ผ้าผ่อนท่อนสไบ

จาก “ตำรานุ่งผ้า ฉบับแม่แช่ม” ใน “สี่แผ่นดิน” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะ “ถอดรหัส” คำสอนของแม่แช่ม มารดาของคุณหญิงพลอย บทมาลย์บำรุง หมายความว่าสาวชาววังยุครัชกาลที่ ๕ พึงแต่งตัวให้สีตัดกัน ดังนั้นผ้านุ่ง-คือผ้าที่เอามานุ่งเป็นโจงกระเบน ปกปิดท่อนล่าง-จะเป็นสีหนึ่ง ส่วนผ้าห่ม-คือผ้าสไบที่ใช้ห่มคลุมเนื้อตัวครึ่งบน-ต้องเป็นอีกสีหนึ่งซึ่งตรงข้ามกันเสมอ

หากเราเลือกหยิบยกมาพิจารณาเฉพาะ “ผ้านุ่ง” เป็นหลัก คือ

  • วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อน
  • วันอังคาร นุ่งสีปูน หมายถึงชมพูอมส้ม คือสีของปูนแดงที่กินกับหมากพลู (ไม่ใช่สีของปูนซิเมนต์)
  • วันพุธ นุ่งสีถั่ว หมายถึงสีเขียวหม่น เหมือน (เปลือก) ถั่ว (เขียว)
  • วันพฤหัส นุ่งแสด
  • วันศุกร์ นุ่งน้ำเงิน
  • วันเสาร์ นุ่งผ้าสีเม็ดมะปราง คือสีม่วงสด เหมือนอย่างเนื้อในของเมล็ดมะปราง
  • วันอาทิตย์ นุ่งผ้าสีลิ้นจี่ คือสีแดงอมส้ม เหมือนเปลือกของผลลิ้นจี่

จะเห็นได้ทันทีว่าสีผ้านุ่งของสาวชาววัง คือสีประจำวันชุดมาตรฐานอย่างที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

  จากถ้อยคำของผู้หลักผู้ใหญ่ที่คุณชายคึกฤทธิ์เคยได้ยินได้ฟังแล้วบันทึกไว้ใน “สี่แผ่นดิน” ต่อมายังได้คลี่คลายเป็น “ระบำสวัสดิรักษา” ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล (๒๔๕๙-๒๕๕๓) โดยมีอาจารย์สลวย โรจนสโรช (ส. คุปตาภา ๒๔๖๒-๒๕๕๑) เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ส่วนทำนองเป็นผลงานของอาจารย์มนตรี ตราโมท (๒๔๔๓-๒๕๓๘) เนื้อร้องว่าด้วยการเลือกสีเครื่องแต่งกายของสตรีให้ถูกโฉลกด้วยสีตัดกัน ทำนองเดียวกับที่บรรยายไว้ใน “สี่แผ่นดิน” ผสมกับลีลาร้อยกรองแบบ “สวัสดิรักษา” ของ “สุนทรภู่” ดังตัวอย่างต่อไปนี้

วันอาทิตย์สิทธิเจิมเฉลิมโชค
สไบโศกทรงแดงอ่าสถาผล
จะยิ่งยศปรากฏสิริดล
โชคอานนท์หลั่งไหลไม่รู้วาย
วันจันทร์นั้นควรเครื่องสีเหลืองอ่อน
งามบังอรล้ำเลิศยิ่งเฉิดฉาย
น้ำเงินห่มเสริมสรรพรรณราย
ยามเยื้องกรายทีท่าสง่าครัน

อันเป็นคู่สีอย่างเดียวกับตำราของ “แม่แช่ม” ที่ว่า “วันอาทิตย์จะแต่งเหมือนวันพฤหัสก็ได้ คือนุ่งเขียวห่มแดง หรือไม่ยังงั้นก็นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือสีเลือดหมูแล้วห่มโศก” และ “นี่สำหรับวันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อน” นั่นเอง