เมื่อปลาหมอคางดำรุกล้ำน่านน้ำไทย

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอให้ทางสภาทนายความฯ ช่วยขับเคลื่อนยกระดับการแก้ไขปัญหา และฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำที่เดินทางมายื่นหนังสือ ประกอบด้วยกลุ่มประมงชายฝั่งบางตะบูน กลุ่มรักหาดเจ้า กลุ่มรักอ่าวไทย (เพชรบุรี) กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตำบลยี่สาร เครือข่ายประมงพื้นบ้านบางแก้ว เครือข่ายผู้เลี้ยงปลากระชัง เครือข่ายเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ กลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลแพรกหนามแดง เครือข่ายเพาะเลี้ยงคลองโคน (สมุทรสงคราม) กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเลตำบลบางกระเจ้า กลุ่มอนุรักษ์มหาชัยฝั่งตะวันออก กลุ่มธนาคารปูม้า (สมุทรสาคร) เครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค

โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ สัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ จรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ เป็นผู้รับเรื่อง

ปลาหมอคางดำเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ปัจจุบันพบแพร่กระจายอยู่อย่างน้อย 13 จังหวัด หลังจากกรมประมงอนุญาตให้ บริษัทบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารแห่งหนึ่งนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว จากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา มาทดลองเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

คำว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” (Invasive Alien Species) เป็นกลุ่มย่อยหรือ subset ของคำว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (Alien Species)

ตามธรรมชาติของพืชหรือสัตว์ที่เข้ามาอยู่ในถิ่นใหม่จะต้องมีการปรับตัว ถ้าไม่สามารถปรับตัวได้จะล้มตายและหายสาบสูญไปในที่สุด บางชนิดปรับตัว อาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นอย่างไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดหลังจากปรับตัวให้อยู่รอดแล้วยังคุกคาม รุกราน สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตประเภทนี้จะแย่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ทำให้ระบบนิเวศที่ผ่านการวิวัฒนาการมานานจนเข้าสู่ภาวะสมดุลเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน

เฉกเช่นเดียวกับปลาหมอคางดำ ที่อาศัยอยู่ได้ในแทบทุกแหล่งน้ำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย ทนทาน โตไว กินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกปู ลูกหอย

ทุกวันนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ตามการระบาด

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากกิจกรรมยื่นหนังสือร้องเรียนของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร วันที่ 10 พฤษภาคม 2567

ขอขอบคุณ : สำนักงานโฆษกและประชาสัมพันธ์ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

plamor02

“เอเลียสปีชีส์ที่รุกราน ไม่สมควรนำเข้ามาเลย”

ปัญญา โตกทอง
เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน, กลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลแพรกหนามแดง

อยากยกระดับจากปัญหาของเราให้เป็นปัญหาของคนที่ทำผิด ของคนที่ละเมิด ไม่ว่ากรมประมง หรือนายทุนที่เอาเข้ามา

ทุกวันนี้ปลาหมอคางดำเข้ามายึดบ้าน มันอยู่ทวีปแอฟริกา หรือแม่น้ำแอมะซอน มีปลาปิรันยา ปลาไหลไฟฟ้า เป็นตัวควบคุม แต่บ้านเราไม่มีสัตว์ดุร้ายขนาดนั้น

จาก 4 อำเภอใน 2 จังหวัด มันแพร่กระจายไปประจวบฯ ชุมพร ทางฝั่งนี้ไปสมุทรสาคร บางขุนเทียน ธนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา แล้วขยายไปทั่ว วันนี้มีพี่น้องเดือดร้อนหลายจังหวัด อนาคตถ้าผ่านเขตแดนไปได้มันคงไปเขมร แล้วไปแม่น้ำโขง ถ้าหลุดจากภาคใต้ก็จะเข้าสู่มาเลเซีย จะเป็นปัญหาของอาเซียน ถ้าประเทศไทยไม่กำจัดอาจจะไปถึงประเทศอินเดียก็ได้

เอเลียนสปีชีถ้าไม่รุกรานน่ะดี แต่ถ้าเป็นเอเลียสปีชีส์ที่รุกรานไม่สมควรนำเข้ามาเลย จะด้วยเหตุการณ์ใดก็ไม่สมควร

ที่ผ่านมา หน่วยงานราชการเหมือนผู้ใหญ่สร้างปัญหาแล้วให้ระดับจังหวัด คือให้เด็กแก้ แล้วก็ทำงานแบบอีเวนต์ ใครร้องเรียนทีก็ลงไปที

อย่างการปล่อยปลากะพงของพวกประมงเนี่ย ปลาหมอคางดำกินเนื้อ ปลากะพงก็เป็นนักล่า กินเนื้อเหมือนกัน เร่งให้ปลาเราสูญหายเข้าไปอีก เหมือนลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง เราอยากให้แก้ปัญหาเชิงระบบ คิดเชิงระบบ แล้วไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นแฟนคิดแทนไม่ได้ จะต้องเอาพวกเราเข้าไปร่วมคิดด้วย จะตัดเสื้อโหลใส่ทั้งประเทศไม่ได้ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ภูมิประเทศ ความหลากหลาย มันใช้เครื่องมือเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความคิดที่หลากหลาย ความรู้ในแต่ละถิ่นในการกำจัดปลาหมอคางดำ

เวลามีปัญหาจากภัยพิบัติ ไม่ได้เกิดจากรัฐ ยังเยียวยา แต่นี่ถูกละเมิด ถูกกระทำโดยรัฐและนายทุนกลับไม่เคยเยียวยา ไม่เคยแก้ไขปัญหา

สงสารชาวบ้านที่เขาแย่ลง ๆ อยากให้มีหลาย ๆ ภาคส่วนเข้ามาสืบค้นต้นตอ ไม่ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สภาทนายความฯ หน่วยงานที่เป็นกลางทั้งหลาย

เรื่องปลาหมอคางดำจะต้องนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ แต่เราคิดว่าจะแก้ชาตินี้ ไม่ใช่แก้ชาติหน้า ไทยเรากฎหมายมีจริง แต่การปฏิบัติมันไม่ตามกฎหมาย

plamor03

“ประเด็นที่หนึ่งคือความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐและของเอกชน ประเด็นที่สองคือจงใจหรือเปล่า”

คัมภีร์ ทองเปลว
ประชาคมคนรักแม่กลอง, เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค

ตอนนี้เกิดความไม่ไว้วางใจกันในวงกว้าง เพราะมันระบาดหนักมากมา 18 ปีแล้ว ตอนนี้ในทุกขั้นตอน ไม่ว่ารัฐมนตรีตั้งคณะทำงานก็ดี หรือทางฝ่ายคณะกรรมการสิทธิทำงานก็ดี ควรมีสภาทนายความฯ เข้าไปเพื่อเป็นตัวแทนของชาวบ้านในด้านข้อกกฎหมาย บอกตรง ๆ ว่าไม่ค่อยไว้วางใจหน่วยงานเท่าไหร่แล้ว

แรก ๆ คิดว่าบริษัทเอกชนเอาเข้ามาปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อผลธุรกิจของเขา แต่หลังๆ มีประชาชน น้อง ๆ ของเราที่บางขุนเทียนตั้งข้อสังเกตว่าหรือมันจะเป็นการจงใจมาปล่อย ให้ปลาหมอคางดำกินปลากินกุ้งของเราให้ลดน้อยลงรึเปล่า เพราะผู้นำเข้าไม่ธรรมดา เขาก็ขายอาหารมาเยอะ อาหารในนี้คือพันธุ์ปลาก็ดี ปลากระชังก็ดี

ส่วนตัวผมเองไม่อยากคิดอย่างนั้น ถ้าทำขนาดนั้นมันก็ชั่วที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ ผมถึงไม่คิดไง แต่มันมีการตั้งข้อสังเกตแบบนี้จากชาวบ้านเพราะเขาเสียหายหนักมาก เขาเสียหายถึงขนาดจะขายที่ดิน จะย้ายถิ่นกันแล้ว เขาเสียหายขนาดที่ว่าที่ 80 ไร่ มีแต่ปลาหมอคางดำ 5-6 ตัน ขายกิโลละ 5 บาท จับมามันไม่คุ้ม นี่ขนาดที่ 50 ไร่ 80 ไร่

เรามองสองประเด็นนะ ประเด็นที่หนึ่งความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐและเอกชน กับประเด็นที่สองคือจงใจหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าจงใจ ผมว่าที่สุดของความเลวร้าย

plamor04

“วันนี้กุ้งตะกาด ซึ่งเป็นกุ้งก้นคลอง มีมาตั้งแต่ผมเด็ก ๆ งมหาไม่เจอ”

สุชาติ เสือนาค
ประธานกลุ่มรักษ์อ่าวไทยตอนบน จังหวัดเพชรบุรี

ปลาหมอคางดำไม่ได้กระทบชาวบ้าน แต่มันกระทบระบบนิเวศของเรา ทุกวันนี้ปลาต้นคลองที่เป็นของธรรมชาติ ไม่ว่าจะปลาตีน กุ้ง เคย ลูกปู ถูกมันกินหมด ปูก้ามดาบ หอยแครงก็โดน เขาเรียกเอเลียนสปีชีส์ ผมก็ดู ปูก้ามดาบก็หายไปจากระบบนิเวศ

ไม่รู้เขาจะเอามาล้างพันธุ์สัตว์ทะเลหรือเปล่า ตอนที่ได้ตัวปลาหมอคางดำเอามาผ่าท้อง มันจะมีลูกกุ้งอยู่ในนั้น กลายเป็นว่าชายฝั่ง ลูกปลากระบอกยังไม่มีทุกวันนี้

เราก็ไม่เข้าใจว่า เขาปล่อยมาเพื่ออะไร แก้ไขก็ไม่ได้ ผมพยายามทำ ถามเจ้าหน้าที่ว่าเอาไอ้โง่ดักได้มั้ย ไอ้โง่เป็นเครื่องมือชนิดนึ่ง เขาบอกว่ามันผิดกฎหมาย ถ้างั้นทำอวนลากในคลอง ก็ผิดกฎหมายอีก ได้แต่คิดว่าแล้วจะให้ทำยังไง

หลายเรื่อง ไม่ใช่ชาวบ้านไม่รีบเร่ง เขารีบแก้ไข ผมทำมาสองสามปีแล้ว โพสต์ลงโซเชียล ทางประมงเขาก็บอกกลับมาว่าลุงอย่าลง ทำอะไรบอกผม เดี๋ยวมาช่วยกัน เขามาตอนแรกๆ แล้วก็ปลอยให้เรื่องจางไป เราก็เลยต้องกล้ำกลืนไปกับเขาด้วย

ณ วันนี้กุ้งตะกาด ซึ่งเป็นกุ้งก้นคลอง มีมาตั้งแต่ผมเด็กๆ งมหาไม่เจอ ช่วงเวลาน้ำแห้ง ผมเอากากชาไปโรยแล้วนั่งมอง หวังว่ามันจะตาย แต่พอน้ำเริ่มขึ้น มันก็จะออกไป กากชาทำอะไรมันไม่ได้ แม้แต่ 5 เปอร์เซ็นต์จาก 100 ก็ทำไม่ได้ ถ้ายังขืนปล่อยไว้แบบนี้ หรือไม่มีการแก้ไข ระบบนิเวศไปต่อไม่ได้ครับ

plamor05

“ถ้าไม่จัดการวันนี้ต่อไปจะถึงทีประเทศเพื่อนบ้าน”

กสิธาดา คล้อยดี
ประธานกลุ่มรักหาดเจ้า จังหวัดเพชรบุรี

ประเด็นที่ผมจะพูด ไม่ใช่แค่เราที่ทุกข์ในทุกวันนี้ ถ้าเราไม่จัดการ ถ้ามันระบาดไปถึง สปป.ลาว กัมพูชา ลงไปเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายได้น้อย เขาจะชี้หน้าด่าเราว่าเมืองไทยทำอะไรอยู่ เราจะยังมีหน้ามั้ย

ผมอยากให้มองภาพใหญ่ว่าความมั่นคงทางอาหารของคนเล็กคนน้อยได้รับผลกระทบเยอะ บางท่านอาจมีเงินเดือนกิน ไม่ซีเรียส แต่ท่านก็จะได้รับผลกระทบเพราะต้องซื้ออาหารแพงขึ้นแน่นอนในอนาคต

คนมีรายได้น้อยที่พึ่งพาระบบนิเวศมีเยอะมาก คนประเภทนี้เขาต้องไปเป็นลูกจ้าง ไม่สามารถลงคลองหาอาหาร

เรื่องปลาหมอคางดำไม่อยากให้กดทับหรือปล่อยผ่าน มันควรจะเป็นวาระของชาติจริง ๆ ถ้าไม่ทำอะไร เราตายหมดแน่นอน