ในหนังสือ “ตำนานพระพุทธเจดีย์สยาม” (๒๔๖๙) พระนิพนธ์ระดับ “ขึ้นหิ้ง” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าด้วยประวัติศาสตร์พุทธศิลปะในประเทศไทย ตอนหนึ่งในช่วงท้าย สมเด็จฯ ทรงอธิบายถึงพุทธศิลป์กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ว่า
“มีคติการสร้างพระพุทธรูป เกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ อย่างหนึ่ง เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ มีความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เคยทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์ ตามเรื่องนิบาตชาดกทั้ง ๕๕๐ ชาติ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจว่ารูปพระโพธิสัตว์ตามนิบาตชาดกนั้น เปนรูปเทวดาก็มี มนุษย์ก็มี สัตว์เดียรฉานก็มี ไม่สมควรจะสร้างขึ้นเปนเจดียวัดถุ จึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงเลือกค้นในคัมภีร์มีเรื่องพุทธประวัติ คัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นนับรวมกับแบบเดิมเปน ๔๐ ปาง แล้วทรงสร้างพระพุทธเจ้าปางต่างๆ ตามระเบียบนั้น”

ในสมุดตำราฉบับเดียวกับที่ปรากฏพระพุทธรูป ๔๐ ปาง เรียงลำดับไปตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆ อันกำหนดตามเทวดานพเคราะห์สำหรับบูชาเนื่องด้วยพิธีทักษาอีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่าพระพุทธรูปชุดนี้นั้น “จะเกิดตำราขึ้นเมื่อใดหาทราบไม่ แต่มีอยู่ในสมุดตำราฉบับหลวงเล่มเดียวกับตำราพระพุทธรูป ๔๐ ปางซึ่งกล่าวมาแล้ว” ได้แก่
“พระอาทิตย์ พระถวายเนตร
พระจันทร พระห้ามสมุทร์
พระอังคาร พระไสยา (ในรัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนเปนพระคันธารราฐ)
พระพุธ พระอุ้มบาตร
พระพฤหัสบดี พระสมาธิ
พระศุกร์ พระรำพึง
พระเสาร์ พระนาคปรก
พระราหู พระปาเลไลย
พระเกตุ พระขัดสมาธิ์เพชร นั่งสมาธิ”
ดังนั้น จากข้อมูลที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำเสนอไว้ใน “ตำนานพระพุทธเจดีย์สยาม” (๒๔๖๙) คติเรื่องพระประจำวัน ไม่ว่าจะมีมาแต่ครั้งไหน ก็เพิ่งมาปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนครั้งแรก เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง
ที่สำคัญคือพระพุทธรูปเหล่านี้ “ไม่ใช่” พระพุทธรูปประจำวันเกิดอย่างที่คนสมัยนี้เข้าใจกัน แต่เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับการบูชาเทวดานพเคราะห์ตามคติมหาทักษา
ตำราหลวงฉบับดังกล่าว เมื่อปี ๒๕๕๐ วัดพระเชตุพนฯ ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ใช้ชื่อที่หน้าปกว่า “ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”