ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

ประมงพื้นบ้านไทยในเวที CBD-COP16
รุ่งเรือง ระหมันยะ (กลางภาพ) ชาวประมงพื้นบ้านจะนะ และ วรรณิศา จันทร์หอม (ขวาสุด) นักวิจัยท้องถิ่น มอบภาพพิมพ์เกียวทาคุปลาทะเลจะนะให้เครือข่ายประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็กในภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นที่ระลึก

ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๒๔ ที่ผ่านมา มีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติที่สำคัญ ๒ รายการ คือระหว่างวันที่ ๒๑ ตุลาคม ถึง ๑ พฤศจิกายน เป็นการประชุมรัฐภาคี (Conferenc Of Parties : COP) ของสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ ๑๖ (UN Convention on Biological Diversity) หรือ CBD-COP16 จัดขึ้นที่เมืองคาลิ ประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ ภายใต้ ธีม “Peace with Nature” หลังจากนั้นระหว่างวันที่ ๑๑-๒๒ พฤศจิกายน เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP29 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ชายแดนทวีปยุโรปฝั่งตะวันออก

เวที CBD-COP16 เน้นประเด็นปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อาจไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนมากเท่าเวที COP29 ที่เน้นเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก แต่ในปีนี้มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากประเทศไทยเดินทางไกลกว่าครึ่งค่อนโลกไปร่วมงานดังกล่าว

“ทะเลคือหัวใจของการทำประมงพื้นบ้าน เป็นแหล่งยังชีพให้ชุมชนของเรา การทำประมงไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ช่วยให้เราดูแลครอบครัวและดำรงชีวิตอยู่อย่างสมดุลกับท้องทะเลมายาวนาน” รุ่งเรือง ระหมันยะ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากชายฝั่งทะเลอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าวระหว่างการประชุม CBD-COP16 ร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา

“ถึงแม้พวกเราจะไม่มีใบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ดั้งเดิมของเราหยั่งลึกและสั่งสมมานานผ่านการอยู่ร่วมกับทะเลมาตลอดทั้งชีวิต”

cbd cop02
ซานดิเอโก เดอ กาลิ (Satiago de Cali) หรือ เมืองคาลิ ประเทศโคลอมเบีย ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CBD-COP16 ประจำปี ค.ศ.๒๐๒๔ มุ่งหวังว่าจะนำกรอบงาน “คุนหมิง-มอนทรีออล” ที่ได้จากจากการประชุมครั้งก่อนที่ประเทศแคนดานา มาปรับเป็นแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
cbd cop03
รุ่งเรืองกล่าวถึงการปกป้องฐานทรัพยากรทางทะเลว่ามีส่วนสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตจากการสูญพันธุ์ พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางทะเล (ภาพ : Nathalia Angarita / Greenpeace)

ระหว่างเข้าร่วมการประชุม ตัวแทนประมงพื้นบ้านจากภาคใต้ของประเทศไทยได้แบ่งปันเรื่องราวการต่อสู้อันยากลำบากในการปกป้องท้องทะเลและชายฝั่ง เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจบทบาท หน้าที่ และสิทธิของคนท้องถิ่นตลอดจนชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะหัวใจสำคัญของการเจรจาเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็นท้องทะเล บนบก หรือชายฝั่ง ชุมชนท้องถิ่นมักเป็นผู้แบกรับผลกระทบด่านแรกเมื่อมีปัญหา และมักจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสภาพแวดล้อมของชุมชนอยู่เสมอ

เครือข่ายประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็กจากภูมิภาคละตินอเมริกาที่ดินทางมาเข้าร่วมงาน CBD-COP16 มาจากหลายประเทศ อาทิ โคลอมเบีย คอสตาริกา ปานามา ชิลี เม็กซิโก ฯลฯ โดยมีทั้งประมงพื้นบ้านหญิง กลุ่มชาติพันธุ์ และตัวแทนประมงพื้นบ้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ละประเทศมีเวลาคนละ ๑ นาทีในงานแถลงข่าวเพื่อกล่าวถึงจุดยืนและประเด็นที่ต้องการเรียกร้อง

หนึ่งในตัวแทนชาวประมงหญิงจากโคลอมเบียเรียกร้องให้รัฐบาลโคลอมเบียนยอมรับและเคารพในสิทธิการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เพื่อให้ทะเลยังคงเป็นแหล่งอาหารของทุกคนต่อไป

cbd cop04
ชายทะเลจะนะบ้านของรุ่งเรืองกำลังถูกผลักดันให้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มประมงพื้นบ้านเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกรวมถึงผู้นำไทยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตควบคู่ประโยชน์แทนทางเศรษฐกิจ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นของคนในชุมชน (ภาพ : Puchong Saelao / Greenpeace)

ขณะที่ รุ่งเรือง ระหมันยะ หรือ บังนี เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในฐานะตัวแทนประมงพื้นบ้าน และเป็นนักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศไทยกล่าวสนับสนุนข้อเรียกร้องของพี่น้องประมงพื้นบ้านจากละตินอเมริกา และกล่าวถึงข้อเรียงร้องของตนเองว่า “ระบบนิเวศทางทะเลอันซับซ้อนและเปราะบางต้องการการดูแลเอาใจใส่ และอาศัยความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ยาวนานหลายปีในการดูแลรักษา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนรู้จักทะเลดีต้องเป็นผู้ปกป้องทะเล ที่ผ่านมารัฐบาลและภาคเอกชนมักพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเขา แต่บ่อยครั้งพวกเขากลับกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายเหล่านั้น”

ปัจจุบัน พื้นที่บางส่วนของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บ้านของรุ่งเรืองและชาวประมงพื้นบ้านหลายครอบครัวกำลังถูกภาครัฐและภาคธุรกิจผลักดันให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดมหึมา ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีประมงพื้นบ้าน

รุ่งเรืองเน้นย้ำว่าปัญหาจากการทำประมงแบบทำลายล้าง โครงการขนาดใหญ่ที่คุกคามสภาพแวดล้อม ความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีหากชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในการมีสภาพแวดล้อมที่ดี คือปัญหาหลักที่ชุมชนชายฝั่งและนักปกป้องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยกำลังเผชิญ

“การมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลกเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องสิทธิชุมชน เพื่อให้พวกเราได้มีบทบาทในการรักษาระบบนิเวศไว้ให้คนรุ่นหลัง” คำพูดของเขาสอดคล้องกับ วรรณิศา จันทร์หอม นักวิจัยท้องถิ่นจากชุมชนจะนะที่เดินทางไปร่วมงานเช่นกัน เธอกล่าวว่า “ทะเลคือหัวใจของชุมชน ทะเลกำหนดวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และมรดก เมื่อเราร่วมกันเก็บข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศ เราจะได้ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงเรา หากบางสิ่งสูญเสียไป เราจะสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ ความพยายามนี้ช่วยเสริมสร้างความรู้ดั้งเดิมของเราให้เข้มแข็งและมีความหมายมากขึ้น ช่วยให้ชุมชนภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนและรับรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของการเชื่อมโยงกับทะเล”