เรื่อง : ณิชากร คงบำเพ็ญ
ภาพ : ณิชมน นิตยโกศล

เครื่องยนต์และใบเรือตีกระทบน้ำเสียงแต่กๆ ดังขึ้นท่ามกลางลำน้ำเงียบสงบ เรือยนต์วิ่งแหวกน้ำพาฉันล่องไปตาม “แม่น้ำสะแกกรัง” ลำน้ำสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี

แม่น้ำสะแกกรังมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาโมโกจู จังหวัดกำแพงเพชร ไหลเรื่อยมาผ่านจังหวัดอุทัยธานี ก่อนบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ณ อำเภอเมืองอุทัยธานี แม่น้ำสายนี้ตัดแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง มอบทัศนียภาพที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ระหว่างตึกรามร้านตลาดของเทศบาลเมืองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ กับทิวต้นไม้ใหญ่เขียวขจีของเกาะเทโพบนฝั่งตะวันออก แต่ภูมิทัศน์โดดเด่นเรียงรายบนสายน้ำแห่งนี้คงไม่พ้นกลุ่มเรือนแพของชุมชนชาวแพสะแกกรัง

เรือยนต์ล่องตามโค้งแม่น้ำขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านเรือนแพน้อยใหญ่ ทำจากไม้บ้าง สังกะสีบ้าง เรื่อยไปจนถึงปลายเหนือสุดของชุมชนแพ ก็จะพบกับกลุ่มแพสามหลัง

เรือเทียบท่าพาฉันขึ้นไปบนแพ คุณป้าท่าทางใจดีคอยท่ารอต้อนรับพร้อมกับแผงปลาย่าง ที่นี่คือ “แพป้าแต๋วปลาย่าง”

ย่างปลา อยู่แพ ชีวิตบน “กระแส” แม่น้ำสะแกกรัง
เบื้องหน้าที่ทุกคนรู้จักจากการขายปลาย่าง แต่เบื้องหลังชีวิตของป้าแต๋ว ซ่อนประสบการณ์ชีวิตไว้มากมาย

รู้จัก “ป้าแต๋ว” ผ่าน แพปลาย่าง

“ศรีวภา วิบูลรัตน์” เจ้าตัวว่าเรียกชื่อจริงจะไม่ค่อยหันเพราะเรียกกันแต่ “ป้าแต๋ว” คุณป้าวัย ๗๐ ปีผู้เป็นเจ้าของหนึ่งเดียวของแพ แม้ได้ชื่อว่าร้านปลาย่าง แต่ป้าแต๋วยังขายปลาส้ม ปลาป่น ปลาร้า สารพัดผลิตภัณฑ์ปลาจากปลาหลากชนิด ทั้งปลาเนื้ออ่อน ปลากดคัง ปลาช่อน ปลาสวาย หรือกระทั่งปลาแรด ปลาขึ้นชื่อประจำอุทัยธานี

บนผนังไม้หลังแผงปลา แขวนกรอบรูปป้าแต๋วเคียงคู่ผู้มาเยี่ยมเยียน ทั้งดารา คนจากหน่วยงานรัฐ เจ้าของกิจการเรือนำเที่ยวและรีสอร์ตแถบนี้ ป้าแต๋วเล่าว่าเมื่อก่อนที่นี่ยังคงเป็นร้านกางผ้าใบเล็ก ๆ แต่พอเรือนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวมาแวะเวียน ก็เริ่มมีคนเข้ามาทำข่าวลงสื่อ แพแห่งนี้จึงโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จนขยับขยายเป็นหน้าร้านดังที่เห็นในปัจจุบัน

แพขายของขนาบด้วยแพอีกสองหลังหัวท้าย เดินถึงกันด้วยแผ่นไม้กระดานพาด ด้านท้ายงเป็นเรือนแพย่างปลาที่ป้าแต๋วเรียกสั้น ๆ ว่าแพข่า เมื่อได้ปลามาป้าแต๋วจะลงมือทำความสะอาด แล่ เสียบไม้ และตากแดดไว้หน้าแพจนกว่าปลาจะแห้งดี ถึงนำเข้าเรือนมาย่างบน “ข่า” ซึ่งเป็นตะแกรงเหล็กทำเป็นร้านก่อไฟข้างใต้ ป้าแต๋วจะคอยเติมขี้เลื่อยเลี้ยงไฟเรื่อย ๆ ตั้งแต่เช้าจนถึงสามสี่ทุ่ม ผ่านไปสามสี่วันจึงจะได้ปลาย่างสีเหลืองน่ารับประทานพร้อมขาย ด้านหน้าของแพหลังนี้ยังมีกระชังปลาแรด ป้าแต๋วเล่าว่าปัจจุบันปลาแรดธรรมชาติในแม่น้ำสะแกกรังมีอยู่น้อยแล้ว แต่ยังมีชาวแพเลี้ยงในกระชังอยู่บ้าง

ด้านหัวเรือนแพมีเรือนพักอาศัย แบ่งส่วนห้องนอนและห้องครัวด้วยฝาแผ่นสังกะสีง่าย ๆ ป้าแต๋วเลื่อนแผ่นผนังสังกะสีเสียงดังครึ่ก ๆ ให้แสงและลมภายนอกพัดเข้ามา มองเห็นวิวแม่น้ำสะแกกรังและเตยหอมปลูกไว้เขียวชอุ่มขึ้นกอแน่นขนัด ซึ่งป้าแต๋วจะตัดไปขายทุกวัน ได้รายได้วันละ ๑๐๐ กว่าถึง ๒๐๐ บาท

“สมัยก่อนนี้ฉันเลี้ยงหมูกันด้วยนะ เลี้ยงบนแพ เก็บผักหั่น แล้วก็ไปซื้อรำโรงสีมาเลี้ยง แถวนี้จะเลี้ยงไปขายกันเยอะ แพฉันมีอยู่แปดตัวเก้าตัว” ป้าแต๋วเล่าเสริม ฟังแล้วก็ตื่นตาตื่นใจกับการจัดสรรพื้นที่บนผืนน้ำของชาวแพอันมีความหลากหลายครบครัน ราวกับยกบกมาอยู่บนน้ำ

yangpla02
แพป้าแต๋วเป็นเรือนแพ ๓ หลัง มีเรือนพักอาศัย เรือนขายปลา และเรือนย่างปลาและกระชังเลี้ยงปลา

ชาวแพ” ชีวิตบน “กระแส” น้ำ

yangpla03
เมนูปลาย่างป้าแต๋วที่โด่งดังมีหลากหลาย ทั้งปลาเนื้ออ่อน ปลาแรด ปลาช่อน

“ผจญมาเยอะ ชาวแพน่ะ”

ป้าแต๋วเล่าพร้อมหัวเราะ ในน้ำเสียงนั้น ฉันรู้สึกได้ถึงความภาคภูมิใจเล็ก ๆ กับชีวิตชาวแพ

ชีวิตของป้าแต๋วเรียกได้ว่ารู้จักกับผืนน้ำมากกว่าพื้นดิน ป้าแต๋วเกิดและเติบโตบนชุมชนแพแม่น้ำสะแกกรัง แต่งงานกับลุงละมูล สุราฤทธิ์ ชาวแพชุมชนเดียวกัน จนมีลูกด้วยกันสามคน ครอบครัวป้าแต๋วเคยย้ายไปอยู่เขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ใช้วิถีชาวแพช่วยกันกับสามีหาปลาในเขื่อนขาย แม้จะมีปลาชุกชุมกว่าแม่น้ำสะแกกรัง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง วันเวลาล่วงไป๒๐ ปี ป้าแต๋วและครอบครัวจึงย้ายกลับมาชุมชนแพสะแกกรัง

จากประสบการณ์ชาวแพกว่า ๗๐ ปี ป้าแต๋วบอกว่าช่วงเวลายากลำบากที่สุดของการอยู่แพคือหน้าฝน เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะหนุนสูง ไหลทะลักเข้ามาทำให้น้ำไหลเชี่ยว โดยเฉพาะเดือนกันยายน-ตุลาคมจะมีน้ำหลากมากที่สุด

“หน้าน้ำหน้าฝนไม่ดี น้ำมันไหลจี๊ดด ทุ่นกระชังข้างล่างโคลงขึ้นมาข้างบน ปลาฉันตายไม่ใช่น้อย น้ำแรงปลาแรดตัวใหญ่ๆ ตะแคงตัว เสียหายเยอะ ว่าจะหยุดเลี้ยงแล้ว นี่เลี้ยงไว้ให้แขกดู”

ไม่ใช่เพียงความแรงของกระแสน้ำ แต่ปัญหาที่มากับน้ำก็คือกอผักบุ้ง “ปีนั้นผักบุ้งไหลมาเป็นไร่ ๆ ปาดเอากระชังปลาเราไปเลย เอาทุ่นไปลูกนึงด้วย เอากลับมาไม่ได้ มันมาอย่างเร็ว”

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากชาวแพจึงต้อง “ถอยแพ” เข้าชิดริมฝั่งเพื่อไม่ให้ปะทะกับกระแสกลางน้ำ โดยผูกเชือกยึดบริเวณหัว กลาง และท้ายแพไว้กับหลักบนบก เมื่อน้ำแรงก็ดึงเชือกจากแพเข้าหาฝั่ง การถอยแพนี้หากน้ำไม่แรงสามารถทำคนเดียวได้ แต่ถ้าน้ำแรงเกินไปก็ต้องให้เรือหางช่วยดัน

“ทำคนเดียวได้ เราเคยอยู่ ถ้าไม่ดีก็เรียกเรือใหญ่เรือหางเอา เหนือแพมีคนทำงานเทศบาล เรียกใช้ได้” ป้าแต๋วเอ่ยสบาย ๆ นี่คงเป็นเรื่องเคยชินสำหรับแก

ปัจจุบันลูกๆ ทั้งสามต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวบนฝั่งกันหมดแล้ว ส่วนลุงละมูลคู่ชีวิตก็จากไปได้ ๗ ปี แม้จะอยู่ตัวคนเดียว แต่ด้วยความผูกพันและความเคยชินกับวิถีชีวิตชาวแพ ทำให้ป้าแต๋วเลือกใช้ชีวิตบนสายน้ำ ยังไม่มีความคิดจะละทิ้งแพย้ายขึ้นฝั่งแต่อย่างใด

“บ้านบนฝั่งฉันก็มี แต่ฉันไม่ชอบ ฉันเคยอยู่แพ ก็จะอยู่แต่แพ”

yangpla04
กิจวัตรของป้าแต๋วเริ่มต้นแต่เช้าตรู่ เตรียมย่างปลาตั้งแผงขายต้อนรับแขกและลูกค้า โดยย่างปลาบน “ข่า” ซึ่งเป็นตะแกรงเหล็กที่ด้านล่างใส่ถ่านไฟให้ความร้อน

กระแสชีวิตพัดพาให้กลับมาที่แพ

ก่อนจะเป็นแพปลาย่างที่รู้จักกัน ป้าแต๋วเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าเกิดขึ้นเมื่อสามีป่วยเป็นอัมพฤกษ์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

“ตื่นมาป้อนข้าวลุงตีสี่ ให้ยาแล้วรีบไปขายของตลาดนัด ห้าโมงเช้าก็กลับมากินข้าวกลางวัน แล้วต้องป้อนข้าวเขาอีก ตอนขายอยู่ตลาดนัดก็ขายปลาส้ม ปลาสด แต่เอาไปอย่างละนิดหน่อย ไม่ไหว เหนื่อย”

เมื่อหาปลาไม่ได้ ขายของไม่สะดวก ป้าแต๋วจึงเลือกกลับมาขายที่แพเพื่อจะดูแลลุงละมูลไปพร้อมกันได้ แม้จะมีลูก ๆ แวะเวียนมาช่วยบ้างแต่ก็ไม่สามารถอยู่ตลอด เพราะต่างมีครอบครัวและภาระหน้าที่ของตนเอง

ป้าแต๋วดูแลลุงละมูลบนเรือนแพด้วยการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในแพมาช่วยอำนวยความสะดวก

เธอชี้กะละมังอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ แล้วเล่าว่าเวลาสระผมให้ลุงละมูลจะใช้เก้าอี้รองศีรษะ เอาหมอนหนุนคอให้สูง แล้วใช้กะละมังรองน้ำ หากถึงเวลาตรวจสุขภาพจะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลมาเจาะเลือดให้บนแพ แต่ถ้ามีเหตุต้องไปโรงพยาบาล ก็ให้ลุงนั่งเก้าอี้ยกลงเรือพายไปขึ้นฝั่ง รถพยาบาลจะมาจอดคอยอยู่ริมตลิ่งใกล้ ๆ หากมีคนมาช่วยก็จะไม่ยากลำบากนัก

นอกจากคอยดูแลสุขภาพกายแล้ว เธอยังต้องรับมือกับสภาวะอารมณ์แปรปรวนของสามีผู้ป่วยจากคนเคยเดินเหินได้ต้องมานอนรอรับความช่วยเหลือ กระทั่งช่วงหลังอาการหนักจนพูดไม่ได้

“สงสัยด่ามาก เขาถึงไม่ให้พูด” ป้าแต๋วกล่าวก่อนหัวเราะตบท้ายเบาๆ

“บางครั้งโมโหก็ว่ากลับไป แต่สุดท้ายก็ต้องดูแลเขาอยู่ดี โกรธไปก็เท่านั้น”

ลุงละมูลป่วยติดเตียงอยู่ ๑๕ ปี ก่อนจะจากไปในปี ๒๕๖๐ ป้าแต๋วพาเราไปดูภาพของลุงละมูลที่แขวนไว้บนผนังสังกะสี ยังคงมีพวงมาลัยแขวนเอาไว้

“คิดถึงลุงไหม?”

“ก็คิดถึงนะ”

yangpla05
ป้าเดือนเพ็ญตะโกนจากตลิ่งหลังบ้านให้ป้าแต๋วพายเรือไปรับมาขึ้นเรือนแพนั่งคุยเล่นกัน
yangpla06
ชุมชนชาวแพใกล้ชนิดสนิทสนม แวะเวียนไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ ทำให้เรือนแพมีชีวิตชีวาสนุกสนาน

มรสุมที่ชื่อ “มะเร็ง”

ดูแลสามีที่ป่วย คุมแพสามหลัง รับมือน้ำหลากคนเดียว ภาพลักษณ์หญิงแกร่ง คล่องแคล่วแข็งแรงของป้าแต๋ว ทำให้ฉันรู้สึกตกใจเล็กน้อยเมื่อเธอเล่าว่าเมื่อ ๒ ปีที่แล้วตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้

“ตอนแรกปวดท้อง อ้วกด้วย พอไปเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลฯ เขาบอกว่าลำไส้ตีบก็ผ่าตัด แล้วเขาเอาเชื้อไปตรวจที่กรุงเทพฯ บอกว่าเป็นมะเร็งต้องไปคีโมฯ” ป้าแต๋วกล่าวต่อ “บอกลูกชายว่าเอาเถอะ ทำใจแล้ว ถึงเวลาจะตายมันก็ตาย ทำใจแบบนั้น”

ผ่าตัดยังพออดทน แต่สิ่งที่ป้าแต๋วกลัวคือการทำคีโมฯ “เราไม่เคยทำก็กลัว พอไปสักครั้งก็เบาตัว” ครั้งหนึ่งก่อนจะไปทำคีโมฯ ป้าแต๋วพูดกับกรอบรูปสามีว่าช่วยเฝ้าแพให้ที ไม่มีใครอยู่เฝ้าจบคำกรอบรูปก็ขยับ ป้าแต๋วขยับกรอบรูปไปมาประกอบ

“เขาคงรับรู้”

ป้าแต๋วเข้ารับคีโมฯ ทั้งสิ้น ๑๒ ครั้ง ในช่วงระหว่างรักษาตัวก็ยังดำเนินชีวิตขายปลาย่างตามปรกติ เธอดูแลตัวเองมากขึ้นด้วยการลดของแสลงและการย่างปลาซึ่งต้องสูดควันไฟ ระมัดระวังอาหารการกินมากขึ้น “กินก็ต้องรู้จักกินให้พอดี” ป้าแต๋วเอ่ยสอน

ปัจจุบันป้าแต๋วกลับมาแข็งแรงดีแล้ว แต่ยังต้องคอยไปตรวจเอกซเรย์เป็นประจำทุก ๖ เดือน เธออวดเส้นผมและหัวเราะอย่างภูมิใจว่านอกจากจะไม่ร่วงยังดกดำกว่าเก่า อารมณ์ขันคงเป็นยาชั้นดีที่ป้าแต๋วใช้เยียวยาตัวเอง

“ปล่อยมัน ดูนู่นดูนี่ เล่นโทรศัพท์ ดูติ๊กตอก ยูทูบ ฟังเพลง อย่าไปคิดเรื่องความตาย คิดแล้วมันจิตตก ถึงเวลาจะตายมันต้องตายอยู่แล้วคนเรา อยู่ไปไม่ได้นานเท่าไรหรอก”

ในวันที่ผ่านเส้นความเป็นความตายทั้งของคนรักและตนเองมาแล้ว ป้าแต๋วเตรียมพร้อมรับมือกับความตายได้อย่างดี และคอยดูแลสุขภาพกายและจิตใจตนเองไม่ขาด

ปล่อยวาง แต่ไม่ปล่อยปละละเลย คงเป็นคำนิยามการใช้ชีวิตของป้าแต๋วได้อย่างดี

yangpla07
นอกจากผ่านการผ่าตัดมะเร็งลำไส้และการทำคีโมฯ มาแล้ว เข่าของป้าแต๋วก็เริ่มตึง ๆ ปวด ๆ ตามวัยที่สูงขึ้น
yangpla08
ภาพของสามี ลุงละมูล แขวนไว้ริมสุดของเรือนนอน มีพวงมาลัยแห้งไหวปลิวตามลม พร้อมเรื่องเล่าจากป้าแต๋วที่จบลงด้วยความคิดถึงต่อคนที่จากไป

กระแสที่พัดพา อดีตที่ไม่หวนคืนของชาวแพสะแกกรัง

กระแสน้ำหลากของชีวิตป้าแต๋วผ่านพ้นไปแล้ว ฉันนั่งมองแม่น้ำสะแกกรังที่ช่างเงียบสงบ นานๆ ครั้งจึงเห็นเรือยนต์ หรือเรือพายของชาวแพบ้าง

ในอดีตแม่น้ำสะแกกรังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดอุทัยธานี เพราะใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะการค้าขายข้าว จนเกิดตลาดขนาดใหญ่ ความรุ่งเรืองปรากฏหลักฐานบนภาพถ่ายขาวดำอยู่ในสมุดภาพเมืองอุไทยธานี เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองอุทัยในปี ๒๔๔๔ มีเรือนแพและเรือสินค้าจอดอยู่แน่นขนัดเต็มทั้งสองฝั่งลำน้ำ

“เรือนแพมีเยอะ สมัยก่อนไม่มีรถขนส่ง ข้าว ข้าวโพด เขาจะล่องมาที่นี่ เรือใหญ่เป็นลำ ๆ สนุกกว่าเดี๋ยวนี้อีก เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เรือจอดเป็นแพ พวกเราอยากขายอะไรก็พายไปขาย” ป้าแต๋วเล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่ชุมชนชาวแพยังคงคึกคัก

ปี ๒๕๑๕ มีการสร้างถนนสายหลักเชื่อมต่อกับถนนสายเอเชีย ทำให้เส้นทางติดต่อเมืองอุทัยธานีกับเมืองอื่นผ่านทางรถยนต์ได้ ไม่ต้องสัญจรผ่านลำน้ำดังเดิม

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปยังส่งผลต่อไม้ไผ่สีสุก พืชดั้งเดิมซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการทำ “ลูกบวบ” สำหรับเป็นทุ่นลอยของเรือนแพ เมื่อพื้นที่เกาะเทโพถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนเชิงพาณิชย์ ปลูกข้าว ปลูกส้มโอ ทำไร่ข้าวโพดเพื่อส่งออก ไม้ไผ่สีสุกก็ถูกแผ้วถางจนเหลือน้อยลง

ลูกสาวของป้าแต๋วผู้เลือกย้ายขึ้นฝั่งมาได้กว่า ๑ ปี บอกว่าปัจจุบันไม้ไผ่สีสุกลำละ ๖๐-๖๕ บาท เมื่อรวมกับค่าแรงแล้วการทำลูกบวบใหม่ต้องเสียเงินหลายหมื่นบาท ซึ่งต้องเปลี่ยนใหม่ทุก ๓-๔ ปี

“อยู่แพก็เหมือนเช่าอยู่” เธอเปรียบเปรย

แม้ว่าปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานร่วมมือกันอนุรักษ์ชุมชนชาวแพให้ยังคงอยู่ เช่นในปี ๒๕๖๓ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ให้งบสนับสนุนการซ่อมแพบ้านละ ๔๐,๐๐๐ บาท แต่ก็ไม่เพียงพอกับแพที่ต้องซ่อมเวียนทุกรอบปี

“ลำพังแพข่าก็ปาเข้าไป ๗ หมื่นกว่าแล้ว” ป้าแต๋วพูดถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการบำรุงแพ

วิถีชีวิตสมัยใหม่และภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้ชาวแพบางส่วนเริ่มทยอยย้ายขึ้นฝั่ง อ้างอิงจากข้อมูลของ พอช. ในเดือนมกราคม ปี ๒๕๖๗ พบว่าแพที่เคยขึ้นทะเบียนกับราชการไว้ ๓๐๑ แพ ขณะนี้เหลือเพียง ๑๕๔ แพ หรืออาจเหลือน้อยกว่านั้นอีก

ภาพความรุ่งโรจน์ของชุมชนชาวแพกลายเป็นอดีตอันเลือนราง หายไปตามกระแสเวลาบนกระแสน้ำแห่งนี้

yangpla09
ภายในห้องที่อบอวลด้วยความทรงจำ ป้าแต๋วเปิดบานเลื่อนให้แสงเช้าส่องเข้าสู่เรือนนอน
yangpla10
ป้าแต๋วยิ้มบอกลากลุ่มคนที่จากไปบนเรือนแพหลังเดิม

แพน้อยยังลอยอยู่ ในวันที่สะแกกรังยังเงียบเหงา

“อยู่แพคนเดียวไม่เหงาหรือ?”

“จะเหงาได้ยังไง พวกคุณก็มากันเรื่อย” ป้าแต๋วเอ่ยพร้อมหัวเราะ

“พวกคุณ” ในความหมายของป้าแต๋วก็คือเหล่านักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนแพปลาย่าง

ริมตลิ่งฝั่งเกาะเทโพ หญิงอายุอานามไล่เลี่ยกับเจ้าของแพร้องเรียก “แต๋ว! แต๋ว!” เธอชื่อ เดือนเพ็ญ สุราฤทธิ์ อดีตคนแพที่โยกย้ายขึ้นบกตามลูกๆ ไปแล้ว

“เบื่อแล้วน่ะสิ น้ำมาผักมามันลำบาก” แขกผู้มาใหม่กล่าว

“มาคุยกับป้าแต๋วเป็นประจำหรือ?”

“มาเรื่อยแหละ อยู่บ้านไม่ได้ มาด้วยความเหงา ที่นี่ก็แบบนี้แหละ” เป็นป้าแต๋วที่ตอบคำถามแทน

เสียงไต่ถามสารทุกข์สุกดิบดังขึ้นบนลำน้ำ ราวกับว่าแพป้าแต๋วจะกลายเป็นแพคลายเหงา เพราะนอกจากเดือนเพ็ญแล้ว คนขับเรือยนต์ที่พาฉันมาส่งก็เข้ามาร่วมพูดคุย และยังมี ตรีทิพย์ วัฒนารมย์ ชาวแพที่อาศัยอยู่ไม่ไกลซึ่งมาช่วยเป็นลูกมือป้าแต๋ว

“ก็ใจหายนะ ไม่เหมือนแต่ก่อน ใครมีที่มีทางก็ขึ้นฝั่งหมด แต่เราไม่มีก็อยู่แบบนี้ อยู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

“บางที่ก็ขายแพให้คนที่อยากได้อยากมาอยู่ แล้วเขาขึ้นไปอยู่บ้าน ส่วนมากมาซื้อทำเป็นรีสอร์ต ตอนนี้เหลือแพไม่ถึงร้อยแล้วมั้ง” ตรีทิพย์ให้ความเห็น

ถึงแม้ว่าปัจจุบันกรมเจ้าท่าจะไม่ออกทะเบียนบ้านให้กับเรือนแพเพิ่มขึ้น แต่คนนอกพื้นที่ก็สามารถซื้อแพที่มีทะเบียนบ้านเดิมได้

ชาวแพเปลี่ยนคน เรือนแพถูกเปลี่ยนหน้าที่ ภาพอนาคตของชาวแพจะเป็นอย่างไร

“อยากให้มีอยู่” ป้าแต๋วตอบแทบทันที

“นี่ก็บอกเจ้าที่เจ้าทางขอให้อยู่นานๆ ดูแลชาวแพไปนานๆ คนเราหมดที่พึ่งก็ไม่มีแล้ว”

“ถ้าไม่มีแพป้าแต๋ว นักท่องเที่ยวก็ไม่มีจุดแวะ ได้แต่เลี้ยวกลับ” ป้าแต๋วให้เหตุผล และเป็นจริงดังว่า เพราะหากจะหาข้อมูลของชุมชนแพสะแกกรัง ก็จะพบกับ “ป้าแต๋ว ปลาย่าง” เป็นเรื่องแรกๆ จนเหมือนเป็นหมุดหมายของการมาเยือนชุมชนชาวแพสะแกกรังไปเสียแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง แพหลังนี้ก็ประกอบสร้างด้วยความทรงจำของป้าแต๋ว ชีวิตที่บางครั้งก็เหมือนกระแสน้ำสงบนิ่งไหลเอื่อยเฉื่อย บางครั้งก็เป็นดังกระแสน้ำไหลหลากรุนแรง

ทั้งความสุขและทุกข์ทำให้มีป้าแต๋วในวันนี้

“บุญกุศลที่เราเลี้ยงดูสามี ทำให้ได้มีอาชีพทำกินดี เพราะเลี้ยงเขาเลยต้องมาขายที่แพ จนมีวันนี้ แขกไปใครมาก็มาแวะซื้อ ชีวิตก็มีทั้งเรื่องดีและไม่ดีเนอะ”

ในวัยที่ชราภาพขึ้น แข้งขาเริ่มไม่ค่อยดี ป้าแต๋ววางแผนจะส่งต่อแพให้ลูกสาวช่วยดูแล

ยังคงมีหลายสิ่งให้เธอทำต่อ เช่นเดียวกับวิถีชีวิตชาวแพที่ยังคงลอยเรือนอยู่บนกระแสน้ำ

สนับสนุนโดย

  • วิริยะประกันภัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • Nikon
  • STM
  • Saramonic
  • Sirui
  • กลุ่มธุรกิจtcp
  • sigmalens

กิจกรรมโดย SarakadeeMagazine

ค่ายสารคดี #ค่ายสารคดีครั้งที่19 #อยู่ดีตายดี #นักเขียน #ช่างภาพ #วิดีโอครีเอเตอร์