อีกหนึ่งข้อมูลว่าด้วยเรื่องสีประจำวันยุครัชกาลที่ ๖ คือพระราชนิพนธ์ “โคลงแถลงระเบียบระบำแบบหลวง เรื่องศุภลักษณ์วาดรูป” ซึ่งนำออกแสดงครั้งแรกโดยกรมมหรสพ เมื่อตอนปลายเดือนธันวาคม ๒๔๖๕ ระหว่างการสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา (๑ มกราคม)

มหาทักษา 25 - ศุภลักษณ์วาดรูป

เรื่อง “ศุภลักษณ์วาดรูป” มีใจความเป็นทำนองการชุมนุมเทวดาทั่วจักรวาล เทวดากลุ่มหนึ่งที่กล่าวถึง ก็คือเทพนพเคราะห์ โดยในโคลงแต่ละบท จะพรรณนาถึงสีผิวกาย อาวุธ และเทพพาหนะ ของเทวดาแต่ละองค์ โดยเรียงลำดับตามคัมภีร์มหาทักษา จึงเริ่มต้นบทแรกด้วยพระอาทิตย์

๏ หนึ่งในนวเคราะห์นั้น สุริยง
เรืองรัตภูษาทรง สว่างหล้า
พระขรรค์ฤทธิ์รงค์ กุมมั่น
สีหะวาหนกล้า กาจแกล้วกลางสวรรค์ ฯ

(พระอาทิตย์ ทรงภูษาสีแดง ถือพระขรรค์ ทรงสิงห์เป็นพาหนะ)

ติดตามมาด้วยพระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู พระศุกร์ และพระเกตุ ตามลำดับในคัมภีร์มหาทักษา ในที่นี้ขอตัดตอนโคลงพระราชนิพนธ์มาให้ดูเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วน

๏ พระจันทร์รัศมิเรื้อง เรืองฃาว
ทรงเศวตภูษาพราว เพริดแพร้ว
(พระจันทร์ทรงภูษาสีขาว ถือพระขรรค์ ทรงม้า)
๏ อังคารรังสิเหรื้อ เหลือตรู
ทรงพัสตระชมพู เพริดด้าว
(พระอังคาร ทรงภูษาสีชมพู ถือพระขรรค์ ทรงควาย)
๏ องค์ที่สี่พุธอ้าง ออกนาม
ภูษิตล้วนเขียวงาม ชุ่มชื้น
(พระพุธ ทรงภูษาสีเขียว ทรงช้าง ถือขอช้าง)
๏ ที่ห้าโสระไท้ กำยำ
ทรงพัสตร์ภูษิตดำ เดชห้าว
(พระเสาร์ ในที่นี้ทรงเรียกว่า โสระ ทรงภูษาสีดำ ถือพระขรรค์ ทรงเสือ)

ต่อมาคืออันดับ ๖ พระพฤหัสบดี เครื่องทรงสีเหลือง ถือทัณฑะ คือไม้เท้า ทรงกวาง

จากนั้นเป็นพระราหู ผิวกายและเครื่องทรงสีม่วงคล้ำ ถือคทา ทรงนกฮูก

องค์ที่ ๘ พระศุกร์ ทรงภูษาสีน้ำเงินอ่อน ถือไม้เท้า ทรงโค

องค์สุดท้าย ได้แก่พระเกตุ ผิวกายและเครื่องทรงเป็นสีทอง ถือพระขรรค์ ทรงนาค

จะเห็นได้ว่า ในที่นี้ สีกายและเครื่องทรงของเทวดานพเคราะห์ ยังคงเคร่งครัดตามตำราเดิม ได้แก่ พระจันทร์-สีขาว พระอังคาร-สีชมพู พระพุธ-สีเขียว พระเสาร์-สีดำ พระพฤหัสบดี-สีเหลือง พระราหู-สีม่วงเข้ม พระศุกร์-สีน้ำเงินอ่อน และพระเกตุ-สีทอง