๏ สุวกำนำนาคาส่ง
ครบเก้าภุชงค์
สี่องค์ยินดีปรีดา
๏ ทรงเวทรำพายคาถา
รวบเอานาคา
ม้วนรอบประสมกลมกัน
๏ ห่อผ้าสีทองพรายพรรณ
ชุบน้ำทิพย์พลัน
ห่อนั้นเป็นองค์เทวา

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ของพระยาราชภักดี (ช้าง)

มหาทักษา 15 - พระเกตุ
ในภาพคือปูนปั้นประดับยอดมณฑปประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ตรงกลางโถงบันได ชั้นโลกมนุษย์ รูปพระเกตทรงนาค ฝีมือช่างเมืองเพชรฯ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ

ตามความในคัมภีร์เฉลิมไตรภพและคัมภีร์มหาทักษา พระอิศวรทรงสร้างพระเกตขึ้นจากนาค ๙ ตัว ป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีทอง ประพรมน้ำอมฤต บังเกิดเป็นเทพมีกายสีทอง ทรงพญานาคเป็นพาหนะ (บางตำราว่าเป็นมังกร) ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๙

ทั้งนี้ พระเกตมิได้มีดาวพระเคราะห์ประจำ จึงไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกในขณะที่เทวดาองค์อื่นๆ กำลังเสวยอายุ นับถือกันว่าเป็นช่วงส่งเสริมเรื่องดีและบรรเทาเรื่องร้าย

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” กล่าวว่าวิมานของพระเกตุมีสีดุจเปลวเพลิง และเป็นที่มาแห่ง “ธุมเกตุ” ซึ่งอาจมองเห็นได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ก่อนจะลับเลือนหายไป ทว่าธุมเกตุนี้คือลางร้ายใหญ่หลวงแก่มนุษย์ทั้งปวง

๏ เกิดยุคขุกเข็ญอันตราย
มนุษย์สัตว์ทั้งหลาย
สำแดงดวงเด่นเห็นงาม  
๏ สองสามราตรีสีทราม
โรยร่วงไปตาม
เมฆหมอกกลบลับดับหาย  
๏ ธุมเกตุบอกเหตุมั่นหมาย
ชีวิตร่างกาย
จะถึงซึ่งอนัตตา

“ธุม” หรือ “ธูม” ในภาษาบาลี แปลว่าควัน และ “ธุมเกตุ” ตามความเชื่อของคนโบราณ คงจะตรงกับสิ่งที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า “ดาวหาง” นั่นเอง