โดย ศรัณย์ ทองปาน

ตัวอย่างถัดไปที่ผู้เขียนขอ “ทดลอง” นำเสนอแนวคิดในการอธิบาย สร้างความเชื่อมโยง ระหว่างพระปริตรที่ถูกเลือกนำมาสวดรับเทวดานพเคราะห์ กับพระพุทธรูปประจำวัน คือบทสวดรับพระอังคารตามคติมหาทักษา ซึ่งในพิธีฝ่ายราษฎร์ ให้สวด “บทขัด” อันเป็นเหมือนสรุปย่อเนื้อเรื่องของกรณียเมตตสูตร หรือที่เรียกกันว่าบท “ยสฺสานุภาวโต ยกฺขา”
ยสฺสานุภาวโต ยกฺขา เนว ทสฺเสนฺติ ภิํสนํ
ยมฺหิ เจวานุยุญฺชนฺโต รตฺตินฺทิวมตนฺทิโต
สุขํ สุปติ สุตฺโต จ ปาปํ กิญฺจิ นปสฺสติ
เอวมาทิคุณูเปตํ ปริตฺตนฺตมฺภณาม เห.
(คำแปลจากหนังสือ “อานุภาพพระปริตต์” ของนายธนิต อยู่โพธิ์)
“เพราะอานุภาพแห่งพระปริตต์ใด พวกยักษ์ (คือเทวดา) ทั้งหลายไม่แสดงอารมณ์อันน่าสะพรึงกลัว และเพราะเหตุบุคคลไม่เกียจคร้าน เจริญพระปริตต์ใดเนืองๆ ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมหลับเป็นสุข ทั้งหลับแล้วก็ไม่ฝันเห็นอารมณ์ชั่วร้ายไรๆ เราทั้งหลายจงสวดพระปริตต์นั้น อันประกอบด้วยคุณานิสงส์มีอาทิดังกล่าวนี้ กันเถิด”
ในบทขัดของกรณียเมตตสูตร กล่าวว่าด้วยอานุภาพของพระปริตรบทนี้ “พวกยักษ์ทั้งหลาย” จักไม่มารบกวน อีกทั้งการสาธยายพระปริตรยังจะทำให้ “หลับเป็นสุข” จึงสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางไสยาสน์ อันอยู่ในอาการนอน อีกทั้งยังมีพุทธานุภาพเหนือพวกยักษ์ ดังตำนานเรื่องอสุรินทราหู
ในหนังสือ “คาถาสวดประจำวันเกิด” ซึ่งเจ้าภาพรวบรวมขึ้นเพื่อจัดพิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ลำใย พ่วงลาภหลาย เมื่อปี ๒๕๑๓ เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า อสุรินทราหูเป็นอุปราชของท้าวเวปจิตราสูร ผู้ปกครองพิภพอสูรใต้เขาพระสุเมรุ อสุรินทราหูได้ยินได้ฟังพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้ามามาก จึงใคร่จะได้เข้าเฝ้าบ้าง
“แต่คิดว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ มีพระวรกายเล็ก ถ้าเราเข้าไปเฝ้าต้องก้มลงมอง เป็นความลำบาก ทั้งเราก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใครๆ จึงระงับความคิดนั้นเสีย แต่เมื่อได้ฟังเกียรติคุณบ่อยๆ เข้า ก็ใคร่จะเข้าเฝ้าอีก จึงตัดสินใจเข้าเฝ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบการมาของอสุรินทราหู จึงเนรมิตรพระวรกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูหลายเท่า เสด็จบรรทมเหนืออาสนะ พระวรกายที่เนรมิตรนี้ อสุรินทราหูเห็นแต่ผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นไม่มีใครเห็น”
ตำนานเรื่องนี้ ว่าที่จริงคงแต่งขึ้นในชั้นหลัง เพื่ออธิบายสาเหตุการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่โต ดังปรากฏในวัดหลายแห่ง ทว่าคนแต่ก่อนก็คงเชื่อกันเป็นจริงเป็นจัง จึงพลอยเรียกพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ว่าเป็น “ปางทรมานอสุรินทราหู” ไปด้วย ดังมีคำกล่าวอธิษฐานขอพรพระพุทธไสยาสน์ให้ปกปักรักษาพระเจ้าแผ่นดิน จาก “โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์” สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ว่าพระพุทธไสยาสน์นั้นคือพระพุทธองค์ ขณะเมื่ออสุรินทราหูเข้าเฝ้า
“ขอพรพุทธภาคย์ให้ ไสยา
อสุรินทรจินตนามา ใฝ่เฝ้า”
พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางสำหรับรับพระอังคาร จึงนับเนื่องว่าเกี่ยวข้องกับบทขัดของกรณียเมตตสูตรที่นำมาใช้ด้วยเหตุฉะนี้