
ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ ๒๔๓๑-๒๕๑๒) พยายามค้นคว้ารวบรวมเรื่องประเพณีเก่าๆ ตั้งแต่เกิดจนตายของคนไทยเอาไว้ หนึ่งในประเด็นที่ท่านเจ้าคุณอนุมานฯ สนใจเป็นพิเศษคือเรื่องของ “แม่ซื้อ” ซึ่งคนไทยโบราณนับถือว่าเป็นเหมือนวิญญาณหรือผีที่จะมารบกวน หรือแม้แต่มาพรากเอาชีวิตทารกแรกเกิดไป จึงต้องมีเคล็ดลาง โดยให้ “ขอซื้อ” เด็กคืนมา ด้วยวิธีเซ่นสรวงบูชาต่างๆ
เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการเกิดที่พระยาอนุมานราชธนรวบรวมเรียบเรียงไว้ ต่อมาได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มครั้งแรก เมื่อปี ๒๔๙๒ เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพน้องสาวของท่าน ใช้ชื่อว่า “ประเพณีเก่าของไทย ๑. ประเพณีเนื่องในการเกิดและการเลี้ยงลูก” (เมื่อพิมพ์ครั้งหลังๆ มักใช้ชื่อเพียงว่า “ประเพณีเนื่องในการเกิด”)
ในหนังสือเล่มนั้น พระยาอนุมานราชธนเขียนเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อกำลังศึกษาเรื่อง “แม่ซื้อ” ได้รับความเอื้อเฟื้อจากพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ชัย ๒๔๓๑-๒๔๙๐) อดีตนายช่างกรมศิลปากร และลูกศิษย์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “เมตตาจดชื่อแม่ซื้อทั้ง ๗ พร้อมทั้งรูปร่างของแม่ซื้อและอาวุธที่ถือมาให้” ได้แก่
“๑. วันอาทิตย์ ชื่อนางจิตราวรรณ หัวและหน้าเป็นราชสีห์ สีแดงชาด ซ้ายถือธนู ขวาถือพัด
๒. วันจันทร ชื่อนาง (มัณ) ฑนานงคราญ หัวและหน้าเป็นม้าสีขาว ขวาถือดาบ ซ้ายถือพัด
๓. วันอังคาร ชื่อนางยักษ์บริสุทธิ์ หัวและหน้าเป็นควายเผือก ขวาถือดาบ ซ้ายถือพัด
๔.วันพุธ ชื่อนางสมุทชาต หัวและหน้าเป็นช้าง สีแดงแสด ขวาถือดาบ ซ้ายถือพัด
๕. วันพฤหัศบดี ชื่อนางโลกวัดถุก หัวและหน้าเป็นกวาง สีเหลืองอ่อน ขวาถือหอก ซ้ายถือพัด
๖. วันศุกร ชื่อนางยักษ์นงเยาว์ หัวและหน้าเป็นโค สีเหลือง ซ้ายถือธนู ขวาถือพัด
๗. วันเสาร์ ชื่อนางเอกขมาไลย หัวและหน้าเป็นเสือ สีดำ ขวาถือตรีศูลด้ามยาว ซ้ายถือพัด”
ชื่อที่คุณพระเทวาฯ จดมาให้ ปรากฏว่าใกล้เคียงกับในศิลาจารึก “โองการแม่ซื้อ” ที่ผนังศาลาราย วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) คือ
“แม่ซื้อกุมารวันอาทิตย์ ชื่อวิจิตรนาวัน หนึ่งวันจันทรแม่ซื้อ ชื่อวัณณานงคราญ หนึ่งวันอังคารแม่ซื้อ ชื่อนางยักษ์บริสุทธิ์ หนึ่งวันพุธแม่ซื้อ ชื่อนางสามลทัศ หนึ่งวันพฤหัศแม่ซื้อ ชื่อนางกาโลทุก หนึ่งวันศุกรแม่ซื้อ ชื่อนางยักษ์นงเยาว์ หนึ่งวันเสาร์แม่ซื้อ ชื่อนางเอกาไลย”
พระยาอนุมานราชธนตั้งข้อสังเกตเรื่องชื่อเหล่านี้ไว้ด้วยว่า “ชื่อแม่ซื้อประจำวันทั้ง ๗ ก็แปลก สัมผัสกับชื่อวันที่อยู่เหนือของตนได้พอดี” ดังในตัวอย่างข้างบน เช่น วิจิตรนาวัน คล้องกับ จันทร์ วัณณานงคราญ คล้องกับ อังคาร เป็นต้น
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ หัวและหน้าของแม่ซื้อประจำวัน ล้วนมีที่มาจากสัตว์พาหนะของเทวดานพเคราะห์ตามตำรามหาทักษา เช่นเดียวกับสีกาย ซึ่งตรงกับสีกายของเทวดาองค์นั้นๆ
เรื่องนี้ยังค้นไม่พบที่มาว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร จึงอยากสันนิษฐานว่าแต่เดิม ในตำราอาจมิได้บรรยายรูปร่างหน้าตาของแม่ซื้อประจำวันเอาไว้ ดังนั้นเมื่อต้องเขียนเป็นภาพเพื่อใช้แขวนเหนือเปลเด็กแรกเกิด (อย่างที่พระเทวาภินิมมิตจดมาถวายสมเด็จฯ) ช่างเขียนจึงต้องไป “ขอยืม” เอาหัวสัตว์พาหนะกับสีกายเทวดาประจำวัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วมาใช้แทน ก็เป็นได้