ขณะที่ประเทศไทยเรากำลังเผชิญวิกฤตฝุ่นควันพิษ ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาหลายเมืองทางตอนกลางและตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้วติดลบกว่า 50 องศาเซลเซียส ต่ำสุดในรอบ 20 ปี เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ หากเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2557 ซึ่งถูกอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่าโพลาร์วอร์เท็กซ์

โพลาร์วอร์เท็กซ์(Polar Vortex) คือมวลอากาศเย็นซึ่งปรกติปกคลุมอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ และถูกล้อมรอบด้วยมวลอากาศที่อุ่นกว่าในบริเวณเขตอบอุ่น แนวปะทะระหว่างมวลอากาศเย็นกับมวลอากาศอุ่นทำให้เกิดกระแสลมแรงพัดจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก (ตามทิศทการหมุนรอบตัวของโลก) เรียกว่า polar jet stream

กระแสลมกรดขั้วโลกนี้มีความเร็วลมถึง ๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำหน้าที่เป็นแนวผนังเป็นวงกักมวลอากาศเย็นหรือโพลาร์ วอร์เท็กซ์ไว้ในเขตขั้วโลกเหนือ ไม่ให้ไหลต่ำลงมาในเขตอบอุ่น

แต่หากกระแสลมกรดขั้วโลกอ่อนกำลัง แนวผนังจะเลื่อนต่ำลงและเริ่มบิดเบี้ยว ทำให้มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาในเขตละติจูดต่่ำๆ ในพื้นที่บางส่วนได้ เรียกว่า polar vortex collapse

การพังทลายของโพลาร์วอร์เท็กซ์จึงทำให้ผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือต้องเผชิญกับทั้งกระแสลมและมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนลงมาจากขั้วโลก

นักวิทยาศาสตร์บางคนมีความเห็นว่าภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกเหนือที่อุ่นขึ้น และการสูญเสียแผ่นน้ำแข็งทะเล มีส่วนทำให้กระแสลมกรดขั้วโลกอ่อนกำลังลง และการพังทลายของโพลาร์วอร์เท็กซ์ยังใช้อธิบายปรากฎการณ์การเกิดอากาศหนาวเย็นสุดขั้วในแถบยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2556 ด้วย โดยเชื่อว่านับจากนี้ปรากฎการณ์หนาวเย็นสุดขั้วจะกลายเป็นสภาพภูมิอากาศปรกติที่ต้องเผชิญกันทุกปี