ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

สนธิสัญญาพลาสติกโลกคืออะไร ทำไมยังไปไม่ถึงฝั่ง ?
ผู้แทนจากประเทศปานามา นำเสนอ “สนธิสัญญาอันทะเยอทะยาน” ลดมลพิษพลาสติกตลอดทั้งวงจรชีวิตอย่างแข็งขัน ได้รับเสียงสนับสนุนจากร้อยกว่าประเทศ (ภาพ : ฐิติกร บุญทองใหม่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

1

พลาสติกคืออะไร

พลาสติกแทบทุกชิ้นเป็นวัสดุที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ในทางวิทยาศาสตร์พลาสติกจัดเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วยโมเลกุลซ้ำ ๆ ต่อกันเป็นสายยาว มีธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน นอกจากนี้อาจมีธาตุอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบย่อย เช่น ไนโตรเจน ฟลูออรีน คลอรีน กำมะถัน

สาเหตุที่พลาสติกซึ่งมีคุณอนันต์กลายเป็นสิ่งมีโทษมหันต์ เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายเหมือนขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ยังอาจแตกตัวเป็นอนุภาคเล็ก ๆ เรียกว่า ไมโครพลาสติก (microplastics) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 นาโนเมตร – 5 มิลลิเมตร และนาโนพลาสติก (nanoplastics) เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นาโนเมตร – 1 ไมโครเมตร ซึ่งมีคุณสมบัติคงสภาพ ย่อยสลายยาก รวมทั้งเล็กจิ๋วมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้กำจัดยากและแพร่กระจายไปทั่วโลก

2

อันตรายของพลาสติก

พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย คำกล่าวว่าแทบทุกสถานที่บนโลกมีพลาสติกปะปนอยู่ไม่เกินเลยแต่อย่างใด ทุกวันนี้เราพบพลาสติกแม้แต่จุดใกล้สูงสุดของโลกอย่างยอดเขาเอเวอเรสต์ จุดต่ำสุดของโลกอย่างร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา หรือแม้แต่เนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ ลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง รก เลือด ก็พบนาโนพลาสติก

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การผลิตพลาสติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากได้ก่อให้เกิดวิกฤติต่อโลก ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศเผชิญร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะจากการเผาพลาสติกในที่โล่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Environment Program (UNEP) ระบุว่าขยะพลาสติกคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 85 ของขยะทางทะเลทั้งหมด คิดเป็นปริมาณมากถึงปีละ 11 ล้านตัน ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังคาดว่าขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในระยะเวลาราว 20 ปีข้างหน้า

worldplastic02
ผู้แทนจากประเทศรวันดา เรียกร้องให้นานาประเทศสนับสนุนร่างสนธิสัญญาที่ผู้ประเทศปานามานำเสนอจนได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราว (ภาพ : ฐิติกร บุญทองใหม่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

3

จุดเริ่มต้นของสนธิสัญญาพลาสติกโลก

สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) มีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 หรือ ค.ศ.2022 เมื่อคณะกรรมการ 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติเข้าร่วมประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA-5.2) ลงมติรับรองญัตติด้านการจัดการมลพิษขยะพลาสติก เพื่อออกแบบมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล (The Intergovernmental Negotiating Committee to develop an international legally binding instrument on plastic pollution, including in the marine environment : INC) ถือเป็นการลงมติครั้งประวัติศาสตร์และเป็นก้าวแรกของกระบวนการมุ่งหน้าสู่การจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลที่มีพันธกิจหลักคือพัฒนาเครื่องมือจัดการมลพิษพลาสติกตามแนวทางองค์รวมตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ที่ประชุมกำหนดให้จัดการเจรจาทั้งหมด 5 ครั้ง ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2567 แล้วเสนอรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุมผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี พ.ศ.2568

หากทำสำเร็จตามเป้าจะนับเป็นหนึ่งในการพัฒนาสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา

4

การประชุมเจรจาทั้งห้า

การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล หรือ Intergovernmental Negotiating Committee (INC) ทั้ง 5 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.2565-2567 ประกอบด้วย

ครั้งที่ 1 (INC-1) ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม พ.ศ.2565 ณ เมืองปุนตา เด เลสเต ประเทศอุรุกวัย

ครั้งที่ 2 (INC-2) ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ครั้งที่ 3 (INC-3) ระหว่างวันที่ 13 ถึง 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Environment Program (UNEP)

ครั้งที่ 4 (INC-4) ระหว่างวันที่ 21 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2567 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา

และล่าสุดครั้งที่ 5 (INC-5) ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

5

ผู้เข้าร่วมประชุม

ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนหลักในการประชุมเจรจาของประเทศไทยโดยมีนักวิชาการด้านต่าง ๆ คอยสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิค ให้ความเห็นทางวิชาการ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมพร้อมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเจรจาและกำหนดแนวทางท่าทีของประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า (LIDAST) สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เข้าร่วมการประชุมตั้งแต่ครั้งที่ 3 หรือ INC-3 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

ดร.จิตติ ให้สัมภาษณ์งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) โดยอธิบายแผนแม่บท หรือ โรดแมพ (roadmap) ของ UNEP ตามรายงานชื่อ “Turning off the Tap : How the world can end plastic pollution and create a circular economy” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ว่าได้วางกรอบแนวทางและเป้าหมายลดปัญหามลพิษพลาสติกลง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ.2583 หรือ ค.ศ.2040

แม้สนธิสัญญาจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เริ่มมีการร่างแผนงานเพื่อเร่งแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติกให้บรรลุเป้าหมายแล้ว แผนการกำจัดขยะพลาสติกของ UNEP รู้จักกันในชื่อ Systems change scenario (SC scenario) ประกอบด้วยการใช้ซ้ำ ลด ละ เลิกใช้พลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหาและไม่มีความจำเป็นในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ลดการใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์และสินค้าบริโภคที่มีวงจรชีวิตสั้น (short-lived plastics) ซึ่งเบื้องต้นกำหนดนิยามให้มีวงจรอายุการใช้งานที่สั้นราว 0.5 และ 3 ปี หันมาใช้พลาสติกประเภททนทาน (durable plastics) มีสมบัติเชิงกลด้านความต้านทาน (resistance) ที่ดี และมีวงจรอายุการใช้งานยาวนานขึ้น รวมถึงหาทางการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) ได้

worldplastic03
แผนงานตาม System change scenarios ยังคงท้าทายและมีข้อกังขาด้านความเป็นไปได้ ลำพังการรียูส (reuse) รีไซเคิล (recycle) การปรับเปลี่ยนการใช้และหาวัสดุทางเลือก (reorient and diversify) ก็เป็นแนวทางที่ผ่านการรณรงค์กันมานานแล้ว(ภาพ : UNEP)

6

ข้อห่วงกังวลของบางประเทศ

การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ครั้งที่ 3 หรือ INC-3เป็นครั้งแรกที่มีการพิจารณาร่างเอกสารฉบับแรก หรือที่เรียกกันว่า Zero draft

ในภาพรวมแล้วนานาประเทศสนับสนุนการจัดการมลพิษพลาสติกตามแนวทางองค์รวมครอบคลุมวัฏจักรชีวิต (life cycle) แต่ก็ยังมีบางประเทศที่แสดงความกังวลหรือไม่เห็นด้วย

ยกตัวอย่างข้อห่วงกังวลของบางประเทศ เช่น เกรงว่าจะกระทบระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตโพลิเมอร์พลาสติกปฐมภูมิ (Primary plastic polymers) ดร.จิตติ มังคละศิริ อธิบายว่าข้อห่วงกังวลมักเกิดขึ้นกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับส่วนต้นน้ำ (Upstream) ของวัฏจักรชีวิตพลาสติก

“การเรียกร้องให้มีระดับการผลิตและจัดหาโพลิเมอร์พลาสติกปฐมภูมิไม่ให้เกินเป้าหมายการลดที่กำหนดไว้ถูกมองว่า ไม่เพียงส่งผลเสียโดยตรงต่อรายได้ของอุตสาหกรรมการผลิต แต่ยังเป็นการเพิ่มภาระในเชิงต้นทุนจากการส่งเสริมการใช้พลาสติกทุติยภูมิ เพราะด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีจึงทำให้มีต้นทุนการผลิตโดยใช้พลาสติกทุติยภูมิสูงกว่าการใช้พลาสติกปฐมภูมิ นอกจากนี้บางประเทศยังมองว่าข้อเสนอใน Zero draft ขัดกับอธิปไตยที่พึงมีของแต่ละรัฐในการแสวงหาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของตนเอง หรือกรณีข้อเรียกร้องเรื่องการห้ามและเลิกใช้พลาสติกที่มีวงจรชีวิตสั้นและพลาสติกใช้ครั้งเดียว ซึ่งหลายประเทศเห็นว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน จึงควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนอีกครั้ง”

7

เร่งใช้ซ้ำ เร่งแปรใช้ใหม่ เร่งปรับเปลี่ยนการใช้

แนวทางสำคัญอื่น ๆ เพื่อให้เกิดโลกใหม่ของการใช้พลาสติกภายในปี พ.ศ. 2583 คือ เร่งการใช้ซ้ำ (reuse) เร่งการแปรใช้ใหม่ (recycle) และเร่งการปรับเปลี่ยนการใช้และหาวัสดุทางเลือกทดแทน (reorient and diversify) จะว่าไปแล้วก็เป็นแนวทางที่ผ่านการรณรงค์กันมานาน แต่เรียกร้องให้นำมา “เร่ง” ปฏิบัติจริง และต้องขยายกรอบแนวทางปฏิบัติให้ครอบคลุมขยะพลาสติกประเภทที่ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือแปรใช้ใหม่ได้อีก
นอกจากนี้ต้องเร่งพัฒนาวัสดุทดแทนพลาสติกที่เป็นวัสดุแบบยั่งยืนอย่างพลาสติกชีวภาพ (bioplastics) หรือการวิจัยเพื่อให้พลาสติกที่นำมาแปรใช้ใหม่เพื่อทดแทนพลาสติกแบบเดิม 

สำหรับประเทศไทย ก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมตามบริบทของประชาคมโลก ถือเป็นบทบาทของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติก เพื่อผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรม และเกิดการจัดสรรทรัพยากรในทิศทางที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของสนธิสัญญาที่กำลังจะเกิดขึ้น

worldplastic04
ประธานการประชุมกล่าวสรุปในวันสุดท้ายว่า ผลการเจรจามีความคืบหน้า แต่ยังติด ‘ปัญหาสำคัญบางประการ’ ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุม การเจรจาจำเป็นต้องขยายเวลาออกไปเป็น INC-5.2 (ภาพ : ฐิติกร บุญทองใหม่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

8

บทสรุปที่หวังว่าจะดีต่อโลก

“ถ้าเกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลกในปีนี้จริงจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวอย่างมีความหวังก่อนออกเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 (INC-5) ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

มูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มุ่งเน้นงานศึกษาและติดตามปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมและความปลอดภัยจากสารเคมี ส่งเสริมสิทธิชุมชน ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม สิทธิการมีส่วนร่วม การเข้าถึงข้อมูล ความโปร่งใส รวมถึงความรับผิดชอบของภาคเอกชนภายใต้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

INC-5 เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการเจรจาเพื่อจัดทำข้อกำหนดที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ เนื้อหาของสนธิสัญญาจะออกมาเข้มข้นชัดเจนและตอบสนองต่อเป้าหมายตามที่ตั้งไว้หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ว่าผลการประชุมจะเป็นบทสรุปที่ดีต่อโลกและคนส่วนใหญ่ หรือเป็นคุณต่อกลุ่มทุนอุตสาหกรรมพลาสติกต่อไป

9

ในมือของคณะผู้แทนเจรจา

“เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยอยู่ในมือของคณะผู้แทนเจรจาระหว่างรัฐบาลทุกคน ขอให้ช่วยกันผลักดันให้สนธิสัญญาพลาสติกมีเนื้อหาครอบคลุมพอที่จะหยุดยั้งมลพิษจากพลาสติกได้ โดยเฉพาะการหยุดใช้สารเคมีอันตรายในพลาสติก” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กล่าวเมื่อเข้าสู่วันที่ 5 ของการประชุมเจรจา INC-5 วันเดียวกันนี้เพ็ญโฉมและเครือข่ายภาคประชาสังคมชูข้อความ

“ถึงเวลา ! ทั่วโลกต้องลดการผลิตพลาสติก”

“หยุดใช้สารเคมีอันตรายในพลาสติก Stop hazardous chemicals in plastic”

บริเวณด้านหน้าอาคารประชุมเจรจา เพื่อแสดงออกถึงความต้องการให้ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมจริงใจที่จะจัดการกับวิกฤตมลพิษพลาสติกอย่างจริงจัง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนมากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ

แต่ดูเหมือนว่าจะมีหลายประเทศที่ไม่อยากให้เกิด “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาล็อบบี้ในการเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมาของการร่างสนธิสัญญานี้

10

สนธิสัญญาอันทะเยอทะยาน

นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก หรือ INC-1 กลุ่มประเทศที่ร่วมประชุมเจรจาแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มประเทศที่เรียกตนเองว่า ผู้สนับสนุน “สนธิสัญญาอันทะเยอทะยาน” ต้องการลดมลพิษจากพลาสติกตลอดทั้งวงจรชีวิต ตั้งแต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตสารตั้งต้นของพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก การบริโภค การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล เรื่อยไปจนถึงการกำจัดขยะพลาสติกในขั้นสุดท้าย ประกอบด้วยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อังกฤษ กลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศแคริบเบียน กับกลุ่มประเทศที่แสดงจุดยืนในเชิงขัดขวาง เรียกตนเองว่า “ประเทศที่มีความคิดเหมือนกัน” ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอ่าวและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ที่มีซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน รัสเซีย รวมถึงอินเดีย

ประเทศที่เอนเอียงไปทางคัดค้านสนธิสัญญาอันทะเยอทะยานยังประกอบด้วยชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

สำหรับท่าทีของประเทศไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเคยมีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มอบหมายหน้าที่ให้ตัวแทนคณะเจรจาของไทยสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกโลก แต่หากผลการเจรจาจะต้องไปให้ถึงขั้นสนับสนุน “สนธิสัญญาอันทะเยอทะยาน” ตามที่หลายประเทศผลักดันอยู่ ประเทศไทยจะขอยกเว้นเรื่องการควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติก ซึ่งยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยและภาคเอกชนของไทยยังไม่เห็นด้วย

สนธิสัญญาพลาสติกจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้ จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่ใช้วิธีการโหวตหรือลงมติด้วยเสียงข้างมาก…หลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกกำหนดมาตั้งแต่แรก

worldplastic05
ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาสังเกตการณ์การนับร้อยคนไม่มีโอกาสเข้าฟังการเจรจาของผู้แทนรัฐบาลและไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นใด ๆ กระทั่งวันสุดท้ายที่ชี้ชัดแล้วว่า การเจรจาล้มเหลว จึงเปิดโอกาส เพื่อช่วยให้เสียงเรียกร้อง “สนธิสัญญาอันทะเยอทะยาน” ดังขึ้น (ภาพ : ฐิติกร บุญทองใหม่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

11

ไม่ถึงฝั่งฝัน

แม้การเจรจาบางช่วงจะเป็นไปอย่างเข้มข้นและดุดัน แต่ผลสรุปออกมาสร้างความผิดหวังแก่ผู้แทนส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่เข้าร่วมเจรจา ภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามความคืบหน้า เนื่องจากคณะกรรมการจาก 178 ประเทศไม่สามารถบรรลุสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การเป็นสนธิสัญญาพลาสติกโลก

ยกตัวอย่างเนื้อหาของร่างสนธิสัญญาที่เปิดเผยออกมาในวันสุดท้าย ตัดมาตราว่าด้วย “สารเคมีน่ากังวล” หรือ “สารเคมีอันตราย” ที่ควรต้องเลิกใช้ออกไปทั้งหมด มาตราว่าด้วยพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกก็ตัดเรื่องการควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติกออกทั้งหมด เหลือเพียงการกล่าวถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเบา

อาจกล่าวได้ว่าร่างสนธิสัญญาได้ลดทอนสถานะวิกฤติของมลพิษพลาสติกให้กลายเป็นเรื่อง “การจัดการขยะพลาสติก” ทั้ง ๆ ที่ทุกฝ่ายน่าจะทราบดีว่าการออกแบบสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาอ่อนแอ จะไม่สามารถปกป้องโลกจากมลพิษพลาสติกได้

หลุยส์ วายาส วัลดิวิเอโซ ประธานการประชุมกล่าวสรุปในวันสุดท้ายว่า ผลการเจรจามีความคืบหน้า แต่ยังติด ‘ปัญหาสำคัญบางประการ’ ที่ยังตกลงกันไม่ได้

หลายฝ่ายตีความว่านั่นเป็นเพียงการใช้ภาษาแบบนักการทูต เพราะในสภาพความเป็นจริงเมื่อพิจารณาถึงข้อสรุป การประชุม INC-5 อยู่ในข่ายล้มเหลว และทำให้สิ่งที่หลายคนห่วงกังวลกลายเป็นจริงขึ้นมา เมื่อผู้เข้าร่วมยังมีความเห็นต่าง ถึงการเจรจาครั้งสุดท้ายแล้วก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงต้องขยายเวลาเจรจาออกไปเป็น INC-5.2 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงกลางปีหน้า

12

อนาคตของสนธิสัญญาแห่งมนุษยชาติ

ค่ำคืนสุดท้าย ผู้แทนนานาประเทศแถลงให้คำมั่นว่าจะร่วมผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลกให้สำเร็จ มีเพียงกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มเล็ก ๆ นำโดยซาอุดิอาระเบียที่ส่งเสียงคัดค้านเป็นหลัก และแย้งว่าต้องใช้เวลาค่อย ๆ คิด พิจารณา ทั้งยังวิจารณ์ว่าการกำหนดเวลาให้จัดการประชุม INC-5.2 ช่วงกลางปีหน้าถือว่าเร็วเกินไป

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐอเมริกากับจีนมีความเอนเอียงที่จะยอมรับสนธิสัญญาแบบทะเยอทะยานมากขึ้น โดยเฉพาะจีน และประเทศอื่น ๆ เช่น แคนาดา สิงคโปร์ เนปาล ภูฏาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น ต่างได้แถลงจุดยืนก่อนปิดการประชุมว่า ประเทศของตนจะให้ความร่วมมือในการเจรจาครั้งต่อไปเพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อคุ้มครองปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

13

เพื่อลดการรั่วไหล

การผลิตและอุปโภคพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้ขยะจากพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกนาที จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขยาก

หลายคนอาจมองว่าการรีไซเคิลเป็นทางออกที่น่าสนใจ แต่การรีไซเคิลไม่สามารถยับยั้งวิกฤติมลพิษพลาสติกที่รุนแรงขึ้นทุกที หากไม่ควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นทาง และยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายบางประเภทในการผลิตพลาสติก

ดร.จิตติ มังคละศิริ เคยให้ความเห็นตั้งแต่หลังการประชุม INC-3ว่า การหาจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายหรือขอบเขตที่กำหนดไว้กับความต้องการและข้อจำกัดของแต่ละประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญ หากขาดการประสานผลประโยชน์ร่วมกันที่ดีระหว่างประเทศย่อมส่งผลถึงฉันทามติต่อตัวสนธิสัญญาและการปฏิบัติที่จะตามมาในอนาคต อีกอย่างหนึ่งคือ การจัดหาแหล่งทุนและกลไกในการสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้

บทความ Global treaty on plastics : สนธิสัญญาเขย่าโลกที่จะเปลี่ยนโฉมหน้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคต ของ ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) หน่วยงานหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งความรู้ทางเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจ ระบุว่า แม้ว่าสนธิสัญญาพลาสติกโลกจะยังไม่บรรลุในเร็ววัน แต่ไทยควรเร่งปรับตัวและหาโอกาส เนื่องจากสนธิสัญญาจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมพลาสติก

การปรับตัวของไทยอาจรวมถึงการลดการใช้พลาสติก การนำวัสดุชีวภาพเข้ามาแทนที่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการรีไซเคิล โครงการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ควรปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะ สร้างกลไกการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาการคัดแยกและแปรรูปขยะให้ดีขึ้น เพื่อลดการใช้งานพลาสติก หยุดยั้งการรั่วไหลของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม

เอกสารประกอบการเขียน

  • Global treaty on plastics : สนธิสัญญาเขย่าโลกที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคต https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/9390/gsr0hkxzv9/In-focus-Global-treaty-on-plastics-20240124.pdf
  • สนธิสัญญาพลาสติกโลก https://www.mtec.or.th/post-knowledges/90685/

ขอขอบคุณ

  • มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
  • ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค (MTEC)