เรื่องและภาพ : ธนากร สิงห์ทา

bangkajao01 bangkajao02 1 bangkajao03 bangkajao04

กระเเสการตื่นตัวของคนเมืองที่กระหายความร่มรื่นในพื้นที่สีเขียว กำลังเป็นเรื่องที่น่าฉุกคิด ที่ผ่านมาในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๖๑ ชาวกรุงเทพต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหมอกควันอย่างต่อเนื่อง ณ ช่วงเวลานั้นไม่อาจมีใครทำอะไรได้นอกเหนือจากภาวนารอให้ฝนชะล้างความขุ่นมัว ซึ่งเราคงย้อนกลับมาคิดว่าถ้ามีต้นไม้มากเพียงพอ สถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายอย่างที่ผ่านมา

ข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพฯ (๖ ตุลาคม ๒๖๖๐) ระบุว่า กรุงเทพมีสวนสาธารณะ ๗ ประเภท ได้แก่ สวนหย่อมขนาดเล็ก, สวนหมู่บ้าน, สวนชุมชน, สวนระดับย่าน, สวนระดับเมือง, สวนถนน, สวนเฉพาะทางรวมแล้วคิดเป็น ๖.๔๓ ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเทียบจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกแล้วพื้นที่สีเขียวทั้งในกรุงเทพฯยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ต้นไม้ใหญ่สมบูรณ์ ๑ ไร่ จะผลิตออกซิเจนบริสุทธิ์ให้มนุษย์หายใจได้ ๑๐ คน แต่คนที่อาศัยในกรุงเทพฯมีเกือบ ๑๐ ล้านทำให้ต้องการต้นไม้เพื่อผลิตออกซิเจนให้กับคนเมืองกรุงถึง ๑๐๐๐,๐๐๐ ไร่ ขณะที่กรุงเทพฯมีต้นไม้เพียง ๑๙,๐๐๐ ไร่เท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวที่อ้างอิงมาให้เห็นเชิงประจักษ์คงทำให้เรามองภาพกรุงเทพในตอนนี้ออก จึงไม่แปลกที่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ จะเป็นที่หมายของการพักผ่อนและสูดพลังธรรมชาติ ชาร์ตแบตให้กับชีวิตในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของคนเมือง

“ บางกะเจ้า ” เกาะรูปกระเพาะหมูที่ล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ และเป็นแหล่งป่าชายเลนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวสมุทรปราการ กระเเสการปั่นจักรยานรอบเกาะกะเพาะหมูแห่งนี้กำลังเป็นที่เลื่องลือ เพราะบรรยากาศสองข้างทางที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ทางปั่นจักรยานที่ถูกปูด้วยซีเมนต์ตัดผ่านรอบป่าชุ่มน้ำ เป็นเสนห์ที่ทำให้การปั่นจักรยานของเราดูเข้าใกล้กับธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากอีกหนึ่งเสนห์ที่ดึงดูดให้เหล่าผู้คนเข้าหาบางกะเจ้ามากขึ้นคงเป็นเพราะสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาทิ พิพิธภัณฑ์ปลากัด, ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง บ้านธูปหอมสมุนไพร และอื่นๆ อีกหนึ่งแหล่งดึงดูดการมาเที่ยวที่นี่คงเป็นการเดินทางที่แสนง่าย และบรรยากาศการนั่งเรือเพื่อขึ้นมาท่องเที่ยวที่เกาะคงเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่แปลกใหม่และดูน่าสนใจ

เกาะชุมชนสีเขียวบนพื้นที่กว่า ๑๑,๘๑๙ ไร่ แห่งนี้ดูเหมือนเป็นสวรรค์ของคนกรุง ที่อยู่ห่างเพียง ๒๔ กิโลเมตรเท่านั้น เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า พื้นที่ ๆ อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แห่งนี้จะยังคงรักษาความเขียวชะอุ่มของป่า ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นา ๆ ชนิด อาทิเช่น ต้นลำพู หนึ่งในต้นไม้ รุกข มรดกของแผ่นดิน, ต้นลำแพน, ต้นมะพร้าว และต้นไม้สายพันธุ์อื่นๆ และอีกหนึ่งความน่าสนใจของบางกะเจ้าที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าเจ้าแมลงปีกแข็งที่ส่องแสงประกายวิบวับในเวลากลางคืนอย่าง ‘หิ่งห้อย’ ปัจจุบันบางกะเจ้าเป็นแหล่งพำนักพักพิงอาศัยขยายพันธุ์ของหิ่งห้อยกว่า ๕ ชนิด ๔ สกุล

นับว่าเป็นธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่ของเป็นพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรมดั้งเดิมของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ระบบนิเวศยังมีความหลากหลาย เนื่องจากได้รับอิทธิพลทั้งจากน้ำจืด (จากแม่น้ำเจ้าพระยา) และจากน้ำเค็มจากอ่าวไทย จนมีการกล่าวว่า ระบบนิเวศของพื้นที่สีเขียวที่บางกะเจ้าเป็นระบบนิเวศ “ป่าสามน้ำ” คือ ระบบนิเวศป่าน้ำจืด ระบบนิเวศป่าน้ำกร่อย และ ระบบนิเวศป่าน้ำเค็ม

กรมป่าไม้เคยรายงานไว้ว่า มีพืชพรรณที่สำรวจได้ในบางกะเจ้ากว่า ๑๑๐ ชนิด จนกระทั้งเมื่อปี ๒๐๐๖ ได้รับการยกย่องจาก Time Magazine ให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังให้ความสนพระทัยและเสด็จพระราชดำเนินมายังโครงการสวนกลางมหานครหลายครั้ง พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้ กรมป่าไม้ ได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ หรือ การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณบางกะเจ้าอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืนต่อไป

กว่า ๑๐ ปีที่บางกะเจ้าใช้เวลาในการพิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนกับธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันบนถนนเเห่งความจริงได้ ความตั้งใจของชายหนุ่มผู้ผันตัวเองสู่การเป็น ยามเฝ้าหิ่งห้อย ปัจจุบันไม่ได้มีแค่เขาคนเดียวเท่านั้น ผู้เป็นแรงผลักดันให้เกิดชุมชนสีเขียว เกาะหิ่งห้อยใกล้กรุงแห่งนี้กลุ่ม “ลำพูบางกระสอบ” อีกหนึ่งความสำเร็จรูปธรรมที่สามารถยืนยันได้ว่า ชุมชนบางกระสอบแห่งนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นชุมชนอนุรักษ์ป่าผืนใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ

bangkajao11

bangkajao05bangkajao08

กลุ่มอนุรักษ์ “ลำพูบางกระสอบ” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ จากความตั้งใจเริ่มแรกของคุณสุกิจ พลับจ่าง หรือที่รู้จักกันในนามเฟซบุ๊ก ในชื่อ “ยามเฝ้าหิ่งห้อย” และคุณรุจิเรช พลับจ่าง ภรรยาผู้เป็นทั้งประธานกลุ่มอนุรักษ์ลำพูบางกระสอบและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์คุ้งบางกะเจ้า

ด้วยความรักที่เกิดและเติบโตมากับที่แห่งนี้ ธรรมชาติหล่อหลอมให้คุณสุกิจตระหนักและเห็นคุณค่าของคำว่า ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘หิ่งห้อย’ หนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้คุณสุกิจผันตัวเองมาเป็นผู้อนุรักษ์ธรรมชาติในชุมชน

คุณสุกิจกล่าวถึงที่มาที่ไปของกลุ่มอนุรักษ์ว่า “ในช่วงแรกคนในพื้นที่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญของหิ่งห้อย ชาวบ้านให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างตลาดหรือต่อยอดด้านอื่น ๆ มากกว่า แต่ด้วยความร่วมมือจากชุมชนที่ท้ายสุดเห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติที่เติบโตมาร่วมกัน คุณสุกิจเริ่มใช้สื่อออนไลน์ ตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่ม “ยามเฝ้าหิ่งห้อย” และการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ภารกิจแรกของกลุ่มคือการกำจัดน้ำเสียเพื่อให้เกิดแหล่งน้ำที่สะอาดเหมาะแก่การเป็นแหล่งที่อยู่ของหิ่งห้อยและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน้ำ” หลังจากกลุ่มอนุรักษ์ได้เกิดขึ้นนั้นได้มีกิจกรรมอื่นๆเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยจุดประสงค์ข้อเดียวคือการรักษาธรรมชาติให้อยู่กับชุมชนไปนานแสนนาน เช่น การพัฒนาและปลูกกล้าลำพู หนึ่งในต้นไม้ประจำถิ่น ในพื้นที่เกือบ ๔๑ ไร่เศษ ก็ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้กลุ่มลำพูบางกระสอบยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและผู้คนทั่วไปเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่า “เด็กลุยสวนบางกะเจ้า” นำเยาวชนและครอบครัวมาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับธรรมชาติในชุมชน ด้วยความหวังว่ากลุ่มผู้คนเหล่านี้จะได้รับความรู้ และเข้าใจถึงความสำคัญของธรรมชาติผู้เป็นมิตรแท้ของมนุษย์

ปัจจุบันภายในพื้นที่มีโครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศต่างๆมากมายที่น่าสนใจ อาทิเช่น โครงการทำน้ำใสให้คลองสวย ที่ได้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งโครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบางกะเจ้าในวันนี้เป็นที่จับตามอง และเป็นที่ ๆ ทั่วโลกให้การคุ้มครอง และเห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติในสถานที่แห่งนี้

นอก​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​จากนี้ยังมีโครงการการใช้ประโยชน์ผึ้งแมลงผสมเกสรเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีการบูรณาความรู้สู่แหล่งชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ต้นไม้ในแบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

ถ้าสังเกตโครงการที่เกิดขึ้นในตำบลบางกะเจ้า จะเห็นถึงความแตกต่างจากที่อื่นๆบางกะเจ้าเริ่มต้นด้วย การอนุรักษ์ธรรมชาติ การหวงแหนความเป็นบางกะเจ้าในแบบเดิม ดังนั้นโครงการทั้งหมดจึงไม่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวหรือเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงการที่มุ่งเน้นในเรื่องการรักษาธรรมชาติของบางกะเจ้าให้กลับมาฟื้นฟูเหมือนเดิม ประกอบกับเป็นการปลูกฝังและชี้ให้เห้นถึงความงามของธรรมชาติ ที่ควรได้รับการถะนุถนอมเหมือนงานศิลปะ

ภาพของหิ่งห้อยที่ลอยอยู่ทั่วริมน้ำคงไม่ต่างจากภาพสีน้ำมันราคาแพงที่ต้องการดูแลรักษาอย่าง การมองต่างในวันนั้นส่งผลให้บางกระสอบในวันนี้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของพืชพรรณ และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

คุณสุกิจกล่าวว่า “ความฝันอันสูงสุดของผม หนึ่งในผู้ร่วมอนุรักษ์ลำพูบางกระสอบ คือการที่บางกะเจ้าเป็นเกาะที่เต็มไปด้วยหิ่งห้อย”

จึงไม่แปลกใจว่าทำไม บางกะเจ้า จึงกลายเป็นพื้นที่เกาะส่วนเล็กๆ ที่ความสุขไม่เล็ก ผู้แวะเวียนมาเยี่ยมชมได้รับพลังความสุขจากธรรมชาติชาวบ้านเองก็ได้รับพลังความสุขทั้งการเป็นผู้ให้และผู้รับจากธรรมชาติเช่นกัน

พื้นที่ของบางกะเจ้าถูกปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวขจีสูงใหญ่คละกันไปมาทั่วสองข้างทาง การจัดวางโดยธรรมชาติรังสสรค์ให้เกิดความงามและความร่มรื่นไปทั่วชุมชน ความน่าสนใจของแหล่งชุมชนนี้คือที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ หาชมได้ยากที่จะมีบ้านที่รายล้อมด้วยต้นไม้สองข้างทาง ลำธารน้อยไหลเอื่อยๆผ่านหน้าบ้านแหล่งชุมชนแบบนี้คงหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน

ต้นลำพู อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่สำคัญไม่แพ้หิ่งห้อยของตำบลบางกระสอบแห่งนี้ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ที่สามารถพบได้ตามดินเลนริมแม่น้ำหรือคลอง ที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงท่วมถึง ขึ้นได้ทั้งในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย รากที่แผ่กระจายไปด้านข้างขนานกับผิวดินตื้นๆ และมีรากเล็กๆ แตกแขนงทางด้านล่างทำหน้าที่ยึดเกาะ บ้างก็ยื่นขึ้นมาเกยบนผิวน้ำเป็นเหมือนลักษณะหินงอก ที่ก่อขึ้นเหนือผิวน้ำ คุณลักษณะพิเศษดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้บางกะเจ้าแห่งนี้เป็นแหล่งชุกชุมไปด้วยหิ่งห้อย

bangkajao09

คุณวุฒิกร คุ้มเจริญ หัวหน้าศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ กรมป่าไม้ จังหวัดสมุทธปราการ ผู้นำเสนอเรื่องราวของ ต้นลำพูบางกระสอบ และ ป่าเกดน้อมเกล้า ผ่านสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ จนเป็นที่มาของรางวัลอันทรงเกียรติ “รุกข มรดกของแผ่นดิน” ได้กล่าวไว้ว่า “ต้นลำพูและหิ่งห้อยเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ต้นลำพูและหิ่งห้อยมีความสัมพันธ์กัน เพราะเคยมีงานวิจัยพบว่า ต้นลำพูจะมีสารบางอย่างที่ดึงดูดให้หิ่งห้อยมีการผสมพันธุ์กัน นอกจากนี้รากที่เกยขึ้นมาเหนือผิวดินของต้นลำพู จะเป็นที่วางไข่ของหอยเชอรี่ ไข่กลมมนเม็ดเล็กสีชมพูอ่อน ที่เรียงเป็นกลุ่มก้อนๆ ซึ่งเป็นอาหารอันโอชาของเหล่าหิ่งห้อย นอกจากนี้ด้วยสภาพทางลักษณะพฤกษศาสตร์ ที่ลำต้นมีความสูงและพุ่มใบที่แตกยอดอยู่สูงจึงเหมาะแก่การชุมนุม ของเหล่าหิ่งห้อย”

ที่ใดมีต้นลำพูที่นั้นย่อมมีแสงสว่างของเหล่าหิ่งห้อยเสมอ ความอุดมสมบูรณ์ที่หากไม่ได้รับการปกป้องและรักษาโดยกลุ่มชาวบ้านบางกระสอบ และหน่วยงานอื่นๆ ลำพูและเกาะแสงหิ่งห้อยที่สร้างฝันให้คนเมืองก็อาจเป็นเพียงตำนานเล่าขาน “ พื้นที่ในบริเวณบางกะเจ้าหลายส่วนเป็นที่ของชุมชน ทางกรมป่าไม้ไม่สามารถเข้ามาจัดการได้โดยตรง แต่ที่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวและยังมีพรรณไม้ต่างๆอุดมสมบูรณ์โโยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นลำพู นั้น เนื่องจากความรักในธรรมชาติและการใส่ใจต่อระบบนิเวศของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ” คำพูดของคุณวุฒิกรที่ได้กล่าวในงานด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มคงเป็น คำพูดที่แทนคำขอบคุณจากใจที่มีต่อชาวบ้าน

จากระยะเวลาที่ผ่านมาที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำให้ บางกะเจ้า เป็นพื้นที่สีเขียว ความพยามและตั้งใจจะรักษาผืนป่าที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนเมืองกรุงเทพและบริเวณใกล้เคียง

ในที่สุดบางกะเจ้าก็ได้รับรางวัลที่เป็นเครื่องการันตีถึงความสำเร็จถึงผลงานที่ผ่านมา ต้นลำพูใหญ่ในลานลำพู ที่อยู่บริเวณแถวหน้าบ้านคุณสุกิจ ถูกสถาปนาเป็น”รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑” สัญลักษณ์ประจำบางกระสอบได้รับการเชิดชูและคุ้มครองโดยภาครัฐ คงเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านหายเหนื่อยและรู้สึกอุ่นใจที่ต้นลำพูเหล่านี้จะได้รับการปกป้อง

ย้อนกลับไปถึงที่ไปที่มาของรางวัล “ รุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ” หนึ่งในความภาคภูมิใจและความสำเร็จของชาวบางกระสอบ กลุ่มต้นลำพูกว่า ๑,๗๐๐ ต้นที่เติบโตเด่นตระหงาดรายล้อมเกาะบางกะเจ้าสร้างความร่มรื่นทั่วเกาะโอเอซิสแห่งนี้ ที่มีความหนาเฉลี่ย ๒ คนโอบ (๒.๕๓ เมตร) และมีความสูงถึง ๒๕ เมตร บนพื้นที่กว่า ๔๑ ไร่ อยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ กรมป่าไม้ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ลำพูบางกระสอบ” เป็นทั้งผู้ดูแลและผลักดันให้เกิดการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลในครั้งนี้

ความสำเร็จนี้เริ่มจากปี ๒๕๕๑ ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูพื้นที่จำนวน ๔๑ ไร่เศษ รักษาต้นไม้พื้นถิ่นและจัดซื้อกล้าไม้ลำพูลำแพน และโกงกาง การผลักดันปลูกต้นไม้ร่วมกันทั้งภาครัฐและประชาชนจนเกิดการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล “ รุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ” เล่ม ๒ ขึ้น ในครั้งนี้มีการมอบรางวัลให้กับเหล่าต้นไม้คุณปู่อายุกว่า ๑๐๐ ปี จำนวน ๖๓ ต้น ตามพระชนมายุสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๓ พรรษา แน่นอนว่า ต้นลำพู บางกระสอบได้ทำการเสนอชื่อและถูกคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ รุกข มรดก ” ในครั้งนี้ร่วมกับต้นลำพู จังหวัดสตูล และยังมีต้นไม้อื่นๆที่ได้รับรางวัลด้วยเช่นกัน อาทิ ต้นสัก แม่ฮ่องสอน ต้นแดง ชลบุรี ต้นจัน ฉะเชิงเทรา ต้นหว้า หนองบัวลำภู และต้นไม้อื่นอีก ๖๓ ต้น

bangkajao07bangkajao06 bangkajao10

“รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะของต้นลำพูต้นใดต้นหนึ่ง แต่หมายรวมถึงต้นลำพูทุกต้นที่อยู่ในอาณาเขตแดนของบางกะเจ้า” เสียงของอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่างศิลปินแห่งชาติและหนึ่งในผู้เป็นกรรมการตัดสินรุกขมรดก ผู้ได้รับเชิญให้มาร่วมงานสมโภชต้นลำพูกล่าวในระหว่างที่คุยเสวนาถึง ความเป็นมาของรางวัล “รุกข มรดกของแผ่นดิน”

อาจารย์ชมัยภรได้ให้ความเห็นต่อว่า “การตัดสินต้นไม้นั้น ไม่เพียงว่าแต่ด้วยเรื่องของอายุ ขนาด แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องของความสมบูรณ์ของต้นไม้เช่นกัน และต้นลำพูแห่งนี้ก็สมบูรณ์และเหมาะสมที่จะได้รับรางวัล” การให้ข้อความเห็นของอาจารย์ชมัยภรในระหว่างการเสวนา เป็นข้อบ่งชี้อีกจุดหนึ่งว่า ต้นลำพู บางกะเจ้า สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เครือข่ายอนุรักษ์บนพื้นที่บางกะเจ้า ได้รับการคัดเลือกรับรางวัลประเภทชุมชนที่ช่วยสืบสานตำนานต้นไม้ ชุมชนป่าเกดน้อมเกล้า ตำบลทรงคนอง เช่นเดียวกัน

“รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ปี พ.ศ. ๒๕๖๑” จึงเป็นเหมือนเครื่องมือจะที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงและภูมิคุ้มกันให้ บางกะเจ้าแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำและเอาเปรียบธรรมชาติ วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในหน่วยงานผู้ร่วมพัฒนาพื้นที่ชุมชนบางกะเจ้า ได้วางยุทธศาสตร์ให้ในพื้นที่บางกระสอบถือเป็นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ

ข้อยืนยันและหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ ทำให้ “บางกะเจ้า” ชื่อนี้เป็นตัวแทนของชุมชนสีเขียว การคิดและลงมือทำอย่างตั้งใจเพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวที่เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รางวัลต่างๆที่เป็นเครื่องการันตีนี้ ไม่ได้สำคัญไปกว่า พื้นที่สีเขียวที่ผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้คนเมืองที่รายล้อมด้วยป่าคอนกรีต ความงามของธรรมชาติ และความสงบร่มรื่น ที่หาได้ยากนี้ ที่แห่งนี้จึงสมแล้วที่จะได้รับสมญานามว่า “ปอดของคนกรุงเทพ”

ข้อมูลจาก

  • งานสมโภช ต้นลำพูบางกระสอบ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ณ สวนลำพูบางกระสอบ ต.บางกระสอบ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ