ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

วันและเวลาของสนธิสัญญาพลาสติกโลก
กิจกรรมเรียงร้องและส่งกำลังใจให้ตัวแทนเจรจาของประเทศไทยก่อนเข้าสู่การประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก ครั้งที่ ๕

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมกว่า ๑๖๐ องค์กร ประกอบด้วยมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation : EJF) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) สมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ (Trash Hero Thailand Association) ฯลฯ เดินทางมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจา “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน – ๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เน้นยํ้าให้รัฐบาลสนับสนุนมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก ยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรชีวิต โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิ และสุขภาพของมนุษย์เป็นหลัก

ปัจจุบันแทบไม่มีพื้นที่ใดบนโลกที่ไม่พบพลาสติก ไม่ว่าใต้ทะเลลึก ยอดเขาเอเวอเรสต์ ภายในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ตั้งแต่ขั้นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การขนส่ง การอุปโภค การรีไซเคิล รวมไปถึงการกำจัดทิ้ง

นับตั้งแต่พลาสติกถูกผลิตขึ้นมามีการใช้สารเคมีที่เกี่่ยวข้องกับกระบวนการผลิตพลาสติกทุกประเภทมากกว่า ๑๓,๐๐๐ ชนิด โดยมีสารเคมีมากกว่า ๓,๐๐๐ ชนิดเป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม เช่น ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เล็ดลอดลงสู่ท้องทะเลและแหล่งน้ำจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำ มีงานวิจัยระบุว่าไมโครพลาสติกซึ่งปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์นํ้าชนิดต่าง ๆ ส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่บริโภคอาหารทะเล การกระบวนการผลิตพลาสติกและใช้สารเคมีข้างต้นจําเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน ไปจนถึงขั้นลด ละ หรือเลิกใช้งาน ทดลองหาสารทดแทนชนิดอื่นที่ปลอดภัยกว่ามาใช้

หลังแนวทางลดพลาสติกด้วยระบบสมัครใจมีแนวโน้มว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่ามาตรการจัดการพลาสติกต้องเกิดขึ้นครอบคลุมทุก ๆ ประเทศทั่วโลก ถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาพลาสติกที่ถือเป็นมลพิษข้ามพรมแดนได้อย่างเด็ดขาด ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีสนธิสัญญาพลาสติกโลกขึ้นมาบังคับใช้

ย้อนเวลากลับไปในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๕ (UNEA 5) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา สมาชิกที่เข้าร่วม ๑๗๕ ประเทศลงมติเห็นชอบให้จัดทำ “มาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก ที่เชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗

2024plasticday02
2024plasticday03
ข้อความรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหามลภาวะจากพลาสติก ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ อาทิ โลกร้อน การปนเปื้อนลงสู่ระบบนิเวศทางทะเลจนผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

มาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันสหประชาชาติเรียกว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” (Global Plastic Treaty) จะมุ่งเน้นแนวทางการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่ควบคุมปริมาณการผลิต กํากับการใช้สารเคมีอันตรายและสารเติมแต่งชนิดต่าง ๆ ลดละ เลิกผลิตหรือควบคุมการใช้พลาสติกบางชนิด เช่น พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง กำหนดให้ใช้พลาสติกทางเลือกหรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ พัฒนากลไกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตพลาสติกไปถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเพื่อให้ชุมชน ผู้ปฏิบัติงานคัดแยกขยะ แรงงาน คนทำงานตลอดวงจรการผลิตพลาสติกมีบทบาทและมีปากเสียงในการเจรจา โดยยึดถือจุดมุ่งหมายหลักคือแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกที่เป็นปัญหาไร้พรมแดน

“ปฎิเสธไม่ได้ว่าการผลิตพลาสติกและใช้ประโยชน์จากพลาสติกทุกวันนี้อยู่ในระดับที่ไม่ยังยืนและสร้างผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การประชุมร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ ๕ ถือเป็นครั้งสุดท้ายสุดท้ายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโสและผู้จัดการโครงการพลาสติกระดับเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิงแวดล้อม (EJF) ให้ความเห็น “การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นโอกาสที่ทั่วโลกจะหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงกระบวนการกําจัด โดยเฉพาะเรื่องการลดการผลิตพลาสติกปฐมภูมิ ถึงแม้จะเป็นประเด็นท้าทาย แต่การไม่พูดถึงหรือมองว่าเป็นไปไม่ได้ไม่ใช่ทางออก”

การมีผู้คนจากหลากหลายภาคส่วนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมารวมตัวกันหารือเรื่องมลพิษพลาสติกบนพื้นฐานข้อมูล ด้วยการร่วมมือกันของประเทศต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแก้ไขปัญหาพลาสติก

สุภาวรรณ ศรีรัตนะ ผู้ประสานงานภายในประเทศ สมาคมแทรชฮีโร่ไทยแลนด์ องค์กรอาสาสมัครระดับโลกที่มีภารกิจสร้างชุมชนคนทำความสะอาดและลดขยะในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นเสริมสร้างความเปลี่ยนแปลงจากระดับชุมชน สนับสนุนให้ผู้คนช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหามลพิษขยะด้วยตนเอง เพื่อท้ายที่สุดแล้วเราจะมีโลกที่ปราศจากขยะให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืนต้องมาพร้อมความรับผิดชอบของผู้ผลิตและตัวบทกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อให้หนทางแก้ปัญหามลภาวะพลาสติกดําเนินไปพร้อม ๆ กันและตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันทั่วโลก สนธิสัญญาพลาสติกโลกจึงมีความสำคัญ

“การเจรจาที่จะถึงนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประชาคมโลกจะสามารถบรรลุสนธิสัญญาที่จะยุติมลพิษพลาสติก และกําหนดระดับการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนได้”

2024plasticday04
ผู้คนรวมตัวกันบนถนนในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ สถานที่จัดงานเจรจา “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” เรียกร้องให้ตัวแทนเจรจาของนานาประเทศไม่นิ่งเฉยต่อปัญหามลพิษพลาสติก

ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาสังคมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในการเจรจา โดยออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร ๑๐ ข้อดังต่อไปนี้

๑. ลดการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยากและสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้

๒. กําหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมี ทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

๓. กําหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสําหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซํ้า การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน

๔. กําหนดให้มีการพัฒนากฎหมายและขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จําเป็น ขยายระบบใช้ซํ้า การเติม และการซ่อมแซม รวมไปถึงการ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้จริงภายในประเทศ ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายของสิงแวดล้อมที่เกิดขึ้น

๕. กําหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงรายงาน ข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกสู่สาธารณะ

๖. กําหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกใช้แล้ว ที่ให้ความสําคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกําหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิงแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

๗. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น

๘. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกําลังพัฒนา

๙. กําหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก

๑๐. กําหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคํานึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์