เรื่อง : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

critic1 19camp01

ณ ชั้น 3 ห้องประชุมวิริยะ วันที่ 3 สิงหาคม 2567 เช้านี้เป็นครั้งที่ 4 ที่เหล่านักบันทึกสังคมได้มาพบปะกันอีกครั้ง เพื่ออบรบและรับความรู้จากเหล่าครูประจำค่ายสารคดี กิจกรรมสำคัญวันนี้ คือ ‘การวิจารณ์งานชิ้นที่ 1’ ของนัก(เรียน)บันทึกสังคมรุ่น 19

ห้องประชุมกลายเป็น ‘ห้องเรียนรวม’ ที่เหล่านักเรียนได้ ‘เรียนรู้ร่วมกัน’ จากคำแนะนำของทั้งครูเขียน ครูภาพ ครูวิดีโอ ตกตะกอนความคิดผ่านงานของเพื่อนร่วมรุ่น

แสงจากโปรเจคเตอร์ฉายลงบนผ้าใบสีขาวขุ่น ‘งานเขียน’ ของนักเรียนสารคดีรุ่นที่ 19 ฉายอยู่บนนั้น การวิจารณ์งานเขียนสารคดียังคงดุเดือดเหมือนทุกปี บางย่อหน้าถูกวง ขีดเส้น กากบาท บางประโยคถูกไฮไลต์ด้วยสีแดง เหลือง เขียว สัญลักษณ์ประจำขั้นตอนการวิจารณ์งานของครูเขียน

“หนังที่ดีไม่มีทางที่จะมาจากบทที่ห่วย และบทที่ห่วยจะเป็นหนังที่ดีไม่ได้ การเขียนจึงสำคัญ” ประโยคแสนเรียบง่ายของครูเขียน ที่บอกเล่าพลานุภาพของปลายปากกาและน้ำหมึกที่จรดลงบนกระดาษ

ชื่อเรื่อง การเปิดเรื่อง เนื้อหา และการปิดเรื่อง เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ซึ่งนักเรียนเขียนต้องเข้าใจและทำให้ดี

มีคำถามถึง ‘ผู้เล่าเรื่อง เสียงเล่า และเสียงของพระเจ้า’ ว่าแบบใดคือสิ่งที่เหมาะที่ควร

แน่นอนว่าไม่มีคำตอบใดถูกต้องที่สุด แต่หากเลือกรูปแบบใดก็ต้องทำให้ชัดเจนและทำให้ถึงที่สุด

งานที่ดียังสามารถสื่อสารเรื่องราวเล็กๆ ที่สะท้อนถึงภาพรวมใหญ่ ดังเช่นการหยิบ ‘ก้อนกรวด’ มาเล่า ‘พื้นพิภพ’

“งานเขียนส่วนใหญ่มาจากความเจ็บปวดใจภายใน” คำตอบของครูเขียน ปลอบใจนักเรียนที่อธิบายถึงข้อผิดพลาดของตนในงานชิ้นแรก เพื่อให้นำความผิดพลาดมาสร้างแรงบันดาลใจทำงานต่อ

“ความสำเร็จสูงสุดของชิ้นงาน คือ คนอ่านเชื่อ” ครูเขียนทิ้งท้าย

ถัดมา คือการวิจารณ์งานภาพ อีกหนึ่งเสาหลักที่ยืนเคียงข้างกับงานสารคดีตลอดมา

แม้ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่จริงจะยังไม่มาก เวลาในการลงพื้นที่สั้นๆ แต่หลายคนก็ยังสามารถสร้างสรรค์ชุดภาพที่เล่าเรื่องออกมาได้ แน่นอนว่ายังมีปัญหา ทั้งการถ่ายภาพ การคัดเลือกภาพ มาลำดับจัดเป็นชุดภาพที่สื่อความหมาย

“กลัวว่าคนจะไม่หยุดดูภาพที่ถ่ายมา” คำถามง่ายๆ ที่เป็นอาจเป็นแผลใจของช่างภาพบางคน

ประเด็นสำคัญที่ครูภาพบอก คือ ‘ต้องรู้ว่าจะเล่าอะไร’ ซึ่งเป็นหลักของการพาคนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ได้ไปดำดิ่งกับประสบการณ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่

วงสนทนาถัดมา คือ การวิจารณ์งานวิดีโอ ที่คึกครื้นด้วยความสดใหม่และความหลากหลายของตัวงานจากนักทำวิดีโอรุ่นใหม่ ทั้งแบบซีเนมาติก แบบพื้นฐาน และแบบ old school

การวิจารณ์เน้นความสำคัญของคำว่า “Don’t telling, but showing”

และ ‘การวางโครงเรื่องที่ดี’ จะนำไปสู่ ‘การเล่าเรื่องที่ดี’

อีกหนึ่งไฮไลท์ของกิจกรรมค่ายสารคดี คือ ‘วิทยากรบันดาลใจ’ ที่จะพาเหล่าผู้ประสบความสำเร็จจากปลายปากกาหรือคมเลนส์ มาเล่าถึงกระบวนการทำงาน เพื่อเป็นตะเกียงส่องทางให้กับนักเรียน

“ย่านความตายบ่” เสียงสำเนียงอีสานของชายหนุ่มผมยาวเอ่ยถามเด็กน้อยในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน

เจ้าของสำเนียงอีสาน ต้องเต – ธิติ ศรีนวล เจ้าของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ภาพยนตร์ไทยจากแดนอีสานที่กวาดรายได้ทั่วประเทศกว่า 700 ล้านบาท

“กูสิเฮ็ดเรื่องใกล้โต(ตัว)นี่ล่ะ” จากความพยายามที่จะเข้าใจความตาย กลายเป็นการมองความตายในรูปแบบใหม่ๆ ความสูญเสียของคนที่ยังอยู่ ทำให้ต้องเตเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ความตายจะเต็มไปด้วยหยดน้ำตา

“ผมเห็นความตายบ่อย เพราะผมรับจ้างบวชหน้าไฟ … บวชบ่อยจนสนิทกับสัปเหร่อ แล้วศพสุดท้ายก็คือสัปเหร่อคนนี้แหละ … พอมาทำหนังสัปเหร่อ มันก็ทำให้เราย้อนกลับไปว่าเราเคยเจอสิ่งนี้ การที่เราเห็นสัปเหร่อทำแบบนี้มาทุกศพ เราก็ยังไม่เข้าใจเลยว่าเขาทำไปทำไม”

ต้องเตเล่าว่า สัปเหร่อ เริ่มต้นขึ้นจากการถามเด็ก วัยรุ่น หรือคนอื่นๆ ในพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัย ก่อรูปและประกอบสร้างจนได้แก่นหลักของภาพยนตร์ว่า ‘ความตายคือความจริง’

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการทำงานของต้องเต คือ ‘ความสุข’

เขาอยากทำหนังที่ ‘คนไม่อยากเลิกกอง’ เพราะนั่นหมายถึงภาวะที่คนทำงานมีประสบการณ์ร่วมบางอย่างที่ตรงกัน และมันจะนำมาซึ่ง ‘ระหว่างทางของการทำงานที่ดี’ ที่ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์

“ผมไม่ได้เก่งทางนี้เลย ผมอยากเฮ็ด อยากม่วน อยากมีความสุขกับสิ่งนี้เฉยๆ มันมีสิ่งที่เฮ็ดสำเร็จ มันมีที่เฮ็ดแล้วผิดพลาด แต่มันก็เป็นประสบการณ์ของเรา มันไม่มีแง่ร้ายเลย ก็เฮ็ดไปโลด มีความสุขกับสิ่งที่เราเฮ็ด เฮ็ดเก่งปานใด๋ แต่ถ้าไม่มีความสุขมันก็เท่านั้น”

กิจกรรมค่ายสารคดีวันนี้จบลงด้วยวงสนทนาสะท้อนความคิดความรู้สึกของนัก(เรียน)บันทึกสังคมรุ่น 19 ว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไรจากคำวิจารณ์ของครูและวิทยากรบันดาลใจ

“สิ่งที่ครูวิจารณ์งานของเรา มีประโยชน์มากๆ จะนำสิ่งนี้ไปพัฒนางานต่อๆ ไปให้ดีขึ้นครับ”

เส้นทางต่อไปที่กำลังรอพวกเขาอยู่ คือการทำงานชิ้นสำคัญประจำค่ายในประเด็น “อยู่ดีตายดี”

critic1 19camp04

สนับสนุนโดย

  • วิริยะประกันภัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • Nikon
  • กลุ่มธุรกิจ TCP

กิจกรรมโดย
Sarakadee Magazine