เรื่อง : ผณินทร เสียงเย็น
ภาพ : ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา

จักรยานเชื่อมใจ แรงบันดาลใจจากเมืองอุทัยธานี
ณ ริมถนน อน.๓๐๐๒ จากบึงพระชนกไปเกาะเทโพในเมืองอุทัยธานี เป็นเส้นทางยอดนิยมและเป็นมิตรต่อนักปั่นจักรยาน ด้วยเลนจักรยานตลอดเส้นทาง

เมืองอุทัยธานีมีความพิเศษ ในความช้ามีเวลาให้หยุดพักและอยู่กับตัวเองมากขึ้น ในความเล็กมีความเป็นมิตรของผู้คนที่เชื่อมโยงกัน

ไม่เพียงต่อผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน แต่ยังเป็นมิตรต่อการปั่นจักรยาน และจักรยานก็เป็นตัวเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน อีกทั้งช่วยเปิดโลก มุมมอง สถานที่ใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้เราได้สำรวจลึกลงไปในจิตใจของตัวเอง

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีจักรยานเป็นเพื่อนวัยเด็ก เราไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ แม้วันที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก ผมก็มักจะขึ้นไปนั่งแล้วกดกระดิ่งบนแฮนด์ เพราะชอบความรู้สึกและเสียงกริ๊ง ๆ แต่บัดนี้กลับกลายเป็นเพียงเศษเหล็กหลังเครื่องซักผ้า เต็มไปด้วยฝุ่นและหยากไย่

นานแค่ไหนแล้วนะ ที่ไม่ได้แตะและไม่เคยนึกถึงมันเลย

บอกไม่ได้เหมือนกันว่าผมกับจักรยานเลิกสนิทกันตอนไหน อาจเพราะยิ่งเติบโต ชีวิตก็เริ่มเข้าใกล้เมืองใหญ่ พื้นที่สีเขียวลดลง ความวุ่นวายของเมืองที่ขาดการบริหารจัดการที่ดีทำให้ต้องเร่งรีบใช้ชีวิตมากขึ้น สภาพถนน ทางเท้า หรือเลนจักรยานที่ใช้ไม่ได้จริง รวมถึงอากาศร้อนและมลพิษ นอกจากนั้นผมยังกลัวการใช้รถใช้ถนน แต่น่าประหลาดใจที่ผมตัดสินใจลองปั่นจักรยานในตัวเมืองอุทัยธานีตั้งแต่วันแรกที่มาถึง

bikeutai02
เส้นทางจักรยานใน “บึงพระชนก” หนองน้ำขนาดใหญ่ที่เหมาะสำหรับการพักผ่อนและกิจกรรมกลางแจ้ง เส้นทางมีสองชั้น โดยชั้นในมีระยะทาง ๘๐๐ เมตร และชั้นนอก ๓ กิโลเมตร
bikeutai03
นักปั่นจักรยานหยุดพักพูดคุยใต้ร่มเงาต้นไทรใหญ่ซึ่งปกคลุมศาลาริมทาง เป็นวิวทิวทัศน์ที่พบได้ระหว่างทางจากบึงพระชนกไปเกาะเทโพ

จักรยานคอนเนกต์

“การอยู่เมืองเล็ก ๆ ได้มีเวลากับมันเยอะ ๆ สำคัญที่สุด ๒๔ ชั่วโมงของคนกรุงเทพฯ กับคนอุทัยฯ ไม่เท่ากัน ของกรุงเทพฯ มันเร็วมาก คุณอยู่บนรถก็ ๖ ชั่วโมงแล้ว แต่เมืองอุทัยฯ คุณใช้เวลาแค่ ๕ นาทีก็ถึงจุดหมายปลายทาง”

“เก๋” มงคล ฝอยทอง สมาชิกชมรมจักรยานอุทัยธานี และนักกีฬาปั่นจักรยานทีมชาติ ประเภททีมไทม์ไทรอัล อันดับ ๘ ของประเทศ วัย ๔๗ ปี พูดถึงความเป็นมิตรของจังหวัดอุทัยธานีต่อคนปั่นจักรยาน เขายังเสริมอีกว่าเมืองนี้เหมาะกับการใช้จักรยาน เพราะขนาดเล็ก สัญจรไปไหนมาไหนได้ง่าย อีกทั้งผู้คนก็คุ้นหน้าคุ้นตากัน ผู้ใช้รถใช้ถนนจึงเกรงอกเกรงใจกัน

นอกจากความสวยงามของภูมิทัศน์ที่แบ่งเป็นสองด้าน สภาพภูมิประเทศยังมีทั้งส่วนที่เป็นเกาะและแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จึงมีเส้นทางเต็มไปด้วยธรรมชาติให้ผู้คนได้สัมผัส เส้นทางจากเกาะเทโพไปยังบึงพระชนก หากเริ่มจากสะพานวัดโบสถ์ซึ่งเป็นสะพานขนาดเล็กสำหรับจักรยาน มอเตอร์ไซค์หรือการเดินเท้า เชื่อมต่อกับตลาดสดเทศบาลและวัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์ จะมีระยะทางประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร เป็นเส้นทางยอดนิยมของนักปั่นจักรยานและนักวิ่ง ระหว่างทางมีทิวทัศน์สวยงามของพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเงียบสงบ มองไปทางไหนก็เห็นทางจักรยานและคนใช้จักรยาน

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมไม่แปลกใจที่อุทัยธานีจะเป็นหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่ขึ้นมาหากพูดถึงเมืองสำหรับคนชอบปั่นจักรยาน แม้กระทั่งคนที่กลัวถนนแบบผมยังกล้าพาตัวเองออกมาสัญจรด้วยจักรยาน และยิ่งปั่นมากเท่าไร ความกลัวก็ค่อย ๆ หายไปมากเท่านั้น

การปั่นจักรยานในเมืองอุทัยธานีครั้งแรกทำให้ผมเริ่มเข้าใจสิ่งที่เก๋บอก ว่าทำไมบางคนถึงตื่นแต่เช้าตรู่ทุกวันเพื่อปั่นจักรยานหลายสิบกิโลเมตร แม้กระทั่งเวลาไปไหนมาไหนไกล ๆ

“เขาเรียกว่า ‘จักรยาน connect’ คือมันเชื่อมคนเข้าหากัน”

เก๋พูดขึ้น ณ ริมถนน อน.๓๐๐๒ ขณะหยุดพักหลังปั่นจักรยานจากบึงพระชนกไปยังเกาะเทโพ บึงพระชนกเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เหมาะสำหรับการพักผ่อนและกิจกรรมกลางแจ้ง มีพื้นที่สองชั้น ถนนชั้นในระยะทาง ๘๐๐ เมตร และชั้นนอก ๓ กิโลเมตร นอกจากเหมาะแก่การออกกำลังกาย ยังได้สัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตท้องถิ่น

ป้าย “workout” ประกบด้วยกราฟิกรูปจักรยานและคนวิ่ง ตั้งเด่นอยู่เบื้องหน้าผม เหล่านักปั่นจักรยาน และเกษตรกรที่กำลังกลับบ้านค่อย ๆ ผ่านเราไป แม้ลักษณะภายนอกและเสื้อผ้าจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน ณ ขณะนั้นคือจักรยาน

อีกฝั่งถนนคือเพื่อนนักปั่นจักรยานของพี่เก๋ที่ตามมาด้วย และผมก็จะได้ทำความรู้จักกับทุกคนในไม่ช้า

ผมรู้สึกอบอุ่นเมื่อเห็นกลุ่มนักปั่นจักรยานพูดคุยหัวเราะกันเสียงดัง และยังให้ผมลองปั่นจักรยานเสือหมอบ แม้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ผมก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขา

bikeutai04
“เก๋” และเพื่อนชมรมจักรยานอุทัยธานี ขณะปั่นลงจาก “สะพานวัดโบสถ์” สะพานขนาดเล็กสำหรับจักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือการเดินเท้า ซึ่งเชื่อมต่อตลาดสดเทศบาลกับวัดโบสถ์
bikeutai05
เส้นทางจากเกาะเทโพไปยังบึงพระชนกเต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงามของเมืองอุทัยธานี พื้นที่เกษตรกรรม และชุมชนเงียบสงบ

จากความชอบสู่ความคลั่งไคล้

“ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่” ประโยคจากภาพยนตร์เรื่อง Fast and Feel Love ของผู้กำกับฯ เต๋อ นวพล เข้ามาในหัวผมขณะฟังเก๋เล่าถึงความรักต่อจักรยาน

เขาเป็นคนมีแพสชันแรงกล้ากับบางสิ่ง ซึ่งนำพาชีวิตไปยังหลายจุด ทั้งการก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเอง ไปถึงนักปั่นจักรยานทีมชาติอันดับ ๘ ของประเทศ ในประเภททีมไทม์ไทรอัล อีกทั้งยังได้เจอมิตรภาพที่ดีในกลุ่มนักปั่นจักรยาน และยังเชื่อมโยงคนนอกอย่างผมให้เข้าไปสัมผัสโลกและสังคมคนรักจักรยาน

“เริ่มจากชอบ หลงใหลในสไตล์และดีไซน์ สู่ความคลั่งไคล้หลังได้เข้าสู่ชุมชนจักรยานแล้วเรามีเพื่อน”

จักรยานเป็นของเล่นวัยเด็กของเก๋ รูปลักษณ์ ดีไซน์ และสไตล์จักรยาน ทั้งตัวบอดี หรือเบาะนั่งที่สูง เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางสู่สายนักปั่น จากนั้นจึงเริ่มประกอบรถจักรยานเพื่อออกกำลังกายเอง โดยมีจักรยานโครโมลี (Chromoly) ที่มีส่วนผสมของโครเมียมและโมลิบดีนัม (ลักษณะคล้ายเหล็ก แต่แข็งแรงและเบากว่า จึงขี่สบาย แต่มีโอกาสเกิดสนิม) เป็นเพื่อนคู่ใจคันแรก จากนั้นเป็นอลูมิเนียมและคาร์บอนตามลำดับ

จักรยานทำให้เขาเจอเพื่อนในวงการมากขึ้น และเริ่มก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองผ่านระยะทางการปั่นที่เพิ่มขึ้นจาก ๕ จนถึง ๑๐๐ กิโลเมตร

“สมมติเราชอบฟังเพลงแนวนี้ ก็จะพาตัวเองไปเจอร้านที่เล่นเพลงแนวนี้ แล้วก็จะเจอคนที่ชอบเหมือนกัน ก็เหมือนจักรยาน เราเริ่มรู้จักคนจากจักรยาน เขาเรียกว่า ‘จักรยาน connect’ เชื่อมคนเข้าหากัน ปั่นจักรยานแล้วไปเจอกัน คุยกันถูกคอ แล้วก็จะเชื่อมโยงต่อไปเรื่อยๆ” โดยปัจจุบันชมรมจักรยานอุทัยธานีมีสมาชิกกว่า ๕๐ คน

แม้จะมีตารางปั่นจักรยานและออกกำลังกายที่แน่น รวมถึงยังต้องขายหมี่คลุก ลูกชิ้นและหมูปิ้งตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์ แต่สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากสุดกลับเป็นการพักผ่อน

“ร่างกายคนเรา สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่คือการพักผ่อน และการพักผ่อนคือส่วนสำคัญของการออกกำลังกาย”

ในมุมของเก๋จังหวัดอุทัยธานีเต็มไปด้วยธรรมชาติ มีสิ่งรบกวนใจน้อย จึงเป็นเมืองแห่งการพักผ่อน ยิ่งเป็นเมืองที่เอื้อต่อการพักผ่อนเท่าไร คนก็จะได้พักผ่อนมากขึ้นเท่านั้น ทำให้หลับสนิทง่าย และสุขภาพจิตก็จะดีตาม

“ท้ายสุดก่อนตาย เราอาจไม่ต้องไปวุ่นวายกับโลกภายนอกมากก็ได้ คนเราพอจะตายก็ตาย บางทีก็โดนรถชนตาย เป็นโรคตาย ติดเตียงตาย แต่คนอุทัยฯ ถ้าใช้ชีวิตอย่างนี้ โอกาสจะหลับสบายจนถึงตายมีสูงมาก เพราะความเรียบง่ายไม่หวือหวา ไม่มีสิ่งเร้ากระตุ้นให้ไปทำอะไรมากมาย”

เก๋ทิ้งท้ายก่อนบทสนทนาจะจบลงว่า “การใช้จักรยานเป็นการสัมผัส เข้าถึงสิ่งต่าง ๆ และรับรู้ได้ง่ายกว่ามอเตอร์ไซค์… มันช้า แต่เห็นหมดทุกอย่าง” ผมขอยืมจักรยานพี่เก๋ปั่นวนกลับมาที่บึงพระชนก ความรู้สึกของลมเย็นตีหน้า การได้มองเห็นอะไรกว้างขึ้น และได้ลืมเรื่องราวในชีวิตชั่วขณะ

นี่สินะ ความมหัศจรรย์ของจักรยานที่ลืมไป ผมคิดในใจก่อนจะลงจากจักรยาน และพบกับเน็ต ท็อป และทับทิม

bikeutai06
“เก๋” กับเพื่อนร่วมทางจากชมรมจักรยานอุทัยธานีบนสะพานวัดโบสถ์ จักรยานทำให้ก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเอง และยังได้พบเจอมิตรภาพที่ดี
bikeutai07
“เน็ต” อดีตนักกีฬาวิ่ง ผู้หันมาชื่นชอบการปั่นจักรยานอีกครั้ง ด้วยโรคหอบหืดที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก จึงต้องออกกำลังกายอยู่เสมอ ปัจจุบันเธอเลือกปั่นจักรยานแทนการวิ่ง

ปั่นสองล้อ สู่ความใกล้ชิด

“บางทีปั่นคนเดียวก็เบื่อ แต่พอเขาปั่นด้วยก็อุ่นใจ ไปไหนไปด้วยกัน หันมายังเจอกัน”

“เน็ต” นันท์นภัส มหาวัฒนานันท์ วัย ๓๑ ปี ปัจจุบันขายของออนไลน์ พูดถึง “ท็อป” กัณณ์ กาญจนประชาชัย สามีช่างภาพ วัย ๓๙ ปี หลังลงจากจักรยานที่บึงพระชนกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มในชุดนักปั่นจักรยาน ก่อนจะมองไปยังพี่ท็อปที่กำลังเล่นกับทับทิม ลูกสาววัย ๖ ขวบ ทั้งคู่อยู่ในชุดปรกติ แต่ก็ตามมาสนับสนุนภรรยาและแม่ด้วย เป็นภาพที่อบอุ่นใจ

“จริง ๆ เราชอบจักรยานมาตั้งแต่เด็ก แต่ดันได้เป็นนักกีฬาวิ่ง เพิ่งกลับมาปั่นจักรยานอีกทีตอนอายุ ๒๕ แล้ว จนรู้สึกว่าชอบมัน”

เน็ตต้องออกกำลังกายอยู่เสมอเพราะโรคหอบหืดที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เธอเล่าว่าจักรยานเป็นสิ่งที่ชอบ แต่การเป็นนักวิ่งสมัยเรียนทำให้ค่อย ๆ ห่างจากจักรยาน จนช่วงโควิด-๑๙ ซึ่งสถานที่ต่างปิดลง การออกไปวิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมหลักของครอบครัวจึงแทนที่ด้วยจักรยาน

“นึกถึงวัยเด็กเลย” เน็ตพูดถึงช่วงเวลานั้นด้วยรอยยิ้ม

“เราไม่เคยหยุดออกกำลังกาย วิ่งมาตลอด จนได้เข้าสู่วงการปั่น เรียกได้ว่าติดงอมแงม กลายเป็นว่าตอนนี้เลิกวิ่งแล้วหันมาปั่นแทน”

ความแตกต่างของการวิ่งและการปั่นจักรยานในมุมมองของเธอคือสุนทรียศาสตร์ทางกีฬา ความอิสระและตัวเลือกสถานที่ซึ่งมีมากกว่า จึงมีความสุขกว่า การปั่นจักรยานไปสถานที่ใหม่ เส้นทางไกล ทำให้มีเวลาคิดและสำรวจตัวเอง สร้างพลังบวกในการใช้ชีวิต เมื่อความชอบเพิ่มมากขึ้น ระยะทางและเวลาซ้อมก็เพิ่มตาม

“จุดเริ่มต้นสำหรับพี่ คือเราเริ่มปั่นด้วยความเป็นห่วง”

ท็อป ผู้เป็นสามีเล่าจุดเริ่มต้นที่เข้ามาในวงการ เขาไม่ได้ชอบการปั่นจักรยานมากนัก แต่เริ่มทำเพราะความห่วงใยต่อภรรยา

“พี่ว่าครอบครัวที่ดีคือคำว่า support เท่านั้นเลย เราก็เลยไปทำกับเขา จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหนื่อยยังไง เจออะไรบ้างระหว่างทาง แล้วเน็ตก็ชอบด้วย พอคนที่เรารักเขารักในสิ่งนี้ เราก็จะรักด้วย”

การปั่นจักรยานไม่เพียงทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่ยังเป็นตัวสานสัมพันธ์ครอบครัวให้แน่นแฟ้น ได้ใกล้ชิดกับภรรยาและลูกสาววัยที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังพบมิตรภาพที่ดีกับกลุ่มนักปั่นในอุทัยธานี และยังพาเขาให้สำรวจลึกเข้าไปในจิตใจของตัวเอง

ความเหนื่อยและท้อขณะปั่นจักรยานไม่เพียงทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่ยังฝึกจิตใจให้เข้มแข็งและมีความอดทนมากขึ้น

“การออกกำลังกายไม่ใช่แค่สุขภาพ ไม่ใช่แค่เหงื่อออก แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่นำมาใช้ในชีวิตได้ อยู่ที่ว่าพอจบวันเรานำประสบการณ์นั้นมาถอดรหัสใช้ในชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงาน อย่างการดำเนินชีวิตต้องมีเส้นทาง ก็เหมือนจักรยาน เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีหินมีบ่อหรือเปล่า แล้วเราจะเหยียบมันได้เลยไหม ถ้าเหยียบแล้วไม่ล้ม ไม่เจ็บ ไม่มีแผลอะไร เราก็ไปต่อได้ แต่ถ้าเหยียบแล้วล้ม เราก็ต้องกลับมาเรียนรู้แผลนั้นแหละ”

จักรยานกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความรักและความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้ เป็นตัวสร้างความใกล้ชิดและความอบอุ่น เป็นสะพานเชื่อมต่อความรู้สึกของคนใกล้ตัว รวมทั้งความรู้สึกของตัวเอง

bikeutai08
จักรยานเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความรักและความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้ สร้างความใกล้ชิด ความอบอุ่น และการสนับสนุนกันและกัน
bikeutai09
“มีน” เทรนเนอร์ออกกำลังกายและอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้เลิกบุหรี่สำเร็จจากการปั่นจักรยานในเวลาไม่ถึงปี

สุดท้ายอาจจะอยู่ที่ว่า “กับใคร”

“ปั่นจักรยานเป็นหลักสิบหลักร้อยกิโลไปเพื่ออะไร? เมื่อก่อนผมก็เคยพูดประโยคนี้กับนักไตรกีฬาคนหนึ่ง”

“มีน” วัย ๓๗ ปี เทรนเนอร์ออกกำลังกายและอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้เริ่มปั่นจักรยานและเข้าชมรมได้ไม่ถึงปี กล่าวขณะหยุดพักใต้ร่มเงาต้นไทรใหญ่ที่ปกคลุมศาลาริมทางกับเพื่อนในชมรม

“ผมเป็นคนทำกิจกรรมหลากหลาย ไม่ได้อยู่กับที่ เริ่มจากอยากหาสิ่งใหม่นอกห้องฟิตเนส”

แม้จะเริ่มปั่นอย่างจริงจังได้ไม่ถึงปี แต่จักรยานและชมรมนักปั่นทำให้เขาเลิกบุหรี่ได้สำเร็จหลังพยายามมาหลายครั้ง

“ผมดูดบุหรี่มาค่อนข้างนาน พยายามมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ก็ลดปริมาณลงจนเลิกได้สำเร็จ เพราะอะไรรู้ไหม? คนเราจะตัดสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้”

เขาตัดสินใจเลิกบุหรี่อย่างจริงจังเมื่อได้รู้จักกับกลุ่มนักปั่นจักรยาน ในช่วงแรกรู้สึกเหนื่อยและปั่นตามเพื่อนไม่ทัน เขาจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าบุหรี่ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

“ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าบุหรี่ทำให้เราหอบ เรารู้อยู่แล้ว ตอนนั้นก็พยายามโกยใส่ถุงทิ้งเลย คำว่าลงแดงเป็นยังไงไม่รู้สึก ไม่รู้จัก เพราะเราอยากได้การยอมรับจากรุ่นพี่ว่าถึงจะเป็นหน้าใหม่ แต่มีความตั้งใจ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ถ้าตั้งใจ”

การเข้าร่วมกลุ่มนักปั่นทำให้เขาพบเพื่อนใหม่และได้เรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้พยายามและตั้งใจมากขึ้น จักรยานไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือออกกำลังกาย แต่เป็นพาหนะที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตและมิตรภาพที่ดี

“เราออกมาปั่นกันทุกเช้า มาขอแค่ให้ได้เจอกัน ขอแค่ให้ได้ปั่น ไปไหนก็ไปกัน มันอยู่ที่คน”

เขากล่าวทิ้งทาย

ความพิเศษของจักรยานและจังหวัดอุทัยธานีที่เชื่อมโยงหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกัน และยังทำให้ผมกลับเข้ามาในโลกจักรยานอีกครั้ง แรงบันดาลใจ บทสนทนาและความรู้สึกทั้งหมดยังคงตราตรึงอยู่ในใจผมถึงทุกวันนี้

สุดท้ายนี้คงได้เวลาปัดฝุ่นและหยากไย่บนจักรยานคันเก่าที่วางทิ้งไว้หลังเครื่องซักผ้า แล้วเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่กับมันอีกครั้ง…

bikeutai10
“เราออกมาปั่นกันทุกเช้า มาขอแค่ให้ได้เจอกัน ขอแค่ให้ได้ปั่น ไปไหนก็ไปกัน มันอยู่ที่คน” จักรยานไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือออกกำลังกาย แต่นำพาเขาไปสู่การเปลี่ยนแปลงและมิตรภาพที่ดี