ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ
ช่วงเวลานี้ เมื่อ ๕ ปีก่อน คือ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ เขื่อนไซยะบุรีทดลองผลิตไฟฟ้าด้วยการปั่นไฟจากกระแสน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำโขง ณ เมืองไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว
เข้าสู่ช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเริ่มรับซื้อไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์จากเขื่อนไซยะบุรีอย่างเป็นทางการ เป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างคนไทยกับเขื่อนไซยะบุรีที่ผูกพันยาวนานถึง ๒๙ ปี และขยายเพิ่มเป็น ๓๑ ปีในเวลาต่อมา
…
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ก่อนครบ ๕ ปีการซื้อขายไฟฟ้าไม่กี่วัน คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (Extraterritorial Obligation Watch Coalition) ส่งจดหมายขอรายงานมาตรการลดผลกระทบสะสมเกี่ยวกับตะกอนและทางปลาผ่าน, แผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรีต่อประชาชนท้ายน้ำใน ๗ จังหวัดประเทศไทย, สถานภาพปัจจุบันด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนชาวไซยะบุรีที่อยู่ในพื้นที่แปลงอพยพ
หัวจดหมายส่งถึง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด มหาชน และมีสำเนาส่งถึง ๑. คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ๒. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ๓. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ ๔. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เนื้อหาของจดหมายระบุว่า บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด มหาชน เป็นผู้ลงทุนในบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด ผู้บริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ นับเป็นเวลา ๕ ปี ล่าสุดในการประชุมผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาค ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ครั้งที่ ๑๓ ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ ทางบริษัทได้นำเสนอข้อมูลรายงานผลกระทบสะสมเกี่ยวกับตะกอน และการอพยพของปลา แต่ทางคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน เห็นว่ายังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศแม่น้ำโขงตอนล่างจากเขื่อนไซยะบุรีได้อย่างชัดเจน และมีข้อมูลเป็นนัยสำคัญ ในนามกลุ่มภาคประชาสังคมที่ติดตามและผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบของภาครัฐและเอกชนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนในประเทศนั้น ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights) จึงขอเรียกร้องให้ทางบริษัทเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง…
ทั้งนี้ ประเทศไทยประกาศรับหลักการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกำลังอยู่ในช่วงแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ ๒ (๒๕๖๖-๒๕๗๐) ซึ่งมีเนื้อหาหลัก ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน ๒) แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ๓) แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ ๔) แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ
การลงทุนข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของแผนปฏิบัติการ เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่ออกไปลงทุนทำการค้าในประเทศเพื่อนบ้านเคารพสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และสิทธิด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“พวกเราเห็นว่า บริษัทของท่าน ได้ประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักการ สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ United Nation of Global Compact) หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nation of Guiding Principle on Business and Human Rights) ปฏิญญาแรงงานระหว่างประเทศเรื่อง หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (The Core Conventions of the International Labor Organization’s Declarations (ILO) on Fundamental Principles) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อปี ๒๕๖๕ บริษัทได้มีประกาศหลักการดำเนินกิจการที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในเว็บไซต์ของบริษัทในทางสาธารณะ
“พวกเราฯ จึงขอเรียกร้องให้ทางบริษัทเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับ รายงานมาตรการลดผลกระทบสะสมเกี่ยวกับตะกอนและทางปลาผ่าน แผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรีต่อประชาชนท้ายน้ำใน ๗ จังหวัดประเทศไทย และสถานภาพปัจจุบันด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แปลงอพยพโยกย้าย ว่าทางโครงการได้ดำเนินการหรือมีมาตรการลดผลกระทบ และฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง ตลอดทั้งขอรายงาน One-Report ที่บริษัท ได้ยื่นต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ นับแต่ปี ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน”
เนื้อหาส่วนสำคัญของจดหมายเรียกร้องให้ทางบริษัทส่งรายงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกลับมาตามที่อยู่บนหัวจดหมายภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับจดหมาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้า และชุมชนที่อาศัยอยู่ ตอนล่างของเขื่อนไซยะบุรีใน ๗ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับทราบความคืบหน้าและเตรียมตัวรับมือต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะความผันผวนของแม่น้ำที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต อันเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กรที่ทางบริษัทฯ ได้ประกาศต่อสาธารณะแล้ว
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี มีรายงานข่าวและคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงผันผวนที่เกิดกับแม่น้ำโขงจำนวนมาก อาทิ
แม่น้ำโขง : เกิดอะไรขึ้นกับไทย เมื่อจีนและลาวไม่ระบายน้ำจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง – บีบีซีไทย ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒
นักวิชาการ ม.สารคาม ชี้เขื่อนจีน–ลาว ทำน้ำโขงแห้ง กระทบระบบนิเวศ ปลาบึกส่อสูญพันธุ์– ข่าวสดออนไลน์ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ไทยขอลาว ชะลอทดสอบปั่นไฟ “เขื่อนไซยะบุรี” หลัง น้ำโขงลดฮวบ – PPTV ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ไม่มีใครควรเป็นเจ้าของแม่น้ำเพียงผู้เดียว : เขื่อนไซยะบุรี หายนะของแม่น้ำโขง ? – 101.world ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๓
น้ำโขงสีคราม ความงามของสัญญานร้าย – mcot.net ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
วิเคราะห์ปัญหาเขื่อนลาว อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปท.เพื่อนบ้าน–ไทย มากกว่าที่คิด – สำนักข่าวอิศรา ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ต้นไคร้น้ำ แม่น้ำโขงยืนต้นตาย ผลจากระดับน้ำผันผวนฤดูกาลขึ้นลงผิดปกติ – LANNER ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖