482editor

ฝนตกพรำๆ ในกรุงลอนดอน สาวร่างเพรียวตัวสูงถือร่ม รุดเดินเข้าไปถามสาวพนักงานร้านขนมปังที่กำลังขนของเดินเข้าร้าน

“ขอโทษนะคะ ขอถามสักคำถามเกี่ยวกับศิลปะได้ไหม” ผู้ ถูกถามยิ้มอาย ๆ และพยักหน้า

“ถ้าสามารถเป็นเจ้าของงานศิลปะในโลกนี้สักชิ้นหนึ่ง จะเป็น งานชิ้นไหน และทำไม”

“อืม ยากจัง…ฉันชอบภาพ Water Lilies ของโมเนต์ที่อยู่ใน พิพิธภัณฑ์ออร์เซ (ฝรั่งเศส) ฉันอยากได้ห้องแสดงภาพนั้นทั้งห้อง เลย” (ภาพตัดมาที่ห้องวงกลมที่มีภาพโมเนต์ติดเต็มผนังยาว)

“เป็นคำตอบที่น่ารักมากค่ะ แล้วคุณคิดว่าจะเก็บภาพไว้เอง หรือเอาไปวางไว้ที่ไหนหรือเปล่า”

“ฉันคิดว่าจะสวยงามมาก ถ้าได้ไปอยู่นอกเมือง ไว้กลาง สภาพแวดล้อมอันเงียบสงบ”

นี่เป็นหนึ่งในคลิปสัมภาษณ์คนทั่วไปของช่องออนไลน์ My Art Broker ซึ่งการสุ่มเลือกผู้ถูกสัมภาษณ์นั้นหลากหลาย ทั้งวัยรุ่น คุณแม่ คนทำงาน นักท่องเที่ยว ผู้สูงวัย ทุกคนมีคำตอบที่แทบจะ ไม่ซ้ำกันเลย ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม และอาจเป็นผลงาน ของศิลปินดังระดับโลกที่หลายคนต้องรู้จักอย่างโมเนต์ ไปจนถึง คนที่เอ่ยชื่อมาแล้วคนไทยไม่คุ้นหู

เมื่อพิธีกรถามว่าทำไมถึงชอบงานชิ้นนั้น แม้คำตอบจะต่างกัน แต่สิ่งที่มักมีร่วมกันคือรายละเอียดที่เห็นในภาพ กับความรู้สึกที่มีต่องานศิลปะชิ้นนั้น บางคนอาจอธิบายไม่ได้ รู้แต่ว่าภาพนั้นทำให้เขาตะลึงงัน

ตอนชมคลิปสัมภาษณ์รายการนี้ ผมรู้สึกทึ่งกับผู้ถูกสัมภาษณ์

เกือบทุกคน มิใช่ว่าคำตอบนั้นฟังดูมีภูมิรู้ทางศิลปะสูงส่ง แต่เป็น คำตอบที่มาจากความรู้สึกภายใน มาจากสิ่งที่เคยเห็นและจดจำได้ จากตัวงาน

นึกว่าถ้าเราเป็นผู้ตอบ จะตอบอะไร จะมีงานศิลปะชิ้นไหน ประทับแน่นในความรู้สึก ที่เราอยากหยิบมาเป็นคำตอบ

ตั้งแต่เด็ก ชั่วโมงเรียนศิลปะของเด็กไทยคือการวาดภาพหรือทำงานศิลปะตามกรอบรูปแบบที่ครูกำหนดไว้ให้ โตขึ้นมาหน่อย ในชั่วโมงเรียนอารยธรรมหรือประวัติศาสตร์ ก็เป็นการท่องจำชื่อยุคสมัยทางศิลปะ ชื่อศิลปิน ชื่อผลงานชิ้นเอก สำหรับตอบข้อสอบ และมักลืมไปทันทีหลังชั่วโมงสอบ

ทุกวันนี้ในชั่วโมงศิลปะ เราเปิดให้มีบทสนทนาแลกเปลี่ยน ให้เด็กสะท้อนความรู้สึกเมื่อมองงานศิลปะสักชิ้นหนึ่ง ว่าเห็นอะไร ในภาพ สิ่งนั้นทำให้รู้สึกอย่างไร อยากตั้งคำถามอะไรกับสิ่งที่เห็น ที่รู้สึกบ้างหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ

การชื่นชมงานศิลปะ ความรู้สึกของผู้ชมและสิ่งที่เห็น ไม่มีถูก หรือผิด ไม่มีครู ไม่มีผู้เชี่ยวชาญศิลปะคนใดจะมาตัดสินหรือบังคับ ว่าเราต้องรู้สึกอย่างไร

เชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ในกรุงลอนดอนนั้นเติบโตมากับ ห้องเรียนที่ต่างจากโรงเรียนในเมืองไทยอย่างแน่นอน

ศิลปะพัฒนาและงอกงามไปตลอด เพราะมีผู้ชมที่สนุกกับ การชมงาน เกิดความรู้สึก เกิดการตั้งคำถาม ซึ่งมีส่วนผลักดัน ให้ศิลปินสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ

ชวนเปิดอ่าน สารคดี ฉบับนี้ กับเบื้องหลังศิลปะภาพแนว botanical art และถ้ามีเวลาว่าง ก็ชวนไปชมงานนิทรรศการภาพวาด พฤกษศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ ๒ Botanical Art Worldwide 2025 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๖-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔

หากมีคนเดินเข้ามาถามคุณว่า

“ถ้าสามารถเป็นเจ้าของงานศิลปะในโลกนี้สักชิ้นหนึ่ง จะเป็น งานชิ้นไหน และทำไม”

จะตอบว่าอะไร

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี