เรื่อง : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำรวจความหมายของชีวิตและการแต่งงานไปกับ COMPANY

ช่วงปีที่ผ่านมากระแส “โสดโดยความสามารถ” ผ่านตามาให้ได้เห็นเกือบทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ ประโยคนี้บ่งบอกถึงการเกิดสถานะโสดจากตัวเองที่แม้จะมีผู้คนอยากเข้ามาทำความรู้จักเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์เท่าใดสุดท้ายก็จะมีข้ออ้างปฏิเสธเพื่ออยู่เป็นโสดต่อไป

ถึงตรงนี้ มีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาว่าความเป็นโสดเกิดขึ้นโดยความสามารถจริงหรือ หรือแท้จริงแล้วความโสดเกิดจากเมืองใหญ่ที่แสนซับซ้อนวุ่นวาย เกิดจากสังคมบีบคั้นให้ตั้งเป้าหมายชีวิต เร่งรุดเดินหน้า ตัดขาดและแยกตัวออกจากสังคมโดยไม่รู้ตัว

ย้อนกลับไปมองภาพสังคมอเมริกาที่ซึ่งละครเวทีมิวสิคัลคอมเมดี้เรื่อง “Company” ได้เปิดตัวขึ้น คำถามถึงความโสดรวมไปถึงการแต่งงานก็คงมีไม่น้อยเช่นกันในห้วงเวลานั้น

ก่อนทศวรรษ 1970 จะมาถึง เป็นช่วงเวลาที่บทบาทผู้หญิงถูกจำกัดอย่างเข้มงวด “แม่บ้าน” คืออาชีพที่กักขังเสรีภาพ โอกาส และความเป็นอิสระของผู้หญิงหลายคน ในยุคนี้ชีวิตผู้หญิงเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่กำหนดกรอบให้ต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 1970 กระแสสังคมเปลี่ยน ลัทธิสตรีนิยมเริ่มแพร่หลายในอเมริกา เกิดการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเพื่อสตรีในหลากหลายด้านอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางการเมือง สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย โอกาสทางการศึกษา และสิทธิในการทำงาน ผู้หญิงจำนวนมากเริ่มออกจากบ้านเพื่อหาเลี้ยงปากท้องด้วยตนเองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สังคมอเมริกาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งต่อบทบาทของผู้หญิงและทัศนคติเรื่องชีวิตคู่อันเป็นปัจจัยที่เอื้อไปสู่สาเหตุการหย่าร้าง การคุมกำเนิด และการเลือกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคู่รักอย่างเสรีโดยไม่แต่งงาน

ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง Company ละครเวทีมิวสิคัลคอมเมดี้ของบิดาแห่งวงการละครเพลงสมัยใหม่อย่าง สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim) จึงคล้ายเป็นเรื่องราวที่สะท้อนบรรยากาศแห่งยุคสมัย ตั้งคำถาม และพาออกสำรวจชีวิตคู่และความรักที่ผันเปลี่ยนตามบริบทสังคม

Company ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลัก “โรเบิร์ต” หรือ “บ็อบบี้” ชายวัย 35 ผู้สับสนและตั้งคำถามถึงความรัก ชีวิตคู่ การแต่งงาน การค้นหาคำตอบ รวมถึงการค้นหาความหมายของชีวิตโดยมีฉากหลังเป็นมหานครเอกของโลกอย่างนิวยอร์ก

ความโสดกับคนวัยสามสิบ

คุณนึกภาพตัวเองตอนอายุสามสิบออกไหม

ยังจำภาพตัวเองตอนอายุสามสิบได้หรือไม่

และหากอายุเป็นเพียงตัวเลข ทำไมคุณถึงกลัวอายุสามสิบ

หลายคนพูดว่าสามสิบเป็นช่วงอายุที่มากเกินกว่าจะใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไปแต่ก็น้อยเกินกว่าจะเข้าสังคมแบบผู้ใหญ่ อายุสามสิบเป็นช่วงก้ำกึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตบางอย่างที่อาจทำให้ต้องพักความฝันวัยเยาว์ เริ่มวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พลังงานร่างกายถดถอยตรงข้ามกับความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น มุ่งหน้ามองหาเส้นทางเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงตามความคาดหวังของสังคมว่าควรประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน การเงิน หรือแม้แต่การแต่งงานสร้างครอบครัว

เมื่อคุณมีอายุขึ้นเลขสามโดยสมบูรณ์คำถามในชีวิตที่นอกจากเรื่องหน้าที่การงานและความมั่นคงทางการเงินแล้ว คงหนีไม่พ้นคำถามที่ทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนในหัวใจอย่าง “แต่งงานหรือยัง ?”

แล้วเราจำเป็นต้องแต่งงานจริงไหม หรืออยู่เป็นโสดต่อไปจะดีกว่าหรือไม่ ?

สิ่งน่าประหลาดใจแรกที่โรเบิร์ตพาไปพบในความสัมพันธ์ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่หวือหวา หากเป็นเพียงสิ่งเล็กๆเรียบง่ายที่ชีวิตคู่ได้ทำร่วมกัน

งานอดิเรกที่ทำร่วมกัน เงินเก็บเพื่อบางสิ่งร่วมกัน เข้าใจผิดกัน คำสัญญาร่วมกัน การแบ่งปันเสื้อผ้า ฟังเพลงด้วยกัน เรื่องเล็กๆไร้สาระที่ทำให้ได้หัวเราะหรือทะเลาะกัน ร้องไห้ร่วมกัน โตขึ้นและแก่ไปด้วยกัน ร่วงโรยไปด้วยกัน

ทั้งเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ เรื่องที่ยอมกันไม่ได้ ไปจนถึงเรื่องที่เผยให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งเหล่านี้เมื่อได้แบ่งปันกับคู่ชีวิตแล้วจะช่วยสร้างความเข้าอกเข้าใจ สร้างการยอมรับ เป็นประสบการณ์ร่วมที่จะสร้างความผูกพันและทำให้ความสัมพันธ์คงอยู่

ในอีกมุมเขาก็พาไปมองความซับซ้อนของการมีใครสักคนเข้ามาในชีวิตซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวครั้งใหญ่ ในความสัมพันธ์ที่บางครั้งทำให้รู้สึกลังเล บางครั้งรู้สึกเสียใจและอีกหลายๆครั้งที่รู้สึกขอบคุณ เป็นความไม่แน่นอนของการใช้ชีวิตคู่ที่เกิดขึ้นโดยมี “เขา” หรือ “เธอ” เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านั้น

หรือแม้แต่การวาดฝันถึงคู่ที่สมบูรณ์แบบจากการพาตัวเองเข้าไปสำรวจ

คนที่สบายๆ เต็มไปด้วยความรักและอบอุ่นอย่างซูซาน

คนที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและน่าประทับใจอย่างเอมี่

คนที่อ่อนโยนอย่างเจนนี่

อ่อนหวานอย่างซาราห์

โรเบิร์ตวาดฝันถึงคู่ที่สมบูรณ์แบบ ประกอบสร้างคู่ในอุดมคติจากชิ้นส่วนดีงามของคนรอบตัว คาดหวังและเฝ้ารอการมาถึงของใครสักคนที่ตรงตามจินตนาการ แต่มนุษย์ไม่อาจสมบูรณ์พร้อม เขาอาจไม่เจอคู่ที่สมบูรณ์แบบอย่างที่คาดหวัง หากแต่ใครที่จะเข้ามานั้นเป็นคนที่พร้อมยอมรับ เข้าใจ และยินดีปรับตัวเข้าหากัน ความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ก็สามารถงดงามขึ้นได้

ในมิติของความไม่ราบรื่น โรเบิร์ตก็พาเราไปพบเช่นกัน

การแต่งงานคืออะไร ?

สิ่งนั้นอาจเป็นเพียงพิธีกรรมเก่าแก่ที่มาพร้อมกับคำสัญญาว่าจะภักดีต่อกันตลอดไป ต่อด้วยช่วงเวลาแห่งการฮันนีมูนที่ทำให้ได้เผชิญหน้ากับความจริงในตัวตนของอีกฝ่าย แล้วจบลงด้วยการแบกรับภาระดูแลใครคนนั้นไปอีกทั้งชีวิต แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ฟังดูน่ากลัวและคงทำให้ผู้ที่เคยกอดความโสดเอาไว้อย่างแนบแน่นกังวลขึ้นมาไม่มากก็น้อย

ชีวิตคู่แท้จริงคืออะไร ?

เมื่อกลับมามองตัวเองที่มีชีวิตโดยลำพัง โรเบิร์ตได้ขมวดความรู้สึกจากการเป็นผู้สังเกตการณ์ ผูกโยงประสบการณ์จากทุกความสัมพันธ์เพื่อกลับมาทบทวนตัวเอง

บางคนก็กอดเราแน่นเหลือเกิน

บางคนก็ทำเราเจ็บปวดหัวใจเหลือเกิน

บางคนเข้ามาเพื่อแย่งเรานั่งเก้าอี้ตัวโปรด

เข้ามาทำให้นอนไม่หลับ ทำให้เราต้องหยุดทำทุกสิ่งแต่ก็เกื้อหนุนให้เราได้ใช้ชีวิต

แต่ลำพังคือเดียวดาย ชีวิตหมดความหมาย

แค่ใครสักคนที่คนปลอบโยนเราด้วยรัก

สักคนที่ทำให้ว้าวุ่นหัวใจ แต่ก็อยากใช้ชีวิตด้วยกัน

นั่นคงเป็นความสลับซับซ้อนทางความรู้สึก ความสัมพันธ์ และการมีชีวิตอยู่ เป็นความขลาดกลัวว่าจะเผชิญกับความเจ็บปวดหากต้องเปิดใจให้ใครสักคน เป็นการวาดหวังถึงคนที่สมบูรณ์พร้อม เป็นความย้อนแย้งอยากมีชีวิตโสดแต่ความเหงาและเดียวดายก็ทำให้อยากมองหาใครสักคนเป็นเพื่อนคู่คิดคอยรับฟังพึ่งพิงในยามล้มตัว

ทั้งหมดคือสิ่งที่โรเบิร์ตสะท้อนให้ได้เห็นซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างของคู่แต่งงานในสังคมที่ถูกหยิบยกมานำเสนอบนเวทีหากแต่ชีวิตจริงแล้วความแตกต่างหลากหลายของชีวิตคู่ยังมีให้ได้พบและเรียนรู้อีกนับไม่ถ้วน และแน่นอนว่าเมื่อสะท้อนมาถึงผู้ชมที่มีประสบการณ์ต่างกันการตีความและมุมมองต่อเรื่องเหล่านี้ก็แตกต่างกันไปด้วย

ท้ายที่สุด แม้โรเบิร์ตจะพาเราออกสำรวจเพื่อค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านั้น ทว่า Company กลับไม่ได้ให้บทสรุปว่าควรตัดสินใจอย่างไร

การออกสำรวจและค้นหาความหมายของโรเบิร์ตเป็นเพียงการเริ่มต้นเพื่อทำความเข้าใจถึงความรู้สึกตัวเองอย่างลึกซึ้ง

โรเบิร์ตอาจยังสับสน สงสัย และมองหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป

แล้วเราจำเป็นต้องแต่งงานจริงไหม ?

อยู่เป็นโสดต่อไปจะดีกว่าหรือไม่ ?

จริงๆแล้วชีวิตต้องการอะไร ?

การแต่งงานหรือการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจะทำให้รู้สึกว่า “ได้ใช้ชีวิต” อย่างแท้จริง จริงไหม ?

เช่นกัน

คุณอาจจะยังสับสนงุนงงต่อไป

และอาจไม่มีทางได้รู้คำตอบเหล่านั้นจนกว่าจะได้พาตัวเองไปปะทะกับความรักโดยตรง

ละครเวทีมิวสิคัลเรื่อง Company โดยสาขาการขับร้องและละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดแสดงเมื่อวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หอแสดงดนตรี MACM วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ขอขอบคุณ : COZOMIA Performing Arts Archive ในการสนับสนุนการค้นคว้าข้อมูล