วันที่ 12-14 กรกฎาคม ค่ายสารคดีครั้งที่ 19 อยู่ดีตายดี ชวนน้องๆ นักสารคดีรุ่นใหม่ทุกคนไปทดลองผลิตชิ้นงานจริงกันที่จังหวัดอุทัยธานี ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างเข้มข้นในสองวันแรกโดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม ตามประเด็นและแง่มุมต่างๆ ของชุมชนแห่งนี้ ก่อนจะส่งตัวแทนกลุ่มมานำเสนอในเช้าวันสุดท้ายเพื่อรับคำแนะนำจากครูค่าย รวมถึงเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรื่องราวของอุทัยธานีที่กลุ่มตนเองค้นพบให้เพื่อนๆ ได้รับฟัง
ชีวิตชาวแพสะแกกรัง
“เราจะเล่าเรื่องของป้าแต๋ว-ศรีวภา อายุ 70 ปีที่ทุกคนรู้จักกันดีว่าเป็นชาวแพที่ย่างปลา แต่จริงๆ ป้ามาย่างปลาเพราะอะไร เครียดหรือกังวลไหม ป้าแต๋วรู้สึกยังไงกับชีวิตบนแพ” น้องค่ายตัวแทนกลุ่มเริ่มจับไมค์เล่า
น้องๆ กลุ่มแรกล่องเรือลุยน้ำ ทำสารคดีว่าด้วยประเด็นชีวิตชาวแพสะแกกรัง บันทึกชีวิตและสำรวจความเป็นอยู่ของชุมชนเรือนแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทยผ่านแหล่งข้อมูลมากมาย ทั้งศรีวภา เจ้าของแพย่างปลา สาครและสมคิด สองพ่อลูกที่มั่นหมายว่าจะอยู่ในแม่น้ำจนวันสุดท้าย สินธุ์ชัยและบังอร สามีภรรยาที่ก่อร่างสร้างครอบครัวและความหมายของชีวิตใหม่ขึ้นมาบนเรือนแพ ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูงอายุที่กำลังเผชิญกับสังขารที่แปรเปลี่ยน บางคนพึ่งผ่านเหตุการณ์ป่วยหนักติดเตียง เป็นบทเรียนให้นักสารคดีรุ่นใหม่และชาวบกทั้งหลายได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความภาคภูมิใจที่ชาวแพยึดถือ
“ชาวแพส่วนมากมีแต่ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ย้ายขึ้นบกกันไปเกือบหมดแล้ว เราเลยอยากเล่าเรื่องของคนที่ยังอยู่” น้องค่ายอีกคนจากกลุ่มเดียวกันสนใจใคร่รู้ชีวิตบนสายน้ำของคนหนุ่ม จึงนำเสนอเรื่องของสรัณย์ อาสาดับเพลิงทางน้ำวัย 27 ปี ลูกชายของช่างซ่อมแพประจำชุมชน ว่าในอีกมุมหนึ่งของชีวิตบนเรือนแพมีอนาคตแบบใดรอคนรุ่นใหม่อยู่
สุขภาวะทั้งกายใจ
“นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพใจก็สำคัญมาก ความสัมพันธ์ของครอบครัวนักวิ่งมันเติมเต็มกายใจของลุงมนตรีมากๆ” น้องค่ายอีกกลุ่มหนึ่งเริ่มนำเสนอด้วยความประทับใจของตัวเอง
น้องๆ กลุ่มที่สองเดินทางเก็บข้อมูลประเด็นสุขภาวะทั่วอุทัยด้วยการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ทั้งปั่นจักรยานร่วมกับคุณเก๋ นักปั่นจักรยานทีมชาติอันดับ 8 ของประเทศไทย และสมาชิกชมรมนักปั่นจักรยานอุทัยธานีอีกมากหน้าหลายตา ทั้งร่วมวิ่งไปกับ ครอบครัวอโณวรรณพันธ์ที่รู้จักกันในนามครอบครัวนักวิ่งแห่งอุทัย นำโดยลุงมนตรี นักวิ่งที่มีเหรียญและถ้วยรางวัลอยู่เต็มบ้าน ตลอดจนร่วมเดินไปกับชาวอุทัยทั้งหลายในเส้นทางออกกำลังกายที่จะไปบรรจบที่ตลาดเช้าของเมือง
สิ่งที่น้องค่ายได้รับกลับมาคือประสบการณ์จริงที่พวกเขาได้สัมผัสด้วยตัวเองบนทางเดิน ลู่วิ่ง และสองล้อ ความสัมพันธ์ทางใจของเพื่อนและครอบครัวที่ก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับการชวนกันมาดูแลสุขภาพทางกาย ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดพื้นที่สุขภาพใหม่ๆ จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุทัยธานีมีพื้นที่ออกกำลังกายมากมายอย่างในทุกวันนี้
อยู่ร่วมกับธรรมชาติ น้ำ ป่า นา สวนข้ามสะพานวัดโบสถ์จากฝั่งเมืองอุทัยใหม่ไปคือ “เกาะเทโพ” ผืนดินตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ระหว่างแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา แวดล้อมไปด้วยพรรณไม้มากมาย ที่นี่มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งลงหลักปักฐานโดยการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับภูมินิเวศอันเป็นเอกลักษณ์
“หนูอยากชวนทุกคนมาเข้าใจคำว่า ‘ภูมินิเวศ’ ผ่านสวนส้มโอของป้าเล็กและลุงเนี้ยวที่ปลูกต้นยางนาไว้ในสวนของตัวเองเพราะเห็นความสำคัญของการมีป่าในชุมชน” น้องค่ายกลุ่มต่อมาเล่าถึงความตั้งใจของตัวเองในงานสารคดีชิ้นนี้
การเดินทางไปเยี่ยมชมวิถีเกษตรเกาะเทโพ ทั้งสวนผลไม้ของละเอียดกับโสภณ และไร่นาป่าไผ่ของกิมเฮี๊ยะกับจำนงค์ ที่แม้จะอุดมสมบูรณ์แต่ก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เรียนรู้ว่าพวกเขาปรับตัวตามเกาะเทโพอย่างไรให้อยู่ได้ ทำให้เหล่านักสารคดีหน้าใหม่ในกลุ่มที่สามมองเห็นสายใยที่ไม่อาจแยกขาดระหว่างระบบนิเวศในพื้นที่ ตู้กับข้าวที่หล่อเลี้ยงเมืองในอีกฟากฝั่ง มิติหนึ่งของ “อยู่ดี” ที่เราเฝ้าตามหาก็คือการ “อยู่ร่วม” กับธรรมชาตินี้เอง
ประวัติศาสตร์จีนที่ยังไม่เลือนหายไป
บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยใหม่นั้นเติบโตเป็นเมืองการค้าข้าวที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่ก่อนจะมีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ โดยมีชาวจีนที่อพยพมาทางน้ำเป็นกลไกสำคัญ ทำให้ในเมืองอุทัยนั้นอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีน
“เราจะเล่าประวัติศาสตร์ผ่านซาลาเปาไส้หมูหน่อไม้ของร้านเพิ่มพูนพรอุทัย ที่เอาอาหารของรากเหง้าตัวเองมาผสมผสานกับความเป็นอุทัย ใส่หน่อไม้ท้องถิ่นลงไปในซาลาเปาแบบจีน” ตัวแทนน้องค่ายจากกลุ่มที่สี่แนะนำตัวละครหลักที่พวกเขาเลืือก ในขณะที่น้องอีกคู่หนึ่งจากกลุ่มเดียวกันเลือก “คณะล่อโก๊ว” วงมโหรีแต้จิ๋วที่รับหน้าที่บรรเลงบทเพลงอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ในเทศกาลแห่ใหญ่ 3 ปีครั้ง เป็นผู้ดำเนินเรื่องราว
เมื่อการค้าข้าวทางเรือซบเซา ชุมชนก็เงียบเหงาตาม เมื่อร้านซาลาเปาและคณะล่อโก๊วจะยังไม่มีผู้สืบทอด ตลอดสองวันที่ลงพื้นที่ น้องๆ ในกลุ่มนี้รับหน้าที่นักประวัติศาสตร์ บันทึกความเปลี่ยนแปลงของชุมชนคนจีนผ่านอาหารและเสียงเพลง ตลอดจนตั้งคำถามถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ชีวิตใหม่ในบ้านเก่า
“ปี 54 น้ำท่วมใหญ่ คุณพ่อจัดของในบ้านใหม่แล้วอยากทำพิพิธภัณฑ์ ส่วนคนลูกอิ่มตัวจากการเป็นวิศวกรที่กรุงเทพ เลยกลับมาทำร้านกาแฟ ปักหลักถิ่นฐานที่บ้านหลังเดิม หลังสุดท้ายของทั้งคู่” ตัวแทนจากกลุ่มสุดท้ายเล่าเรื่องราวของ “บ้านจงรัก” ร้านกาแฟตกแต่งแบบอาคารไม้เก่าเมืองอุทัยที่มีชั้นสองเป็นพิพิธภัณฑ์คุณตาหลวงเพชรสงคราม
นอกจากอุทัยจะรุ่มรวยไปด้วยธรรมชาติ วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์แล้ว เมืองแห่งนี้ยังเป็นบ้านที่พร้อมต้อนรับการกลับมาของใครหลายคนอยู่เสมอ กลายเป็นประเด็นที่นักสารคดีรุ่นใหม่จากกลุ่มที่ห้าเลือกหยิบจับมาสร้างสรรค์
ในขณะที่น้องคู่หนึ่งเลือกเรื่องราวการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ น้องอีกคู่หนึ่งจากกลุ่มเดียวกันเลือกนำเสนอการกลับบ้านของ อ้วน-วิรัตน์ โตอารีย์มิตร คอลัมนิสต์นิตยสารรุ่นใหญ่ที่เลือกกลับบ้านมาทำร้านหนังสือ Booktopia เพื่อเรียนรู้และบอกเล่ามุมมองวิธีคิดของนักเล่าเรื่องรุ่นพี่ ว่าความหมายของ “โลก บ้าน จักรวาล และการข้ามไป” ที่เขาค้นพบในขวบปีที่ 17 ของ Booktopia คือสิ่งใด
ห้องเรียนนอกสถานที่ครั้งนี้สรุปปิดท้ายด้วยการทบทวน “อยู่ดี ตายดี” ที่แต่ละคนค้นพบในพื้นที่ เชื่อมโยงไปสู่ “อยู่ดี ตายดี” ภาพใหญ่ในสังคมไทย โดยมีเอกภพ สิทธิวรรณธนะ จากกลุ่ม Peaceful Death มาช่วยให้ข้อมูลควบคู่กับกิจกรรมเขียนแผนที่ความคิดที่ครูค่ายเตรียมไว้
การมาเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงนั้นเป็นขั้นตอนสำคัญของการทำงานสารคดี ชั่วขณะที่เราได้ค้นจนเจอประเด็นสำคัญที่หลบซ่อนอยู่ในสังคมและคว้าจับข้อมูลนั้นมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจสร้างขึ้นได้ด้วยการสอนแบบปากเปล่า ตลอดสามวันนี้น้องๆ นักสารคดีรุ่นใหม่ทั้งหลายคงได้ค้นเจอและคว้าจับความหมายของคำว่า “อยู่ดี ตายดี” แตกต่างกันออกไป
ขอบคุณอุทัยธานีที่เป็นห้องเรียนภาคสนามแรกให้กับน้องๆ นักสารคดีรุ่นใหม่ทุกคน
สนับสนุนโดย
- วิริยะประกันภัย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- Nikon
- กลุ่มธุรกิจ TCP
กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine