
นาทีที่สึนามิเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น
หลังเกิดแผ่นดินไหว ๙.๐ ริกเตอร์
ภาพ : REUTERS/KYODO ที่มา : theatlantic.com
เหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรง ๙.๐ ริกเตอร์ นอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียว ๓๘๐ กิโลเมตร ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูง ๔-๑๐ เมตร พัดเข้าหาฝั่งจังหวัดมิยากิ ฟุกุชิมะ อิวาเตะ อิบารากิ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๔๖ น. ตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ แม้ที่ผ่านมาญี่ปุ่นจะเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่ความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้นับว่ารุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ประเทศ
สภาพที่ตั้งทางธรณีวิทยาของญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า ๓,๐๐๐ เกาะ อยู่ในเขต “วงแหวนแห่งไฟ” (The Ring of Fire) ซึ่งเป็นแนวขอบของเปลือกโลกรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ความยาวประมาณ ๔ หมื่นกิโลเมตร ประเทศที่อยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟ ได้แก่ นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ปานามา เปรู ชิลี ฯลฯ การเคลื่อนที่และชนกันของขอบแผ่นเปลือกโลกซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก ร้อยละ ๙๐ เกิดขึ้นในเขตวงแหวนแห่งไฟนี้ และในรอบ ๒ ปีมานี้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง คือ ชิลี เกิดแผ่นดินไหว ๘.๔ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ปาปัวนิวกินี เกิดแผ่นดินไหว ๗.๔ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เกิดแผ่นดินไหว ๖.๒ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ (ข้อมูลจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา)
ยิ่งกว่านั้นที่ตั้งของญี่ปุ่นยังอยู่ตรงบริเวณสามแยกอันตราย คือจุดบรรจบกันของแผ่นเปลือกโลก ๓ แผ่น ได้แก่ แผ่นทวีปยูเรเชียน แผ่นมหาสมุทรฟิลิปปินส์ และแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งมีแผ่นทวีปอเมริกาเหนืออยู่ใกล้ ๆ โดยแผ่นมหาสมุทรฟิลิปปินส์มุดตัวเข้าใต้แผ่นทวีปยูเรเชียน แผ่นมหาสมุทรแปซิฟิกมุดตัวเข้าใต้แผ่นทวีปยูเรเชียนและแผ่นทวีปอเมริกาเหนือ
ด้วยเหตุนี้ประเทศญี่ปุ่นจึงอยู่ในตำแหน่งที่พบการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยประมาณร้อยละ ๒๐ ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วโลกที่รุนแรงกว่า ๖ ริกเตอร์เกิดขึ้นที่นี่

ภาพ : REUTERS/KYODO ที่มา : theatlantic.com
ญี่ปุ่นตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบของแผ่นเปลือกโลก ๓ แผ่น
ได้แก่ แผ่นทวีปยูเรเชียน แผ่นมหาสมุทรฟิลิปปินส์ แผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก
เป็นบริเวณที่พบการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ล่าสุดผลจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกดังกล่าวทำให้เกิดแผ่นดินไหว
๙.๐ ริกเตอร์นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู และเกิดสึนามิ
ที่มา : ดัดแปลงจาก www.flightwise.com
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมีจุดศูนย์กลางอยู่ใต้ทะเล ลึกลงไปใต้มหาสมุทรประมาณ ๒๔ กิโลเมตร เกิดขึ้นจากเปลือกโลกแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นพื้นรองรับน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกมุดตัวลงไปใต้เกาะฮอนชู (เกาะใหญ่สุดของญี่ปุ่นและเป็นที่ตั้งของกรุงโตเกียวเมืองหลวง) และเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้าหาแผ่นทวีปยูเรเชียน ส่งผลให้เกาะฮอนชูขยับไปทางทิศตะวันตกราว ๒ เมตร ๔๐ เซนติเมตร แกนสมมุติของโลกเคลื่อนไปจากเดิม ๒๕ เซนติเมตร และเกิดรอยแยกหรือแนวฉีกขาดใต้มหาสมุทรความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร
หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ๙.๐ ริกเตอร์ ยังพบว่ามีอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรงกว่า ๕ ริกเตอร์ตามมาอีกไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ ครั้ง และที่มากกว่า ๖ ริกเตอร์อีกประมาณ ๓๐ ครั้ง โดยก่อนหน้าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เพียง ๒ วัน (๙ มีนาคม ๒๕๕๔) ได้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง ๗.๒ ริกเตอร์ในบริเวณเดียวกันเป็นเหมือนสัญญาณเตือน
การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทำให้พื้นมหาสมุทรยกตัว ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรกระเพื่อมและซัดเข้าหาฝั่ง กลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิเคลื่อนถึงชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่นภายหลังเกิดแผ่นดินไหวราว ๑ ชั่วโมง แม้ร้อยละ ๔๐ ของชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นจะสร้างกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่เพื่อป้องกันความรุนแรงของคลื่นสึนามิไว้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้ได้
หลังเหตุการณ์ สำนักข่าวหลายแห่งแพร่ภาพสึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่ง กวาดทุกสิ่งที่อยู่ขวางหน้าพังราพณาสูร กระแสน้ำพัดพาบ้านเรือน รถยนต์ เรือ เครื่องบิน เคลื่อนเข้าชนทุกสิ่งที่กีดขวาง สึนามิยังพัดพาเอาซากปรักหักพัง โคลนเลน ท่วมรันเวย์สนามบินเซนได ตลอดจนย่าน ที่พักอาศัยในเมืองเอกของจังหวัดมิยากิซึ่งประสบความสูญเสียมากที่สุด นาโอโตะ ทาเกอูชิ ผู้บัญชาการตำรวจประจำจังหวัดมิยากิ รายงานเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔ ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเฉพาะที่จังหวัดมิยากิอาจสูงถึง ๑ หมื่นคน และเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคมพบศพผู้เสียชีวิตตามแนวชายฝั่งไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ คน
ผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิยังทำให้โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องหยุดเดินเครื่อง ประชาชนหลายล้านครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ เหตุการณ์น่าหวาดหวั่นยิ่งขึ้นเมื่อในเวลาต่อมาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่
จังหวัดฟุกุชิมะ ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือราว ๒๕๐ กิโลเมตร เกิดการระเบิดของอาคารเตาปฏิกรณ์เนื่องจากระบบน้ำหล่อเย็นไม่ทำงานตามปรกติ
ต่อมาเกิดการระเบิดของอาคารเตาปฏิกรณ์ พบการรั่วไหล
ของสารกัมมันตรังสีในระดับสูงพอที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์
ชาวญี่ปุ่นยืนอ่านข้อความประกาศบนกระดาน
หลังระบบการสื่อสารล่ม ไม่อาจใช้โทรศัพท์ได้
ภาพ : REUTERS/KYODO ที่มา : theatlantic.com
ภายหลังการระเบิดมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ภายนอก รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งอพยพประชาชนกว่า ๒ แสนคนออกจากพื้นที่ ๓๐ กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และมีรายงานว่าพบผู้ป่วยเนื่องจากได้รับสารกัมมันตรังสีแล้ว ๒๒ ราย ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่าได้รับแจ้งจากทางการญี่ปุ่นว่า เหตุระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ๑ ราย บาดเจ็บ ๔ ราย
ล่าสุด (๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔) เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๔ เกิดเหตุไฟไหม้ได้รับความเสียหาย นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ยอมรับว่ามีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในระดับสูงพอที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ พร้อมกับเตือนประชาชนที่อยู่ในรัศมี ๓๐ กิโลเมตรให้อยู่ภายในที่พักหรือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกตัวอาคารเพื่อความปลอดภัย
แผ่นดินไหวครั้งสำคัญของญี่ปุ่น
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นบันทึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรงมากกว่า
ต่อมาแม้จะมีแผ่นดินไหวรุนแรง ๖.๙-๗.๔ ริกเตอร์หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑๐ คน กระทั่งเหตุการณ์แผ่นดินไหว ๙.๐ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งถือว่ารุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น |