วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๔๓ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระชันษา ๑๙ ปี เสด็จกลับถึงสยาม หลังจากทรงใช้เวลาศึกษาในยุโรปทั้งสิ้น ๖ ปี

กรุงเทพฯ ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ หรือ ค.ศ. ๑๙๐๐ อรุณรุ่งแห่งของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แตกต่างจากเมื่อ ๖ ปีก่อนหน้าไม่น้อย

บางกอก ๑๙๐๐ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 13

เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับจากยุโรปในปี ๒๔๔๐ มีการก่อสร้าง “สวนดุสิต” ขึ้นเป็นที่ประทับในที่สวนที่นาทางตอนเหนือของพระนคร (ภายหลังทรงสถาปนาเป็น “พระราชวังดุสิต”) จากนั้นในปี ๒๔๔๒ เริ่มสร้างพระอารามหลวงประจำสวนดุสิต คือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พร้อมกับลงมือตัดถนนราชดำเนิน ความยาว ๓ กิโลเมตร เชื่อมโยงพระบรมมหาราชวังเข้ากับพื้นที่ของสวนดุสิต

“ความก้าวหน้า” ตามแบบตะวันตกอีกหลายอย่างเกิดขึ้นระหว่างนั้นด้วย เช่นปี ๒๔๔๐ มีการฉายภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในสยาม ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ และในปี ๒๔๔๓ รถยนต์คันแรกก็ถูกส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ

กล่าวเฉพาะกิจการทหารเรือ ก่อนหน้าพระองค์เจ้าอาภากรฯ เสด็จกลับเข้ามาไม่นาน ในปี ๒๔๔๒ มีการจัดตั้งโรงเรียนนายเรือ และเปิดเรียนเมื่อต้นปี ๒๔๔๓ ความสำเร็จของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ในการศึกษาจากราชนาวีอังกฤษคงเป็นที่ปลาบปลื้มพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิใช่น้อย วันรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ระหว่างงานพระราชทานเลี้ยงต้อนรับในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ณ พลับพลาสวนดุสิต พระราชบิดาทรงมีพระราชดำรัสว่า ต่อไปภายหน้า หากมีนักเรียนนายเรือคนใดที่มีผลการเรียนดีเด่น สมควรส่งไปเล่าเรียนในต่างประเทศได้ “จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคพระราชทรัพย์พระราชทานให้กรมทหารเรือส่งนักเรียนออกไปเรียนทุกปี…”

พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงกลับมาเข้ารับราชการในกรมทหารเรือตามวิชาที่ทรงศึกษา โดยได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท (เทียบเท่าชั้นยศนาวาตรีปัจจุบัน) สันนิษฐานกันว่าคงทรงปฏิบัติหน้าที่เป็น “นายธง” (flag lieutenant) หรือนายทหารคนสนิท ประจำพระองค์ นายพลตรี กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (๒๓๙๙-๒๔๖๗) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งขณะนั้นเป็น “ผู้รั้งตำแหน่ง” (รักษาราชการ) ผู้บัญชาการกรมทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

ผลงานแรกของพระเจ้าลูกยาเธอในราชนาวีสยาม คือรายงานการตรวจการป้องกันลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน หรือหลังจากเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เพียงสองสัปดาห์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านแล้ว มีพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๔๓ ว่า “…ได้อ่านรายงานแล้ว เหนว่าเปนความคิดที่หลักแหลมอยู่…”

อาจด้วยรายงานฉบับนี้เองที่นำไปสู่ประกาศใน“ราชกิจจานุเบกษา” ว่า เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๔๓ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระชันษา ๑๙ ปี ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างขึ้นสำหรับ “พระราชทานแก่ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชกวี นายช่างและช่างฝีมือพิเศษ…หรือผู้ที่ได้แต่งหนังสือตำราวิทยาการต่างๆ…ที่มีคุณประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน”

ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงริเริ่มการฝึกวิชาสัญญาณโคมไฟ สัญญาณธง ขึ้นในกองทัพเรือ

บางครั้งยังทรงนำทหารเรือใต้บังคับบัญชาออกช่วยกู้ภัยดับเพลิงในกรุงเทพฯ เช่นเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๔๓ เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บ่อนตำบลหัวเม็ด มีรายงานว่า “…ทรงปีนหลังคาและรื้อตัดต้นไฟด้วยพระองค์เอง จนประชวรพระวาโย (เป็นลม) ถึงสองพัก…”

เจ้าหน้าที่กู้ภัยในยุคปัจจุบันจึงอาจนับเอาพระองค์ท่านเป็น “องค์อุปถัมภ์” งานของตนได้โดยชอบธรรม


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ