เรื่อง : ธีรเมธ ทองสง
ภาพ : ณิชกานต์ ชิดเชี่ยว

เขียนภาพด้วยแสงผ่านห้องมืด
กรรมวิธีการอัดภาพขาวดำแบบดั้งเดิมในยุคดิจิตอล

“แต๊ก”

แสงไฟสีขาวดับลงสนิท เข้าสู่ความมืดชั่วขณะ

“แต๊ก”

เสียงของสวิตช์ไฟดังขึ้นอีกครั้ง แสงไฟสีแดงสลัวถูกเปิดขึ้น สิ่งของรอบกายถูกย้อมไปด้วยสีแดง แปลกตาไปจากปรกติ สายตาที่ปรับตัวได้ไม่ดีนักในที่มืดของผมพร่ามัว แสงที่สว่างที่สุดคงจะเป็นแสงจากโคมไฟหน้าตาประหลาดสะท้อนภาพของชายวัยกลางคนกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ใต้แสงไฟนั้น บรรยากาศในห้องนิ่งเงียบ ปราศจากเสียงพูดคุย มีเพียงเสียงน้ำไหลเคล้ากับเสียงเพลงในยามบ่ายจากวิทยุช่อง 73.5 FM ที่อยู่ภายนอก

“ยินดีต้อนรับเข้าสู่ห้องมืด” เสียงภายในหัวของผมดังขึ้น

.……………………………………………………………………………………………..

darkroom02
เตรียมผสมน้ำยาพื้นฐานที่ใช้ในการอัดภาพ
darkroom03
น้ำยาพื้นฐานประกอบด้วย 3 ชนิดคือ Deverloper, Stop bath, Fixer

“เราเป็นโรงเรียนห้องมืดระบบบ้านๆ นะ” อาจารย์หน่อง-จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ ชายวัยกลางคนผมสีหมอกยาวมัดเป็นจุกอยู่ด้านหลัง เจ้าของโรงเรียนลำยูรโฟโต้ กล่าวแนะนำเมื่อเรามาถึง

สาเหตุที่เขาบอกว่าที่นี่เป็นห้องมืดระบบบ้านๆ เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในโรงรถของบ้านเขาเอง

เขาเล่าว่าเมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่เก็บรถเก่าที่เป็นของสะสม เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็ได้ขายรถเก่าๆ ทิ้งไป และเพิ่งจะถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนได้เมื่อ 2 ปีก่อน

“ผมไม่ได้ตั้งใจทำโรงเรียนนี้เป็นธุรกิจ ผมแค่เพียงอยากจะเปิดให้ความรู้ก่อนที่ผมจะลาโลกนี้ไป” อาจารย์หน่องกล่าว

เดิมทีเขาเป็นช่างภาพอาชีพในยุคที่สิ่งพิมพ์ยังใช้ภาพจากฟิล์ม และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เมื่อโลกของกล้องดิจิทัลคืบคลานเข้ามา เขาเองก็ขอหยุดตัวเองไว้อยู่ในโลกของฟิล์มต่อไป ไม่ได้รับงานถ่ายภาพต่อ แต่ก็ยังคงรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกทั้งยังเปิดสอนวิชาห้องมืดเองที่บ้านด้วยทั้งการล้างฟิล์มและการอัดขยายภาพ

ในทุกๆ เดือนจะเปิดสอนเพียงวิชาละหนึ่งครั้ง หากเป็นนักเรียนนักศึกษา อาจารย์ก็คิดค่าสอนในราคาที่ถูกกว่าอัตราของบุคคลทั่วไป เขาเล่าว่าเมื่อตอนที่เขาไปเรียนถ่ายภาพที่อังกฤษเขาได้รับสิทธิพิเศษจากการเป็นนักศึกษามากมาย เมื่อกลับมาเปิดโรงเรียนของตัวเองก็อยากให้สิทธิ์นี้กับเหล่านักศึกษาเหมือนที่เขาเองเคยได้รับ

ภายในโรงเรียนผนังแต่ละด้านถูกประดับไปด้วยผลงานภาพถ่ายของอาจารย์หน่อง ทุกภาพล้วนเป็นภาพขาวดำ

“ทำไมต้องเป็นฟิล์มและภาพขาวดำครับ” ผมถามด้วยความสงสัย

“ถ้าเป็นฟิล์มขาวดำเราสามารถจบงานทุกอย่างได้ด้วยตัวเราเอง”

อาจารย์หน่องบอกว่าหากเป็นภาพสีเราต้องส่งฟิล์มให้ห้องแล็บให้เขาไปจัดการต่อ แต่ถ้าหากเป็นฟิล์มขาวดำเราสามารถจัดการกับภาพถ่ายได้ด้วยตัวเองในห้องมืด ตั้งแต่ล้างฟิล์ม ปรับแต่งได้ตามแบบที่เราต้องการ และสุดท้ายอัดออกมาเป็นภาพ นั่นคือจบกระบวนการจากกล้องถ่ายรูปสู่ภาพถ่าย

ในยุคที่กล้องดิจิทัลสามารถนำภาพมาปรับแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และพิมพ์ภาพออกมาได้ไม่ยาก อาจารย์หน่องกลับเลือกใช้กล้องฟิล์มและห้องมืดที่เขาถนัดในการสร้างภาพถ่าย

สถานที่แห่งนี้ไม่มีคอมพิวเตอร์แม้แต่เครื่องเดียว เครื่องเสียงก็ยังคงเป็นวิทยุตัวเก่า มีเพียงโทรศัพท์ที่คอยเชื่อมต่อระหว่างโลกแอนะล็อกแห่งนี้เข้ากับยุคดิจิทัล

.……………………………………………………………………………………………..

darkroom04
พื้นที่ในการเตรียมน้ำยาในการอัดภาพขาวดำ
darkroom05
การเซตค่าเครื่องหัวอัดขาวดำก่อนเริ่มใช้งาน

“Dark Room” หรือห้องมืด

ป้ายหน้าประตูบอกถึงสิ่งที่เราจะได้เข้าไปเจอหลังประตูบานนี้

ประตูบานแรกถูกเปิดออก ภายในซ้อนด้วยประตูอีกชั้นหนึ่งป้องกันการรบกวนจากแสงภายนอก เมื่อผ่านประตูชั้นที่ 2 เข้าไปภายในห้อง ผนังทั้งสี่ด้านถูกทาด้วยสีดำสนิท ใจกลางห้องมีอ่างคล้ายอ่างล้างมือขนาดใหญ่ เหลือพื้นที่เดินรอบๆ อ่างไม่มากนักเพียงแค่สองคนเดินสวนกันได้ สองข้างของอ่างล้างมือมีวัตถุคล้ายโคมไฟขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนโต๊ะยาวราวเจ็ดเครื่อง

“นี่คือเครื่องอัดขยายภาพ หรือ enlarger” อาจารย์หน่องพูดขึ้นพร้อมชี้ไปทางวัตถุคล้ายโคมไฟเหล่านี้

“เราก็เป็นเหมือนพ่อครัว คอยปรุงภาพให้ได้อย่างที่เราต้องการ” อาจารย์หน่องหยิบผ้ากันเปื้อนขึ้นมาสวมพร้อมพูดขึ้น

ภาพบนแผ่นฟิล์มที่ต้องการอัดลงกระดาษถูกนำมาใส่ไว้ใน negative carrier หรือตัวจับแผ่นฟิล์ม หน้าตาคล้ายกรอบรูป จากนั้นนำมาสอดไว้ใต้หลอดไฟซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดแสง ใต้แผ่นฟิล์มมีเลนส์ที่คอยรวมแสงที่ผ่านชั้นฟิล์มให้ลงมาบนกระดาษ

ไฟสีขาวถูกปิดลง แสงไฟแดงสลัวถูกเปิดขึ้น

อาจารย์เริ่มสาธิตวิธีการอัดภาพ แสงจากหลอดไฟพาภาพบนแผ่นฟิล์มลงมาบนฐานของเครื่องอัด เมื่อแสงเดินทางมาถึงฐาน ภาพก็ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น อุปกรณ์คล้ายกล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็กถูกนำมาวางทาบลงบนภาพนั้น มือข้างหนึ่งของอาจารย์จับที่อุปกรณ์คล้ายกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งก็คือ focus scope อีกมือกำลังหมุนแป้นหมุนบนตัวเครื่องอัดขยาย ภาพบนฐานเครื่องอัดค่อยๆ ชัดขึ้น

ด้านข้างเครื่องอัดขยายมีนาฬิกาตั้งเวลาสำหรับการฉายแสง เวลาที่แสงถูกฉายลงบนกระดาษนั้นมีผลต่อความมืดสว่างของภาพ ฉายแสงนานไปภาพก็จะมืด และฉายแสงน้อยเกินไปก็จะทำให้ภาพสว่าง หากเปรียบว่าการอัดภาพเป็นการวาดภาพ แสงก็เปรียบได้ดังน้ำหมึก และเครื่องอัดภาพเป็นดังพู่กันที่จะนำภาพในความคิดซึ่งก็คือภาพจากฟิล์มลงสู่กระดาษ เราจะรู้เวลาที่ทำให้ภาพของเราออกมาสว่างพอดีก็ต้องทดลองฉายแสงที่เวลาต่างๆ

“ก่อนจะอัดภาพจริงเราต้องหาค่าแสงที่พอดีด้วยการทำเทสต์สตริป (test strip)” อาจารย์หน่องกล่าวพร้อมยกภาพใบเล็กที่มีความสว่างไล่เรียงกันไปเป็นช่องๆ ให้พวกเราดู

การทำเทสต์สตริปเป็นการฉายแสงที่เวลาต่างกันลงบนกระดาษอัดภาพแผ่นเดียวกัน โดยแบ่งแต่ละระยะเวลาเป็นช่องๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่าควรฉายแสงเป็นเวลานานเท่าใด

ในส่วนของกระดาษอัดภาพก็ไม่ต่างอะไรจากกระดาษวาดเขียนที่มีหลายลักษณะพื้นผิวตั้งแต่ผิวด้านไปจนถึงผิวมันวาว ด้านหนึ่งของกระดาษจะถูกเคลือบด้วยสารเคมีไวแสงที่ไม่ไวต่อแสงความถี่ต่ำอย่างแสงสีแดง ห้องทำงานจึงต้องใช้แสงสีแดง เพราะสีแดงไม่เกิดปฏิกิริยากับสารเคมีบนกระดาษ เมื่อแสงที่ผ่านแผ่นฟิล์มฉายลงมาเป็นภาพบนกระดาษที่เคลือบสารเคมีไวแสง ก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมีเป็นการบันทึกแสงที่เป็นภาพจากฟิล์มไว้บนกระดาษ

“กริ๊ก” แสงไฟจากเครื่องอัดขยายถูกปิดลง ภาพที่อยู่บนฐานเครื่องอัดหายไปแล้ว กระดาษอัดภาพถูกนำมาวางไว้ที่ฐาน

“กริ๊ก” เสียงดังขั้นอีกครั้ง นาฬิกาจับเวลาเริ่มเดินถอยหลัง

เมื่อเวลาหยุดเดิน อาจารย์หน่องหยิบกระดาษออกจากเครื่องอัดภาพ ตอนนี้บนกระดาษมีเพียงแต่ความว่างเปล่า ไม่มีภาพใดปรากฏ

อาจารย์หน่องค่อยๆ วางกระดาษลงบนถาดแรกที่อยู่ในอ่าง เขย่าถาดไปมา ภาพบนกระดาษค่อยๆ ปรากฏขึ้น เมื่อครบกำหนดเวลาก็จะถูกย้ายไปยังถาดถัดไป

“Developer 1 minute

Stop bath 20-30 sec

Fixer 1 minute”

ป้ายที่ติดอยู่บนผนังห้องบอกเวลาที่กระดาษอัดภาพต้องแช่อยู่ในถาดแต่ละถาด

ถาดทั้งหมดมีอยู่ด้วยกันสามถาด ถาดแรกเป็นน้ำยา Developer หรือน้ำยาสร้างภาพ เมื่อครบเวลาก็จะถูกหยุดการทำงานด้วยน้ำยา Stop bath ในถาดถัดไป และถาดสุดท้ายคือ Fixer ที่จะคอยคงสภาพของภาพบนกระดาษ เมื่อผ่านน้ำยาครบทุกตัวแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องนำภาพไปแช่น้ำอีกเป็นเวลา 30 นาทีเพื่อเป็นการล้างน้ำยา เพราะคราบน้ำยาเหล่านี้จะก่อความเสียหายกับภาพในอนาคต ก่อนที่จะนำภาพขึ้นตาก

กว่าจะออกมาหนึ่งภาพใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ถ้าหากเป็นเครื่องพิมพ์คงจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ถ้าหากภาพที่เราอัดได้นั้นยังไม่ถูกใจ กระบวนการทั้งหมดก็จะต้องเริ่มใหม่ ไม่สามารถแก้ไขลงกระดาษใบเดิมได้

.……………………………………………………………………………………………..

darkroom06
ปรับโฟกัสของภาพเพื่อให้ภาพที่ออกมาคมชัด
darkroom07
กระดาษที่ผ่านการฉายแสงจากเครื่องหัวอัดจะถูกนำมาลงในน้ำยาพื้นฐาน ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
darkroom08
กระดาษที่ผ่านการแช่ในน้ำยา Fixer

บ่ายนี้ถึงเวลาที่พวกเราต้องลองลงมืออัดภาพด้วยตัวเอง ก่อนที่เราจะเริ่มอัดภาพจริง สิ่งแรกที่อาจารย์หน่องให้เราทำคือ contact sheet เป็นการนำฟิล์มทั้งม้วนเรียงต่อกันเป็นแถวยาวหกแถว แถวละหกภาพ วางไว้บนกระดาษอัดภาพ ทับด้วยกระจกอีกชั้นเหมือนแซนด์วิชที่มีฟิล์มอยู่ตรงกลางแล้วฉายแสงลงไป ภาพทั้งหมดจะถูกอัดลงกระดาษใบเดียวกันทั้งหมด เพื่อเป็นการเลือกภาพที่ต้องการอัด

ผมนั่งประจำที่เครื่องอัดภาพของตัวเอง มือสองข้างสั่นด้วยความตื่นเต้น ผมค่อยๆ บรรจงบรรจุแผ่นฟิล์มที่จะใช้อัดลงเครื่องอัดขยาย ขยับกระดาษจัดวางองค์ประกอบภาพให้เรียบร้อย ตั้งเวลาฉายแสงตามเวลาที่หาได้จากการทดลองลงบนกระดาษแผ่นเล็ก จากนั้นจึงกดปุ่มเริ่มฉายบนนาฬิกา

แสงจากหลอดไฟพาภาพถ่ายของผมผ่านมายังเลนส์ลงบนกระดาษอัดภาพเป็นเวลา 9 วินาที ก่อนจะถูกส่งไปแกว่งในถาดน้ำยาสร้างภาพ ภาพถ่ายค่อยๆ ปรากฏขึ้นขณะลอยอยู่ในน้ำยา Developer เมื่อครบ 1 นาที กระดาษถูกย้ายไปยังถาดน้ำยา Stop bath และถาดสุดท้ายน้ำยา Fixer

“แต๊ก”

แสงไฟสีขาวถูกเปิดขึ้น สายตาพร่ามัวจากการอยู่ในที่มืดเป็นเวลานาน ภาพถ่ายในมือค่อยๆ ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อสายตาเริ่มปรับตัวได้ ผมเผลอยิ้มออกมาอย่างไม่รู้ตัวให้กับภาพถ่ายใบแรกที่อัดลงสู่กระดาษด้วยมือของตัวเอง

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ห้องมืดแห่งนี้เหมือนเครื่องข้ามเวลา ที่ไม่เพียงพาเราย้อนอดีตกลับไปในโลกของแอนะล็อก แต่ยังทำให้นาฬิกาของเรานั้นเดินไปข้างหน้าเร็วขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่ผมอยู่ในห้องมืดเรียนรู้การอัดภาพในบ่ายวันนี้

“ตั้งแต่พี่เริ่มมาอัดภาพมันทำให้รู้ว่าเราถ่ายภาพไปทำไม เวลาถ่ายก็เราต้องตั้งใจถ่าย เวลาอัดภาพก็จะง่าย ได้ภาพที่ดี” พี่บอล ผู้ช่วยสอนอัดภาพของอาจารย์หน่องพูดขึ้น ขณะทดลองหาเวลาฉายแสงที่พอดีเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หลังทดลองไปสองครั้งแต่ยังไม่ได้ค่าแสงที่พอดี

ถ้าเราถ่ายภาพมาไม่ดีจะมาแก้ไขในห้องมืดก็ยาก กว่าที่จะหาเวลาที่เหมาะสมในการฉายแสงได้ก็คงต้องหมดกระดาษไปหลายใบ ที่ผมได้เรียนรู้ไปในวันนี้นั้นเป็นเพียงพื้นฐานในการนำภาพจากฟิล์มลงบนกระดาษ แต่ในขั้นสูงขึ้นไปเราสามารถแต่งภาพบางส่วนให้ดำขึ้นโดยการฉายแสงลงบนจุดจุดนั้นนานกว่าปรกติ หรือบังไม่ให้แสงลงบนกระดาษนานเกินไปเพื่อเพิ่มความสว่างให้จุดนั้น

การอัดภาพก็เหมือนการทำงานฝีมือขึ้นมาสักชิ้น จากความตั้งใจของเจ้าของภาพถ่ายที่อยากมีภาพถ่ายที่จับต้องได้ ไม่เพียงแค่ภาพถ่ายที่เป็นไฟล์ต้องเปิดดูบนจอ

.……………………………………………………………………………………………..

darkroom09
กระดาษที่ผ่านการแช่น้ำยาจะถูกนำมาล้างน้ำสะอาดที่เปิดให้มีไหลผ่านตลอดเพื่อเป็นการล้างน้ำยาให้หมด
darkroom10
เมื่อได้ผลงานแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการตากกระดาษให้แห้ง

“อาจารย์ใช้ห้องมืดมาก็หลายที่ ชอบที่ไหนที่สุดครับ”

“ที่นี่แหละ โรงเรียนนี้แหละ” อาจารย์หน่องตอบพร้อมยิ้มขึ้น

ห้องมืดของโรงเรียนลำยูรโฟโต้แห่งนี้ อาจารย์หน่องเป็นคนออกแบบขึ้นมาเองทั้งหมดด้วยความตั้งใจที่จะใช้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่สะสมมายาวนานจนถึงปัจจุบัน

“ประสบการณ์การเดินทางที่ยาวไกลของชีวิตนี้เดินอยู่บนถาดน้ำยา Developer ที่แกว่งไปมาอย่างตั้งใจ จนภาพชีวิตใบนี้ได้ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน ยังไม่ผ่านถาด Stop bath เพราะการเดินทางนี้ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่มีการหยุดภาพ ยังไม่ลงถาด Fixer

“ถ้าจะลงถาดนี้คงลงในวันที่การเดินทางยุติลง ยังมีอีกหลายชีวิตที่จะเดินผ่านมายังโรงเรียนลำยูรแห่งนี้ จะนำภาพชีวิตไปแกว่งน้ำยา Dveloper ในถาดใบใหม่กันต่อไป” ย่อหน้าสุดท้ายของบทความที่บอกเล่าถึงการเดินทางบนเส้นทางการถ่ายภาพของอาจารย์หน่อง