คัมภีร์มหาทักษาพยากรณ์ กล่าวกันว่าเป็นตำราโหราศาสตร์ หรือวิชาโหรข้างฝ่ายพม่า คนไทยแต่เก่าก่อนนับถือกันมาก จึงกลายเป็นที่มาของเรื่องราวเคล็ดลางสารพัดสารพันในชีวิตประจำวันอันยังแลเห็นได้จนทุกวันนี้
อย่างเรื่องพื้นๆ ที่เราเผลอนึกว่าเป็นความรู้ทั่วไปหรือเป็นเรื่องสากล แต่กลับไม่มีใครในวัฒนธรรมอื่นจะเข้าใจ เช่นสีประจำวัน (วันอาทิตย์สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีแสด วันศุกร์สีฟ้า วันเสาร์สีม่วง) ซึ่งในยุคนี้ แฝงตัวมาในโทนสีสติกเกอร์ไลน์ที่คนรุ่นหนึ่งชอบส่ง “สวัสดีวันจันทร์” กันอยู่ทุกเช้า แล้ววิวัฒนามาเป็นตารางสีเสื้อมงคลสำหรับคนที่เกิดในแต่ละวัน ส่วนอีกสายหนึ่งก็ขยับไปสู่ธูปเทียนเจ็ดสี และองค์เทพสารพัดที่มีกายเป็นสีประจำวันเกิด อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
หรือหลักเกณฑ์การตั้งชื่อของคนไทยว่าคนเกิดวันไหนต้องใช้อักษรใดบ้าง อันแจกแจงไปเป็นเกณฑ์ที่เรียกว่า บริวาร-อายุ-เดช-ศรี-มูละ-อุตสาหะ-มนตรี และกาลกิณี (ซึ่งอย่างหลังนี้ ถือว่า “ห้ามใช้” เพราะไม่เป็นมงคล) และไม่เฉพาะแต่ชื่อคนทั่วไป พระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ และ “ฉายา” ที่พระภิกษุจะได้รับเมื่ออุปสมบท ก็ล้วนต้องคิดผูกขึ้นให้สอดคล้องต้องกับเกณฑ์
รวมถึงคติเรื่องพระพุทธรูปประจำวันเกิด ที่แสดงปาง (หมายถึงอากัปกิริยา) ต่างๆ กันไปในแต่ละวัน (วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร วันจันทร์ ปางห้ามสมุทร วันอังคาร ปางไสยาสน์ วันพุธ ปางอุ้มบาตร วันพฤหัสบดี ปางสมาธิ วันศุกร์ ปางรำพึง วันเสาร์ ปางนาคปรก วันพุธกลางคืน พระป่าเลไลยก์) และการ “ใส่บาตรพระประจำวันเกิด” ตาม “กำลังวัน” อย่างที่เห็นกันตามวัดทั่วประเทศ
เหล่านี้ล้วนสืบสาวกลับไปได้ถึง “คัมภีร์มหาทักษาพยากรณ์” ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หากว่ากันตามวิชาโหราศาสตร์ หลักการประยุกต์ใช้ หรือการทำนายทายทักด้วยคัมภีร์มหาทักษาพยากรณ์ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ซึ่งอยู่พ้นไปจากความรู้และความสนใจของผู้เขียน เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเพียง “เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย” ที่ผู้เขียนสรรหามาเล่า ถือเสมือนเป็น “ความรู้รอบตัว” อย่างหนึ่ง เพื่อให้แลเห็นความสืบเนื่องคลี่คลายของธรรมเนียมปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนไทย ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่ามีที่มาจากคัมภีร์ดังกล่าว
รวมทั้งในบางกรณี ผู้เขียนยังอาจพยายาม “เสนอ” คำอธิบาย และเชื่อมโยงการตีความบางอย่าง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากเรื่องที่ท่านผู้อื่นเคยนำเสนอกันมา และจะ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ผู้สนใจเจาะลึกเฉพาะในวิชาโหราศาสตร์พึงย้อนกลับไปค้นคว้าตำรับตำราที่ท่านแต่ก่อนศึกษารวบรวมไว้ด้วยตนเอง เทอญ