรวจเช็คว่ากากเหล่านั้นมีรหัสประจำตัวอะไร รหัสกำจัดกากคืออะไร เพราะต้องใช้เลขรหัสกรอกแบบฟอร์มการขออนุญาต

กากแต่ละชนิดจะมีรหัส ๖ หลัก เช่น ๐๓๐๑๐๕ คือ ขี้เลื่อยหรือเศษไม้ ๑๕๐๒๐๒ คือ เศษผ้าหรือชุดที่ปนเปื้อนน้ำมัน ๑๖๐๒๑๑ คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้วที่ปนเปื้อนด้วยสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน เป็นต้น

ในส่วนวิธีกำจัดจะกำหนดรหัสเป็นเลขสามหลัก เช่น ๐๔๑ ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

ถ้าอยากทราบว่ากากชนิดไหนรหัสอะไร หรือการกำจัดกากแบบไหนต้องใช้รหัสอะไร สามารถเข้าไปดูได้ที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. ๒๕๖๖

เมื่อทราบรหัสกากและรหัสวิธีกำจัด ขั้นต่อไปคือรายงานและขออนุญาตไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่ต้องการเก็บกากไว้เกิน ๙๐ วัน ต้องยื่นเอกสาร สก.๑ หากต้องการนำกากออกนอกโรงงานเพื่อไปกำจัดต้องยื่นเอกสาร สก.๒ และแจ้งข้อมูลการขนส่งทุกครั้งที่นำออก พร้อมทำใบกำกับการขนส่งของเสียอันตราย (MANIFEST)

ถ้าเป็นกากอันตรายต่องเลือกผู้ขนส่งที่มี ๑๓ หลัก แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของโรงงานในการขนส่งกากไปกำจัด ถ้าผู้ขนส่งที่เป็นตัวแทนของโรงงานทำอะไรผิดพลาด ผู้แต่งตั้งก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

หากเป็นกากที่ไม่เป็นอันตราย โรงงานสามารถแต่งตั้งผู้ขนส่งรายใดก็ได้ที่เห็นว่ามีระบบจัดการที่ได้มาตรฐาน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่จำเป็นต้องมีรหัสประจำตัว ๑๓ หลัก แต่อย่าลืมว่าต้องขออนุญาตก่อน

กรณีที่ต้องการจัดการของเสียภายในโรงงานเอง ก็ต้องขอความเห็นชอบจากรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน

สรุปแล้วสิ่งที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดกาก (WG) ต้องทำ คือ พิจารณาว่าโรงงานมีกากอะไรบ้าง เป็นชนิดอันตรายหรือไม่อันตราย และมีปริมาณเท่าไหร่ สอง ยื่นใบอนุญาตขอกำจัดกากเหล่านั้น สาม ทำรายงานประจำปี การขอใบอนุญาตหรือการทำรายงาน สามารถทำได้ทั้งแบบยื่นเอกสาร และแบบยื่นทางอินเตอร์เน็ต

กรณีที่มีกากเกิดขึ้นจากการบำบัด กำจัด หรือรีไซเคิล จะต้องแต่งตั้งตัวแทนรับกากไปกำจัดต่อ

ทุกครั้งที่โรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดกาก (WP) รับกากมาจัดการ ต้องจัดทำเอกสาร สก.๖ เป็นบัญชี เพื่อแสดงการรับมอบกาก ในการบำบัดหรือกำจัดกากทุกครั้ง ต้องจัดทำ สก.๗ เป็นบัญชีแสดงรายการกากที่ทำการกำจัดหรือบำบัดแล้ว

กรณีมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น เช่น รายการกากที่รับมาไม่ตรงกับที่ขออนุญาต จะต้องส่งรายงานตามแบบกำกับการขนส่ง ๐๔ หรือหากได้รับกากอันตรายที่ไม่มีใบอนุญาตนำออกนอกโรงงาน หรือ สก.๒ ต้องส่งรายงานตามตามาแบบกำกับการขนส่ง ๐๕

จะเห็นว่าทุกขั้นตอนต้องขออนุญาตและยื่นแบบกำกับการขนส่งทุกครั้ง เมื่อทำถูกกฎหมายก็ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทั้งยังเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง สิ่งแวดล้อมก็ดี สังคมก็น่าอยู่ โรงงานเติมโตอย่างยั่งยืน ไม่ถูกกีดกัน สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

โรงงานที่ไม่ขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน กลายเป็นโรงงานเถื่อน