๏ แกล้วกล้าสั่งมาไม่กลัว
ครบสิบสองหัว
ถวายสี่องค์ทรงธรรม์
๏ อ่านเวทวิเศษสรรพสรรพ์
ระคนปนกัน
ห่อนั้นผ้าดำดำสี
๏ ประน้ำอมฤตพิธี
เป็นเทวสุรี
มีกายสูงล่ำดำนิล

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ของพระยาราชภักดี (ช้าง)

มหาทักษา 13 - พระราหู
(ในภาพคือปูนปั้นรูปพระราหูทรงครุฑ ฝีมือช่างเมืองเพชรฯ ซุ้มประตูโถงชั้นโลกมนุษย์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ)

ตามความในคัมภีร์เฉลิมไตรภพและคัมภีร์มหาทักษา พระอิศวรทรงสร้างพระราหูจากหัวกะโหลก ๑๒ หัว (บางตำราว่าหัวผีโขมด ๑๒ หัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง (“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” กล่าวว่าเป็นผ้าดำ) ประพรมน้ำอมฤต บังเกิดเป็นเทพบุตร มีกายสีนิล หรือสีดำ ทรงครุฑเป็นพาหนะ (บางตำราว่าทรงยักษ์เป็นพาหนะ) ประจำอยู่ทิศพายัพ คือตะวันตกเฉียงเหนือ สัญลักษณ์เลข ๘ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๒

ในเรื่อง “เฉลิมไตรภพกลอนสวด” หลังเสร็จพิธีสถาปนาบรรดาเทวดานพเคราะห์แล้ว เรื่องเล่าต่อไปอีกว่า พระมหาเทพได้ประทานคำทำนายชะตาชีวิตหญิงชายที่เกิดในแต่ละวันไว้ให้ด้วย แม้จะไม่มีวันสำหรับพระราหูเป็นการเฉพาะ แต่โดยทั่วไปหมายถึงผู้เกิดวันพุธตอนกลางคืน โดยมีคำพยากรณ์ว่าเป็นผู้ที่ “ตกไหนไม่จม” คือได้รับความเมตตาอยู่เป็นนิจ แต่จะมีปัญหาเรื่องบริวาร ที่อาจก่อความเดือดร้อนให้เนืองๆ

๏ วันพุธบ่ายค่ำสนธยา
อุปราคา
ราหูเข้าอยู่สู่สม
๏ ราตรีตกที่มัธยม
ตกไหนไม่จม
คนชมเมตตาปราณี
๏ บริวารคนพาลไม่ดี
ทาสาทาสี
เบียดเบียฬทุกอย่างล้างผลาญ