๏ ห่อผ้าเสาวพัตรแดงศรี
พรมน้ำพิธี
สามทีก็เป็นเทวา
๏ กายแดงแสงจับนัยน์ตา
ทรงเครื่องรจนา
มหามงกุฎกุณฑล
๏ ให้นามอาทิตย์ฤทธิรณ
เชิญพักอยู่บน
เบ็ญจาที่หนึ่งพึงคลา

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ของพระยาราชภักดี (ช้าง)

มหาทักษา 7 - พระอาทิตย์

ตามความในคัมภีร์เฉลิมไตรภพและมหาทักษา พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ ๖ ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นพระอาทิตย์ มีผิวกายแดง ทรงสิงห์หรือราชสีห์ เป็นเทพพาหนะ ประจำอยู่ทิศอีสาน หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังพระเคราะห์เป็น ๖

ในบรรดาเทวดาประจำดาวเคราะห์ พระอาทิตย์เป็นเทพองค์แรกที่ถือกำเนิดขึ้น ตามระบบการบอกวันของสัปดาห์แบบไทยโบราณจึงเริ่มต้นนับที่วันอาทิตย์ แทนด้วยเลข ๑ และจบลงที่วันเสาร์ อันแทนด้วยเลข ๗

ตำราฝ่ายโหราศาสตร์นับเนื่องเอาว่าพระอาทิตย์เป็นเทพกลุ่มบาปเคราะห์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี แต่เป็นศัตรูกับพระอังคาร ดังมีการผูกเรื่องที่เรียกว่า “นิทานชาติเวร” ให้เป็นเครื่องช่วยจำ ในที่นี้สรุปความจาก “ตำนานเทวดาที่เปนมิตรและเปนศัตรูกัน” ในหนังสือ “หลายเรื่อง-หลากรส” พิมพ์ในงานศพนางแน่งน้อย จุลละสุขุม เมื่อปี ๒๕๐๗

ในกาลครั้งหนึ่ง พระพฤหัสบดีเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พระอาทิตย์เป็นหนุ่มน้อยไปเรียนศิลปศาสตร์ในสำนัก พระพฤหัสบดีมีลูกสาวคือนางจันทร์ ซึ่งได้ยกให้เป็นชายาของพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ก็เอานางจันทร์ใส่ไว้ในผอบทอง ฝากไว้กับพ่อตาคือพระพฤหัสบดี ส่วนพระอังคารเป็นพิทยาธร มาลักลอบทำชู้กับนางจันทร์ แม้ความล่วงรู้ถึงพระพฤหัสบดี แต่ก็มิอาจบอกพระอาทิตย์ตามตรงได้

วันหนึ่งเมื่อพระอาทิตย์มาเยี่ยมเยือน พระพฤหัสบดีทำทีจัดเชี่ยนหมากรับรองไว้สองชุด พระอาทิตย์เห็นเช่นนั้นจึงออกปากถามพ่อตาว่า ทุกครั้งเคยได้กินหมากแค่เชี่ยนเดียว เหตุใดวันนี้มาตั้งแต่งไว้เป็นสองสำรับ พระพฤหัสบดีเสตอบว่า เจ้าลองไปเปิดผอบดูเถิด

เมื่อพระอาทิตย์ไปเปิดผอบทองดู แลเห็นพระอังคารมาอยู่กินกับนางจันทร์ข้างในนั้น ส่วนพระอังคารพอเห็นพระอาทิตย์เข้า ฉวยพระขรรค์มาฟันศีรษะพระอาทิตย์จนแตก แล้วเหาะหนีขึ้นไปบนอากาศ ฝ่ายพระอาทิตย์ก็ขว้างจักรเพชรไปตัดขาพระอังคารบ้าง

นับแต่นั้นมา พระจันทร์กับพระอังคารจึงเป็นอริกัน ส่วนนางจันทร์ ด้วยความเคียดแค้นพระพฤหัสบดีผู้เป็นบิดาว่ามาประจานให้ตนเองต้องได้รับความอับอาย จึงวางตนเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี ขณะที่พระพฤหัสบดีกลับไปผูกมิตรกับพระอาทิตย์

(ในภาพคือปูนปั้นรูปพระอาทิตย์ทรงสิงห์ ฝีมือช่างเมืองเพชรฯ ยอดซุ้มประตูโถงชั้นโลกมนุษย์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ)