ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
มิ่งขวัญ ถือเหมาะ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน : ภาพ

ความคืบหน้า-แผนฟื้นฟู-หลังรื้อถอน เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย
ก่อนหน้าการประชุม หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันลงพื้นที่ในและรอบเหมืองทองคำ ชี้แจงและตรวจสอบผลการดำเนินการกำจัดบำบัดของเสียช่วงที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 คณะทำงานจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ร่วมกันจัดประชุม ณ ห้องประชุมศรีสองรัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเลย

คณะทำงานฯ ข้างต้นเป็นผลจากคำสั่งแต่งตั้งของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งข้าราชการ นักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน อาทิ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), อุตสาหกรรมจังหวัดเลย, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมป่าไม้, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย, กรมควบคุมมลพิษ, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC), โครงการขับเคลื่อนนโยบายสารธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM), มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดเลย ฯลฯ
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยในฐานะประธานคณะทำงานฯ ได้มอบหมายให้ อนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมติดตามการประชุมจำนวนมาก
1 วันก่อนการประชุมคณะทำงานฯ ยังร่วมกันลงพื้นที่ในและรอบเหมืองทองคำ เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินการกำจัดบำบัดของเสียช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ เจนโก้ เป็นผู้ซื้อทรัพย์ ได้รับการประมูลรื้อถอนโรงแต่งแร่ และต้องกำจัดบำบัดกากของเสียที่ปนเปื้อน

จุดหลักซึ่งคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อนำผลมาประกอบการประชุมหารือประกอบด้วย

1.) บ่อรับน้ำจากโรงแต่งแร่ หรือบ่อสังเกตการณ์
2.) อาคารเก็บสินแร่
3.) โรงลอยแร่
4.) โรงถลุงแร่
และ 5.) อาคารสำนักงานบริษัท

loeimine02
หลายปีที่ผ่านมามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์และโลหะหนักทั้งในแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน พบน้ำผุดจากผิวดินบริเวณด้านหลังเขื่อนกักเก็บกากแร่ที่มีปริมาณโลหะหนักสูงเกินมาตรฐาน

ย้อนเวลากลับไปวันที่ 22 กันยายน 2566 บริษัทเจนโก้เป็นผู้ชนะการประมูลรื้อทรัพย์จากกรมบังคับคดี ตามข้อตกลงทางบริษัทจะต้องรื้อทรัพย์สินส่วนที่เป็นโครงสร้างเหล็ก ถังบรรจุน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษจำนวนมากกว่า 10 ถัง พร้อมกับนำของเสียที่ตกค้างไปกำจัด

ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เริ่มรื้อถอนส่วนโลหกรรม ปรับสภาพพื้นที่ ตลอดจนเก็บกากสารพิษออกไปกำจัดในพื้นที่ของบริษัทฯ ตามที่จัดเตรียมไว้ ชี้แจงว่าการดำเนินการขั้นต่าง ๆ แล้วเสร็จเหลือเพียงขั้นส่งมอบงาน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดเลย พยายามชี้แจงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน อ้างว่ามีการแอบปล่อยน้ำจากถังโดยไม่ได้นำไปกำจัดตามมาตรฐาน, เกิดไฟไหม้ 2 ครั้ง ระหว่างการรื้อถอน โดยผู้ได้รับการประมูลงานไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือต่อเหตุการณ์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังมีข้อเสนอให้ทางบริษัท เก็บตัวอย่างดินและน้ำเพิ่มเติมหลายจุด เพื่อไปนำตรวจวัดคุณภาพว่าได้ตามค่ามาตรฐานจริงหรือไม่ หลังรื้อถอนยังมีข้อเสนอให้กันพื้นที่บางส่วนไว้เป็นพิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์สถานแห่งการต่อสู้ และเป็นพื้นที่ป่าชุมชน

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ความเห็นในที่ประชุมว่านี่เป็นสาระสำคัญที่ต้องร่วมกันพิจารณา ต่อกรณีที่ชาวบ้านอยากให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นอนุสรณ์สถานและเป็นป่าชุมชน เพราะในส่วนของเจนโก้ก็ต้องทำตามกำหนดวาระสัญญา หลุมบ่อหรืออาคารต่าง ๆ ที่มีเศษซากของสารเคมี หรือวัตถุเป็นพิษ รวมถึงการตรวจดินตรวจน้ำ เป็นสิ่งที่ทางบริษัทต้องรับผิดชอบ

“เราต้องตกลงว่าเศษซากที่เหลืออยู่จะจัดการอย่างไร หนึ่ง เราต้องเห็นด้วยกับหลักการก่อน สอง คณะทำงานต้องสอบถามทางป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตามกฎหมาย ส่วนชาวบ้านก็ต้องเขียนรายละเอียดให้ชัดว่าแผนฟื้นฟูของชาวบ้านตรงนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นหัวข้อที่อาจจะนำไปพิจารณาในวาระประชุมคราวต่อไป” นายแพทย์นิรันดร์ให้ข้อเสนอ

ต่อมาคณะทำงานฯ ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางและกรอบเวลาการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และนักวิชาการ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบตามหลักวิชาการ แนวทางสากลจากต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินการภายใต้กฎหมายกำหนด หลังจากนั้นที่ประชุมมีมติให้ตั้ง “คณะทำงานชุดเล็ก” เพื่อเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟู โดยวางกรอบระยะการทำงาน 3 เดือน

loeimine03
สไลด์แผ่นหนึ่งที่ถูกเปิดระหว่างการประชุมของคณะทำงานจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
loeimine04
ตั้งแต่ปลายปี 2561 แล้วที่ศาลจังหวัดเลยพิพากษาให้เหมืองทองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณเหมืองและพื้นที่รอบนอก ชี้ว่าการดำเนินการเหมืองทองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชน

ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ติดตามประเด็นปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมเหมืองมานานให้เหตุผลเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานชุดเล็กว่า “ที่ผ่านมา กพร. อาจจะโฟกัสเรื่องบ่อกักเก็บแร่ในพื้นที่เหมืองแร่ ชาวบ้านอาจให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ เรื่องชุมชน ในส่วนประเด็นเร่งด่วนก็มีเรื่องบ่อกักเก็บแร่ที่ต้องตรวจสอบว่าปัจจุบันมีสถานภาพเป็นอย่างไร เป็นแผนงานระยะสั้นที่ควรทำทันที ในแง่กลไกการทำงานจึงควรมีคณะทำงานชุดเล็กเพื่อหารือกันว่าควรมีแผนย่อยอะไรบ้าง ในมิติต่าง ๆ เช่น แผนเรื่องสุขภาพ แผนเรื่องมลพิษ แผนการทำศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูชุมชน ฟื้นฟูป่า แล้วไปหากลไกการทำงานแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อให้แผนฟื้นฟูร่วมกันมันขยับไปได้”

อนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในฐานะประธานการประชุมระบุว่าได้มอบหมายให้ส่วนราชการและภาคประชาชนเสนอรายชื่อคณะทำงานชุดเล็กมาให้ฝ่ายเลขาฯ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามแต่งตั้งเป็นลำดับต่อไป

“คณะทำงานชุดเล็กจะมีกรอบระยะเวลาทำงาน 3 เดือน เมื่อได้แผนดำเนินการอย่างละเอียดจากคณะทำงานชุดเล็กแล้ว ค่อยมาไล่กันว่ากิจกรรมตามแผนเราจะเสนอหน่วยไหน หรือส่วนใดที่ดำเนินการได้ก็ว่ากันไปไม่ต้องรอ เพื่อให้เกิดแผนปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เราเป็นคณะทำงานทีมเดียวกัน แต่มาจากบ้านคนละหลัง มาทำงานร่วมกัน ถ้ามีปัญหาก็ให้ประสานงานกันบ่อย ๆ เรามุ่งที่จะทำงานจริง ๆ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนค่อยช่วยเราอยู่ คอยให้กำลังใจอยู่ ถ้าเราทำตรงนี้ประสบความสำเร็จร่วมกัน ใครผ่านไปผ่านมาเขาก็เห็น”

การทำเหมืองทองคำที่เป็นเหมืองเปิดต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เจ้าของเหมืองต้องค้นหาทองคำที่มีอยู่ในสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ กระบวนการสกัดแร่ต้องใช้สารไซยาไนด์ที่เป็นสารโลหะหนัก มีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม กระบวนการทำเหมืองทำให้เกิดฝุ่นละออง เกิดเสียงดังและแรงสั่นสะเทือน ส่งผลกระทบต่อคนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง

หลังจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เปิดเหมืองตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2549 มีการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำมากมาย ทั้งด้านเกษตรกรรม-มีการร้องเรียนเรื่องผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ด้านสุขภาพ-ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดผื่นคันขึ้นตามตัว รวมถึงตรวจพบไซยาไนด์ในเลือด ด้านสิ่งแวดล้อม-พบการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์และโลหะหนักทั้งในแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน พบน้ำผุดจากผิวดินบริเวณด้านหลังเขื่อนกักเก็บกากแร่ที่มีปริมาณโลหะหนักสูงเกินมาตรฐาน ด้านคุณภาพอากาศและเสียง-มีกลิ่นสารเคมีและเกิดเสียงดัง นอกจากนี้ยังเคยเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มผู้ขนแร่ กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ

ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมายาวนาน พยายามใช้ทุกช่องทางในการต่อสู้เรียกร้องจนกระทั่งสามารถปิดเหมืองได้สำเร็จ และพยายามผลักดันให้เกิดแผนการฟื้นฟูโดยภาคประชาชน ขอมีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งในการเป็นคณะทำงาน ช่วงท้ายคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้เหมืองทองต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรวมทั้งจ่ายค่าเสียหาย ก็ระบุให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

รจนา กองแสน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดเลย กล่าวหลังการประชุมครั้งนี้สิ้นสุดลงว่า “เราหวังมานานแล้วว่าจะมีการฟื้นฟู อนาคตอยากเห็นการฟื้นฟูเกิดขึ้นร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มีนักวิชาการและภาคส่วนต่างๆ เข้ามาให้ข้อเสนอ แนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ หากคณะทำงานชุดเล็กสามารถพูดคุยกันและทำงานได้อย่างราบรื่น ก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปสู่แผนการฟื้นฟูตามที่ทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายไว้”

ขอขอบคุณ

  • ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)