เรื่อง : อารีนุช อุดมผล
ภาพ : พชรภา พิพัฒน์นัดดา

ปรับตัวและงอกงาม: ฤดูกาลชีวิตในผืนนาและสวนไผ่
ซุ้มสวนไผ่เกษตรทางเลือกและประตูสู่บ้านของเปี๊ยกและกิมเฮี๊ยะ ที่เกาะเทโพ จังหวัดอุทัยธานี เป็นพื้นที่เกษตรกรรมผสมผสานซึ่งรวมพืชผักสวนครัว ไผ่สีสุก ไผ่กิมซุง และนาข้าว

ผู้คน พรรณไม้ และแหล่งน้ำ สามสิ่งที่อิงอาศัยกันเสมอมา จารึกไว้ในจิตรกรรมฝาผนังหน้าโบสถ์วัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุทัย

เรือนไม้ไผ่ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้คนหลากเชื้อชาติ วิถีชีวิตในเรือนแพ และสารพัดพืชพรรณ ทั้งต้นกล้วย ต้นไผ่ หรือต้นยางนา

ภาพเขียนสีอายุนับร้อยปีบอกเล่าเรื่องราวพื้นที่และผู้คนซึ่งไม่อาจแยกจากกัน แม้กาลเวลาจะทำให้สีสันเลือนรางไป แต่ภาพความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติแห่งเมืองอุทัยฯ ในอดีตก็ยังคงหลงเหลือให้พบเห็นได้แม้ในวันนี้

suanpai02
พื้นที่ไร่นาของกิมเฮี๊ยะกว่า ๗๐ ไร่ พัฒนาจากป่ายางและป่าไผ่มาเป็นผืนนาและพื้นที่ทำกิน ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่จะฟื้นคืนชีวิตให้พื้นที่มรดกจากบรรพบุรุษ
suanpai03
สมัยก่อนการส่งน้ำเข้านานั้นยากลำบาก กิมเฮี๊ยะต้องหาบน้ำหลายสิบหาบต่อวันก่อนไปโรงเรียน แต่เมื่อความเจริญเข้ามา เครื่องมือทุ่นแรงอย่างเครื่องสูบน้ำบาดาลก็พลิกวิถีการทำนาให้สะดวกสบายขึ้น
suanpai04
การทำนาของกิมเฮี๊ยะมีทั้งแบบนาดำและนาหว่าน นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ให้ญาติเช่าทำนาแทนการทำทั้งหมดด้วยตัวเอง ผลผลิตกลายเป็นรายได้เลี้ยงชีพทั้งครอบครัว
suanpai05
นอกจากทำนา กิมเฮี๊ยะได้พัฒนาพื้นที่ปลูกพืชเกษตรทางเลือกหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือไผ่กิมซุงที่ปลูกไว้เก็บหน่อไม้ไปขายระหว่างรอฤดูเกี่ยวข้าว

จากป่าไผ่สู่ผืนนา

“สมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกันลิบ” คือคำบอกเล่าถึงพื้นที่และวิถีชีวิตของ กิมเฮี๊ยะ พูลเทียน เกษตรกรผสมผสานวัย ๕๗ ปี ผู้มาพร้อมกับรอยยิ้มและผืนนา ๗๐ กว่าไร่ เธอเล่าว่าก่อนสีเขียวขจีของทุ่งนาและพรรณไม้อื่นจะปกคลุมพื้นที่ แต่เดิมเป็นสีเขียวหม่น ๆ ของป่าไผ่สีสุกสุดลูกหูลูกตา พร้อมสร้างเสียงบรรเลงและประกายไฟจากการเสียดสียามไม้ไผ่กระทบกันทุกเมื่อ ไฟป่าเป็นต้นเหตุให้เธอและพ่อเปลี่ยนจากป่าไผ่เป็นผืนนาที่มอบวิถีชีวิตใหม่แก่เธอ“เปลี่ยนเป็นท้องนา ๑๐ กว่าปีได้”

ผิวคล้ำจากแดดและรอยแตกด้านบนฝ่ามือล้วนเป็นร่องรอยแห่งเกียรติยศในฐานะเกษตรกรผู้มอบชีวิตให้พื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง จากป่าไผ่แทนที่ด้วยผืนนากว้าง ทั้งนาปลูก นาดำ และทุ่งไผ่ต่างแข่งขันความอุดมสมบูรณ์

นอกจากกิจการของพ่อแม่ องค์ความรู้การเกษตรก็ตกทอดมาสู่เธอเช่นกัน และหนึ่งในนั้นคือการสูบน้ำ เมื่อเดินสำรวจแปลงนาของกิมเฮี๊ยะ สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือเครื่องจักรสูบน้ำบาดาลสีหม่นซึ่งบ่งบอกอายุการทำงานได้ชัดเจน

“คนสมัยก่อนใช้แบบนี้กันทั้งนั้น ภูมิปัญญาชาวบ้านจะหาน้ำใช้ คนที่นี่ไม่ขุดบ่อ ใช้นี่เลย คนจีนในตลาดเขาจะเจาะน้ำใช้กัน เราก็เลียนแบบมา และบ้านเราก็ตาน้ำเยอะ ตื้นด้วย เจาะแค่ไม่เท่าไรก็เจอแล้ว แบบนี้ดีกว่า เพราะว่าเนื้อที่ไม่เสีย น้ำมันไม่ระเหย พอแล้งน้ำก็น้อยลง แต่ที่นี่ไม่เป็นไร ทำได้ทั้งปี เพราะใกล้บึงนี้ด้วย มันเชื่อมกัน ข้างหน้าเป็นสะแกกรัง ข้างหลังเป็นเจ้าพระยา ก็เลยสบายหน่อย”

ด้วยพื้นที่ราบลุ่มขนาด ๑๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖,๒๕๐ ไร่โดยประมาณ เกาะเทโพจึงได้รับการขนานนามว่าเกาะน้ำจืดที่ใหญ่สุดในประเทศไทย ห้อมล้อมด้วยแม่น้ำสองสาย ฝั่งหนึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกฝั่งเป็นแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งไม่ไกลจากกัน น้ำจึงมีใช้ไม่ขาด เขาสะแกกรังก็ตระหง่านอยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะ กิมเฮี๊ยะเล่าว่า เพราะที่นี่ฮวงจุ้ยดี ด้านหน้าเป็นน้ำ ด้านหลังเป็นภูเขา ความอุดมสมบูรณ์จึงเต็มพื้นที่ อีกทั้งผืนนาของเธอไม่ได้มีเพียงข้าว แต่ยังมีผลผลิตอีกมากมาย ทั้งหน่อไม้ ข้าวโพด กล้วยมะลิอ่องหรือลูกไข่เน่า ราชินีผลไม้หากินได้ยาก สวน ๗๐ ไร่จึงเต็มไปด้วยพืชพรรณต่างจากในอดีต

ไม่ใช่แค่พื้นที่เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของเธอก็แตกต่างไป เมื่อ “ความเจริญ” เข้ามา ตอนกิมเฮี๊ยะยังเป็นเด็กหญิง สมัยยังไร้เครื่องทุ่นแรง ถนนหนทางยังคงสัญจรได้ยาก เธอต้องหาบน้ำวันละหลายสิบหาบก่อนไปโรงเรียนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดี เมื่อเสร็จงานจึงปั่นรถจักรยานคันเล็กไปโรงเรียนอย่างทุลักทุเลลัดเลาะไปตามทาง เวลาผ่านไปทุกสิ่งพัฒนาขึ้น ความเหน็ดเหนื่อยในอดีตก็เป็นเพียงภาพความทรงจำ เพราะเครื่องอำนวยความสะดวกเข้ามาแทนที่

“เขารู้จักพัฒนา เกี่ยวข้าวก็ไม่ต้องแล้ว เครื่องหว่านข้าว เครื่องทำนาอีก มีหมดเลย มันพัฒนาไปเรื่อย ๆ”

คงดีหากความเจริญเป็นสิ่งเดียวที่เข้ามาโดยไม่มี “ภัยธรรมชาติ” หากน้ำท่วมมาเยือนทุกปี พืชไร่และวิถีชีวิตเกษตรกรจะเป็นเช่นไร

“น้ำท่วมนาก็ไม่ทำไร เป็นแม่น้ำแทน มีปลาให้หาต่อ เป็นเรื่องปรกติ เราก็ชินกับมัน”

หญิงชาวไร่ตอบกลับราวกับน้ำท่วมเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีผลกระทบ

เธออธิบายต่อว่าน้ำท่วมยังพาแร่ธาตุมาด้วย พืชผักจึงสมบูรณ์ขึ้นอีก เพียงแค่อยู่กับมันให้ได้ หากผืนนาเต็มไปด้วยน้ำ ก็มาพึ่งพาอาศัยน้ำแทน และเมื่อน้ำท่วมเช่นนี้ทุกปี กระบวนการทำนาจึงแบ่งเป็นฤดูกาลได้ชัดเจน อย่างสิ้นเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมก็ต้องเริ่มเกี่ยวข้าวก่อนน้ำจะท่วมอีกครั้ง ส่วนช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนก็ได้เวลาลงข้าวใหม่

น้ำท่วมไม่ใช่วิกฤตอีกต่อไป เมื่อเธอเลือกจะหันหน้าเข้าหาและรับมือกับมัน

suanpai06
ฤดูเก็บเกี่ยวหน่อไม้ในสวนไผ่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนถึงปลายกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน
suanpai07
การตอนกิ่ง (layering) เป็นการขยายพันธุ์พืชที่ทำให้กิ่งออกรากขณะติดกับต้นแม่ จากนั้นจึงตัดไปปลูกต่อ เช่นเดียวกับต้นชะอมของเปี๊ยกที่นำกิ่งตอนส่งต่อไปยังผู้คนฝั่งเมืองในตลาดริมแม่น้ำสะแกกรัง
suanpai08
การเตรียมตัวของกิมเฮี๊ยะในฐานะแม่ค้าเริ่มตั้งแต่เที่ยงวันหลังกลับจากขายของที่ตลาดเช้า เธอเริ่มตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิต ตัดแต่งให้สวยงาม และบรรจุเพื่อขนส่งไปขายในเช้าวันรุ่งขึ้น

แตกหน่อสู่มุมมองชีวิตแสนล้ำค่า

เมื่อหน้าฝนเวียนมาถึง หน่อไม้ก็ออกหน่อ โดยกิมเฮี๊ยะจะเตรียมไปขายที่ตลาดเช้าในช่วงบ่ายทุกวัน เริ่มจากคัดหน่อที่ได้ที่และเฉาะออกจากต้นไผ่ พร้อมนำไปปอกขาย หากไม่หมดก็นำมาแปรรูปทั้งดองและต้ม เช่นเดียวกับเปี๊ยก จำนงค์ หมายแพทย์จิตร สามีกิมเฮี๊ยะ อดีตข้าราชการครูผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกรหลังเกษียณ สวนไผ่ของเปี๊ยกสูงใหญ่เป็นสง่าตั้งแต่ทางเข้า หมู่ไผ่นับร้อยโน้มตัวโค้งเป็นซุ้ม ราวเชื้อเชิญผู้มาเยือน ทว่าเบื้องหลังกลับไม่ได้สวยงาม

“สมัยก่อนแพงมาก แต่ตอนนี้ ๓๐ บาท ทำไม่คุ้ม หน่อหนึ่งขายได้สูงสุดกิโลละ ๔๐ บาท พอขายไม่ได้ก็ต้องแปรรูปใส่ขวด ๕๐๐ มิลลิลิตร ต้องลงทุน พอไม่มีหน่อไม้สด ก็ซื้อหน่อไม้ดอง”

เปี๊ยกกล่าว ขณะก้มลงเฉาะหน่อไม้กลางสวน กิจการยังคงดำเนินต่อไป แม้ต้องปรับตัวไปตามเวลา หากหน่อไม้สดขายไม่ได้ ก็นำไปแปรรูป หรือหากขึ้นน้อยลง ก็มีกลวิธีเร่งให้ออกหน่อด้วยการจุดไฟเผา เมื่อ สัมผัสถึงความร้อนหรือความตาย ไผ่จะรีบออกหน่อโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับเปี๊ยกที่เคยประสบกับเรื่องไม่คาดฝันและสัมผัสความตาย การแตกหน่อสู่การเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มต้นขึ้น

เปี๊ยกเคยเข้าใกล้ความตายถึงห้าครั้ง ครั้งแรกเด็กชายเปี๊ยกแกว่งชิงช้าเล่นบนกิ่งก้านต้นมะม่วงอย่างสุดแรง หวังจะทะยานไปได้ไกลจนพลัดตกลงมา แต่เมื่อลืมตากลับจำไม่ได้ว่าตนเองคือใคร ต้องใช้เวลาอยู่ครึ่งค่อนวัน

ครั้งที่ ๒ มีเรือสำปั้นบรรทุกสินค้าเปี๊ยกว่ายน้ำเข้าหาเรือ แต่ เรือกลับแล่นเร็วจนตามไม่ทัน เด็กชายเปี๊ยกจำต้องว่ายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยากลับมา ทว่าร่างกายซีกหนึ่งชาขึ้นอย่างฉับพลัน จึงต้องว่ายน้ำด้วยมือข้างเดียวพร้อมแรงกระทุ้งน้ำจากขาที่ยังคงเหลืออยู่ ท้ายที่สุดเด็กชายเปี๊ยกก็กลับขึ้นมาได้ พร้อมปอดซ้ายที่เต็มไปด้วยหนอง แม่ของเปี๊ยกร้องไห้โฮด้วยความเสียใจและกังวล เพราะค่ารักษาสูง แต่หยดน้ำตาของผู้เป็นแม่ทำให้หมอเห็นใจจนรักษาให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หนองในปอดจึงได้รับการระบายออกและรักษาต่อไปจนหายดี

อีกครั้งหนึ่งตอนเป็นหนุ่ม เปี๊ยกเป็นลูกจ้างทำไร่ทำนา เวลาออกไปดายหญ้าหรือทำไร่ข้าวโพดก็ต้องพกปืนลูกซองไปด้วย ขณะเปี๊ยกและจิต ลูกพี่ลูกน้องของเขากำลังชมปืน จิตคว้าปืนมาเล็งใส่เปี๊ยกเป็นการหยอกล้อ พลางกล่าวว่า “ตายซะ เปี๊ยก เช่ะ!” เสียงลั่นไกดังขึ้น แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อนัดแรกไม่เป็นไร นัดที่ ๒ จึงตามมา จนกระทั่งนัด ๓ จิตเล็งไปที่มะม่วง บูม! เสียงกระสุนดังขึ้น ผู้ครองปืนขณะนั้นตกใจสุดขีด จะเป็นอย่างไรหากปืนหันไปที่เปี๊ยก ครั้งที่ ๓ ผ่านไป เขายังไม่ตาย

เปี๊ยกพบเจอเหตุการณ์ใกล้ความตายแบบนี้อีกเป็นครั้งที่ ๔ และ ๕ แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่ ตลอดช่วงชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องราวไม่คาดฝัน แต่ก็มอบบางอย่างกลับมามหาศาล ทั้งมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป และชีวิตบั้นปลายที่ใฝ่ฝันมานาน

“ทำอะไรที่อยากทำ เพราะไม่รู้ว่าเราจะไปเมื่อไร”

แม้กิจการหน่อไม้จะรุ่งบ้างร่วงบ้างปะปนกันไปตามฤดูกาลหรือธรรมชาติที่เปลี่ยนไปจากอดีต ที่แห่งนี้กลับเป็นชีวิตที่เขาเลือกใช้ยามสุดท้าย วิถีชีวิตธรรมดาบนท้องทุ่งห้อมล้อมด้วยธรรมชาติดำเนินเป็นกิจวัตร ตื่นนอนเมื่อต้องการ เดินดูหน่อไม้ หิวก็เด็ดผักกินกับน้ำพริก เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความสุข

“เป็นชีวิตที่อยากใช้ไหม”

“ใช่เลย เป็นชีวิตที่อยากใช้“

suanpai09
ตลาดเช้าช่วงตี ๓ ถึง ๖ โมงเช้า บนถนนเลียบแม่น้ำสะแกกรังฝั่งอุทัยธานีใหม่ เป็นพื้นที่ให้เกษตรกรอย่างกิมเฮี๊ยะและเปี๊ยกจากฝั่งเกาะเทโพนำวัตถุดิบมาวางขายให้ชาวเมืองอุทัยธานีได้เลือกซื้อ
suanpai10
วันธรรมดาของเปี๊ยกและกิมเฮี๊ยะขณะเก็บเกี่ยวพืชผักจากบ้านสวนไผ่เกษตรผสมผสาน อบอวลไปด้วยความสุขกับวิถีชีวิตธรรมดาที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและอยู่ร่วมกับธรรมชาติจนวาระสุดท้าย

ความสุขล้นใจในทุ่งกว้าง

ชีวิตบั้นปลายของเปี๊ยกและกิมเฮี๊ยะกลับมาบรรจบ ณ ผืนไร่บนเกาะเทโพแห่งนี้ แม้ว่ากิมเฮี๊ยะจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือลงแรงทำทั้งหมดแล้ว แต่พืชพรรณบนผืนนา ๗๐ ไร่ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของเธอ เมื่อผลผลิตได้ที่ก็เดินทางข้ามฟากมายังฝั่งเมือง กิมเฮี๊ยะจะเปลี่ยนบทบาทจากเกษตรกรสู่แม่ค้าตลาดเช้า ในกระจาดแต่ละวันเต็มไปด้วยวัตถุดิบชั้นดีจากไร่ ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้สด ชะอม หรือลูกไข่เน่า รุ่งเช้าเธอจะเป็นแม่ค้าผู้ส่งต่อพืชพรรณให้ผู้คนในจังหวัด แต่รุ่งสายเธอจะเป็นเกษตรกรผู้มอบชีวิตให้พืชผลนานาพันธุ์

แม้ธรรมชาติจะคาดเดาได้ยาก แต่วิถีชีวิตของเปี๊ยกและกิมเฮี๊ยะล้วนเปี่ยมสุขจากธรรมชาติ ทั้งลมเย็นใต้ร่มเงาไม้และผลผลิตจากทุ่งไร่ ชีวิตจึงดำเนินต่อไปโดยอิงอาศัยธรรมชาติ สร้างความสุขในแต่ละวันที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน

“สบายอยู่แล้วนี่ไง มีความสุขไปวัน ๆ ” กิมเฮี๊ยะยิ้มกว้าง

รายการอ้างอิง

  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเทโพ. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. https://www.kohthepo.go.th/dnm_file/project/52501003_center.pdf.