ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

เดินตามช้าง ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ Following Giants
ชบาอดีตช้างลากไม้จากสุรินทร์

ชบาเป็นช้างลากไม้จากสุรินทร์ เป็นช้างเพศเมียอายุ ๔๑ ปี มีขาหลังสั้นและมีก้อนเนื้อตายบนใบหน้าจากการเอาหน้าไปคุ้ยไม้จนอักเสบแล้วไม่ได้รักษา กำลังกินอาหารอยู่ในดงไม้แดง จิก จวง รัก ต้นกอหรือเกาลัดป่า ตะแบก ภายในปางช้าง “ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์” (Following Giants) อำเภอเมืองกระบี่ ชบาเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๖๖

ชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้างเล่าว่าชบาเคยทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและถูกบังคับให้ลากซุง การทำงานอันหนักหน่วงส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย แรงกดทับที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนขาทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวด โภชนาการที่ไม่ดีนักส่งผลให้ฟันเสียหาย ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้เพียงพอ

ช่วง ๆ แรกที่ชบาเข้ามาอาศัยอยู่ที่ปางช้าง ชเรกับควาญช้างต้องคอยสนับสนุนเรื่องการกินของเธอ ใช้เวลาบดอาหารเสริมหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ถึงตอนนี้ชบาเริ่มมีความสุขกับชีวิตใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย สัตว์ร่างใหญ่ต้องต่อสู้กับความไว้วางใจ และพบว่าตัวเองยากจะผูกพันกับฝูงช้างทั้ง ๆ ที่ช้างเป็นสัตว์สังคม ชเรหวังว่าสภาพแวดล้อมของที่นี่จะช่วยให้ชบามีความมั่นใจในการถักทอมิตรภาพ

ช้างหลายตัวเคยผ่านชีวิตที่ยากลำบาก พลิกผันมาสู่บ้านหลังใหม่ท่ามกลางธรรมชาติของจังหวัดกระบี่ ปางช้าง Following Giants มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๐ ไร่ มีสภาพเป็นป่าประมาณ ๑๖ ไร่ ที่เหลือเป็นสวนปาล์ม นากุ้ง และมีสระน้ำ เป็นที่อยู่ของช้าง ๖ ตัว ลึกเข้าไปในป่าจากจุดที่ชบากินอาหาร ทองเอก ช้างลากไม้จากสุโขทัยอายุ ๔๖ ปี ที่ถูกตัดงาและมีปัญหากระดูกสันหลังกำลังกินสับปะรดกับหญ้าเนเปีย

นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาดูช้างในปางต้องเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า ๑๕-๒๐ เมตร ไม่ส่งเสียงดัง ทำตัวกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด ไม่มีใครรู้ว่าช้างจะทำอะไรต่อไป บางทีช้างอาจจะรู้สึกร้อน เดินมุ่งหน้าไปยังบ่อน้ำเพื่อแช่น้ำ เล่นโคลน หรือแค่เอางวงซัดดินแห้ง ๆ ขึ้นไปบนหลัง

หลักฐานอันโหดร้ายเกี่ยวกับอดีตของทองเอกปรากฏอยู่อย่างชัดเจนบนงาที่ถูกตัด เตือนใจให้นึกถึงความโหดร้ายของอุตสาหกรรมค้างาช้าง ฝีที่ขาหน้าขวาเป็นผลจากงานชักลากซุง ทองเอกมีรอยแผลเป็นทั้งร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่สมัยเป็นช้างให้นักท่องเที่ยวขึ้นขี่หลัง ถึงวันนี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหากระดูกสันหลัง เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักและแรงกด อาการบาดเจ็บนี้ทำให้ทองเอกรู้สึกไม่สบาย แต่ด้วยความเอาใจใส่ ชเรหวังว่าทองเอกจะมีชีวิตที่สมบูรณ์และมีความสุข

กิจกรรมในปางช้าง Following Giants คือการเดินดูช้างในลักษณะ “แอบดูช้าง” คำว่า “Following Giants” สะท้อนความหมายของการ “เดินตามช้าง” เปิดใจเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของเพื่อนตัวโตผ่านการสังเกต และบอกเล่าของไกด์

tamchang2
ทองเอกอดีตช้างลากไม้จากสุโขทัยและเคยเป็นช้างให้นักท่องเที่ยวขึ้นขี่หลัง
tamchang3
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมต้องเว้นระยะห่างจากช้างไม่ต่ำกว่า ๑๕-๒๐ เมตร ไม่ส่งเสียงดัง ทำตัวกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ช้างได้แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำสัตว์ป่ามาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวมากที่สุด สัตว์ป่าที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ เสือ และ ช้าง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) หน่วยงานที่ทำงานด้านการปกป้องและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ป่า เพื่อให้สัตว์ป่าทั้งหลายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนปางช้าง Following Giants ระบุว่า ประเทศไทยมีช้างถูกนํามาใช้งานในธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่า ๓,๐๐๐ ตัว ช้างแต่ละตัวจะถูกพรากจากแม่ช้างเพื่อนำมาฝึกตั้งแต่ยังตัวเล็ก ๆ ช้างวัย ๔ ปีขึ้นไปจะถูกกักขัง ล่ามโซ่ เฆี่ยนตี และต้องทํางานทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโชว์ ให้นักท่องเที่ยวอาบน้ำ หรือขี่หลัง ไม่ได้รับโอกาสให้ใช้ชีวิตตามแบบวิถีของช้าง

ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายครอบคลุมเรื่องการอนุรักษ์และสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงเป็นการเฉพาะ กฎหมายเกี่ยวข้องเท่าที่มีอยู่อย่าง พ.ร.บ.สัตว์ยานพาหนะ และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ต่างมีฐานคิดที่ต้องการใช้ประโยชน์จากช้าง ขณะที่การทํางานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย มุ่งเน้นการยุติอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ที่นําสัตว์ป่ามาใช้งานเพื่อความบันเทิง สัตว์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและต้องเร่งแก้ไขวิกฤตปัญหาด้านสวัสดิภาพโดยด่วนที่สุดก็คือช้าง

หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “เราเชื่อว่าสัตว์ป่าทุกตัวควรได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าตามธรรมชาติ หรือได้มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมมากที่สุด หนึ่งในโครงการของเราคือสนับสนุนปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่มีกิจกรรมสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยวอย่างการโชว์ช้าง ขี่ช้าง หรืออาบน้ำช้าง เราทำงานร่วมกับคุณชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้าง Following Giants เกาะลันตา สถานที่ที่ช้างไม่ต้องถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติ ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการยกระดับสวัสดิภาพของช้าง สร้างอาชีพให้คนในชุมชนจากการซื้ออาหารช้าง คือ กล้วย อ้อย สับปะรด หญ้าเนเปีย เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นมาทำงานเป็นควาญช้าง รวมทั้งมุมมองเรื่องธุรกิจ นอกจากได้รับรางวัล TripAdvisor Travellers’ Choice Award 2024 ยังประสบความสำเร็จจนขยายไปสู่ปางช้าง Following Giants อำเภอเมืองกระบี่”

Following Giants อำเภอเมืองกระบี่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๐ ไร่ แบ่งเป็นป่าประมาณ ๑๖ ไร่ ที่เหลือเป็นสวนปาล์ม นากุ้ง และมีสระน้ำขนาดใหญ่

tamchang5
อาหารช้าง คือ กล้วย อ้อย สับปะรด หญ้าเนเปีย รับซื้อจากคนในชุมชน

เดิมทีปางช้างของชเร ชื่อว่า Eco-Tourism Recreation จัดการท่องเที่ยวแบบที่ส่วนส่วนใหญ่นิยมกัน คือมีการให้นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งบนหลังช้าง อาบน้ำให้กับช้าง ป้อนอาหาร เล่นสปาโคลนด้วยกัน

ชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้าง Following Giants ชี้ว่า “ถ้าวันหนึ่งปางช้างของคุณมี ๖ กรุ๊ปทัวร์ แล้วแต่ละกรุ๊ปต่างก็ต้องการอาบน้ำให้กับช้างพร้อมกับเล่นสปาโคลน ช้างก็ต้องอาบน้ำและเล่นสปาโคลนมากถึง ๖ ครั้งต่อวัน ถ้าเป็นเราอยากอาบน้ำ ๖ ครั้งต่อวันไหม นักท่องเที่ยวสนุกแต่ช้างเขาอาจไม่สนุกด้วย เครียดนะ เราเองถึงอยากให้อิสระกับช้างแต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ มันเลยมาถึงจุดเปลี่ยน” ทายาทรุ่นที่ ๖ ของครอบครัวคนเลี้ยงช้างภาคใต้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้แนวทางปางช้างเปลี่ยนไปว่า

“ช้างที่ให้นักท่องเที่ยวขี่ต้องทำงานไม่ต่างจากรถแท็กซี่ในแต่ละวัน ธรรมชาติของช้างจะต้องกินอาหารแทบจะตลอดเวลา ชั่วโมงหนึ่งตกประมาณ ๓๐-๔๐ กิโลกรัม ตลอดทั้งวันคิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แต่ระหว่างที่นักท่องเที่ยวอยู่บนหลังช้างไม่ได้กินอาหารซึ่งผิดธรรมชาติ

“เมื่อก่อนครอบครัวของผมเคยมีช้างนิสัยดีชื่อนกครูด คอยดูแลนักท่องเที่ยวทั้งวัน มีอยู่วันหนึ่งนกครูดไม่ค่อยสบาย แต่ก็ยังเดินให้นักท่องเที่ยวขี่หลังจนถึงรอบสุดท้ายเกือบ ๖ โมงเย็น ตอนส่งนักท่องเที่ยวรอบสุดท้ายลงจากหลังนกครูดค่อย ๆ ย่อตัวลง แล้วค้างอยู่อย่างนั้นจนผิดสังเกต มารู้อีกทีมันตายแล้ว ผมคิดว่านกครูดคงเป็นห่วงนักท่องเที่ยวที่นั่งอยู่บนเก้าอี้บนหลังของมันว่าจะเป็นอันตราย โดยทั่วไปแล้วเวลาช้างตายมักจะล้มตัวลงนอน แต่นกครูดยังย่อตัวลง”

ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้าง เรียกร้องให้ดูแลสวัสดิภาพช้างเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การจดจํา นักท่องเที่ยวเริ่มตระหนักถึงความสําคัญของสวัสดิภาพช้างโดยมองว่าช้างเป็นสัตว์ป่า อย่างสนับสนุนให้ช้างได้แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ กระแสการท่องเที่ยวและความตื่นตัวของนักท่องเทียวนี้ทําให้ปางช้างหลาย ๆ แห่งเลือกเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรม เลิกโชว์ช้าง เลิกขี่ช้าง เลิกอาบน้ำช้าง ฯลฯ หันมาปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักการที่ “เป็นมิตรกับช้าง” มากขึ้น ทั้งนี้ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างมักตั้งอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ส่วนใหญ่อยู่ติดกับชุมชนและพื้นที่ทางการเกษตร ไม่สามารถล้อมรั้วกันพื้นที่ได้ทั้งหมด จึงจําเป็นต้องมีมาตรการดูแลช้างเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทั้งคนและช้าง

หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ระบุว่า “องค์กรฯ ไม่ได้เสนอว่าทางออกของการยุติการทรมานช้าง คือ การเอาช้างเลี้ยงไปปล่อยป่า แต่เสนอว่าช้างเลี้ยงที่ทุกข์ทรมานจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรจะเป็นรุ่นสุดท้าย ยุติการผลิตช้างรุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และให้ช้างที่ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นด้วยการยกระดับมาตรฐานปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง เอื้อให้ช้างได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ มีโอกาสเข้าสังคมกับฝูงช้าง มีอิสระ มีชีวิตที่ดี โดยไม่ต้องทํางานหนักหรือให้ความบันเทิงกับคน ซึ่งจะต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวช้างแบบดั้งเดิมที่มีกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอย่างการแสดงช้าง ขี่ช้าง หรืออาบน้ำช้างที่บังคับให้ช้างต้องถูกอาบน้ำวันละหลาย ๆ ครั้ง หลังเสร็จงานหรือช่วงที่ไม่ต้องทำงานก็ถูกล่ามโซ่สั้น ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง”

tamchang6
ไม่มีใครรู้หรือกำหนดให้ช้างทำอะไร ไม่มีการฝึกช้างด้วยความรุนแรงหรือใช้เครื่องมือที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ขอสับจะถูกใช้อย่างจํากัดในกรณีฉุกเฉิน และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคนและช้างเท่านั้น

ลักษณะของปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง ตามแนวทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand)

• ไม่มีกิจกรรมขี่ช้าง โชว์ช้าง อาบน้ำช้าง ไม่มีการสัมผัสช้างโดยตรงจากนักท่องเทียว ไม่มีกิจกรรมใช้ช้างเพื่อความบันเทิง
• กิจกรรมของนักท่องเที่ยว คือการดูช้าง เรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง การบอกเล่าของไกด์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้เห็นช้างและเรียนรู้พฤติกรรมของช้างตามธรรมชาติแบบที่ช้างเป็นแล้ว ยังส่งผลเชิงบวกอย่างมากเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตัวนักท่องเที่ยวเอง เพราะไม่มีกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรง ควาญช้างมีหน้าที่ดูแลช้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และไม่ต้องใช้ความรุนแรงในการบังคับช้าง เพราะนักท่องเที่ยวดูช้างจากระยะที่ปลอดภัย ช้างเองก็ไม่เครียดจากการถูกบังคับใช้งาน
• มีการดําเนินงานที่เน้นเรื่องสวัสดิภาพช้างตามเกณฑ์การเป็นมิตรต่อช้างขององค์กรฯ ให้ช้างได้มีโอกาสใช้ชีวิต ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ หรือกึ่งธรรมชาติ มีปฏิสัมพันธ์กับช้างอื่น ๆ เพราะช้างเป็นสัตว์สังคม
• ไม่มีการเพาะพันธุ์ช้างเพื่อการพาณิชย์
• มุ่งเน้นการควบคุมช้างด้วยการวิธีฝึกแรงจูงใจเชิงบวก (Positive Reinfocrement) ขอสับช้างจะมีไว้เพื่อความ ปลอดภัย และใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น