เรียบเรียงโดย : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
แม้จะมีข่าวการถูกหลอกให้ลงทุนออกมาให้ได้เห็นเสมอ ทั้งกรณีรายบุคคล ไปจนกระทบกับผู้เสียหายมหาศาล แต่ปัจจุบันคดีอาชญากรรมเหล่านี้ก็ยังไม่ลดลง ด้วยกลยุทธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การปราบปรามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถลดจำนวนนักต้มตุ๋นเหล่านี้ได้
จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 15 มีนาคม 2567 มีคดีอาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้น 461,044 คดี มูลค่าความเสียหาย 63,600 ล้านบาท
โดยกลุ่มที่ก่ออาชญากรรมมากที่สุด คือ กลุ่มหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ มีจำนวน 37,829 คดี มูลค่าความเสียหาย 20,700 ล้านบาท, กลุ่มหลอกลวงทางโทรศัพท์ มีจำนวน 31,184 คดี มูลค่าความเสียหาย 7,840 ล้านบาท, กลุ่มหลอกลวงโอนเงินให้มิจฉาชีพแลกกับงาน มีจำนวน 59,187 คดี มูลค่าความเสียหาย 7,400 ล้านบาท และกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัล 3,558 คดี มูลค่าความเสียหาย 3,670 ล้านบาท โดยในช่วงดังกล่าว มีผู้เสียหายแจ้งอายัดบัญชีธนาคารต้องสงสัย 294,097 บัญชี มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท โดย 4,870 ล้านบาทถูกอายัด
ทางเราจึงขอนำเสนอบางส่วนของประเภทกลโกงหลอกลวงให้ลงทุนที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้รู้จักเท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของคนโกงเหล่านี้
แชร์ลูกโซ่(Ponzi Schemes)
ผู้ชักชวนลงทุนจะใช้วิธีเสนอผลตอบแทนที่สูงในการลงทุนด้วยแนวทางหลายแบบให้คนถูกหลอกรู้สึกเชื่อถือและประทับใจ แต่แทนที่จะสร้างรายได้อย่างที่สัญญาไว้ ก็จะนำเงินของผู้ลงทุนรายใหม่ไปจ่ายผลตอบแทน เงินปันผล หรือดอกเบี้ย แก่ผู้ลงทุนรายก่อน และรายงานผลตอบแทนที่ทำให้คาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในครั้งต่อไป โดยที่ธุรกิจลักษณะนี้อาจเปิดธุรกิจหนึ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายบังหน้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หรือไม่มีธุรกิจหลักที่กล่าวอ้างเลย เมื่อธุรกิจนั้นล่มสลาย เจ้าของธุรกิจที่ชวนลงทุนจะได้เงินมหาศาล ขณะคนที่สูญเสียเงินคือผู้ลงทุน
กลโกงแบบพีระมิด(Pyramid Promotions)
มีลักษณะแบบแชร์ลูกโซ่ ในการชักชวนคนเข้ามาลงทุนซื้อหลักสูตร หรือผลิตภัณฑ์ในธุรกิจที่เปิดบังหน้า หรืออาจไม่มีอยู่จริง และตอบแทนให้กับผู้ร่วมลงทุนทำก็แต่โดยการอาศัยเงินที่มาจากการลงทุนของผู้ร่วมลงทุนรายหลังๆ นำไปตอบแทนผู้ร่วมลงทุนรายก่อนหน้า แต่แบบพีระมิดจะมีรูปแบบการชักชวนที่เป็นระบบในการให้ผู้ลงทุนคนก่อนเป็นคนชักชวนเพื่อน เพื่อนร่วมงาน มาหาทางทำเงินด้วยวิธีดังกล่าวจนมีลักษณะต่อยอดเป็นเครือข่ายเป็นลักษณะยอดพีระมิดสู่ฐานพีระมิดที่ยิ่งผู้ที่อยู่บนยอดก็จะยิ่งได้ผลตอบแทนที่สูง ขณะที่อยู่ลำดับถัดมาก็จะได้ผลตอบแทนที่ลดลง
กลโกงหุ้นกู้-พันธบัตร(Prime Bank Notes / Loan Roll Programs)
ผู้ชักชวนจะเสนอโอกาสให้คนที่มีรายได้ไม่มากรวบรวมเงินร่วมกับนักลงทุนรายอื่นๆ เพื่อสามารถซื้อหุ้นกู้ ธนบัตร-พันธบัตรต่างประเทศ โดยมักอ้างถึงธนาคารต่างประเทศ หรือกองทุนที่น่าเชื่อถือระดับโลก ที่ให้ผลตอบแทนที่สูง แต่กลับมีการตรวจสอบผลการลงทุนได้ยาก อ้างว่าเป็นการลงทุนในช่องทางลับ และผลคือผู้ลงทุนมักเสียเงินไปโดยไม่ได้รับคืนเลย
กลโกงปั่นแล้วเท (Pump & Dump)
นักต้มตุ๋นจะหาทางเชิญชวนให้ลงทุน หรือโอนเงินกับหุ้น หรือกองทุนหนึ่งซึ่งอาจมีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริง โดยให้ข้อมูลหลอกที่น่าเชื่อถืออ้างว่าเป็นข่าววงใน เมื่อมีราคาหุ้นที่ตอบโตอย่างรวดเร็วเกินความเป็นจริง ผู้ชักชวนก็จะเทขายเอากำไรในระยะสั้นจนราคาหุ้นตกลงไปต่ำกว่าเดิม ขณะที่ผู้ที่ถูกชวนมาลงทุนกลับขาดทุน
กลโกงการสัมมนาการลงทุน(Investment Seminars and Financial Planning Activity)
นักต้มตุ๋นจะใช้การสัมมนาการลงทุน มาแอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมาให้คำแนะนำการลงทุนที่น่าเชื่อถือกับเรา หากคำแนะนำส่วนใหญ่ทไม่ได้บอกถึงค่าธรรมเนียม, ค่าคอมมิชชัน หรือผลด้านลบในการลงทุนเหล่านั้น
การปล่อยกู้เอาเปรียบ(Predator Lending)
การให้กู้ยืมเงินด้วยเงื่อนไขที่เอาเปรียบ เช่นดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ซึ่งผู้ให้กู้ยืมมักจะเสนอสัญญาที่มีรายละเอียดเอาเปรียบแต่ปิดบังผู้กู้ หรือกดดันให้ผู้กู้ลงนามสัญญากู้ยืมนั้นๆ โดยไม่ทราบข้อตกลงที่แท้จริงทั้งหมด
กลโกงเงินออมเพื่อการเกษียณ (“IRS Approved” Investment Schemes)
ในสหรัฐอเมริกาจะมีกลโกงที่มักหลอกผู้สูงอายุให้นำเงินออมที่เรียกว่าบัญชีเงินเกษียณส่วนบุคคล(IRA) ไปลงทุนในแผนการลงทุนทั้งในอสังหาริมทรัพย์, โครงข่ายไร้สาย เป็นต้น ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยอ้างว่า “ได้รับอนุมัติจากสรรพากรแล้ว” รวมไปจนถึงหลอกซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ซึ่งการหลอกลวงมีหลายรูปแบบโดยเฉพาะทางโทรศัพท์
การฉ้อโกงจากความเกี่ยวดอง (Affinity Fraud)
เป็นกลวิธีที่ผู้หลอกลวงมักอ้างความเกี่ยวดองกันเพื่อสร้างความไว้วางใจแก่เหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา, เชื้อชาติ, คนภูมิภาคเดียวกันเพราะรู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์คือการไว้วางใจคนที่เหมือนกับเรา โดยมีตั้งแต่หลอกแบบรายบุคคลแบบปากต่อปาก ไปจนถึงการโฆษณาในสื่อที่ให้บริการกลุ่มเฉพาะนี้ โดยมักจะเสนอการจ้างงาน การฝึกอบรม หรือคำแนะนำทางการเงิน
แฟรนไชส์ลวงโลก(Bogus Franchise and Business Opportunities)
กลุ่มต้มตุ๋นนี้มักใช้โอกาสจากความฝันของคนที่ต้องการเป็น “นายตัวเอง” ในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนำเสนอธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงธุรกิจที่น่าลงทุน ซึ่งมักมาในรูปแบบโฆษณาทางสื่อต่างๆ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์, โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต โดยมักอ้างถึงผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินที่เริ่มลงทุน
ลงทุนเหมืองแร่
นักต้มตุ๋นจะอ้างการลงหุ้น หรือลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ ทั้งทองคำ, เงิน, สินแร่ หรืออาจจะรวมถึงเหรียญหายาก ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยอ้างคำศัพท์ทางธุรกิจ และธรณีวิทยา ซึ่งนับเป็นกลโกงที่มีมาตั้งแต่ในอดีต จนแม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีการหลอกลวงด้วยวิธีดังกล่าว
แก๊งค์คอลล์เซนเตอร์ และกลโกงแบบ Boiler Room
การหลอกลวงต้มตุ๋นทางโทรศัพท์ เพื่อหลอกเงินจากเหยื่อ โดยชื่อ Boiler Rooms เป็นชื่อเรียกพื้นที่เช่าสำนักงานชั่วคราว โดยเน้นชักชวนการลงทุน ไปจนถึงการหลอกลวงให้โอนเงินด้วยกลวิธีต่างๆ
การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต(Internet/ Cyberspace Fraud)
แม้จะมีคนทราบกลวิธีการชักชวนลงทุนที่หลอกลวงและฉ้อโกงทั้งหลายอยู่แล้ว แต่ด้วยการสื่อสารและชักชวนผ่านอินเทอร์เน็ตตั้งแต่การส่งอีเมล หรือชวนผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักอ้างถึงการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แม้จะเป็นกลวิธีการหลอกแบบเก่า อีกทั้งการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตยังสามารถปกปิดตัวตนได้ จึงให้ทำนักต้มตุ๋นหลอกลวงได้ง่ายกว่าในอดีตเสียอีก
ข้อมูลจาก :