
ในยุครัชกาลที่ ๕ มีเอกสารสำคัญอีกชิ้นหนึ่งเนื่องด้วยเสื้อผ้าสีประจำวัน คือพระราชนิพนธ์ “ลิลิตนิทราชาคริต” เมื่อปี ๒๔๒๒ เรื่องนิทราชาคริต (นิทรา แปลว่าหลับ ชาคริต แปลว่าตื่น) หรือเรื่อง “อาบูหะซัน” นี้ เข้าใจว่าทรงอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ The Story of Abou Hassan, or The Sleeper Awakened ในหนังสือชุด The Arabian Nights Volume III (นิทานอาหรับราตรี เล่ม ๓) ของเอ็ดเวิร์ด ฟอร์สเตอร์ (Edward Forster)
เรื่องย่อของนิทราชาคริตมีอยู่ว่าสมัยหนึ่ง ณ กรุงแบกแดด องค์กาหลิบผู้เป็นราชา มักปลอมพระองค์เสด็จออกไปนอกพระราชวัง เพื่อให้ได้รู้เห็นความเป็นอยู่อันแท้จริงของราษฎร ในครั้งนั้น มีบุตรชายพ่อค้าคนหนึ่ง มีนามว่าอาบูหะซัน ได้สังสรรค์กับพ่อค้าแปลกหน้าซึ่งเป็นกาหลิบแฝงตัวมา ด้วยความเมามาย อาบูหะซันหลุดปากเล่าเรื่องความโฉดชั่วของท่านอาจารย์ใหญ่และเหล่าลูกศิษย์ผู้มีหน้ามีตาในสังคม พลางบอกว่าหากตนเป็นกาหลิบจะต้องจับคนเหล่านั้นมาลงโทษเสียให้เข็ดหลาบ กาหลิบจึงมอมอาบูหะซันจนสลบแล้วให้คนอุ้มเข้าวัง แล้วสั่งให้ข้าราชบริพารทุกคนทำเสมือนว่าอาบูหะซันคือกาหลิบ พออาบูหะซันตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองคือพระราชา จึงสั่งให้นครบาลจับตัวคนชั่วเหล่านั้นมาลงโทษ พอตกกลางคืน กาหลิบตัวจริงก็ให้มอมยาสลบอาบูหะซันอีกครั้ง แล้วอุ้มกลับไปส่งที่บ้าน พอตื่นเช้ามาวันรุ่งขึ้น อาบูหะซันคิดว่าตนเองยังเป็นกาหลิบ และเพ้อละเมอถึงชีวิตบรมสุขในวัง จนทุบตีมารดาที่พยายามยืนยันว่าเขาฝันไป
เรื่องนี้ยังมีต่อไปอีกยืดยาว ในราชสำนักยุครัชกาลที่ ๕ ถือกันว่าพระราชนิพนธ์ลิลิตนิทราชาคริตเป็นเรื่องสนุกขบขัน จึงมีการนำไปแสดงเป็นละครบรรดาศักดิ์หลายครั้ง โดยแต่งตัวเป็น “แขก” ให้เข้ากับท้องเรื่อง ครั้งแรกแสดงโดยเหล่าพระเจ้าน้องยาเธอ ครั้งหลังในอีกหลายปีต่อมาก็เป็นนักแสดงรุ่นพระเจ้าลูกยาเธอ รวมทั้งเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวของนิทราชาคริตนี้เอง อาจเป็นแรงบันดาลใจแห่งพระราชกรณียกิจ “เสด็จประพาสต้น” ของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงออกไปท่องเที่ยวเดินทางพบปะราษฎร โดยไม่ทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัว
ใน “ลิลิตนิทราชาคริต” ตอนหนึ่ง มีฉากพิธีแต่งงานระหว่างคู่พระคู่นาง คืออาบูหะซันกับนางนอซาตอลอัวดัด อันต้องเปลี่ยนชุดเจ้าสาวถึงเจ็ดชุด (รายละเอียดตอนนี้ไม่มีในต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ในที่นี้ขอตัดตอนจากโคลงสี่สุภาพ ๗ บทสำหรับ ๗ ชุด มาให้ดูเพียงบางส่วน ที่ดูแปลกคือมิได้เริ่มจากวันอาทิตย์ตามเกณฑ์มหาทักษา แต่ตั้งต้นที่วันเสาร์ แล้วไล่ลำดับตามวันในรอบสัปดาห์ เช่น
๏ บรรสานสีสอดเสื้อ วันเสาร์
พื้นม่วงอ่อนงามเพรา เพริศพริ้ง
(วันเสาร์ เสื้อสีม่วง)
๏ แต่งตัวปัทมราคนั้น วันรวี
จรูญจรัสรัตตมณี แจ่มจ้า
(วันอาทิตย์ แต่งตัวสีแดง)
๏ จันทร์แปลงนุ่งห่มผ้า โขมพัสตร์
แต่งเครื่องสีขาวจรัส ผ่องแผ้ว
(วันจันทร์ นุ่งห่มสีขาว)
ในลำดับถัดไป ได้แก่วันอังคาร สีชมพู วันพุธ สีเขียว วันพฤหัสบดี สีเหลือง และวันศุกร์ สีน้ำเงิน
จะเห็นได้ว่าสีชุดแต่งงานประจำวันของภริยาอาบูหะซัน ขยับเข้าใกล้สีประจำวันที่เรารู้จักกันในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ต่างไปเพียงวันจันทร์ยังคงเป็นสีขาวตามสีกายพระจันทร์ และวันพฤหัสบดีที่ใช้สีเหลือง กับวันศุกร์ที่เป็นสีน้ำเงิน