๏ แล้วนำฤๅษีชีไพร
เฝ้าพระจอมไตร
นับได้สิบเก้าพระองค์
๏ ทรงฤทธิ์สิทธิหลั่งชลลง
กายสิทธิ์มิคง
เป็นผงสิบเก้าเท่ากอง
๏ ผ้าทิพย์สีเหลืองเรืองรอง
ห่อเท่าศพกอง
มั่วสุมประสมกลมกัน

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ของพระยาราชภักดี (ช้าง)

มหาทักษา 12 - พระพฤหัสบดี
(ในภาพคือปูนปั้นรูปพระพฤหัสบดีทรงกวาง ฝีมือช่างเมืองเพชรฯ ซุ้มประตูโถงชั้นโลกมนุษย์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ)

ตามความในคัมภีร์เฉลิมไตรภพและมหาทักษา พระอิศวรทรงสร้างพระพฤหัสบดีขึ้นด้วยพระฤๅษี ๑๙ ตน บดป่นเป็นผง ใน “เฉลิมไตรภพกลอนสวด” แต่งเติมรายละเอียดเพิ่มอีกว่าพระอิศวรทรงหลั่งน้ำไปต้องกายของพระฤๅษี ป่นสลายกลายเป็นเถ้า (สะกดว่า “เท่า”) ๑๙ กอง ห่อผ้าสีส้มแดง (“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ว่าเป็นผ้าเหลือง) ประพรมน้ำอมฤต บังเกิดเป็นพระพฤหัสบดี ผิวกายสีส้มแดง (“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ว่ากายสีเหลือง ตามสีผ้าห่อศพพระฤๅษี) พระพฤหัสบดีทรงกวางเป็นพาหนะ (บางตำราว่าทรงละมั่งเป็นพาหนะ) ประจำอยู่ทิศตะวันตก สัญลักษณ์เลข ๕ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๙ ตามจำนวนพระฤๅษี

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ยังเล่าต่อไปด้วยว่าเมื่อพระมหาเทพเสร็จสิ้นการพิธีสถาปนาเทวดานพเคราะห์แล้ว ได้ประทานคำทำนายชะตาชีวิตของผู้ที่เกิดในแต่ละวันไว้ให้ด้วย ผู้เกิดวันพฤหัสบดีมีคำทำนายว่ามีรูปงาม มีจิตเป็นกุศล ใฝ่ใจในการทำบุญสุนทาน เป็นผู้รักความสัตย์ เกลียดชังคนพาล

๏ พฤหัสบดีหญิงชายตาม
โหรปราชญ์ชีพราหมณ์
รูปงามสติตริตรอง
๏ ทำบุญให้ทานทั้งผอง
ทรัพย์สินเงินทอง
ตามของหาได้ให้ทาน
๏ สัจจังมักชังคนพาล
พูดไม่หักหาญ
กลัวพาลจะเบียฬบีฑา