ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

ปลาหมอคางดำ - “หรือจริง ๆ แล้วเรายังอยู่ในวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”

การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานจากทวีปแอฟริกา เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อเนื่องยาวนานหลายปี ผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คือ ชาวประมงท้องถิ่น เกษตรกร และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดไม่ต่ำกว่า ๑๖ จังหวัด ซึ่งนับวันมีแต่จะขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ องค์กรต่างๆ อาทิ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ“หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ”ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรีเพื่อนำเสนอข้อมูลหลายมิติ และชี้ให้เห็นความบกพร่องอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำกับหน่วยงานและบริษัทที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามกลไกความปลอดภัยทางชีวภาพ

ทั้ง ๆ ที่หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluters Pay Principle : PPP) เป็นแนวทางสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ก่อมลพิษหรือผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย

เป็นราคาที่ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย

หากแต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้หายนะด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเกิดขึ้นซ้ำรอยเก่าในอนาคต

kangdum01

“ถ้านโยบายรัฐไม่เอื้อ เอกชนทำร้ายประชาชนไม่ได้”

บุญยืน ศิริธรรม
ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค และชาวประมงสมุทรสงคราม

ทุกอย่างในประเทศนี้ ไม่ว่าใครจะทำอะไรเสียหาย ประชาชนต้องเป็นคนจ่าย คนทำความเสียหายไม่ต้องจ่าย เพราะว่าคนจ่ายคือประชาชน

กฎหมายของประเทศไทย หรือกติกาในประเทศนี้เหมือนใยแมงมุม จับได้แต่แมลงเล็ก ๆ แมลงหวี่ แมลงวัน เจอพญาอินทรีกระพือปีกทีเดียว ใยแมงมุมกระจาย เราจะเห็นว่าถ้าชาวประมงเรือเล็ก ๆ ออกไปจับปลา แล้วเขาบอกว่าเป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย สิ่งที่เห็นคือเจ้าหน้าที่ไปกันเป็นลำ ๆ วิ่งไล่จับ ยึดเรือ ยึดเครื่องมือ ยึดสารพัดจนเขาหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีที่ทำมาหากิน จริงจังมากนะกรมประมงจริงจังมาก แล้วกับรายใหญ่ ๆ กล้ามั้ย

ในมุมของบุญยืน เชื่อว่าคนผิดคือคนถืออำนาจรัฐ ถ้าคุณไม่มือไม้อ่อนไปเซ็นอนุญาต ถ้านโยบายรัฐไม่เอื้อ เอกชนทำร้ายประชาชนไม่ได้ มันเรื่องของการมือไม้อ่อน ได้อะไรตอบแทนก็ไม่รู้

กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงเดียวที่ไม่อยากเดินเข้าไป มันไม่ได้ต้อนรับเกษตรกร เข้าไปเนี่ยคุณจะต้องโคตรจน ต้องนั่งรถเมล์มาถึงจะเข้าไปได้ ถ้าเอารถยนตร์ส่วนตัวมา นี่ที่จอดรถรัฐมนตรี นี่ที่จอดรถที่ปรึกษา มันไม่มีที่จอดรถคนมาติดต่อราชการเลยหรือไง บอกเลยกระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยต้อนรับประชาชน

เรื่องปลาหมอคางดำมาหนักหนาสาหัสตอนมันเข้ากรุงเทพฯ คนบ้านนอกอย่างฉันบอกเท่าไหร่ไม่มีใครเชื่อ บอกว่าเยอะเคยฟังเรามั้ย ที่มหาชัยมันขึ้นเยอะเพราะอะไรรู้มั้ย ที่แม่กลองต้นเหตุทำไมไปดูเหมือนมันน้อยกว่าที่สมุทรสาคร เพราะน้ำสมุทรสาครไม่ดี ออกซิเจนน้อยปลามันลอยหัว ก็เลยมองดูเหมือนเยอะ แต่บ้านฉันรักษาน้ำไว้ดี มันอยู่สบายก้นคลอง แต่ปลาอื่นไม่เหลือแล้วนะ

ผู้บริหารบริษัทจะมาคุยเขาต้องไม่ใช่คนผิด ต้องมาแบบพระเอก ทำ CSR เป็นผู้มาช่วย บอกคุณซื้อไปทำปลาป่นหน่อยสิ เขาก็จะบอกว่า ถ้าซื้อก็ซื้อได้ในราคาตลาด จะซื้อในราคาสูงกว่าคนอื่นไม่ได้ ประชาคมคนรักษ์แม่กลองกลับมาคุยกัน เราไม่ใช่ผงซักฟอกที่จะไปซักฟอกให้ใคร ถ้าไม่จริงใจก็ไม่ต้องมา

เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ รัฐมนตรีเกษตร ณ วันนี้พูดกันตรงๆ ภาคภูมิใจเหลือเกินนะ บอกว่าตอนนี้เอาเงินกลางมา รองบกลาง แต่งบกลางคืองบภาษีเรา เราผิดอะไร ถึงต้องมาเอางบเราไปจ่าย เพราะฉะนั้นใครผิดต้องเอามาลงโทษ

kangdum02

“หลักการที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกคือใครทำมลพิษคนนั้นจ่าย”

วินิจ ตันสกุล
ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

รัฐบาลต้องเยียวยาเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องเยียวยาให้เขา จะเยียวยายังไง คนไหนเสียหายเท่าไหร่คุณต้องลงไปดู หลักการที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกคือใครทำมลพิษคนนั้นจ่าย ใครสร้างปัญหาคนนั้นจ่าย ไม่ใช่ฉันไม่เกี่ยว แต่สไตล์แบบไทยจะเป็นแบบนี้

ในแง่วิชาการ สามารถใช้ eDNA คือ Environmental DNA หมายถึงว่าตามปรกติสิ่งมีชีวิตจะปล่อยร่องรอยของ DNA ลงไปในสิ่งแวดล้อม มีนวัตกรรม เทคนิคในการเช็ค ทำให้รู้ว่ามีตัวนี้เยอะมั้ย มากน้อยแค่ไหน มีการระบาดหรือยัง ตอนนี้ระบาดเท่าไหร่ยังไม่มีใครรู้ชัด ได้แต่จินตนาการ แล้วก็ได้ข้อมูลผิด ๆ ถูก ๆ อย่างที่เราทราบกันในข่าว บางข่าวก็งง ๆ นักวิชาการก็งงว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ปลาหมอคางดำเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับระบบนิเวศทางน้ำของประเทศไทย ชัดเจนเลย จริงๆ เรามีหลายตัว แต่ตัวนี้บอกตรง ๆ ว่ามันถูกปล่อยปละละเลยมานาน แล้วต้องมาคุยปัญหากันบนเวที ถ้าผมจำไม่ผิด คิดว่าคุยทุก ๓ ปี ไม่แน่จบเวทีนี้อีก ๓ ปีข้างหน้าจะมาคุยกันใหม่มั้ย คำว่าวาระแห่งชาติ คิดว่าเป็นวาระชาติหน้าหรือเปล่าก็ไม่รู้ เมื่อเรารู้ข้อมูลเยอะขนาดนี้ สะสมมาเยอะเราควรจะแอคชันได้แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ อยากจะฟ้อง ผมยินดีช่วย ไม่ต้องไปฟ้องทุกจังหวัดหรอก ขอแค่ที่มันเห็นความเสียหายแน่นอน เอาตรงนั้นก่อนก็ได้

kangdum03

“ทำยังไงให้เกิดกฎหมายที่เข้มงวดกว่านี้สำหรับผู้ปล่อยน้ำเสียและการตายหมู่ของปลา”

ดร.ชวลิต วิทยานนท์
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และนักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ

ทำยังไงให้เกิดกฎหมายที่เข้มงวดกว่านี้สำหรับผู้ปล่อยน้ำเสียและการตายหมู่ของปลา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน เกิดการเน่าเสียประจำ บางปะกงเกิดเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับสองแม่น้ำ ฉะนั้นจะเห็นว่ามันมีการระบาดในจุดที่แม่น้ำขาดความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสมบูรณ์น้อยกว่า

เคยมีกรณีปลากระเบนราหูตัวใหญ่เท่าครึ่งห้องตายในแม่น้ำแม่กลองนับร้อยตัว เกิดจากโรงงานปล่อยน้ำเสีย มักเป็นลักษณะหาที่มาไม่ได้ หรือเจอที่มาเขาก็ถูกปรับจุ๋มจิ๋มแค่แสนกว่าบาท ทั้ง ๆ ที่ปลากระเบนราหูถ้าโตขนาดนั้นหนึ่งตัวมูลค่าเกินแสน ปลาอื่น ๆ อีกเท่าไหร่ ความเป็นอยู่ของชาวประมง ความมั่นคงทางอาหารไม่รู้กี่พันล้านบาท กฎหมายเราอ่อนแอเรื่องนี้

ผมเคยบอกว่าทำไม ๑๑๒ แรงจัง แค่พูดไม่กี่คำ คุณติดคุกหลายปี แต่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมรุนแรงขนาดนี้ ปรับจุ๋มจิ๋มแค่ไม่กี่แสนบาท นายทุนเจ้าของโรงงานเล็ก ๆ เขาก็อยู่ได้ เขาเสียเงินไปแล้วก็อาจจะทำน้ำเน่าใหม่

เรื่องการดูแลรักษาแม่น้ำ น่าจะดูแลทั้งชุมชน ช่วยกันดูแลว่าโรงงานไหนปล่อย การเก็บตัวอย่างน้ำ การบันทึก เดี๋ยวนี้กล้องมือถือถ่ายรูปได้ สามารถบันทึกความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดำเนินการทางคดีได้

เรื่องระบบนิเวศ ปัจจุบันการก่อสร้างแบบทำลายมีมาก ตั้งแต่ชายหาดจนถึงลำธารบนภูเขา แม้แต่ในอุทยานแห่งชาติก็พยายามจะสร้างเขื่อน กำแพงกันคลื่น ผนังซีเมนต์ ทำลายพันธุ์ไม้ นิเวศริมน้ำจนหมด เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่องค์กรต่าง ๆ อยากจะใช้งบประมาณ

การจัดการความยั่งยืนอาจจะเป็นเรื่องที่ชาวประมงชาวบ้านดูแลกันแล้ว การแก้ไขต่าง ๆ ไม่ว่าการป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง จะแก้ไขแบบอิงธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติ มาตรการอีกอย่างหนึ่งคือการเข้มงวดต่อการนำเข้าของสัตว์ พืช ต่างถิ่น ต้องมีมาตรการที่รัดกุมขึ้นกว่านี้

kangdum04

“หรือจริง ๆ แล้วเรายังอยู่ในวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”

สุรชัย ตรงงาม
เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

จะทำอย่างไรให้ความจริงปรากฏ เข้าใจว่ามีความพยายามของรัฐมนตรีเสนอให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นใคร เราเชื่อมั่นมั้ยว่ากรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ หรือมีแต่ตัวแทนของหน่วยงานรัฐ ผมคิดว่าต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากกว่านี้ การสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง และทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน รับฟังความคิดเห็นในการแก้ปัญหา

กฎหมายไทยมีน้ำยาในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดหรือหายนะทางระบบนิเวศกรณีปลาหมอคางดำหรือไม่ อย่างไร หรือจริง ๆ แล้วเรายังอยู่ในวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนขนาดใหญ่

หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย คำว่าผู้ก่อมลพิษมันไม่ได้แค่ปล่อยมลพิษอย่างเดียว แต่หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นประเด็นว่ากฎหมายไทยมีมั้ย ผมคิดว่า พรบ.สิ่งแวดล้อม ความรับผิดทางแพ่ง พรบ.สงเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ตามมาตรา ๙๗ ได้พูดเรื่องนี้ว่า ผู้ใดกระทำ หรือละเว้นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการทำลายหรือให้สูญหายเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไป

ผมคิดว่ามาตรฐานนี้เป็นฐานของหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว ที่จะไปเรียกเอาค่าเสียหายจากผู้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจริง ๆ ก็มีหน่วยงานรัฐเอามาตรานี้ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมาจำนวนหนึ่งแล้ว มีคำพิพากษารับรองมาตรานี้อยู่แล้ว ดังนั้นกรณีปลาหมอคางดำ การระบาดครั้งนี้ ถ้าหน่วยงานรัฐสามารถทำความจริงให้ปรากฎได้ และชี้ชัดไปได้ว่าใครมีส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ก็สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ หรือมาตรา ๙๗ เรียกค่าเสียหายได้อยู่แล้ว

รัฐควรทำเรื่องนี้ให้จริงจัง เราต้องสนใจว่าเราจะทำอย่างไรให้ความจริงเรื่องนี้ปรากฏอย่างชัดเจน

คนที่ก่อให้เกิดหายนะทางระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมควรจะต้องได้รับผลในทางกฎหมายไม่ว่าทางแพ่ง ปกครอง และอาญา

อาชญากรรมทุกอย่างมันย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ครั้งนี้ เราจะทำอย่างไรให้อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมมีการสืบหาสาเหตุ ทำให้มีผู้รับผิด ไม่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด