“ลืมอดีตเสียเถิด”
ใครที่กล่าวคำนี้้เพื่่อปลอบตัวเองก็คงไม่่มีปัญหาแต่หากเป็นคำที่บอกคนอื่น คงอยู่ที่ว่าใครพูดกับใคร และอดีตที่ให้ลืมนั้นคืออะไร
เพราะอดีตอันเจ็บปวด ไม่ใช่อะไรที่ใครจะลืมได้ง่ายๆ
ครั้งหนึ่งในดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการนองเลือด คำพูดนี้ได้ถูกเอ่ยขึ้นแล้ว
เพื่อเปิดประตูให้แก่อนาคตที่มีสันติภาพ
แอฟริกาใต้ แผ่นดิดเกิดของคนผิวดำที่ถูกคนผิวขาวบุกรุกเข้ามายึดครอง แถมกดขี่และเหยียดผิวอย่างรุนแรงนานนับศตวรรษ จนมีการก่อตั้งสภาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress, ANC) เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิและความเสมอภาพของคนผิวดำใน ค.ศ.๑๙๑๒ โดยยึดแนวทางอหิงสาแบบคานธี
เนลสัน แมนเดลา เข้าร่วมกับ ANC ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ในสถานการณ์ที่การเดินขบวนของคนผิวดำถูกรัฐบาลคนผิวขาวปราบ และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เขายังทำงานเป็นทนายวาความเพื่อต่อสู้กับกฎหมายแบ่งแยกสีผิว และช่วยเหลือลูกความที่ถูกป้ายความผิดเพียงเพราะเป็นคนผิวดำ แมนเดลาเคยเขียนไว้ว่า
“ในทางปฏิบัติ จริงๆ แล้วกฎหมายหาใช่อื่นใดนอกจากพลังจัดตั้งที่ชนชั้นปกครองใช้ควบคุมระเบียบสังคมให้เป็นไปในทางเอื้อประโยชน์แก่พวกตน”
เมื่อสันติวิธีที่ใช้มาไม่ได้ผล สมาชิกหลายคนใน ANC จึงต้องการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธแบบกองโจร และแมนเดลาก็ตัดสินใจก้าวมาเป็นผู้นำในการวางแผนก่อการร้าย ทำให้เขาถูกจับและตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตบนเกาะร็อบเบิน
ในการไต่ส่วน แมนเดลาไม่ยอมรับความผิด เขาโต้แย้งว่าเขาต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ และต่อสู้กับกฎหมายที่อยุติธรรม ด้วยปรารถนา “ประชาธิปไตยและสังคมอันเสรี ที่ซึ่งพลเมืองทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติและด้วยโอกาสอันเสมอภาค”
แมนเดลาติดคุกยาวนานถึง ๒๗ ปี ขณะที่การต่อสู้ของคนผิวดำก็รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนเกิดการจราจลในเมืองต่างๆ ไปทั่วประเทศ แต่โมงยามอันขมขื่นและทุกข์ทรมานในคุกนี้เองกลับหล่อหลอมให้เขาสามารถสร้างสันติดภาพให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด
สิ่งที่แมนเดลายึดมั่นจนนำมาสู่ปลายทางที่ใฝ่ฝัน คือแนวคิดเก่าแก่ของชาวแอฟริกันที่เรียกว่าอูบันตู (Ubuntu) หมายถึงจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในการตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเรา ผ่านความเป็นมนุษย์ในตัวคนอื่นๆ
และคำว่ามนุษย์คนอื่นๆ ย่อมรวมถึงศัตรูของเราด้วย
ระหว่างติดคุก แมนเดลาใช้เวลาอ่านหนังสือศึกษาภาษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ของชาวผิวขาวแอฟริกาใต้ แม้สหายร่วมคุกจะมองว่าเป็นการฝักใฝ่ฝ่ายผู้กดขี่ แต่ความสามารถในการสื่อสารและเข้าอกเข้าใจความคิดความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามนี่เองที่เป็นบันไดสำคัญสู่การเจรจาสันติภาพ และเอาชนะใจคนผิวขาว จนแมนเดลาได้รับการยอมรับจากคนทุกฝ่าย
แมนเดลาบอกับคนทุกผิวสีว่า “ลืมอดีตเสียเถิด” และกระทำให้ทุกคนเห็นด้วยการให้เกียรติและความไว้วางใจแม้กับฝ่ายคนผิวขาวที่เป็นศัตรู เพราะเขาตระหนักดีกว่าการจะบรรลุซึ่งความสำเร็จใดๆ ของคนผิวดำก็ต้องพึ่งพาความสำเร็จของคนผิวขาว
หนึ่งในสมาชิก ANC ที่ต่อมาเกิดความกระจ่างแจ้งในวิถีอูบันตูของแมนเดลา สรุปความคิดที่ตกผลึกอย่างยิ่งไว้ว่า
“การต่อสู้เพื่ออิสรภาพนั้นมิใช่การปลดปล่อยคนดำจากการเป็นทาส แต่เป็นการปลดปล่อยคนขาวจากความหวาดกลัว”
อดีตอันเจ็บปวดนั้นอาจลืมได้ยาก และสันติภาพสำหรับคนทุกฝ่ายยังอาจมาไม่ถึงวันนี้ แต่เรายังต้องดำรงความหวัง ไม่ว่าจะอีกนานเพียงใด
และต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครเดินสู่ความสำเร็จได้โดยลำพัง เพราะเราเป็นหนึ่งเดียวกัน
I am because we are.
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.om
หมายเหตุ : เนื้อหาใน “จากบรรณาธิการ” ฉบับนี้ อ้างอิงจากหนังสือ วิถีแมนเดลา Mandala’s Way แต่งโดย Richard Stengel แปลโดย ธิดา ธัญญประเสริฐกุล และ กานต์ ยืนยง
- จากบทบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 472 กรกฎาคม 2567
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine