เท่าที่พรรณนามาแล้ว จะเห็นว่าสีเสื้อผ้าประจำวันตามคติโบราณตามหลักฐาน ตั้งแต่สมัยต้นกรุงเทพฯ เช่น “สวัสดิรักษา” ของสุนทรภู่ มาจนถึงที่กล่าวไว้ในวรรณคดียุครัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ ก็ยังไม่ตรงกับสีประจำวัน ฉบับที่เรารู้จักกันเดี๋ยวนี้เสียที เพราะในทุกตำราก่อนหน้านี้ วันจันทร์จะเป็นสีขาวหรือสีนวล วันพฤหัสบดีคือสีเหลือง ส่วนวันเสาร์ใช้สีดำ แล้วที่คนไทยท่องกันขึ้นใจได้ตั้งแต่เด็กๆ ว่า วันจันทร์ สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสฯ สีแสด วันศุกร์สีฟ้า วันเสาร์สีม่วง มีที่มาจากไหนกัน ?

มหาทักษา 27 - สาวชาววัง

เรื่องนี้ค้นยากจริงๆ และยังจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย

หากแต่มีความเป็นไปได้ว่าหนึ่งในต้นทางของคติเรื่องนี้ อาจมาจากสีผ้านุ่งประจำวันของสาวชาววัง และมาจาก “สี่แผ่นดิน”

กลับมาที่นวนิยาย “สี่แผ่นดิน” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกครั้งหนึ่ง

นิยายเรื่องนี้พิมพ์ครั้งแรกลงในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ช่วงปี ๒๔๙๔-๒๔๙๕ ตอนต้นเรื่องกล่าวเท้าความย้อนไปเมื่อครั้งแผ่นดินที่ ๑ คือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม่แช่ม นำลูกสาววัย ๑๐ ขวบ ชื่อพลอย เข้าวังมาถวายตัวเป็นข้าหลวงของเสด็จ เธอได้อบรมวิธีนุ่งห่มตามแบบฉบับสาวชาววังให้บุตรีฟังอย่างละเอียด

“แล้วแม่หันมาทางพลอยแล้วสอนว่า ‘พลอยดูให้ดีนะ แม่จะจัดผ้านุ่งผ้าห่มสีประจำวันให้ดู อยู่ในวังโตขึ้นจะได้แต่งตัวถูก’แม่หยิบผ้านุ่งผ้าห่มออกมาวางด้วยกันอย่างละคู่ แล้วก็อธิบายว่า

‘นี่สำหรับวันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อน หรือจะห่มบานเย็นก็ได้ แต่ถ้าวันจันทร์จะนุ่งสีนี้ น้ำเงินนกพิราบต้องห่มจำปาแดง’ แล้วแม่ก็หยิบผ้าห่มสีดอกจำปาแก่ๆ ออกวางทับบนผ้าลายสีน้ำเงินเหลือบที่วางไว้

‘วันอังคาร’ แม่อธิบายต่อ ‘วันอังคารนุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางแล้วห่มโศก หรือถ้านุ่งโศกหรือเขียวอ่อน ต้องห่มม่วงอ่อน วันพุธนุ่งสีถั่วก็ได้ สีเหล็กก็ได้แล้วห่มจำปา วันพฤหัสนุ่งเขียวใบไม้ห่มแดงเลือดนก หรือนุ่งแสดห่มเขียวอ่อน วันศุกร์นุ่งน้ำเงินแก่ห่มเหลือง วันเสาร์นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงก็ห่มโศกเหมือนกัน นี่ผืนนี้แหละ ผ้าลายพื้นม่วงหายากจะตายไป กุลีหนึ่งก็มีผืนเดียว เวลาไว้ทุกข์ก็นุ่งผ้าลายพื้นม่วงนี่เหมือนกัน แต่ต้องห่มสีนวล วันอาทิตย์จะแต่งเหมือนวันพฤหัสก็ได้ คือนุ่งเขียวห่มแดง หรือไม่ยังงั้นก็นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือสีเลือดหมูแล้วห่มโศก จำไว้นะพลอย อย่าไปแต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะหาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน’…”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงมิได้หมายความว่า สาวชาววังทุกคนจะนุ่งห่มผ้าเหมือนตัดมาจากผ้าโรงงานม้วนเดียวกัน เพราะไม่ว่าสาวๆ ยุคไหนก็คงไม่ต่างกัน คือไม่อยากแต่งตัวซ้ำกับคนอื่น ดังนั้นย่อมต้องมี “เฉด” หรือ “โทน” ที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ยังไม่นับว่าผ้านุ่งที่เป็นผ้าลาย (หรือ “ผ้าลายอย่าง”) ก็ย่อมมีลวดลายกนกเครือเถาใบไม้ดอกไม้ต่างๆ นานา แถมยังมีเนื้อผ้าต่างกันตามราคาถูกราคาแพง มีความเข้มความซีด ความเก่าความใหม่ แม้แต่ละคนอาจดูคล้ายกัน แต่เชื่อว่าในแต่ละวันเมื่อครั้งกระโน้น สาวชาววังทุกคนย่อมไม่ได้แต่งตัวเหมือนกันไปหมดราวกับนักเรียนแต่งเครื่องแบบของโรงเรียน อย่างที่เคยเห็นผ่านตาในละครย้อนยุคบางเรื่องแน่ ๆ