เรื่อง : รัตนาภรณ์ น้อยวงศ์
ภาพ : ธนภรณ์ จิตตะยโศธร

เขาบอกถ้าอนาคตอายุเท่าเราแล้วยังเดินได้อยู่ก็ดีใจมากแล้ว” รอยยิ้มประทับใจปรากฏบนใบหน้า

เขาเห็นผมเป็นไอดอล มนตรี อโณวรรณพันธ์ ชายวัย ๗๙ ยิ้มอย่างภาคภูมิ
รอยยิ้มเปี่ยมสุขของมนตรี นักวิ่งวัยเก๋าแห่งอุทัยธานี ในวัย ๗๙ ปี มักวิ่งยามเช้ารับอากาศวันใหม่ที่บึงพระชนก แลนด์มาร์คสำหรับออกกำลังกายของคนในชุมชน

“เด็กรุ่นใหม่ๆ เห็นเราวิ่งก็มาคุยกับเรา อยากวิ่งด้วย มีตั้งแต่เด็กประถมฯ จนถึงวัยโตๆ เลยนะ เป้าหมายของพวกเขาแค่ต้องการมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเรา เขาบอกถ้าอนาคตอายุเท่าเราแล้วยังเดินได้อยู่ก็ดีใจมากแล้ว” รอยยิ้มประทับใจปรากฏบนใบหน้า

“เขาเห็นผมเป็นไอดอล” มนตรี อโณวรรณพันธ์ ชายวัย ๗๙ ยิ้มอย่างภาคภูมิ

มนตรีชายสูงวัยกลายเป็นไอดอลของชาวอุทัยฯ รุ่นใหม่ พลังความตั้งใจของเขาส่งออกไปเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น “ไม่ใช่แค่คนในชุมชนนะ ครอบครัวผมวิ่งกันทั้งบ้าน ภรรยาผม ลูกสาว ลูกชาย ลูกสะใภ้” มนตรีเล่าพลางเลือกหาถ้วยรางวัลที่อยากนำเสนอ

“นี่ คนอุทัยธานีไม่ได้นะรางวัลนี้ มีผมคนเดียวที่ได้” มนตรีเอ่ยอย่างภูมิใจ ขณะผายมือโชว์ผลงานถ้วยรางวัลจากงานแข่งวิ่ง Super Half Marathon ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก รวมถึงรางวัลจากงานวิ่งที่อื่นๆ ทั้งถ้วยและเหรียญรางวัลกว่า ๒๐๐ ชิ้น ซึ่งวางเรียงซ้อนกันอยู่ในตู้ หลังตู้ และลังเก็บของ

“ผมวิ่งเอาสุขภาพ ไม่ได้หวังเหรียญอะไรขนาดนั้นหรอก” มนตรียิ้มเขินๆ แม้จะกล่าวเช่นนั้น แต่เขากำลังยืนอยู่ท่ามกลางรางวัลมากมายที่ผ่านการแข่งขันมาอย่างโชกโชน

ครอบครัวอโณวรรณพันธ์เป็นที่รู้จักในนามครอบครัวนักวิ่งแห่งอุทัยธานี เพราะกวาดถ้วยรางวัลจากหลายงานวิ่งทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้นำของชมรมวิ่งเมืองพระชนกจักรีที่อุทัยธานี ซึ่งจัดกิจกรรมวิ่งให้แก่ชุมชนหลายครั้ง

runner utai2
ถ้วยและเหรียญรางวัลกว่า ๒๐๐ ชิ้นภายในตู้เก็บของที่นำออกมาแสดงแทบไม่หมด แม้จะเริ่มวิ่งในวัย ๕๙ ปี แต่มนตรีมุ่งมั่นตั้งใจวิ่งทุกวัน หมั่นฝึกซ้อม จนเป็นกิจวัตร ทำให้เขาคว้าถ้วยและเหรียญรางวัลจากหลายงานวิ่งมาประดับจนเต็มพื้นที่ภายในบ้าน
runner utai3
มนตรี ผู้นำชมรม อดีตประธานกรรมการจัดกิจกรรมวิ่งในเมืองอุทัยฯ หลายครั้ง ซึ่งมณฑา ภรรยาของเขาก็เป็นหนึ่งในกรรมการจัดงานวิ่งเช่นกัน ถือได้ว่าครอบครัวอโณวรรณพันธ์เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาชุมชนให้มีพื้นที่ออกกำลังกายส่งเสริมสุขภาพที่ดี

สัญญาณเตือนของร่างกาย

มนตรีเป็นคนอุทัยฯ แท้ๆ โดยกำเนิด ทางฝั่งพ่อมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาสร้างครอบครัวที่นี่ ภรรยาของเขา มณฑา อโณวรรณพันธ์ ก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแคะ เกิดและเติบโตที่อุทัยฯ เช่นกัน

“ตอนนั้นผมรู้สึกมึนๆ วิงเวียนศีรษะ เลยไปหาหมอ หมอบอกไตรกลีเซอไรด์สูง ไขมันเยอะ ส่งผลให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง” หลังจากฟังคำวินิจฉัยของหมอซึ่งได้แนะนำให้มนตรีออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ตอนแรกมนตรีปฏิเสธ “ผมบอกหมอว่า ผมเดินทุกวันนะที่ทำงาน แต่หมอบอกต้องออกกำลังกายจริงจังอย่างวิ่งจ็อกกิง เพิ่งเริ่มวิ่งก็ตอนร่างกายอ่อนแอลงนี่แหละครับ”

มนตรีในวัย ๕๙ ปี หลังจากได้รับสัญญาณเตือนจากร่างกาย จึงตระหนักว่าต้องใส่ใจดูแลสุขภาพให้มากขึ้น ทำให้เขาเริ่มออกกำลังกายโดยการวิ่ง มนตรีตั้งใจวิ่งทุกวัน จนปัจจุบันการวิ่งเป็นอีกหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของเขา

“แต่ก่อนอุทัยฯ ยังไม่มีพื้นที่เฉพาะสำหรับคนออกกำลังกายครับ ผมก็วิ่งรอบๆ เลาะตามถนนไป” เขาชี้ให้ดูภาพช่วงเริ่มวิ่ง ก่อนจะเปลี่ยนผ่านร่างกายมาเป็นนักวิ่งบนสนามแข่งอย่างเต็มระบบ และผลลัพธ์ที่มากกว่าสุขภาพดีคงเป็นการกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนที่อยากมีสุขภาพดีอย่างมนตรีในเวลาต่อมา

หลังจากอุทัยธานีมีกระแสรักสุขภาพเป็นวงกว้าง จากเดิมมีเพียงผู้สูงวัยออกมาวิ่งก็มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วม จนมีการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้คนมากขึ้น มีพื้นที่สาธารณะสำหรับคนในชุมชนเพื่อออกกำลังกายในหลายจุด ซึ่งสถานที่หนึ่งคือสวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ หรือบึงพระชนก ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแลนด์มาร์กสำหรับออกกำลังกายของคนทุกช่วงวัย

“มีหลายที่ครับ บึงพระชนกบ้าง ริมแม่น้ำสะแกกรังบ้าง เขาสะแกกรังบ้าง บรรยากาศที่นี่ดีมาก คนจะวิ่งช่วงเช้าที่ริมแม่น้ำสะแกกรังเยอะ ช่วงเย็นก็มี ส่วนผมก็มีไปเขาสะแกกรังกับภรรยาบ้าง หลายพื้นที่ในอุทัยฯ เอื้อต่อคนที่ต้องการออกกำลังกาย ใครใกล้ตรงไหนก็ไปตรงนั้น” มนตรีเล่าขณะยืดเส้นก่อนวิ่ง “ส่วนผมจะมาที่นี่ บึงพระชนกในตอนเช้ากับภรรยาและลูกชายบ้างบางครั้ง”

บริเวณโดยรอบบึงพระชนกรายล้อมด้วยต้นไม้ อากาศริมบึงช่วงเช้ามืดขณะมนตรีออกวิ่งไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป เหมาะแก่การออกกำลังกายมากที่สุด

นอกจากมนตรียังมีผู้คนในชุมชนออกมาวิ่งจำนวนมาก เพราะเป็นวันหยุดพักผ่อน ผู้คนสับขาวิ่งรอบบึงอย่างตั้งใจ บ้างก็วิ่งชิลล์ๆ บ้างก็เดินเลาะริมบึงจนสุดทาง ความงดงามของบึงพระชนกเสริมให้บรรยากาศน่าอภิรมย์ดำเนินไปช้าๆ บนความเรียบง่ายสไตล์ชีวิตชาวอุทัยฯ

อีกสถานที่ที่มนตรีมักออกวิ่งกับภรรยาประจำคือเขาสะแกกรัง หลังจากวิ่งช่วงเช้าจนหนำใจ พักไม่นาน สองสามีภรรยาก็ขึ้นไปยังเขาสะแกกรัง

แม้ทางขึ้นเขานั้นลาดชัน ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับวิ่งขึ้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อมนตรีและมณฑาเลย ขาอันแข็งแรงของมนตรีก้าวไปยังถนนขึ้นเขาด้วยความเร็วสม่ำเสมอ โดยมีมณฑาตามมาติดๆ แดดยามสายเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ พวกเขากลับไม่มีท่าทีสะทกสะท้าน วิ่งไปได้สักระยะ มนตรีหันมากวักมือไหวๆ

“ลองวิ่งไหมล่ะ ว่าตามผมทันหรือเปล่า” เขาหัวเราะและวิ่งต่อไปสู่ยอดเขา

จากยอดเขามองเห็นภูมิทัศน์เมืองอุทัยฯ เบื้องล่างได้แจ่มชัด ถนนลากยาวเป็นเส้นตรงตัดผ่านบ้านช่องเรียงรายสองฝั่ง การวิ่งขึ้นเขาพร้อมเสพบรรยากาศบ้านเกิดอันงดงามนับว่าคุ้มค่าไม่น้อยสำหรับคู่รักนักวิ่ง

runner utai4
“เห็นเขาวิ่ง เลยอยากวิ่งเป็นเพื่อน” มณฑายิ้มขณะบอกเหตุผลของการตัดสินใจวิ่ง วิ่งไปด้วยกันเพื่อมีสุขภาพดีคู่กัน
runner utai5
ร้านของชำที่อดีตเป็นของมนตรี ส่งต่อให้หนุ่ย ลูกชายคนที่ ๒ เป็นทั้งสถานที่ประกอบอาชีพและบ้านของหนุ่ย ที่มีภรรยาคือ ติ๊ก และลูกหลานอีกหลายคน มนตรีและมณฑามักมาเยี่ยมลูกหลานเป็นประจำ

มรดกแนวคิดวิ่งรักสุขภาพถูกส่งทอดอย่างทรงพลัง

มนตรีเล่าว่าช่วงเริ่มวิ่ง มนชัย ลูกชายคนโตที่เป็นนายแพทย์มีความกังวลเรื่องการออกกำลังกายของผู้เป็นพ่อ เพราะวัยที่มากขึ้นๆ การออกกำลังกายหนักอาจไม่ส่งผลดีนักในระยะยาว

“ตอนนั้นลูกชายคนโตเขาไม่อยากให้ออกกำลังกายหนักนะ แต่หลังๆ มานี้ตัวเขาเริ่มป่วย มีโรคประจำตัว ไขมันสูง ก็เลยมาวิ่งเหมือนกับเรา”

นอกจากมนชัยแล้ว หนุ่ย ลูกชายคนที่ ๒ และลูกสาวคนสุดท้องที่เป็นพยาบาล ก็เริ่มวิ่งเช่นกัน แต่ใกล้ตัวที่สุดคงเป็นมณฑา ภรรยาเขา หลังจากผ่านช่วงเวลาที่มนตรีตระเวนวิ่งที่จังหวัดอื่นโดยเดินทางลำพัง มณฑาก็เริ่มวิ่ง

เนื่องด้วยกลัวสามีจะรู้สึกเหงา แม้บางครั้งลูกชายคือหนุ่ยไปส่งที่งานวิ่ง แต่มณฑาก็อยากสานความตั้งใจไปกับมนตรี

“เห็นเขาวิ่ง เราก็อยากวิ่งเป็นเพื่อน” ความห่วงใยส่งผ่านแววตาขณะมองสามี มนตรียิ้มพลางหัวเราะ แม้ภรรยาไม่ได้สาธยายถึงความรักที่มี แต่เขาสัมผัสได้จากการสนับสนุนซึ่งเธอคอยเคียงข้างทุกย่างก้าวของชีวิต เป็นคู่สามีภรรยาที่ห่วงใยและมอบพลังใจแก่กันในช่วงบั้นปลายชีวิต

เมื่อลงจากเขา มนตรีแวะไปร้านขายของชำบ้านของหนุ่ย ลูกชายคนที่ ๒

หนุ่ยเล่าจุดเริ่มต้นของการผันตัวมาวิ่งอย่างจริงจังว่า “แต่ก่อนผมพาพ่อแม่ไปวิ่งครับ ไปจังหวัดต่างๆ ใช้เวลาไปเที่ยวกับครอบครัวด้วย แต่ช่วงหลังพอเห็นเขาวิ่งเราก็เลยวิ่งบ้าง ทั้งผมและภรรยา นอกจากนี้ยังไปวิ่งที่เวียดนามและหลวงพระบางด้วยครับ”

มนตรีเสริมว่า “ชอบบรรยากาศที่หลวงพระบาง ร่มรื่น ต้นไม้เยอะ คล้ายที่อุทัยฯ ”

แม้หนุ่ยจะเป็นนักกีฬามาก่อน แต่การเป็นนักวิ่งนั้น เขาเริ่มหลังจากมนตรี ด้วยมองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจนทำให้เขาคิดที่จะวิ่งออกกำลังกายบ้าง โดย ติ๊ก ภรรยาของหนุ่ยก็สนับสนุนสามีเต็มที่

อีกสถานที่หนึ่งซึ่งหนุ่ยและติ๊กประทับใจเป็นพิเศษที่เดินทางไปวิ่งคือ โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น แม้มนตรีและมณฑาไม่ได้ไปในบางพื้นที่ แต่หนุ่ยและภรรยายังตระเวนลงสนามวิ่งด้วยกันเสมอ

runner utai6
ทุกเช้ามืดมนตรีจะมาวิ่งที่บึงพระชนกกับหนุ่ย หลังจากซ้อมวิ่งไม่นาน หนุ่ยก็ลงวิ่งทุกสนามตามพ่อและแม่ จากนั้นก็ผันตัวมาเป็นนักวิ่งอย่างจริงจัง ซึ่งคว้าถ้วยและเหรียญรางวัลตามมนตรีมาติดๆ
runner utai7
ผู้คนในชุมชนเมืองอุทัยฯ จำนวนมากสนใจดูแลสุขภาพ หลายคนอยู่ชมรมวิ่งเมืองพระชนกจักรี เกิดมิตรภาพในกลุ่มผู้รักการออกำลังกายที่มีแต่รอยยิ้มขณะสนทนากัน

ย้อนวันวาน ทวนความหลัง เมื่อชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

กลับจากแวะเยี่ยมลูกหลาน มนตรีก็หาร้านอาหารนั่งพูดคุยถึงความหลัง เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวอันดับ ๒ ของอุทัยฯ (การันตีโดยมนตรีเอง) ก่อนจะสั่งก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่

“ผมไม่ได้ควบคุมอาหารเป็นพิเศษนะ ไม่ได้เคร่งว่าจะกินเฉพาะอันนี้ อยากกินอะไรก็กิน กินอย่างมีความสุข แค่เราต้องออกกำลังกายทุกวัน” มนตรีเล่าต่อว่า เขาอยากจะกินเผ็ด กินหวานก็กิน แต่ต้องไม่เผ็ดมากหรือหวานเกินไป

นอกจากการรักษาสุขภาพด้วยการวิ่ง มนตรียังเล่าถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ราบเรียบให้ฟังว่า “ผมไม่ใช่ลูกเศรษฐี ผมเริ่มจากศูนย์ ”

สมัยก่อนที่คนจีนเดินทางมาตั้งถิ่นฐานที่อุทัยธานี ส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย มนตรีในวัยหนุ่มก็เช่นกันเขาขายของที่ตลาด รับจ้างทั่วไป ทำงานหนักใช้แรงอยู่หลายงาน เงินที่หามาก็ส่งให้เตี่ยผู้เป็นพ่อใช้บ้าง จากนั้นได้มาเป็นพนักงานทำความสะอาดที่ธนาคารแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี ค่อยๆ ขยับขึ้นเป็นพนักงานธนาคาร จนในที่สุดมีโอกาสไปทำงานธนาคารในสาขาอื่นที่ต่างจังหวัดเมื่อปี ๒๕๒๓

“ผมย้ายไปทำงานที่สาขาหนึ่งในชัยภูมิ การห่างครอบครัวเป็นอะไรที่ลำบากมากสำหรับผม” มนตรีเอ่ยสีหน้าเรียบเฉย ซ่อนแววตาอดกลั้น ตอนนั้นภรรยาและลูกๆ อยู่ที่อุทัยฯ ลูกทั้งสามอยู่ในวัยเรียน เขาต้องหาเงินส่งเสียลูกๆ แต่ความคิดถึงครอบครัว เขาเดินทางกลับแทบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์

“ไม่เคยเหนื่อยเลย ผมอยากกลับบ้าน คิดถึงลูก”

ดำเนินชีวิตเช่นนั้นอยู่หลายปีมนตรีก็ทนความคิดถึงไม่ไหวจึงย้ายกลับมาที่อุทัยฯ ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าอีกครั้ง เขาลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านขายของชำจนปัจจุบัน หนุ่ยก็รับช่วงต่อ

ด้วยพื้นฐานฐานะยากจน ทำให้เขามีเป้าหมายจะมีชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้ เขาทำงานหนักมาตลอด จนปัจจุบันเงินที่เก็บออมไว้ มนตรีและมณฑามีพอเพียงโดยไม่ต้องพึ่งพาลูก

“ผมรู้นะว่าปัจจุบันการสร้างตัวมันยาก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่อยากฝากให้เด็กยุคใหม่รู้จักเก็บ รู้จักใช้ จะได้ไม่ลำบาก”

แม้มนตรีและภรรยาจะอยู่บ้านเพียงสองคน แต่ลูกชายและลูกสาวก็มาเยี่ยมเยือนเสมอ เพราะลูกชายสองคนก็มีอาศัยอยู่ที่จังหวัดนี้ มีเพียงลูกสาวที่อยู่จังหวัดอื่น “แต่ลูกสาวก็มาหาผมนะ ส่วนลูกชายสองคน เขาก็มาหาบ้าง ผมก็ไปหาบ้าง เจอกันบ่อย ครอบครัวอบอุ่นดี” มนตรียิ้มชื่นบานขณะเล่า และหลายๆ ครั้งครอบครัวก็เดินทางไปวิ่งที่จังหวัดต่างๆ เป็นการไปเที่ยวด้วยในเวลาเดียวกัน “อยู่สองคนแต่ลูกหลานอยู่ไม่ไกล ไม่เคยเหงาเลย”

นอกจากสุขภาพจิตดีจากสายสัมพันธ์อบอุ่นภายในครอบครัว การทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการวิ่งทำให้ครอบครัวอโณวรรณพันธ์ล้วนมีสุขภาพแข็งแรง

“อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ อย่ารอเป็นโรค เน้นใช้จ่ายเพื่อป้องกันและดูแล ดีกว่าไปรักษาภายหลัง” มนตรีย้ำหนักแน่น

runner utai8
พ่อลูกนั่งพักที่ศาลาริมบึง พูดคุยเรื่องราวในชีวิต สายสัมพันธ์อบอุ่นผ่านกิจกรรมที่มีร่วมกัน

เกิด แก่ เจ็บ ตาย และการอยู่ดีช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต

พูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตแล้ว อีกเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือความตาย เขาเตรียมพร้อมรับมือเช่นไร

“ผมเก็บเงินสร้างตัว สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เลี้ยงลูกจนเรียนจบ ที่ดิน บ้าน แบ่งมรดกไว้ให้ลูกแล้วก่อนเราจะสิ้นลม”

“ลูกๆ จะส่งเงินให้ผมใช้นะ ผมไม่รับ แต่มีหนุ่ยที่ทำข้อตกลงว่าเขารับกิจการต่อจากเราแล้ว ต้องส่งเงินให้แม่เขาใช้ทุกเดือน” มนตรีบอกอย่างภูมิใจ แม้ในวัยใกล้โรยราก็สามารถอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาลูก

“การเตรียมตัววางแผนชีวิตไม่ใช่มาเตรียมในวันที่อายุมากขึ้นหรือขั้นสุดท้ายของชีวิต แต่ควรเตรียมตัวและวางแผนตั้งแต่ต้น” มนตรีแนะนำจากประสบการณ์ตรง

“เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน”

ผ่านพ้นวัยกลางคนมาสู่ผู้สูงวัย ความรู้สึกอยากทำประโยชน์ต่อสังคมของมนตรีนั้นมีอยู่มาก เขาเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในเมืองอุทัยฯ ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคม สร้างเสริมแนวคิดการรักสุขภาพและจัดกิจกรรมเพื่อคนในชุมชน ทั้งในฐานะประธานชมรมวิ่งเมืองพระชนกจักรี และประธานสภาเทศบาลพัฒนาบ้านเกิดอย่างสุดกำลัง

“ไม่มีอะไรให้ต้องเสียดาย ทำงานเพื่อครอบครัว เพื่อสังคมอย่างเต็มที่แล้ว” มนตรีหัวเราะและยิ้มกว้าง

สายใยความผูกพันของคนในครอบครัวเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พลังกายของมนตรีนั้นเต็มเปี่ยม แววตายังทรงพลัง ร่างกายแข็งแรงคล่องแคล่ว การได้ทำในสิ่งที่รักและมีครอบครัวสนับสนุน ล้วนเติมเต็มหัวใจของผู้สูงวัยที่ต้องการเพียงความสงบ ความสุข ในบั้นปลายชีวิต

เพียงเท่านี้ชีวิตก็สมบูรณ์ทั้งกายและใจในฐานะผู้สูงวัยคนหนึ่งแล้ว

สนับสนุนโดย

  • วิริยะประกันภัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • Nikon
  • STM
  • Saramonic
  • Sirui
  • กลุ่มธุรกิจtcp
  • sigmalens

กิจกรรมโดย SarakadeeMagazine

ค่ายสารคดี #ค่ายสารคดีครั้งที่19 #อยู่ดีตายดี #นักเขียน #ช่างภาพ #วิดีโอครีเอเตอร์