ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

หายนะประเวศบุรีรมย์ ประตูน้ำท่าถั่วถล่ม น้ำเค็มบางปะกงทะลัก
ซากปลาตายเพราะ “น็อกน้ำเค็ม” ติดค้างตามตลิ่งริมคลองประเวศบุรีรมย์และคูคลองสาขา คนที่ออกเก็บปลาวันแรก ๆ จะได้น้ำหนักเป็นหลายร้อยกิโลกรัม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
pravejburiram02
ฤทธิ์เค็มแผ่มาถึงชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงจุดตัดคลองประเวศบุรีรมย์กับคลองเปร็ง บริเวณรอยต่ออำเภอเมืองฉะเชิงเทรากับอำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากปากคลองประเวศฯ ตรงจุดที่ประตูน้ำท่าถั่วแตก ร่วม 20 กิโลเมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ค่าความเค็มของน้ำคลองประเวศบุรีรมย์เพิ่มขึ้นทันที ที่ประตูน้ำท่าถั่วที่อยู่ติดแม่น้ำบางปะกงพังทลาย

ช่วงก่อนวันหยุดสงกรานต์ไม่กี่วัน การขุดเปิดพื้นที่เพื่อตอกเสาเข็มและสร้างบ่อก่อสร้างของผู้รับเหมากรมชลประทาน เตรียมเพิ่มขนาดการระบายน้ำของประตูน้ำจาก 36 เป็น 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีส่วนทำให้ทำนบดินของประตูน้ำถูกกัดเซาะจนโครงสร้างทั้งหมดถล่มลงมา แรงดันของน้ำยังทำให้คันดินด้านหลังซึ่งเป็นคันกั้นน้ำจืดจากคลองประเวศบุรีรมย์พังทลายตามกันลงไป

ประตูน้ำท่าถั่วเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ตั้งอยู่ติดปากคลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งแม่น้ำบางปะกง อำเภอบ้านโพธ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อประตูน้ำถล่ม ความเค็มในแม่น้ำบางปะกงโดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้นก็แผ่เข้ามาตามคลองประเวศบุรีรมย์ รุกคืบเข้าไปตามคลองสาขา

โดยทั่วไปแล้วน้ำจืดจะมีค่าความเค็มประมาณ 0.5 ส่วนในพันส่วน (ppt ย่อมาจาก part per thousand) แต่ตอนนี้ความเค็มในคลองบางช่วงเพิ่มขึ้นเป็น 24 -26 ส่วนในพันส่วนแล้ว

ความเค็มนี้รุกเข้าไปตามสายน้ำร่วม 20 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิต ที่เห็นชัดคือมีซากปลาลอยเกลื่อน แปลงผักบุ้งที่ปลูกไว้ตามชายคลองทยอยแห้งเหี่ยวตาย

pravejburiram03
ภาพเปรียบเทียบแปลงผักบุ้งในคลองเปร็งที่ค่อย ๆ แห้งเหี่ยวตาย (ภาพ : นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล)
pravejburiram04
ซากปลาตายเป็นเบือช่วงวันหยุดสงกรานต์ 2567 บริเวณตลาดบางพลีน้อย ใกล้โรงพักเก่า ในภาพ ส่วนใหญ่เป็นปลาซักเกอร์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาดูด” สันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำเค็มทะลักมาจากประตูระบายน้ำท่าถั่ว (ภาพ : สมาชิกเพจเฟซบุ๊ก คนข่าวบางปะกง)

คาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำเค็มรุกคืบเข้ามาได้ง่ายเกิดจากขาดแคลนน้ำจืดเข้ามาผลักดันน้ำเค็มตามธรรมชาติ หลายปีที่ผ่านมายังมีโครงการสูบน้ำจืดในคลองสาขาไปยังอ่างเก็บน้ำทางภาคตะวันออกเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมและการผลิต

นี่คือโศกนาฏกรรมรับวันสงกรานต์

ฝันร้ายของผู้คนริมคลองและสัตว์น้ำที่ไม่เคยพบพานสถานการณ์น้ำเค็มมรณะมาก่อนในชีวิต

pravejburiram09 1

“ปลาตายเป็นตัน ๆ ตลอดคลอง ไม่เคยเจอน้ำเค็มขนาดนี้มาก่อนในชีวิต”

สายันห์ แซ่โค้ว
ตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

น้ำเค็มจัด ปลาเล็กปลาน้อยลอยตายเกลื่อน

ปลาธรรมชาติตัวใหญ่ ๆ เคยประจำอยู่หน้าวัด พอน้ำเค็มมา ปลาหน้าวัดตายหมด ปลาตายเป็นตัน ๆ ตลอดคลอง บางตัวหมกดิน เหมือนพยายามจะหนีน้ำเค็ม ตัวที่ตายแล้วก็ลอยขึ้นมา วันก่อนชาวบ้านช้อนปลาที่ลอยตายได้บ้านละ 50 กิโล 100 กิโล

ส่วนที่ไม่ถูกช้อนก็เน่า ปลากดตายโดยชนิดว่าเสียของ ดูปลาสวายสิ ตัวหนึ่งเป็น 10 กิโล กินก็ไม่ได้กิน ปลาซักเกอร์ตายมากกว่าเพื่อน คราบบนผิวน้ำเป็นคราบน้ำมันจากปลาเน่า เป็นน้ำมันจากปลา ในท้องมันแตก เริ่มเหม็นแล้ว

ถ้าแก้ไขไม่ได้ ยังซ่อมประตูน้ำไม่ได้ อีก 3 วันคงจะตายไปถึงคลองเจ้า อีก 4-5 วันคงจะเหม็นหึ่งไปทั้งคลอง อีกอาทิตย์หนึ่งน้ำจะดำ ทีนี้จะลำบาก ปลาที่ตายสะสมมันจะเน่า ตอนนี้ปลาตาย จนคนหาปลาไม่มีปลาจะยกแล้ว

น้ำทางคลองสวนเค็มยิ่งกว่าเราเพราะอยู่ใกล้แม่น้ำบางปะกงมากกว่า บ้านเรามีคลองย่อยมาผสม มีคลองเปร็งไหลมาบรรจบ แต่ขนาดมีน้ำมาผสมแล้วปลาก็ยังตาย

pravejburiram05
รายงานการตรวจวัดค่าความเค็ม วันที่ 18 เมษายน 2567 หลังจากเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าสามารถซ่อมแซมทำนบดินสกัดกั้นน้ำเค็มสำเร็จแล้ว จะเห็นว่าหลายจุดยังคงมีค่าความเค็มสูงมาก

แถวนี้ชาวบ้านยังทำนากันเยอะ อีกส่วนหนึ่งเป็นบ่อกุ้ง คนทำนาวิดน้ำไม่ได้ น้ำมันเค็ม วิดไปข้าวก็ตาย นาข้าวรุ่นใหม่ที่จะเริ่มอีก 3 เดือนข้างหน้าก็จะทำไม่ได้ หว่านข้าวไม่ได้ ระยะสามเดือนนี้น้ำจืดมาก็ยังทำไม่ได้ เพราะน้ำเค็มซึมอยู่ในดิน วิดมาก็เป็นน้ำกร่อย ต้องทิ้งระยะนานหน่อย ชาวนาจะทำไม่ได้เป็นอีกครึ่งปี หรือเป็นปี

ถ้าปรับน้ำให้เข้าที่ได้เร็วหน่อยเศรษฐกิจก็ค่อยยังชั่ว ความเค็มจะค่อย ๆ จางไป ถ้าปล่อยไว้แบบนี้จะเสียหายเยอะ

ไม่เคยเจอน้ำเค็มขนาดนี้มาก่อนในชีวิตเพิ่งมีปีนี้ ตั้งแต่ชีวิตผมยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน มีบ้างที่เค็มตามธรรมชาติ แต่ไม่แรงอย่างนี้ ไม่ถึงกับปลาตาย

pravejburiram09 2

“ประตูน้ำถล่ม คุณปล่อยให้เกิดได้ยังไง แล้วจะใช้เวลาแก้ไขกี่วัน”

อัญชลี อ่อนนิ่ม
ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

นี่คลองประเวศบุรีรมย์ ขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ยาวไปถึงแม่น้ำบางปะกง ฝั่งโน้นขึ้นกับตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา คำว่า “เปรง” จะสะกดไม่มีไม้ไต่คู้ อีกฝั่งขึ้นกับตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ คำว่า “เปร็ง” ฝั่งนี้มีไม้ไต่คู้ เป็นฝั่งสมุทรปราการ จุดที่เราอยู่เป็นสี่แยกน้ำ ห่างจากนี่ไป 20 กิโล คลองประเวศฯ ก็ออกแม่น้ำบางปะกง มีประตูน้ำที่พังถล่มอยู่ตรงนั้น

ปรกติน้ำเค็มจะมาจากทางคลองด่านเพราะอยู่ใกล้ทะเล ทางแม่น้ำบางปะกงไม่เคยมา ตอนนี้น้ำเค็มมาจากบางปะกง ผ่านทางคลองประเวศบุรีรมย์ ก่อนหน้านี้เขากั้นไว้หมด ตอนนี้ตรงสี่แยกจะมีเศษขยะ ผักตบ มาวน ๆ เหมือนน้ำมาชนกัน

ตอนแรกยังไม่ได้ติดตามข่าวสาร ผิดสังเกตตรงทำไมปลาตาย ทางคลองสวน หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรเริ่มลงข่าว ปลาทางโน้นตายก่อนเรา มาถึงเราชัด เห็นด้วยตาว่าปลาตายเยอะมาก คิดไม่ถึงว่าจะรุนแรงขนาดนี้

คนที่ทำสวนเกษตร ทำไร่ทำนาจะแย่ ชาวนาที่ยังไม่ได้เกี่ยวข้าวก็แย่เหมือนกัน บางคนไม่ทันรู้ว่าน้ำเค็ม ไม่ได้ลองชิมน้ำคลอง ดูดน้ำขึ้นไปใช้ ข้าวเสีย ต้องทิ้งเลย ถึงเวลาผู้นำเกษตรกรคงจะต้องขอความช่วยเหลือ ขอค่าชดเชย

ปลาน้อยลง ตายหมด ถ้าเป็นอย่างนี้อีกสิบวันบ่อปลาก็เดือดร้อน ความเสียหายจะมากกว่านี้เยอะ

pravejburiram06
ประตูน้ำและทำนบดินที่พังทลายเกิดจากการขุดเปิดพื้นที่เพื่อตอกเสาเข็มและสร้างบ่อก่อสร้าง เตรียมเพิ่มขนาดการระบายน้ำของประตูน้ำจาก 36 เป็น 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
pravejburiram07
เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมจุดที่ประตูน้ำท่าถั่วและทำนบดินทรุดตัว มีการใช้ถุงบิ๊กแบ็กขนาด 2 ตัน จำนวน 1,000 ถุง วางสกัดกั้นไม่ให้น้ำเค็มในแม่น้ำบางไหลเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
pravejburiram08
ภาพมุมสูง ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณโดยรอบประตูน้ำท่าถั่ว พื้นที่ฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต (ภาพ : กรมชลประทาน)

ประตูน้ำถล่มได้ยังไงก็ไม่รู้ เท่าที่ทราบ ทางผู้ใหญ่เขาจะให้คนมารับผิดชอบ สิ่งแรกที่ต้องทำคือป้องกันการทะลักของน้ำเค็มให้ได้ก่อน แล้วเรื่องอื่น ๆ ต้องตามกันทีหลัง คงใช้เวลามากพอสมควร เดือดร้อนยาว เห็นเอาถุงบิ๊กแบ็กมากั้นน้ำ ทางบริษัทที่มารับเหมากรมชลประทานเขาจะแบกรับไหวไหม ช่วงสงกรานต์ไม่รู้จะห่วงชาวบ้านมากแค่ไหน ช่วงวันหยุดยาวไม่รู้จะเพิกเฉยหรือเปล่า

ตอนเด็ก ๆ น้ำคลองใสมาก เวลาช้อนหรือเหรียญตกลงไป มันจะร่อนลงไปให้เราเห็น ลึกลงไป ๆ น้ำใสจริง ๆ แต่อย่างว่าก็ผ่านมาร่วม 60 ปีแล้ว ตอนเป็นเด็กเล่นน้ำคลองกัน คอแห้งก็ฮึบไปสักหนึ่งอึกก็ไม่เป็นไร

pravejburiram09 3

“ปลาดูดยังสู้ไม่ไหว เต่า ตะพาบ คลานขึ้นไปตายบนตลิ่งก็เยอะ”

สุดใจ ยิ้มเจริญ
ตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

อยู่ ๆ ก็มา ปลาก็ตาย ออกข่าวก็จริง แต่ชาวบ้านจะไปรู้ได้ยังไง ชาวบ้านไม่รู้น้ำจะไหลมาทางนี้ไหม มาถึงก็เห็นปลาอยู่ในสภาพแบบนี้ คือมันเน่า กินไม่ได้ เสียดาย พายเรือมาก็เห็นปลาขึ้นอืด อย่างตัวนี้ปลาฉลาด ปรกติเอาเนื้อไปขูดทำทอดมัน แกงคั่ว แต่ตัวนี้กินไม่ได้ เมื่อวันก่อนตอนเช้าก็ไหลมาจากคลองสวน เหมือนหนีน้ำมา โอ้โห ปลากรายเป็นสิบ ๆ ตัว ผ่านหน้าบ้านไป ที่ตายแล้วก็มี ปลาชะโดตัวละตั้งหลายกิโลก็เน่า บางส่วนติดอยู่ใต้สะพานตรงนี้ บางคนเก็บได้ เพิ่งตายใหม่ ๆ ตัวใหญ่กินไม่ไหวก็แบ่งให้คนอื่น ช่วงนี้มีคนจับปลาได้มาก แต่หลังจากนี้ปลาจะน้อยลง แทบจะหายไปจากคลอง เสียดายปลา

เมื่อวันก่อนดิ้นกระแด๊ว ๆ แล้วก็ตาย คนหาปลานี่สิจะไม่มีกิน เขาหาปลา แล้วเขาจะไปทำอะไรกิน

ไม่เคยเจอปลาตายมากขนาดนี้หรอกในชีวิต อายุจะหกสิบแล้วเพิ่งเคยเห็น เจอน้ำเค็มเข้าไป ปลาไหลตัวใหญ่ ๆ ตายหลายตัว ปลาซักเกอร์หรือที่เรียกว่าปลาดูดยังสู้ไม่ไหว เต่า ตะพาบ คลานขึ้นไปตายบนตลิ่งก็เยอะ เด็กที่ยิงปลายังพูดปลาดูดยังอยู่ไม่ได้ แล้วเต่าจะไปอยู่ไหวเหรอ

pravejburiram09 4

“ค่าความเค็มทีแรกเขาว่ามันแค่ 5 แต่ตอนหลังขึ้นไปเป็น 25-30 แล้ว”

สุนันท์ รัตนะมงคลกุล
ตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

น้องสาวโทรมาบอกว่าน้ำเสีย ให้รีบตักขึ้นมาเก็บไว้ เราลองชิม มันเค็มแล้ว ใช้ไม่ได้ แม่ก็บอกเค็มมากแบบกินไม่ได้เลย

ช่วงแรก ๆ ยังไม่เค็มขนาดนี้ วันนี้เค็มหนัก สามวันแล้ว

ปกติบ้านเราใช้น้ำคลองรดต้นไม้ ซักผ้า ล้างถ้วยชาม ปั๊มน้ำขึ้นมาเก็บใส่โอ่ง เอาไปทำให้ตะกอนนอนก้น พอใสแล้วค่อยเอามาใช้ ช่วยประหยัดไปเยอะ

ตอนนี้หน้าบ้านกลิ่นยังไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ แต่บางหลังกลิ่นปลาเน่าหึ่งแล้ว กลางคืนเหม็นหึ่งแล้ว อีกสองวันมันจะเหม็นกว่านี้ ถ้าเกิดกลิ่นแรงกว่านี้คนจะรับไม่ได้ แล้วอีกหน่อยน้ำจะดำ

ผักบุ้งหน้าบ้านเราตั้งใจปลูกขาย ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ปักไม้ปลูก ปกติอาทิตย์หนึ่งขายได้เกือบ 500 บาท พี่สาวมารับไปขายทุกอาทิตย์ กำละ 5 บาท 100 กำ ก็ 500 บาทแล้ว

ทุกวันนี้ต้องคอยเขี่ยปลาที่ลอยมาติด เขี่ยปลาที่เข้าไปตายตามกอผังบุ้งออก ผักบุ้งหน้าบ้าน ข้างทาง เริ่มเน่าหมด ของเก่าไม่รอดแล้ว น้ำเค็มเข้าไส้ คงต้องยอมทิ้ง หามาปลูกใหม่ แล้วจะเก็บไม่ได้ไปหลายเดือน ถ้าน้ำไม่เค็มจริง ๆ ผักบุ้งมันจะตายเหรอ

ชาวนาก็จะทำนาไม่ได้ไปอีกเป็นปี เพราะน้ำมันมันซึมเข้ามาในผืนดิน ถึงฝนตกตอนนี้ วิดขึ้นไปก็เสียข้าว ความเสียหายมันกว้างมาก หลายกิโล ไม่ใช่แค่คลองนะที่เค็ม ความเค็มมันกระจายไปทั่ว ไปถึงริมโน้น ขึ้นไปบนตลิ่ง มันเค็มลามไปหมด น้ำเค็มเข้ามาก็ลำบากไปหมด

ค่าความเค็มทีแรกเขาว่ามันแค่ 5 แต่ตอนหลังขึ้นไปเป็น 25-30 แล้ว มีคนบอกทำนาเกลือได้แล้ว เค็มขนาดนี้ ไม่ใช่เค็มธรรมดา ลองชิมดูสิว่าเค็มมากแค่ไหน

ต้นไม้ปลูกไว้หลังบ้านไม่มีน้ำรดก็ต้องตาย เราปลูกฟัก พริก บวบ ผักโขม เอาไว้กิน ตอนนี้เริ่มเฉา ถ้าต้องเพิ่มค่าน้ำประปา ยอมทิ้งดีกว่า ถ้าใครปลูกขายก็จบ จะเอาไว้ก็ต้องเพิ่มค่าน้ำ เพิ่มเดือนละเป็นพัน

ทำไมเขาปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมถึงปล่อยให้มันพัง น่าจะรอบคอบกว่านี้มาก เขาไม่ได้รีบซ่อมหรือเปล่า หรือรอให้พังทั้งหมดก่อนแล้วค่อยซ่อมทีเดียว

อยากรู้ว่าอีกกี่วันสถานการณ์ถึงจะดีขึ้น จะซ่อมกี่วันถึงเสร็จ ในความคิดเราต้องปิดประตูให้สำเร็จแล้วไล่น้ำออก จนกว่าความเค็มจะหมดไป