เรื่อง : วรรณพร กิจโชติตระการ
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล
Parkใจ ในสวน เดินทางมาจนถึงครั้งที่ 4 แล้วนะ!!
วันนี้เราเดินตาม บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ไปสำรวจธรรมชาติย่านซอยอารีย์ เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
อารีย์ ย่านกลางเมืองที่พลุกพล่านแห่งนี้ ไม่ได้มีแค่คนที่อาศัยอยู่ สัตว์ต่างๆ ก็อยู่อาศัยและมีวิถีชีวิตของตัวเองด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากแมว สุนัข นก ผีเสื้อ ที่เราพบเจอได้บ่อย ยังมีกระรอก สัตว์ 4 ขา หางเป็นพวง ที่เรามักจะเห็นวิ่งอยู่บนต้นไม้ หรือไต่ไปไต่มาอยู่บนสายไฟ
บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา หรือบาส Ari Eco Walk วิทยากรในวันนี้ จะพาทุกคนมาร่วมเดินสำรวจระบบนิเวศ ตามรอยกระรอกในเมืองด้วย concept ‘ผู้ตรวจสอบคุณภาพชีวิตของกระรอก’ เริ่มจาก BTS อารีย์ แล้วเดินทะลุซอยอารีย์ 1 ไปยังสวนกรมประชาสัมพันธ์ และสวนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กระรอกตัวแรกที่เห็นในวันนี้ กำลังวิ่งอยู่บนกิ่งของต้นไม้ต้นหนึ่ง ระหว่างทางเราเห็นทั้งไม้ดอกและไม้ประดับ เช่น ต้นแคนา ต้นอโศกอินเดีย ไม้ดอกหลากหลายสี แต่เมื่อสังเกตดูถึงพบว่าข้างทางไม่มีไม้ผลเท่าไหร่นัก
“แล้วกระรอกกินอะไร คนหรือสัตว์ได้ประโยชน์อะไรจากต้นไม้เหล่านี้” บาสตั้งคำถามชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมขบคิดระหว่างเดิน
ในสวนกรมประชาสัมพันธ์ บรรยากาศร่มรื่นกว่าตอนเดินอยู่ข้างนอก กระรอกก็เยอะกว่ามาก
บาสชวนทุกคนมองกระรอกอย่างใจเย็น สังเกตลักษณะ สีสัน ท่าทางการใช้ชีวิต ยิ่งต้นไม้มีขนาดใหญ่ กิ่งก้านสาขาเยอะ กระรอกก็เยอะตามไปด้วย บ้างเดินตัวเดียว บ้างก็วิ่งไล่กันเป็นคู่ แต่ก็พบว่ากระรอกเหล่านี้ไม่มีตัวไหนลงมาเดินบนพื้นดินเลย เพราะพื้นที่ปลอดภัยของกระรอกเมืองเหล่านี้ คือต้นไม้
ต้นไม้ให้ร่มเงากับคน ต้นไม้ที่มีโพรงก็เป็นบ้านที่ช่วยกันแดดกันฝนให้กระรอก แม้แต่ต้นไม้ที่กำลังจะยืนต้นตาย ก็เป็นประโยชน์ต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อย แต่น่าเสียดายที่คนไม่ปล่อยให้มีต้นไม้ใหญ่แห้ง เรามักจะตัดต้นไม้เหล่านั้นทิ้งเพียงเพราะข้างในมันมีรูหรือโพรง สวนสาธารณะเองก็ยังไม่มีไม้ยืนต้นที่ตายแล้วให้เป็นที่อยู่แก่สัตว์ที่จำเป็น
เราเดินมาถึงสวนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆ กัน ครั้งนี้คุณบาสให้สมมติว่าตัวเราเป็นกระรอก แล้วลองหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเป็นบ้าน เลือกพื้นที่ได้ตามความชอบของตัวเอง แล้วค่อยมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
สมาชิกท่านหนึ่งกล่าวว่า “ตอนแรกเลือกต้นไม้ที่อยู่โดดๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เลือก เพราะรู้สึกว่าการอยู่โดดๆ มันโดดเดี่ยว ขาดเพื่อน จึงไปเลือกต้นไม้ที่เตี้ยลงมาหน่อย และอยู่ใกล้กับต้นอื่นมากขึ้น จะได้กระโดดข้ามไปมาได้ กระโดดไปเจอเพื่อนๆ มีลูกไม้ก็จะได้แบ่งกันกิน
กิจกรรมในวันนี้ทำให้หลายคนได้ค้นพบสิ่งใหม่ อย่างน้อยที่สุดคือการที่พวกเขาได้รู้จักสวนสาธารณะกลางเมืองทั้ง 2 แห่ง การเรียนรู้ในวันนี้ก็ส่งผลต่อการเป็นมนุษย์ของเราเช่นกัน คนยังต้องการอากาศดีๆ ยังต้องการผลไม้ ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดี มันก็ทำให้คนเราสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น ละเอียดขึ้น ช้าลง มองเห็นบริบทระหว่างทางที่เดินไป
บางคนเล่าว่า ตนไม่เคยคิดเลยว่ากระรอกมันมีความสำคัญอย่างไร แต่วันนี้เราถึงได้เห็นว่ามันมีการพึ่งพิงกัน
การอยู่ร่วมกันของคนกับกระรอกในเมืองนี้ นำมาสู่การตั้งคำถามถึงวิธีการจัดการเมืองของภาครัฐ ว่านอกจากความเหมาะสมต่อผู้คนแล้ว ได้คิดถึงสิ่งระบบนิเวศหรือสิ่งมีชีวิตอื่นอีกหรือไม่
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วม Park ใจ ในกิจกรรมรูปแบบอื่นหรือแลกเปลี่ยนเรื่องการสัมผัสธรรมชาติด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ
กิจกรรมดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine และ Nairobroo – นายรอบรู้ นักเดินทาง