ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ

ปลายปี 2567 สภาผู้แทนราษฎรเสนอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เนื้อหาส่วนหนึ่งคือ มาตรา 69 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำหนดพื้นที่จับปลาและวิธีทำประมงเวลากลางคืน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจับปลากะตัก
จากเนื้อหาเดิมระบุ “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำประมงในเวลากลางคืน” แต่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมเสนอให้เปลี่ยนเป็น “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน เว้นแต่ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
หากการแก้ไขกฎหมายผ่านความเห็นชอบ การทำประมงนอกเขต 12 ไมล์ทะเล จะสามารถใช้อวนตาถี่ขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร และใช้งานได้ในเวลากลางคืน
แม้การลงมติให้แก้ไขกฎหมายจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนเข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกวุฒิสภา แต่ความพยายามดังกล่าวนำมาสู่ข้อถกเถียงและข้อห่วงกังวล มีการแสดงออกทางสังคมเพื่อชี้ให้เห็นผลต่อระบบนิเวศทางทะเล ยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “หยุดอวนมุ้งยักษ์ ร่วมลงชื่อปกป้องลูกปลา” , “ตามหาใครขโมยปลา และงานศิลป์เพื่อทะเลไทย” ช่วงเดือนมกราคม 2568 บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร การเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ และวุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้คงข้อกำหนดเดิม คือ ห้ามทำประมงล้อมจับในเวลากลางคืนด้วยอวนตาถี่
ในเชิงวิชาการยังมีความเห็นว่าหลักการคิดค่า MSY และข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ไม่สอดคล้องกับการตัดสินใจ การแพร่กระจายของสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่ได้มีมากแต่เฉพาะบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งขาดข้อมูลผลกระทบจากประมงอวนล้อมปลากะตักประกอบแสงไฟในเวลากลางคืน
หมายเหตุ : ค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือ “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน”หมายถึง ปริมาณสูงสุดของสิ่งมีชีวิตที่จับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยสิ่งมีชีวิตส่วนที่เหลือยังคงวางไข่ ขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตมาทดแทนอย่างสมดุลกับปริมาณ

“น่านน้ำไทยถูกลากจนเรียบเป็นสนามฟุตบอล แล้วชนิดของปลา ความหลากหลายของปลาก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ”
ดร.ชวลิต วิทยานนท์
นักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
การจับปลากะตักมีสองแบบ คือจับกลางคืน กับ จับกลางวัน จับกลางวันเป็นการจับแบบนักกีฬาจริง ๆ สปอร์ตจริง ๆ ตรงที่คนจับต้องมีฝีมือมาก ต้องส่องกล้องเหมือนนักดูนก ดูฝูงปลาที่ยิบ ๆ อยู่บนผิวน้ำ เวลาแล่นเรือไปเจอฝูงปลาสิบกว่าฝูง จะมีปลากะตักที่คุณล้อมแล้วได้ราคาเพียงหนึ่งฝูงเท่านั้น การแล่นเรือเข้าไปล้อมก็ต้องมีเทคนิคซับซ้อนมากมาย ถ้าล้อมซี้ซั้วฝูงก็แตก จับปลาไม่ได้ สมมุติคุณล้อมเก่ง ได้ปลามาประมาณ 1 ตัน จะพบว่ามีลูกปลาเศรษฐกิจกับปลาที่ไม่ใช่ปลาตะตักปนอยู่ไม่เกิน 5 กิโล และมักจะเป็นปลาตัวใหญ่ๆ
นี่คือผลของการจับตอนกลางวัน
ในทางกลับกัน การจับปลาตอนกลางคืนไม่ค่อยจะยุติธรรมสำหรับปลา คุณจอดเรืออยู่เฉย ๆ แล้วคุณก็ส่องไฟ เหมือนเสือนอนกิน ลูกปลากะตักเข้ามาเพราะมันเห็นแพลงก์ตอนเวลาเราส่องไฟตอนกลางคืน นักดำน้ำจะทราบดี ถ้ามีไฟอยู่บนหัวต้องระวัง พอเห็นแพลงก์ตอนเข้ามา ปลาตัวใหญ่ ๆ อย่างกระทุงเหว ปลาสาก ก็เข้ามากินปลาด้วย นักดำน้ำคงทราบกันดี ถ้ามันเบรกไม่ทัน ชนเรา ถึงตายนะ
เวลาลอยเรือกลางคืนจับปลากะตัก เปิดไฟล่อ ปลากะตักก็มา ลูกปลาอินทรีก็มา ลูกปลาสากลูกปลาหางแข็ง ลูกปลาผิวน้ำชนิดต่าง ๆ รวมทั้งลูกปลาทูก็เข้ามา เวลาล้อม เรายังไม่มีเทคนิคที่ให้ลูกปลาเหล่านี้ถูกไล่ออกไปก่อน คุณต้องล้อมมาทั้งลูกปลาเศรษฐกิจและกะตักในเวลาเดียวกัน นี่แหละคือความพินาศถ้าจับกลางคืนเมื่อไหร่ เปิดเสรี ทุกวันนี้มีการล้อมจับโดยไม่เป็นทางการก็พินาศมากพอแล้ว ถ้าเปิดเสรีจะขนาดไหน
ทะเลไทยในอดีต เอาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เคยมีฝรั่งชาวเดนมาร์กออกเดินเรือสำรวจชายฝั่งทั่วโลกทั้ง 3 ทวีป เก็บตัวอย่างและหาความอุดมสมบูรณ์ด้วยวิธีการทางเคมี ผมคงไม่อธิบายลงรายละเอียด ผลปรากฏว่าเขาพบว่าก้นอ่าวไทยแล้วก็ทะเลในน่านน้ำไทยมีความสมบูรณ์สูงสุด เรามีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่อ่าวไทย เอาสารอาหารมา แล้วก็มีความหลากหลายของปลาเยอะมาก
ผมเก็บข้อมูลเรื่องปลา ตอนนี้พบว่าปลาทะเลตั้งแต่ส่วนลึกสุดแถวอันดามัน ความลึกเกือบหนึ่งกิโลเมตร มาถึงชายฝั่งตื้น ๆ ที่เราเห็นแถวปากน้ำ สมุทรปราการ เมืองไทยมีปลาทะเลอย่างน้อย 2,480 ชนิด ขณะที่ปลาทะเลในโลกมีอยู่เกือบ ๆ 40,000 ชนิด
จาก 2,480 ชนิด เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับเรามีปลาทะเลประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของโลก อาจจะรู้สึกว่านิดเดียวเท่านั้น แค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่น่านน้ำไทยรวมแผ่นดินไทยด้วยมีเนื้อที่เทียบกับทั้งโลกน้อยกว่า 0.05 เปอร์เซ็นต์ ตีว่าเรามีเนื้อที่เพียง 5 ใน 1,000 แต่มีปลาถึง 8 เปอร์เซ็นต์ หรือ 8 ใน 100 หมายความว่าเมืองไทยมีความหลากหลายของปลาสูงมาก
ในอดีตปลาเป็นของราคาถูก เราเคยจับปลาแต่ละครั้งได้ปริมาณมาก เคยมีการทดลองลากอวนหน้าดินในน่านน้ำไทย เอาบริเวณอ่าวไทยเป็นหลัก ได้ปลาชั่วโมงละ 100-300 กิโลกรัม ตอนผมสำรวจทะเลจีนใต้ประมาณปี 2539-2540 เราได้สูงสุดที่ประมาณ 30 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นปลาที่ไม่มีราคาหรือที่เรียกว่าปลาเป็ด ที่เราเคยได้ 100 กว่ากิโลแล้วมีแต่ปลาเศรษฐกิจมันลดลง เพราะมีการพัฒนาการประมงที่เร็วเกินไป มีเรือประมงนับหมื่นลำ ลากอวน จนกระทั่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน…
อย่างอาจารย์ผมที่ Marine Science จุฬาฯ บอกว่าเวลาโซนาร์ก้นทะเลของประเทศไทยกับก้นทะเลของมาเลเซียหรือประเทศอื่น ๆ ของทะเลไทยเปรียบเหมือนกับสนามศุภชลาศัย หมายถึงสนามฟุตบอลหรือพื้นลานหน้าหอศิลปฯ คือมันเรียบมากเลย ผมมีเพื่อนชาวเขมรคนหนึ่ง เขาลงเรือของรัสเซียมาทำวิจัยเหมือนกัน เขาทำโซนาร์ ทำซาวเดอร์ ที่น่านน้ำเขมรก็พบว่ามีหินมีโขดหินเยอะแยะ ระหว่างนั้นเขาแอบแวบเข้ามาทำน่านน้ำไทยตรงกลาง ๆ เขาบอกว่ามันเรียบเหมือนสนามฟุตบอล ตรงกับอาจารย์ที่ Marine Science ของผมเคยพูดประมาณ 40 ปีที่แล้ว ส่วนเพื่อนเขมรพูดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทั้งสองคนพูดตรงกันว่าน่านน้ำไทยถูกลากจนเรียบเป็นสนามฟุตบอล แล้วชนิดของปลาความหลากหลายของปลาก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ
ถ้า ม.69 ออกมา จุดจบหรือความพินาศของประมงไทยก็จะมาถึงในไม่ช้า เพราะลูกปลาตัวเล็ก ๆ จะต้องเข้าไปอยู่ในอวนเท่ามุ้งแน่นอน

“แม้แต่การให้โอกาสสัตว์เล็กสัตว์น้อย สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ล่องลอยอยู่ในท้องทะเล รัฐบาลก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายมัน”
พจนาถ พจนาพิทักษ์
นักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียน กวี
การแก้ไขมาตรา 69 เป็นการทำลายท้องทะเลของไทยอย่างเป็นระบบอีกครั้งหนึ่งในนามของกฎหมาย
ประเทศที่มีนายทุนโลภสัก 2-3 คน ประเทศนั้นทรัพยากรจะถูกล้างผลาญไปมากสักแค่ไหน แม้แต่การให้โอกาสสัตว์เล็กสัตว์น้อย สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ล่องลอยอยู่ในท้องทะเล รัฐบาลก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายมันได้ โดยไม่ได้คิดถึงรายละเอียด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ว่ามันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือวิถีชีวิตของคนที่ต้องทำมาหากิน วิถีประมงแบบคนที่ต้องรักษาทรัพยากรด้วย ไม่ใช่ทำประมงแล้วได้อย่างเดียว พี่น้องที่คัดค้านวันนี้คือพี่น้องที่มองเห็นรายละเอียด เราต้องให้โอกาสและเลือกวิธีการที่จะทำประมงในแบบที่สัตว์น้ำต่าง ๆ จะมีโอกาสรอด เติบโตไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราเอง พวกเราไม่เห็นด้วยกับการทำลายท้องทะเลไทยในครั้งนี้

“บนบกยังมองเห็นว่าตาอวนเล็กขนาดนี้พออยู่ในน้ำดึงขึ้นมามันกลายเป็นผ้าเลย”
อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล
ผู้จัดการฝ่ายเสริมสร้างการมีส่วนร่วมมวลชนกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไม่เคยจับปลา แต่ชอบกินปลา ชอบกินอาหารทะเลมาก ไม่อยากให้ลูกรู้จักปลาทูจากพิพิธภัณฑ์ ไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังต้องมานั่งซื้อของแพง ๆ กิน แล้วก็ไม่อร่อยด้วย
อาหารทะเลไทยไม่ใช่แค่เรื่องของเรา มันคือเรื่องของทุกคน จริง ๆ ทะเลถ้าไม่มีคนเขาอยู่ได้ ปัญหาทะเลมาจากมลพิษ อากาศที่มันเปลี่ยนแปลง ปะการังฟอกขาว ใด ๆ ล้วนเกิดจากมนุษย์ 90 เปอร์เซ็นต์หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้อะไรที่ซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ กฎหมายที่มันไม่ชอบธรรม กฎหมายที่มันจะทำลายทรัพยากรของเรา คนที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอากฎหมายนี้กลับมา ที่มองแค่ผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กมาก ๆ ลืมมองผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปะ มะ ชุมชนรอบชายฝั่ง แม้กระทั่งคนกินปลาเอง ก็ต้องกินของแพง ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ เหรอ
บนบกยังมองเห็นว่าตาอวนเล็กขนาดนี้ พออยู่ในน้ำ ดึงขึ้นมามันกลายเป็นผ้าเลย รูเล็กมากกว่า 0.6 เซนติเมตร อยู่แล้ว ยุงลอดไม่ผ่าน ลูกปลาตัวเล็กก็ไม่ผ่าน โดนตัดวงจรสัตว์น้ำวัยอ่อนแบบนี้ แล้วเราจะมีอะไรกินในอนาคต ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องชาวประมงอย่างเดียว มันคือเรื่องของพวกเราด้วย

“ตอนนี้เราใช้ค่า MSY ที่สูงเกินไปสำหรับการทำประมงสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลากะตัก”
ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
หลักสูตรชีววิทยาสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย
เรื่องจับปลากะตักเรามีข้อคิด 2-3 เรื่อง แต่ข้อใหญ่ ๆ คือเรื่องหลักคิดการใช้ MSY กับการประมงสัตว์น้ำขนาดเล็ก
ข้อมูลวิชาการตอนนี้เราใช้ค่า MSY ที่สูงเกินไปสำหรับการทำประมงสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลากะตัก ซึ่งจริง ๆ มันควรจะอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ควรจะสูงมาก เพราะเราต้องเหลือปลากะตักให้กับระบบนิเวศ มีสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิดที่กินปลากะตักเป็นอาหาร เหตุผลของการสูญหายของปลาใหญ่ ๆ หลายชนิด เป็นผลมาจากปลากะตักถูกใช้ประโยชน์ อีกเรื่องคือการพบสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมากในเครื่องมือจับปลากะตักปั่นไฟ ที่ผ่านมายอมให้ใช้อวนครอบปั่นไฟปลากะตักเพราะรัศมีทำการของเขาไม่ไกลมากจากเรือ เท่าวงของไม้ไผ่ หรือแกนของไม้ที่มันยื่นออกไปข้าง ๆ เรือ 15 เมตร ไม่เยอะมาก กระบวนการโช้คไฟก่อนที่จะติดสายอวนจะมีสัตว์น้ำจำนวนหนึ่งหลุดรอดออกไปได้ ขณะที่อวนล้อมปลากะตักรัศมีของอวนมันกว้างกว่า โอกาสที่สัตว์น้ำจะหลุดรอดไปได้ก็น้อยลง
ประเด็นสำคัญเชิงวิชาการคือ ข้อมูลที่เอามาคิดเป็นข้อมูลจากการใช้เครื่องมือประมงเดิม คือ อวนล้อมเวลากลางวัน กับอวนช้อน อวนยก อวนครอบเวลากลางคืนซึ่งมีรัศมีทำการไม่ไกล ขณะที่อวนล้อมปลากะตักเวลากลางคืนประกอบแสงไฟ มันเป็นรูปแบบใหม่อีกรูปแบบหนึ่งเลย ที่นักวิชาการก็ยอมรับว่ากลางคืนมันจะติดสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ เยอะกว่า การปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายมาตรานี้ จึงไม่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน และขัดแย้งกับข้อมูลจากงานวิจัยที่ยืนยันมาตลอดว่า เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักด้วยอวนตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ประกอบแสงไฟ เป็นวิธีการทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นี่คือข้อกังวลทางวิชาการ ซึ่งเราจะต้องนัดประชุมหารือกันต่อไปในรายละเอียด