ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำสาละวินได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปกป้องแม่น้ำและคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนเนื่องในวันสากลเพื่อปกป้องแม่น้ำ หรือ วันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers : Against Dams) ณ หาดทรายริมแม่น้ำสาละวิน บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และฝั่งตรงข้ามบริเวณหาดทรายซูแมท่า จังหวัดมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park) ที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ Goldman Environmental Prize จากองค์กร Equator Initiative ภายใต้องค์การพัฒนาแห่งสหประชาติ (United Nations Development Programme :UNDP)
กิจกรรมวันหยุนเขื่อนโลกเริ่มต้นตั้งแต่รุ่งสางด้วยการจุดเทียนอธิษฐานปกป้องแม่น้ำ ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เสนอมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญและการอนุรักษ์แม่น้ำสาละวิน จากนั้นปล่อยเรือรณรงค์ติดข้อความ “NO DAM – แม่น้ำของเรา สิทธิของเรา อนาคตของเรา” พร้อม ๆ กับเดินขบวนถือป้ายเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ
ไม่เอาเขื่อนตลอดชีวิต
สาละวินลุ่มน้ำแห่งสันติภาพ
แม่น้ำ ผู้คน เผ่าพันธุ์
หยุดทำลายอนาคตเยาวชน
ฯลฯ –บางส่วนของข้อความบนผืนผ้าที่มีทั้งภาษาไทย กะเหรี่ยง อังกฤษ







“เราไม่ได้ปกป้องแม่น้ำเพื่อวันนี้ แต่ทำเพื่ออนาคต ต้องการให้ลูกหลานมีปลากิน มีสัตว์ป่าอยู่ในป่า ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาใดก็ควรเคารพวิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษสั่งสอนเอาไว้” บือ มือ พอ คณะทำงานอุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park) กล่าวหน้าเวทีริมโค้งแม่น้ำสาละวินฝั่งมือตรอ ในวันที่ประชาชนจากสองฟากฝั่งมารวมตัวกันด้วยความรักความสามัคคี
“ชาวกะเหรี่ยงเป็นอีกหนึ่งชนชาติในพื้นที่แห่งนี้ เราไม่ต้องการให้เกิดการขโมยทรัพยากรผ่านการสร้างเขื่อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมามากมาย นี่คือเหตุผลที่ผู้คนทั้งหลายต้องออกมาร่วมกันปกป้องแม่น้ำ หวังว่าคนข้างนอกจะเคารพในคุณค่าของเรา”
ยวา แป มู หัวหน้าป่าไม้จังหวัดมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง เน้นย้ำ “พวกเราออกมาคัดค้านเพราะเห็นว่าเขื่อนที่สร้างแล้วทำลายแม่น้ำ และทำให้พื้นที่สูญหาย ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อนในแผ่นดินของเรา”
ย้อนเวลากลับไปราว 17 ปีก่อน ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำสาละวินเริ่มออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวิน เช่น เขื่อนฮัตจี เขื่อนดากวิน เขื่อนเว่ยจี ซึ่งถูกผลักดันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จนทำให้โครงการต้องชะลอออกไป หากมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในวันนั้น พื้นที่จัดงานในวันนี้ก็คงจมอยู่ใต้น้ำไปแล้ว
เขื่อนบนแม่น้ำสาละวินตอนล่างมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหลายแห่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ
ปี 2568 ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีที่ริมน้ำสาละวินปลอดจากฐานที่มั่นของทหารพม่า หลังจากทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU (Karen National Union) ผลักดันฐานทหารพม่าออกจากแนวแม่น้ำสาละวินได้
ขอขอบคุณ : ธงชัย ชคัตประสิทธิ์
…

“ในบทบาทสตรีแม่น้ำมีความสำคัญ”
กะญอ พอ
เลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง(Karen Woman’s Organization – KWO)
ในนามเครือข่ายปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง เราร่วมกันจัดงานนี้ มีทั้งผู้นำและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม คนที่มาร่วมงานปีนี้อาจจะน้อยกว่าทุกปี เพราะว่าชุมชนแถวนี้ยังไม่ค่อยกลับมา นับตั้งแต่ ค.ศ.1995 ที่มีปัญหาความขัดแย้ง ชุมชนดั้งเดิมกระจายตัวออกแล้วยังกลับมาไม่หมด ตัวเราเองเคยอยู่พื้นที่นี้ช่วงอายุ 7-13 ปี พอเกิดความแตกแยกก็ต้องหนีไปที่อื่น ตรงนี้ไม่มีใครกล้าอยู่ แต่ตอนนี้เริ่มมีคนกล้ากลับมา พอสถานการณ์เริ่มสงบ ภายใต้การดูแลของทหารกะเหรี่ยง รู้สึกอุ่นใจขึ้นเยอะและกล้ากลับมาทำอะไร แต่ถ้าเทียบกับทางตอนใต้ของแม่น้ำสาละวินลงไปจะมีชุมชนกระจายอยู่เยอะกว่า ทุกปีที่มีการจัดงานทางตอนใต้จะมีคนมาเข้าร่วมเยอะกว่านี้
สถานการณ์ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์แม่น้ำ ความกังวลยังมีนะ แต่ในพื้นที่ตั้งแต่รัฐคะเรนนีลงมาถึงรัฐกะเหรี่ยง กองกำลังทั้งกะเหรี่ยงและคะเรนนีคุมพื้นที่ได้ค่อนข้างมาก แม่น้ำสาละวินยังไหลอย่างอิสระ แต่ทางตอนเหนือของแม่น้ำสาละวินเรายังไม่มั่นใจ เพราะเป็นพื้นที่มีความขัดแย้งและไม่ใช่พื้นที่ที่กองกำลังชาติพันธุ์คุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็เลยมีความกังวลอยู่ว่าพื้นที่ด้านตอนเหนือจะเป็นยังไง
ในบทบาทสตรีแม่น้ำมีความสำคัญ ในฐานะแม่บ้านหรือคนพื้นบ้าน คนที่ต้องดูแลบ้านต้องหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว ถ้ามีการสร้างเขื่อน ปล่อยให้มีผลกระทบต่อสายน้ำมันก็จะส่งผลกระทบมาถึงการใช้ชีวิต
ชาวบ้านเข้าใจเรื่องการรักษาแม่น้ำระดับหนึ่ง แต่ในวิถีการอนุรักษ์จริง ๆ เรายังต้องสร้างความเข้าใจความตระหนักมากขึ้น การหาปลาจะไม่มีการใช้เครื่องมือที่ต่างจากเครื่องมือท้องถิ่นดั้งเดิม ห้ามไม่ให้ช็อตปลา แล้วเราพยายามทำให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องการจัดการน้ำเพราะในแต่ละปีเห็นว่ามีขยะลงไปในแม่น้ำเยอะ ก็เลยต้องสร้างความตระหนักเรื่องนี้ด้วย
ถ้าสร้างเขื่อนทางตอนใต้จริง ๆ จะมีความเสียหายเรื่องน้ำท่วมพื้นที่กลายเป็นอ่างน้ำ ขนาดยังไม่มีเขื่อนปีที่ผ่านมาบ้านสบเมยฝั่งไทยเรายังเห็นว่าน้ำท่วมไปถึงตัวชุมชน ถ้ามีเขื่อนจะมีผลกระทบแน่นอน
ไม่ใช่แค่กิจกรรมนี้ แต่การติดตามข้อมูลข่าวสารต้องทำอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลพม่ามีแผนจะสร้างเขื่อนเมื่อไหร่ จะหาพันธมิตรหรือร่วมมือกับใคร ต้องติดตามตลอด ถ้าได้รับข่าวสารก็ต้องมาดูว่าจะทำงานรณรงค์อย่างไร ต้องหาเครือข่ายร่วมกับใครเพื่อกดดันไม่ให้ผู้ร่วมทุนเข้ามาสนับสนุนการสร้างเขื่อน นี่คือสิ่งที่เราทำอยู่ และจะทำต่อเนื่อง

“วันนี้เป็นวันปกป้องแม่น้ำ ไม่ใช่แค่สาละวิน แต่แม่น้ำทุกสาย”
ฉ่า มู
เครือข่ายสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (The Karen Environmental and Social Action Network – KESAN)
การมารวมตัวกันแบบนี้เป็นสิ่งที่ฉันดีใจ ฉันเกิดและเติบริมแม่น้ำสายนี้ หวังว่าอนาคตเขื่อนสาละวินจะไม่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของชีวิตในอนาคต
วันนี้เป็นวันปกป้องแม่น้ำ ไม่ใช่แค่สาละวิน แต่แม่น้ำทุกสาย ถ้าไม่มีน้ำเราก็อยู่ไม่ได้ ทำไมวันนี้เราต้องมารวมตัวกัน ที่ต้องมาแสดงพลัง ทำงานร่วมกัน เพราะแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญ
แม่น้ำสาละวินเป็นประโยชน์กับหลายชาติพันธุ์ มีคนหลายกลุ่มอยู่ร่วมกัน มันเป็นแม่น้ำที่มีชื่อที่หลากหลาย คนกะเหรี่ยงเรียกว่า โคโหล่โกล บางคนก็เรียกว่าสาละวิน
สำหรับเราแล้วสาละวินเป็นแม่น้ำที่อยู่ใกล้ที่สุด คนที่โตและเกิดที่แม่น้ำสายนี้ก็ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ วันนี้ยังไหลอิสระ ผ่านรัฐฉาน เป็นประโยชน์สำหรับคนหมู่มาก ไม่ใช่แค่คนกะเหรี่ยง แต่แม่น้ำสายนี้ที่เรารักที่เราอยากจะปกป้องเขาก็คิดจะสร้างเขื่อน
ถ้ามีการสร้างเขื่อนสาละวิน มันไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะต่อมนุษย์ แต่มันมีผลกระทบต่อสัตว์ป่า ธรรมชาติ ชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดลุ่มน้ำ แล้วมันจะนำไปสู่การต่อสู้ด้วยความรุนแรง บางคนเข้ามาแล้วแสดงความเป็นเจ้าของ แต่จริง ๆ แม่น้ำสายนี้เป็นของเราทุกคน กลุ่มนายทุนคนที่มีเงินเข้าก็ต้องการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพื่อมาลงทุน มาผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นประโยชน์กับพวกเขา แต่เขาไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเรา
วันนี้ขอขอบคุณที่มารวมตัวกัน แสดงตัวกันว่าไม่อยากให้เกิดเขื่อน เราต้องมาคิดว่าถ้าเกิดเขื่อนนี้มันจะมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง สิ่งที่รู้คือมันจะมีผลกระทบ เราก็เลยออกมาทำกิจกรรมเพื่อปกป้องแม่น้ำ
ความรักในแม่น้ำสายนี้ทำให้เรามารวมตัวกันเคลื่อนไหว โครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินก็เลยเลื่อนเวลาออกไป คนที่จะสร้างเขื่อนก็ต้องทบทวน พวกเราเคลื่อนไหวแบบนี้มาเป็นสิบ ๆ ปี โครงการก็เลยยังไม่เกิดขึ้น

“เราเติบโตมาจากริมแม่น้ำ ผูกพันกับพี่น้องฝั่งไทย”
บือ มือ พอ
คณะทำงานอุทยานสันติภาพสาละวิน(Salween Peace Park)
เราพูดภาษาไทยฟังภาษาไทยไม่ออกเพราะเป็นคนรัฐกะเหรี่ยง ฟังได้คำเดียวคือคำว่า “สาละวิน” คำว่า “แม่” ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “โม”
ตลอดสายน้ำสาละวินมีพี่น้องชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่ว่าจะเป็นรัฐคะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง พี่น้องมอญพี่น้องไทใหญ่ ผู้คนในลุ่มน้ำสาละวินได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแม่น้ำ อาศัยทรัพยากรหล่อเลี้ยงชีวิตมา พวกเราต้องช่วยกันปกป้องดูแลรักษา
แม่น้ำสาละวินมีประโยชน์ มีความอุดมสมบูรณ์ มีคุณค่า ให้อาหารการกิน มีคำถามว่าพวกเราอยากจะได้เขื่อนไหม เราเติบโตมาจากริมแม่น้ำ ผูกพันกับพี่น้องฝั่งไทยไม่ว่าบ้านบุญเลอ บ้านสบเมย บ้านแม่สามแลบ ซึ่งอาศัยอยู่กับแม่น้ำเหมือนกัน ถ้ามีเขื่อนเกิดขึ้นบ้านสบเมยรวมถึงหมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำจะจมน้ำหายไป พวกเราจะลุกขึ้นมาต่อสู้ สู้อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เขื่อนเกิดขึ้น เพราะถ้าเขื่อนเกิดขึ้นหายนะ วิถีชีวิต วัฒนธรรมของพี่น้องแต่ละชนเผ่าก็จะสูญหาย
พี่น้องรัฐกะเหรี่ยงอนุรักษ์ทรัพยากร รวมถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำสาละวิน เรารู้ว่าต้องคัดค้านโครงการเขื่อนที่จะเกิดขึ้นเพราะสาละวินมีความสำคัญต่อชีวิต วันที่ 14 มีนาคม เป็นวันหยุดเขื่อนโลก ทางฝั่งกะเหรี่ยงจัดกิจกรรมมาทุกปีเหมือนฝั่งไทย และปีนี้ทั้งสองฝั่งได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อปกป้องแม่น้ำ ไม่ให้มีโครงการทำลายแม่น้ำ ไม่ว่าเขื่อน เหมือง โครงการผันน้ำ เราต้องร่วมกันต่อสู้เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ในวิถีปกาเกอะญอแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญ”
ยวา แป มู
หัวหน้าป่าไม้จังหวัดมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง
เราต้องร่วมกันทำให้แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำทุกสายดีขึ้น ต้องร่วมกันคัดค้านเขื่อนและการกระทำอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำอะไรที่ทำแล้วดีขึ้นเราก็จะทำร่วมกัน อะไรที่ต้องคัดค้านเราก็จะร่วมกันคัดค้าน เพราะในวิถีปกาเกอะญอแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่ให้ชีวิต พืชผล สัตว์ป่า ถ้าแม่น้ำไม่มีน้ำก็จะมีผลกระทบต่อชีวิต เราใช้ประโยชน์จากแม่น้ำทุกวัน นี่คือสมบัติของเรา
เราต้องไม่หากินอย่างทำลาย กินเขียดต้องรักษาผา กินปลาต้องรักษาน้ำ บางครั้งด้วยการทิ้งขยะและปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำก็ทำให้เกิดผลกระทบ ทุกอย่างต้องมีการจัดการ ทุกคนต้องมีสำนึก เพราะมนุษย์เรามีวิธีคิด จึงต้องมีจิตสำนึกในการปกป้อง
เราต้องค้านเขื่อนเพราะหากปล่อยให้สร้างเขื่อนก็จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ แผ่นดินสูญหาย หากมีน้ำขึ้นสูงโดยไม่ทันตั้งตัว หากมีเขื่อนมาอีกผลกระทบต่อสัตว์น้ำจะเป็นอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นคนปกาเกอะญอฝั่งไหน สาละวินเป็นประโยชน์ต่อเราทั้งนั้น หากสร้างเขื่อนป่าไม้จะถูกทำลาย เราจะกลายเป็นผู้พลัดถิ่น หวังว่าจะไม่มีใครมาสร้างเขื่อนในแผ่นดินของเรา
วันนี้เราอยากแจ้งให้ทุกคนทราบว่าแม่น้ำแต่ละสายเป็นประโยชน์กับพวกเรา เราก็เลยต้องช่วยดูแลรักษา รวมถึงสัตว์น้ำและสัตว์ป่าก็ต้องดูแล
ขอบคุณทุกคนทั้งที่อยู่รัฐกะเหรี่ยงและฝั่งไทย ในอนาคตเราต้องร่วมมือกันต้องสามัคคีกันต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำสาละวิน