PM2.5 - 5 เรื่องเพื่อธรรมาภิบาลจัดการไฟ ใช้แอปฯ FireD บริหารจัดการ “ไฟจำเป็น” : ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

ปี 2564 เป็นปีแรกที่แอปพลิเคชัน “ไฟดี” (FireD) ถูกนำมาใช้สนับสนุน “การบริหารจัดการเชื้อเพลิง” ในพื้นที่โล่งของจังหวัดเชียงใหม่

ฐานคิดของ FireD เกิดจากการยอมรับและทำความเข้าใจสถานการณ์ว่ายังมีผู้คนจำนวนมากที่จำเป็นต้องพึ่งพาไฟในชีวิต เรียกกันในหมู่นักวิชาการว่า “ไฟจำเป็น” หรือ “ไฟดี”

เมื่อยังมีคนจำเป็นต้องใช้ไฟในการเพาะปลูกก็จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการไฟและเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ

อาจกล่าวได้ว่า FireD เป็นแอปพลิเคชันสนับสนุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า พื้นที่ทางการเกษตร หรืออีกนัยหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความจำเป็นลงทะเบียนขอใช้ไฟ โดยแจ้งคำร้องเข้ามาทางแอปพลิเคชัน เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลคำร้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ประมวลสภาพอากาศ ดัชนีการระบายอากาศ ผลการพยากรณ์คุณภาพอากาศที่คาดการณ์ล่วงหน้า รวมถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในขณะนั้น  เพื่อหาความเหมาะสมในการใช้ไฟ

แอปพลิเคชั่น FireD ได้รับการพัฒนาโดยคณะนักวิจัยซึ่งนำโดย ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Regional Center for Climate and Environmental Studies, RCCES) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการใช้งานในรอบปีที่ผ่านมา สามารถลดจำนวนจุดความร้อน (hotspot) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยลดฝุ่นควันและไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่แนวทาง zero burning หรือบังคับ “ห้ามเผาอย่างเด็ดขาด” ถูกตั้งคำถามว่าไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง “การบริหารจัดการเชื้อเพลิง” ผ่านแอปพลิเคชัน FireD จึงน่าจะเป็นทางออก และแสดงให้เห็นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรมของไทย มีความสำคัญและมีศักยภาพในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เรื้อรังมาหลายปี

หวังผลได้ในทางปฏิบัติเมื่อนำมาใช้งานจริง และน่าจะขยายผลการใช้งานไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

chatchawal01

zero burningแก้ปัญหาไม่ได้ ควรใช้ “การบริหารจัดการเชื้อเพลิง”

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ผ่านมามักจะมีลักษณะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ตั้งกรรมการขึ้นมาช่วงเดือนธันวาคม พอถึงมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม-เมษายน ก็ตามดับไฟ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันเข้าสู่กรมกอง การแก้ไขปัญหาจะวนลูปแบบนี้ทุกปี

สภาลมหายใจเชียงใหม่พยายามเสนอให้ปรับรูปแบบการทำงาน จากใช้คำสั่งแบบ “บนลงล่าง” เปลี่ยนมาเป็น “ล่างขึ้นบน” อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในมากที่สุด เรียกว่าใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรท้องถิ่นเป็นแกนประสาน อีกสิ่งที่มีความสำคัญคือเราเสนอให้เปลี่ยนแปลงแนวทาง zero burning หรือ การห้ามเผาโดยเด็ดขาด เพราะไม่สะท้อนตามหลักความเป็นจริง อันที่จริงแล้วในชีวิตจริงการเผายังมีความจำเป็น ในภาพกว้างจึงควรใช้รูปแบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าแนวทาง zero burning การเกษตรแบบปลอดการเผา มันแก้ปัญหาไม่ได้

chatchawal02

นวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น

ที่ผ่านมา แนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 บ้านเรายึดหลัก zero burning หรือห้ามเผามาโดยตลอด ในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่งจะเริ่มใช้แอปพลิเคชั่น FireD ที่ได้รับการพัฒนาโดยคณะวิจัยที่นำโดย ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เริ่มใช้ปีแรกก็ถือว่ามีความพร้อมพอสมควร

แอปพลิเคชั่น FireDถือเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความก้าวหน้า จุดเด่นคือการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เชื่อมโยงแผนปฏิบัติการของชุมชนว่าจะลดไฟ ลดฝุ่น ลดควัน ลดจุดความร้อน hotspot ยังไง พื้นที่ไหนที่จะห้ามเผาเด็ดขาด พื้นที่ไหนจำเป็นต้องอาศัยรูปแบบการบริการจัดการเชื้อเพลิง

แอปพลิเคชั่น FireD ทำให้เกิดการเชื่อมโยงแผนของชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการ มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย เรียกว่า “วอร์รูม” หรือศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เข้ามาพิจารณาบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด

พึงพอใจอย่างยิ่งเพราะสิ่งนี้ตอบโจทย์ พอเราบอกว่าอยากให้เปลี่ยนแนวทางจาก zero burning มาเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ตัวแอปพลิเคชัน FireD ก็เข้ามาตอบโจทย์ เข้ามาเป็นตัวเชื่อมแผนการของชาวบ้านที่เราพยายามสนับสนุน พยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นโดยมีการวางแผนจากข้างล่างคือชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาข้างบน การเชื่อมกับแอปพลิเคชั่น FireD ถือเป็นอะไรที่ลงตัวและถือเป็นนวัตกรรม

chatchawal03

hotspot ลดลง 62 เปอร์เซ็นต์

เมื่อช่วงต้นปี 2563 เชียงใหม่มีจุด hotspot ประมาณ 21,000 จุด มีพื้นที่ไฟไหม้ 1.3 ล้านไร่ แต่ปี 2564 จุด hotspot ลดลงเหลือ 8,600 จุด พื้นที่ไฟไหม้เหลือ 800,000 ไร่ เท่ากับ hotspot ลดลง 62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็อาจจะมีเหตุผลว่าเพราะปี 2564 มีปัจจัยเรื่องฝนตกลงมามากกว่าปี 2563 อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบในเดือนที่ฝนไม่ตกก็ถือว่ามีตัวเลขลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ คือลดจุด hotspot ลงได้อย่างมาก

ในขณะที่จุด hotspot ลดลง พื้นที่เผาไหม้ลดลง แต่ค่า PM2.5 นั้นลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเรารู้ว่าสาเหตุเกิดจากกระแสลมใต้พัดฝุ่นควันจากจังหวัดตาก ลำปาง เข้ามาที่เชียงใหม่ มีกระแสลมตะวันตกพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราเริ่มมีความรู้ว่าถ้า PM2.5 หรือฝุ่นควันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีความเลื่อนไหล ไม่ใช่อยู่กับที่ ไม่สามารถบล็อคอยู่กับที่ได้ การใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้ผู้คนในเชียงใหม่ทุกวันนี้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 มากขึ้น รู้ว่าคุณภาพอากาศคืออะไร เข้าใจค่า PM2.5 ค่าจุด hotspot

ความรู้เรื่องข้อมูลในส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบ realtime ยังช่วยสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นทางสุขภาพ

chatchawal04

เตรียมขยายผลสู่ระดับอำเภอและตำบล

แอปพลิเคชั่น FireD เพิ่งถูกใช้งานเมื่อปีที่แล้ว อาจจะมีข้อบกพร่อง ข้ออ่อน หรือข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ปีนี้คณะวิจัยน่าจะพัฒนาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดในภาพรวม คือ 1) ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต 2) ชุมชนยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นหรือการจองเผา ฉะนั้น ที่ผ่านมาเราพยายามให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีออฟฟิส มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีอุปกรณ์ค่อนข้างพร้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การบริการจัดการเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ เราคิดว่าในปีนี้จะมีกระบวนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงลึกลงในระดับย่อย คือไม่ใช่ระดับจังหวัดแล้ว เข้าใจว่าคณะวิจัยของ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ ได้เตรียมแล้ว ให้สามารถจัดระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงลงลึกถึงระดับอำเภอ หรือถ้าตำบลไหนมีศักยภาพก็สามารถบริหารจัดการในระดับตำบลได้เลย นี่คือข้ออ่อนที่พยายามแก้ไขในปีนี้

chatchawal05

อนาคตอยากเห็น “การบริหารจัดการเชื้อเพลิง” พัฒนาเป็นนโยบายที่ชัดเจน

อนาคตเราอยากเห็น 1) ชุมชนท้องถิ่นมีความพร้อม มีกระบวนการวางแผนในระดับชุมชน ในระดับตำบล ที่มีคุณภาพ 2) ตัวแอปพลิเคชัน FireD ต้องพร้อม สภาลมหายใจเชียงพยายามเสนอว่าเราอยากเห็นข้อมูลในระดับชุมชนมากขึ้นนอกเหนือจากข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาเป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ คือ ค่า PM2.5 จุด hotspot กระแสลม ความชื้น อุณหภูมิ การระบายตัวของอากาศ ข้อมูลเหล่านี้แอปพลิเคชัน FireD แม่นยำและพร้อมมาก แต่ข้อมูลในระดับพื้นที่ ชุมชน ยังสามารถพัฒนาต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้อีก

สมมุตว่ามีจองเผาเข้ามาจากพื้นที่หนึ่งในอำเภอกัลยาณิวัฒนา เราอยากจะรู้ว่าตำแหน่งนั้นอยู่ในเขตชุมชน พื้นที่ทางการเกษตร ป่าสงวนแห่งชาติ หรืออยู่ในป่าอนุรักษ์ ตั้งอยู่ตรงไหน ข้อมูลเหล่านี้ถ้าเพิ่มเข้ามาได้จะสมบูรณ์มากจะวิเศษมาก

ฉะนั้นเราพยายามเสนอว่าอยากเห็นข้อมูลจากพื้นที่ ชุมชน มากขึ้น เราอยากได้ความชัดเจนว่าเสนอมา 50 ไร่ อยู่ในพื้นที่อะไร จะได้ติดตามดูแลได้

และ 3) ในส่วนของนโยบายรัฐ เราอยากเห็น “การบริหารจัดการเชื้อเพลิง” ถูกพัฒนาเป็นนโยบายที่ชัดเจน สถานการณ์ตอนนี้สมมุตว่าผู้ว่าราชการจังหวัดบางท่านเห็นด้วยกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เรื่องนี้ก็จะไปได้ดี ฉลุยเลย แต่ถ้าผู้ว่าฯ บางท่านไม่ค่อยเห็นด้วย หมายความว่าท่านเห็นด้วยกับนโยบายห้ามเผาโดยเด็ดขาด ยังมีกระบวนทัศน์หรือ myset แบบเดิมก็จะมีอุปสรรคคค ฉะนั้นเราอยากเห็นนโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิง มีระบบให้ทุกๆ ฝ่ายเข้ามาอยู่ในวอร์รูมร่วมกันตัดสินใจ ถ้าทั้ง 3 ปัจจัยนี้พร้อม เชื่อมั่นเลยว่าเราจะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาไฟและฝุ่นควัน

ขอขอบคุณ เวทีสนทนาออนไลน์ “ปลดล็อค เพื่ออากาศสะอาด” From Output to Impact ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 วันที่ 25 มกราคม 2564 จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม